Skip to main content
sharethis

"อารีรักษ์"


 


ก่อนหน้านั้น เมื่อหลายสิบปีก่อน หากข้ามไปที่ท่าขี้เหล็ก เราจะมองเห็นบรรดาหญิงสาวชาวไตจำนวนหนึ่งมีการตั้งโต๊ะเล่น "หมากโหลง" มีรูปน้ำเต้าปูปลาลูกใหญ่ที่คล้ายกับลูกเต๋า ผู้เล่นจะดึงเชือกลูกหมากโหลงจะกลิ้งลงมา ซึ่งการพนันประเภทนี้จะนิยมเล่นกันตามงานบุญ งานวัด หรือประเพณีเทศกาลต่างๆ ในรัฐฉาน ซึ่งถือกันว่าเป็นเรื่องปกติของคนไตที่นิยมเล่น


 


แต่มองอีกด้านหนึ่ง ที่ทางการพม่าปล่อยให้มีการเล่นการพนัน ก็อาจจะเป็นเพราะต้องการที่จะให้คนไตหลงมัวเมากับเรื่องอบายมุข จนลืมคิดถึงเรื่องบ้านเมืองของตนเองก็เป็นได้


 


และเมื่อย้อนกลับมามองในปัจจุบัน เราจะมองเห็นกลุ่มนักการเมือง นักธุรกิจการค้า นักลงทุนของไทย เข้ามาทำกิจการบ่อนการพนัน กาสิโนร่วมหุ้นกับพวกชาวพม่าเชื้อสายจีน กลุ่มพวกว้า กลุ่มจีนฮ่อ ก่อตั้งบริษัท ปัจจุบันมีการตั้งบ่อนการพนันแบบครบวงจร หรือที่เรียกว่า  "บ่อนกาสิโน" บริเวณชายแดนไทยกับประเทศพม่า รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง ซึ่งปรากฏว่ามีคนไทยนิยมเดินทางไปเล่นการพนันเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้บ่อนการพนันแต่ละแห่งจะตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงจุดผ่านแดน ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายสิบจุด  ในตลาดท่าขี้เหล็ก ท่าล้อ บ้านปงถุน บ้านสันทราย สบรวกที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ที่นั่นจะมีการเปิดเล่นพนันหลายประเภท เช่น ไพ่ต่างๆ และถั่วโป ทุกวัน


ว่ากันว่า มีเงินทุนหมุนเวียนวันละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท นักเล่นการพนันส่วนใหญ่ มีทั้งชาวพม่า พวกว้าในพื้นที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก รวมทั้งชาวไทยจากอำเภอแม่สายและนักพนันที่เดินทางเข้ามาเล่นจากต่างจังหวัด ทั้งนี้ เจ้าของบ่อนทั้งสามต้องจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่พม่าในท้องถิ่นประมาณ 10,000-20,000 บาทต่อวัน


ในขณะที่ ค่าครองชีพของคนในท่าขี้เหล็กยังคงต้องพึ่งพาอาศัยสินค้าที่แม่สายหลัก ข้าวของเครื่องใช้เกือบทุกอย่างต้องไปซื้อจากแม่สาย ยกเว้นพวกเสื้อผ้า เทียนไข น้ำมันพืช ผักพื้นบ้าน  พืชสมุนไพรที่ยังเป็นของพื้นเมือง สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดช่องว่างที่แตกต่างกันอย่างมากมายในท่าขี้เหล็ก  พวกกลุ่มจีนฮ่อก็มักจะมีธุรกิจค้าขายเป็นหลัก  ในขณะที่กลุ่มว้า กลุ่มนี้ก็มีฐานะการเงินที่ดีซึ่งนั่นอาจหมายถึงธุรกิจที่เป็นสีดำ  


ในเขตจังหวัดท่าขี้เหล็กของพม่ากลุ่มคนไตลื้อ คนไตเขิน ไตใหญ่ ได้อาศัยอยู่กันเป็นหย่อมบ้าน เช่น บ้านสันทราย บ้านป่าสัก บ้านแม่ขาว  บ้านแม่รวก อาศัยอยู่กันอย่างแออัด เนื่องจากว่าที่ดินไม่สามารถที่จะขยับขยายได้ รอบนอกออกไปก็ถูกกว้านซื้อจากกลุ่มธุรกิจคนไทย จีนฮ่อ กลุ่มพวกว้าบ้าง ทำให้คนไตที่อพยพเข้ามาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันหลายอย่าง 


บ้างต้องทิ้งถิ่นฐานเพราะถูกคุกคามรังแกจากทหารพม่าในเขตชนบท  บ้างไม่สามารถที่จะอยู่ได้ เพราะความกดดันจากการเก็บภาษี รีดนาทาเร้นจากทหารพม่าและกลุ่มอิทธิพล ท้ายที่สุดต้องหาทางเอาตัวรอด ทางข้างหน้าที่มีอยู่คือ อ.แม่สายและประเทศไทย


ทุกคนส่วนใหญ่ต่างใช้ชีวิตไปวันๆ รับจ้าง ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ พอมีชีวิตอยู่รอด และที่สำคัญนั้น บางคนต้องรอลูกหลานส่งเงินมาให้จากทางกรุงเทพฯ  จึงไม่แปลกเลยที่อาจกล่าวได้ว่าท่าขี้เหล็กคือที่พำนักที่พักของคนไตกลุ่มต่างๆที่ใหญ่ที่สุด


ชาวพม่าส่วนใหญ่แล้วเป็นคนน่าสงสารและไม่ได้รับการเหลียวแลจากทางการ ส่วนมากทำงานรับจ้าง ที่ดีหน่อยเข้าไปรับจ้างในเมืองไทยทำให้เข้าใจได้ว่า ไม่ว่าประเทศไหนผู้ปกครองแสวงหาหนทางเฉพาะกลุ่มตนและพวกพ้องด้วยกันทั้งนั้น 


ชาวพม่าบางคนใจดี เข้าใจเพื่อนมนุษย์และเป็นคนทำบุญให้ทาน นับถือผีและบรรพบุรุษ  เช่นเดียวกับคนไทย  การผสมผสานทางวัฒนธรรมเป็นแนวทางหนึ่งที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ



ตลาดท่าล่อในท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ปัจจุบัน


 


ปัญหาและผลกระทบจากนโยบายของไทย                                                  ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ  ในรูปแบบใหม่ๆ ที่สำคัญได้แก่ การจัดทำเขตการค้าเสรี(FTA) การส่งเสริมความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดเพื่อเพิ่มพูนประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของไทย การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจกับต่างประเทศดังกล่าว อาศัยการดำเนินงานในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน


ผลจากการพัฒนาส่วนภูมิภาคทางด้านต่างๆของรัฐจากโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ  การค้า การลงทุน การ ท่องเที่ยว  อุตสาหกรรม "สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ" ประกอบไปด้วยประเทศไทย จีน พม่า และลาว มีการพัฒนาเน้นในการสร้างระบบคมนาคมและสาธารณูปโภคเพื่อเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ทั้งทางรถยนต์ รถไฟ ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อรองรับการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว พื้นที่เป้าหมาย การขนส่งในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจกรอบสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (ไทย-ลาว-พม่า-จีนตอนใต้) ซึ่งกรอบความร่วมมือนี้ ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 เน้นส่งเสริมความเจริญแก่ภาคเหนือของไทย เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและตอนใต้ของจีน


ทั้งนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า จากผลพวงของการพัฒนาประเทศที่ทำให้เป็นสาเหตุของปัญหาต่างๆเกิดขึ้นตามแนวชายแดนและส่งผลสะเทือนไปยังหัวเมืองและท้องถิ่นต่างๆของพม่า การไหลบ่าของกระแสวัฒนธรรมตะวันตก  การเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตแบบพึ่งตนเองสู่กระแสนิยมการบริโภค   ภาษา ความเชื่อ จารีตประเพณี  การไหลบ่าของแรงงานรับจ้าง  การค้าชายแดนปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาโสเภณี ปัญหาโรคเอดส์ ปัญหายาเสพติด วิกฤตต่างๆเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดปัญหาและการแก้ไขที่ติดตามมาอย่างที่ไม่มีวันจบสิ้น



 



ตลาดท่าล้อท่าขี้เหล็กในช่วงการเมืองของพม่าไม่สงบ


 


มุมมองของสังคมซึ่งส่งผลถึงกันต่อปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ตราบใดที่ประเทศพม่ายังมีการปกครองที่ไม่เป็นธรรม  ก็คงยากจะหาความสงบสุขและสันติสุขไม่ได้ ซึ่งผลสะเทือนเหล่านี้ ไม่เฉพาะแต่แม่สายท่าขี้เหล็กเท่านั้น  แต่เป็นเรื่องของประเทศนานาชาติ ที่ต้องทบทวนนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะประเทศไทยของเราที่จะต้องสระสางกับปัญหาต่างๆอย่างมากมายบนพื้นฐานมนุษยธรรมให้มากขึ้น 


 


รัฐบาลไทยควรเร่งส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการพัฒนาและการวิจัยต่างๆ อย่างรอบด้าน  แสวงหาแนวทางสร้างพื้นที่ความมั่นคงและความยั่งยืน สร้างความร่วมมือในการป้องกันปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ที่จะส่งผลของการเปลี่ยนแปลงในหลายระดับตั้งแต่ชุมชน สังคม ประเทศชาติ เพื่อให้เห็นความสำคัญและก่อเกิดความสมดุลของการเปลี่ยนแปลงร่วมกันในภูมิภาคอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียม เพื่อความสัมพันธ์กับชุมชนชายขอบกับการพัฒนาที่เข้มแข็งและยั่งยืน


วันนี้สถานการณ์การเมืองในพม่าและการสู้รบไฟสงครามกู้ชาติระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับชนกลุ่มต่างๆยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบ น้ำสายยังคงไหลไปตามวิถีธรรมชาติ ผู้คนทั้งสองแผ่นดินยังเดินหาหนทางที่ดีกว่า สภาพเช่นนี้จะยังดำรงอยู่อีกนานแค่ไหนไม่มีใครรู้ได้


หากเรารู้แน่ชัดว่า...วันนี้ผืนแผ่นดินที่เรียกว่า "แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก" คือแผ่นดินที่อยู่เหนือน้ำสายไม่อาจมาแยกแบ่งความสัมพันธ์ให้ขาดจากกันได้เท่านั้น


ข่าวต่อเนื่อง                                                                                                                รายงาน : แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก...แผ่นดินที่มิอาจแบ่งแยกความสัมพันธ์ (1)


รายงาน : แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก...แผ่นดินที่มิอาจแบ่งแยกความสัมพันธ์ (2)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net