Skip to main content
sharethis

เรียบเรียงโดย อาทิตย์ สุวรรณมุสิกะสมร


 


 


 






 


"...นั่นคือ หากวัฒนธรรมชุมชน/ท้องถิ่น ได้รับการยอมรับให้มีฐานะเท่ากับวัฒนธรรมเมืองแล้ว ความเหนือกว่าของเมืองที่มีต่อชนบทในการรับรู้ของคนทั่วไปก็เริ่มสั่นคลอน นอกจากนี้ ยังช่วยให้เราเห็นว่า ไม่ใช่ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในระดับรากหญ้าทุกขบวนการ จะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่โดยปริยาย แต่การให้ความสำคัญกับเรื่องของวัฒนธรรมต่างหากที่ถือว่าเป็นจุดเด่นของขบวนการเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น การเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม ยังถือเป็นความพยายามที่สำคัญที่จะต้านกระแสโลกาภิวัฒน์แบบหนึ่ง ซึ่งเรียกขานกันในทางวาทกรรมวิชากการในปัจจุบันว่า "วิถีประชา" หรือ "ประชานุวัตร" (indigenization)


 


นั่นคือในขณะที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ในประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าเกิดขึ้นในโลกยุคสงครามเย็น ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในระดับรากหญ้า ในประเทศโลกที่สามกลับคึกคักและตื่นตัวในโลกยุคหลังสงครามเย็น เป็นยุคสมัยที่ขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ในประเทศโลกที่สามต้องปรับกระบวนท่าใหม่ ด้วยเห็นว่าทั้งคอมมิวนิสต์ และสังคมนิยมมิใช่คำตอบของขบวนการเคลื่อนไหวอีกต่อไป เพราะโลกยุคใหม่ที่ว่านี้ มิใช่โลกของการเมืองแบบเก่า หรือการเมืองแบบชนชั้นเดียว(single-class politics) ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นแรงงานในวาทกรรมมาร์กซิสต์หรือชนชั้นกลางทั้งเก่าและใหม่ในวาทกรรมเสรีนิยม หรือโลกของการเมืองแบบอดุมการณ์เดียว เช่น ประชาธิปไตย หรือคอมมิวนิสต์ ดังในอดีต แต่เป็นโลกของการเมืองแบบใหม่ที่หลากหลายมากและต้องร่วมกันหลายฝ่าย"


           


 


 


 


นี่เป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือเรื่อง "วาทกรรมการพัฒนา อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกกลักษณ์และความเป็นอื่น" โดย "ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร" และจัดพิมพ์ครั้งที่ 3 โดยสำนักพิมพ์วิภาษา


 


ขณะที่ พิภพ ธงไชย ที่ปรึกษา ครป. กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญของขบวนการภาคประชาชนว่า "ยุทธศาสตร์ภาคประชาชน คือ การลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน คือ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากชุมชนการพึ่งพารัฐมาสู่การพึ่งตนเอง หากแต่รัฐบาลทักษิณ กลับย้ายกระบวนทัศน์กลับไประบบเดิมให้คือให้ชุมชนพึ่งพารัฐมากขึ้นเหมือนเดิม" (13 มิถุนายน 2547 : วังธารรีสอร์ต ดอยสะเก็ด เชียงใหม่)


 


ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ นักพัฒนาอาวุโส ได้กล่าวนำในการวิเคราะห์สถานการณ์คนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชาวบ้าน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2547 ที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ สรุปใจความว่า "กว่า 20 ปีของความขัดแย้งระหว่างแนวคิดกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองกับกลุ่มวัฒนธรรมชุมชน คือพัฒนาการจากงานเย็นสนิท (คำตอบอยู่ในหมู่บ้าน) สู่งานเร่าร้อน (เคลื่อนไหวการเมือง) เต็มรูปแบบ


           


1.จุดผ่าน งานแยกประเด็น ต่างคนต่างทำ ค้นหาคำตอบในหมู่บ้าน จากปี 2520 -2530 คือสถานการณ์ชาวบ้านได้รับผลกระทบทางนโยบายอย่างเข้มข้นในยุคชาติชายฯ เช่น ปัญหาสัมปทานป่า เหมืองหิน เหมืองแร่ ที่ดินลำพูน เขื่อนแก่งเสือเต้น และอื่นๆ ซึ่งทำให้คนทำงานขบวนชาวบ้านต้องปรับตัว


           


2.การปรับตัวจากงานเย็นไปสู่กลุ่มงานปะทะความขัดแย้ง ทั้งการจัดฐาน ข้อมูลรองรับงานเคลื่อน ขณะที่ข้อเสนอทางเลือก ทั้งเกษตรกรรมทางเลือก ป่าชุมชน สิทธิเด็ก สตรี เอดส์ ฯลฯ ก็สร้างพื้นที่ทางสาธารณะเต็มตัว


           


3.การเคลื่อนไหวโค่นรัฐบาล รสช.คือ เดิมพันแตกหักการเคลื่อนไหวการเมืองเต็มรูปแบบ


           


4.กลุ่มงานทางเลือก งานสิทธิ ข้อเสนอในการจัดการทรัพยากรของชุมชนได้ถูกกำหนดเข้าร่วมการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างมากมายหลายมาตรา ภายใต้งานรณรงค์ธงเขียว ผลักดันไปสู่รัฐธรรมนูญ ปี 2540


           


5.ขบวนการประชาชนหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 คือ การปรับตัวใหม่


 


5.1 เคลื่อนไหวการเมือง โดยใช้ช่องทางกลไกตามสิทธิในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งสิทธิในการชุมนุม การเข้าสู่กลไกรัฐสภาเช่น สว. หรือองค์กรอิสระ ทั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กทส. กสช. หรืออื่นๆ


 


5.2 เคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชน กดดัน เจรจา


 


ผลด้านบวก


1.เกิดการแก้ไขปัญหานโยบายที่เป็นผลกระทบเฉพาะหน้า เช่น ยุติการสัมปทานป่า ชะลอโครงการขนาดใหญ่ หรือมีกลไกมารองรับการแก้ไขปัญหาระดับภาคเป็นต้น


2.สร้างข้อเสนอทางเลือกการพัฒนาต่อสาธารณะ


3.เกิดการตื่นตัวของภาคประชาชน ตามสิทธิกฎหมายรัฐธรรมนูญมากขึ้น


 


ผลด้านลบ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอำนาจทางโครงสร้างได้ ปัญหาสังคมมีมากขึ้น


 


ข้อสรุป ก็คือ พลังการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน ยังไม่สามารถแตะโครงสร้าง เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจได้อย่างแท้จริง


 


ปัจจัยภายนอก การหนุนเสริมการต่อสู้ ในสถานการณ์รัฐบาลทักษิณ ทำให้มีการพูดคุยกันมากขึ้น แลกเปลี่ยน สนทนาตั้งคำถาม เสนอทางออกมากขึ้น เช่น การยกระดับงานเฉพาะหน้า งานทางเลือก หรือการตื่นตัวของภาคประชาชนตามสิทธิรัฐธรรมนูญไปสู่งานระยะยาว เปลี่ยนสังคม โครงสร้างอำนาจรัฐอย่างไรหรือวิธีคิดและการทำงานแบบโครงการสอดคล้องกับสถานการณ์ขบวนหรือไม่ เราต้องการสังคมใหม่แบบไหน


 


เงื่อนไขภายใน คือปัจจัยชี้ขาดขบวน รูปการจัดการขบวนคนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน ยังไม่ชัด ยังเป็นแท่งๆ เป็นประเด็นๆ แยกเป็นกลุ่มๆ


 


1.กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวคิดทฤษฎีมาร์กซ ฐานวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง ชนชั้น เคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชน ทั้งกลุ่มยึดขบวนการประชาชนเป็นหลักไม่ตั้งพรรค แต่จัดตั้งได้เฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ เคลื่อนงานร้อน และกลุ่มพัฒนางานขบวนเพื่อจัดพรรคการเมืองภาคประชาชน


 


2.กลุ่มเคลื่อนวัฒนธรรมชุมชน สร้างชุมชนแบบอย่าง ฐานกว้าง แต่วิเคราะห์โครงสร้างไม่ชัด มีพื้นที่ขนาดใหญ่ พัฒนางานรูปธรรมทางเลือก ทั้งเกษตรกรรมยั่งยืน ป่าชุมชน ศิลปะและภูมิปัญญา ฯลฯ


 


3.กลุ่มงานศาสนา แนวโน้มพัฒนาไปสู่งานชุมชนทางเลือก อันมีอาศรมวงศ์สนิทเป็นแกน สันติอโศก(ทฤษฎีบุญนิยม,พรรคฟ้าดิน,ตลาดบุญนิยม,สร้างฐานเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ศาสนา ภายใต้ยุทธศาสตร์ 500 ปี) กลุ่มมุสลิมซึ่งขัดแย้งกับทุนนิยมชัดเจน (แนวโน้มอาจมีการจัดตั้งกองกำลัง) กลุ่มคริสต์ แนวคิดเทวะวิทยาแห่งการปลดปล่อย สร้างสถาบันเชื่อมโยงระดับโลก การศึกษาเพื่อการปลดปล่อย(เปาโลแฟร์)


 


4.กลุ่มเคลื่อนโลกาภิวัฒน์ เชื่อมโครงสร้างการเมืองลงภาค ลงเครือข่ายประเด็นปัญหาสู่ฐานชุมชน


 


หากแต่ปัจจัยชี้ขาดขบวนภาคประชาชน คือ การคลี่คลายความชัดแย้ง ระหว่างกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองกับกลุ่มวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งระยะหลังไม่ค่อยมีเวทีจัดการศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งและน้อมรับเรียนรู้ร่วมกันคำถามอะไรคือต้นเหตุของปัญหา ศัตรูคือใครระบอบทุนนิยม หรือไม่ระบบทักษิณหรือเปล่า!?


 


ในขณะที่อาจารย์สุธี ประศาสนเศรษฐ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในวงสัมมนาวิชาการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ(กป.อพช.เหนือ) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2548 ที่ผ่านมาว่า "เป้าหมายการเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชน ก็เพื่อสร้างอำนาจการถ่วงดุลทางสังคม มุ่งลดทอนการใช้อำนาจรัฐ ขยายพื้นที่การเมืองภาคประชาชน ด้วยการปกป้องและขยายสิทธิ์ของคนจนผู้ด้อยโอกาส เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และทดลองนำเสนอรูปแบบเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม สร้างทางเลือกในการจัดการทรัพยากร เป็นต้น"


 


โดยอาจารย์สุธี ได้จำแนกวงรอบความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางสังคมกลุ่มต่างๆ ไว้ 5 กลุ่มดังนี้


 


1.กลุ่มแกนอำนาจรัฐ ได้แก่สถาบันต่างๆ ที่มีอิทธิพลชี้นำความคิดและครอบงำความเชื่อสังคม


2.กลุ่มสังคมการเมือง พรรคการเมืองต่างๆ


3.กลุ่มสังคมเศรษฐกิจ กลุ่มทุนเศรษฐกิจทั้งหลาย


4.กลุ่มสังคมภาคประชาชนได้แก่องค์กรชาวบ้านเอ็นจีโอ สื่อมวลชน นักวิชาการสายก้าวหน้า


5.กลุ่มสังคมปัจเจกชนสุขสำราญ เป็นกลุ่มชนสนใจผลประโยชน์แคบของกลุ่มตน


 


ซึ่งโดยหลักปกครองแล้ว ถ้าอำนาจรัฐเผด็จการ ก็ให้ความสำคัญกับวงแคบๆ ของกลุ่มสังคมปัจเจกชนสุขสำราญขยายใหญ่มากขึ้น และลดความสำคัญวงสังคมภาคประชาชนให้แคบลง


 


คุณศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เคยวิเคราะห์ความเข้มแข็งขบวนการแรงงาน เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2550 ที่สหภาพรัฐสาหกิจการรถไฟ อย่างสนใจ ว่า


 


1.ในเชิงปริมาณ ตัวเลขจำนวนกรรมกรทั่วประเทศประมาณ 35.5 ล้านคน แรงงานในระบบ 13 ล้านคนและนอกระบบประมาณ 22.5 คน ในจำนวนนี้เข้าร่วมขบวนการกรรมกรเพียง 1.4 เปอร์เซ็นเท่านั้น


 


2.เชิงคุณภาพมีตัวชี้วัด 5 ประการคือ


(1) ความเป็นเอกภาพ พบว่าขจัดกระจาย อยู่ในสถานประกอบการประมาณ 1,300 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น 12 สภา 8 สหภาพ 8 กลุ่มย่าน 4 หัวนำ ไร้ความเป็นเอกภาพต้องปรับปรุงแก้ไข


(2) ความสมานฉันท์ (solidarity) เมื่อก่อนเคยมี แต่หายไปในขบวนการแรงงานในปัจจุบัน


(3) ความเป็นประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมในการตัดสินภายในขบวนต่ำ มีข้อจำกัด


(4) การพึ่งตนเอง ความเป็นอิสระ พบว่าหลายองค์กรถูกแทรกแซงจากภายนอกสูง


(5) การยกระดับหรือการสร้างจิตสำนึกการต่อสู้ทางชนชั้น ลดน้อยลง


 


โดยได้เสนอทางออก สร้างขบวนการแรงงาน 4 ขา คือ 1.ขาสหภาพแรงงาน (new social movement) เคลื่อนไหวทางสังคมยกระดับการต่อสู้เชิงสากล 2.ขาเศรษฐกิจ การสร้างสหภาพภายใน 3.ขาการเมือง ต้องจัดตั้งพรรคการเมืองของภาคประชาชนให้ได้ (ต้องมี) และ 4.ขาวัฒนธรรม ข้ามพ้นสังคมการเมืองวัฒนธรรมอุปภัมป์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รื้อโครงสร้างเก่า จัดตั้งจัดตั้งสมาชิกแบบใหม่ เชื่อมโยงกับระบบสากล โลกาภิวัฒน์ เราสามารถสร้างสังคมคมนิยมที่หลากหลายและสอดคล้องกับสังคมที่เป็นอยู่จริงในปัจจุบันได้


 


ล่าสุดบทความข้อเสนอของอาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ในเวทีประชุมคณะทำงานทรัพยากร กป.อพช.เหนือ เมื่อ 22 ตุลาคม 2550 กล่าวว่า ภาคประชาชน ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้ดำเนินการต่างๆมากมาย  กิจกรรมต่างๆ ที่ได้ลงมือดำเนินการถือได้ว่า เป็นการนำเอาบทบัญญัติและกลไกต่างๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาทดลองใช้ หากจะสรุปบทเรียนที่ได้รับจากการทดลองใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญไม่ว่า จะเป็นการเข้าชื่อกันเพื่อเสนอพรบ.ป่าชุมชน การเรียกร้องหรือการอ้างถึงสิทธิชุมชน ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ ไม่ว่าจะอ้างต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นพนักงานป่าไม้  ฝ่ายปกครอง อัยการ ผู้พิพากษาศาลต่างๆ(ศาลจังหวัด,ศาลรัฐธรรมนูญ,ศาลปกครอง) หรือแม้แต่การอ้างต่อรัฐสภา ทั้งที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา ทำให้เราได้รับบทเรียนหลายอย่างหลายประการ มีทั้งดีทั้งเลว พอหวังพอพึ่งได้ มีทั้งสิ้นหวังไร้อนาคตที่จะคบค้าสมาคมต่อกันไปไม่ได้ รวมถึงน่าสมเพชอเน็จอนาถอนาคตประเทศไทย


 


"ข้อสรุป ที่เราได้รับคือ ประการแรก หากเราเริ่มต้นคิดจะโยนปัญหาของเราไปให้ใครต่อใคร เพื่อหวังว่าเขาเหล่านั้นจะมาช่วยเรา หากขาดซึ่งการเอาใจใส่ติดตาม และเรียนรู้ถึงความเป็นไปแล้ว ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถาวร  ดังนั้น เราต้องเป็นเจ้าของปัญหาของเราเอง


 


ประการที่สอง เราไม่ได้มีปัญหาเฉพาะแต่พวกเราเท่านั้น คนอื่นๆก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ในท่ามกลางปัญหาต่างๆ เหล่านั้นมักจะมีลักษณะบางประการร่วมกัน ดังนั้นเราจะร่วมกัน หรือช่วยกันเฉลี่ยปัญหากันอย่างไร ดังนั้นการมีเครือข่ายของพันธะมิตรเป็นสิ่งที่จำเป็น ยิ่งเรามีพันธะมิตรกว้างขวางหนทางในการแก้ปัญหาย่อมจะมีลู่ทาง แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะถูกแก้


 


ประการที่สาม ปัญหาทั้งหลายที่พวกเราเจอกันไม่ได้เป็นปัญหาที่ตัวคนแต่เป็นปัญหาที่เกิดมาจากระบบ(ระบบเศรษฐกิจ,ระบบของสังคมวัฒนธรรม,ระบบการเมือง,ระบบกฎหมาย,และระบบความรู้) หรือที่นักวิชาการมักจะเรียกว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง


 


ดังนั้น การจะแก้ปัญหาต้องใช้เวลา ต้องใช้พลังทางความคิด ต้องคิดค้น ต้องสร้างนวัตกรรมหรือการค้นคว้าหาแนวทางใหม่ๆในการแก้ปัญหา และที่สำคัญที่สุดก็คือ การแก้ปัญหาไม่ได้ใช้แนวใดแนวทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียวเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็ต้องกลับมาเริ่มต้นกันที่ "การเริ่มต้นทำจากสิ่งที่ใกล้ตัว โดยมีเป้าหมายใหญ่ รวมกันที่จะแก้ไขปัญหาที่ระบบ"


 


หรือสรุปก็คือ "การปรับปรุงตัวเองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม"


           


ข้อความข้างต้นนี้ อาจกล่าวได้เป็นข้อสรุปกลายๆ ของขบวนการภาคประชาชนโดยรวม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความพยายามผลักดันการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ไปสู่การยกระดับเชิงนโยบาย เราพบเรื่องราวความตีบตันอย่างมาก แต่ถ้าหากเราจะมองในเชิงการแตกตัวเชิงปริมาณก็จะพบว่า ผู้นำจำนวนมากได้เข้าไปแทรกซึมอยู่ในองคาพยพของภาคสังคมเกือบทุกอณู ทั้งที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. อบจ.สส.หรือส่วนราชการเกือบทุกหน่วยงาน อาจกล่าวได้ว่า ขบวนได้สร้างพื้นที่อย่างกว้างขวางพอสมควร


 


คำถามอยู่ที่ว่า เราจะสร้างขบวนใหม่ที่ยกระดับไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร หนังสือเรื่อง"อนาคตในสังคมประชาธิปไตย" เขียนโดยโทมัส ไมเออร์ บรรณาธิการร่วม นิโคล ไบรเออร์ ซึ่งแปลโดย สมบัติ เบญจศิริมงคล ได้กล่าวถึง เสาหลักที่สำคัญเสาหลักหนึ่งของระบอบสังคมประชาธิปไตย คือ รัฐสวัสดิการ ระบอบสังคมประชาธิปไตยยังไปไกลยิ่งกว่า ความเป็นรัฐสวัสดิการ เพราะว่าระบอบสังคมประชาธิปไตยนำระบบย่อยของสังคมมาสนธิกับความสัมพันธ์ที่สลับกันไปมาอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้คือ


            1.ระบบทางการเมือง


            2.ระบบสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน


            3.ระบบการเมืองของภาคสาธารณะ


            4.ภาคประชาสังคม


            5.ระบบย่อยของการเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยของประชาชน


            6.รัฐสวัสดิการ


            7.ระบบการศึกษา


            8.ระบบทางเศรษฐกิจ


            9.ระบบควบคุมทางเศรษฐกิจ


            10.รูปแบบ กฏและระเบียบการบังคับใช้ของผู้ประกอบการ


            11.การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ


            12.วัฒนธรรมทางการเมือง การปกครอง


 


พร้อมทั้ง ยังเสนอองค์ประกอบสี่สวนของเฮล์ลเลอร์ที่อยู่ในนิยามของสังคม ประชาธิปไตยไว้ว่า 1.กระบวนการตัดสินในที่เป็นประชาธิปไตย 2.การขยายและการคงอยู่ของมติประชาธิปไตยที่อยู่ในผลลัพธ์ของกระบวนการนี้ 3.อิงรูปแบบบรรทัดฐานความยุติธรรมที่ได้รับการยอมรับจากประชาสังคมโดยรวม และ 4.วัฒนธรมทางการเมืองของความยุติธรรมที่อิงอยู่กับการประสานผลประโยชน์ของสังคม


 


ภายใต้วิกฤตใหม่ที่กระทบต่อภาคประชาชนโดยตรง ทั้งปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน อันเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษย์ คงเป็นภารกิจของเรา ในฐานะผู้สร้างประวัติศาสตร์และแก้ไขประวัติศาสตร์สังคมมนุษยชาติให้ขับเคลื่อนต่อไปอย่างยั่งยืนและผาสุก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net