Skip to main content
sharethis

 


 


                                                                                    คดีหมายเลขดำที่ ฉฉ.๒๙๑/๒๕๕๐


                                                            ศาลจังหวัดยะลา


                                                วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐


 


พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์     ผู้ร้อง


ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ร.ต.ท.บรรดาศักดิ์ ศรีเลิศ พนักงานสอบสวน สภอ.กาบัง


ระหว่าง


นายดอเลาะ หมันปูเต๊ะ       ผู้ร้องคัดค้าน


 


 


นายดอเลาะ หมันปูเต๊ะ ขอยื่นคำร้องมีข้อความที่จะกล่าวต่อไปนี้


ข้อ ๑.    ผู้ร้องคัดค้านเป็นบิดาของนายมะยากี หมันปูเต๊ะ ปรากฎตามสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ร้องคัดค้านและของนายมะยากี หมันปูเต๊ะ ท้ายคำร้องเอกสารหมายเลข ๑


 


ข้อ ๒.   ผู้ร้องคัดค้านขอประทานกราบเรียนว่านายมะยากี หมันปูเต๊ะ เป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ที่ ๔๙/๑ หมู่ ๔ ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเหนือเขตอำนาจของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ โดยเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐ นายมะยากี หมันปูเต๊ะ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวจากภูมิลำเนาโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และนำตัวไปควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหารจนถึงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวนายมะยากี หมันปูเต๊ะ เข้าโครงการฝึกอบรม/เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาสัมพันธ์ผู้ถูกควบคุม ที่ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาของโครงการเป็นระยะเวลา ๔ เดือน แต่เนื่องจากนายมะยากี หมันปูเต๊ะ ซึ่งญาติได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ศาลได้ทำการไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๙๐ ต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๐ ให้ระงับการฝึกอบรมโครงการดังกล่าว สำหรับนายมะยากี หมันปูเต๊ะ และในวันเดียวกันนั้นนายมะยากี หมันปูเต๊ะ ได้ออกมาจากค่ายวิภาวดีรังสิต มาพักอาศัยอยู่ที่มัสยิดประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากไม่สามารถจะกลับบ้านได้เพราะแม่ทัพภาคที่ ๔ ได้มีคำสั่งโดยอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึกห้ามไม่ให้เข้าไปหรืออยู่อาศัยในพื้นที่ที่ประกาศกฎอัยการศึก ต่อมานายมะยากี หมันปูเต๊ะ ได้ถูกศาลออกหมายจับและควบคุมตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ ฉฉ.๒๙๑/๒๕๕๐ ฉบับลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ของศาลนี้ ซึ่งได้ออกตามคำร้องขอของร้อยตำรวจโทบรรดาศักดิ์  ศรีเลิศ พนักงานสอบสวน (สบ.๑) สถานีตำรวจภูธรอำเภอกาบัง จังหวัดยะลา และในขณะนี้เจ้าหน้าท่ำตรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ได้ส่งตัวไปควบคุมไว้ที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค ๙ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ตามหมายจับดังกล่าว


 


ผู้ร้องขอประทานกราบเรียนต่อศาลว่า การที่พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุญาตจับและควบคุมตัวนายมะยากี หมันปูเต๊ะ ดังกล่าวเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ


 


นายมะยากี หมันปูเต๊ะ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก มาตรา ๑๕ ทวิ ด้วยเหตุที่เจ้าหน้าที่สงสัยว่าเป็นบุคคลที่จะเป็นราชศัตรูหรือฝ่าฝืนตามบทบัญญัตินี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ซึ่งเหตุแห่งความสงสัยดังกล่าวต่อนายมะยากี หวังปูเต๊ะ เกิดขึ้นในท้องที่ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของนายมะยากี หมันปูเต๊ะ อันเป็นท้องที่ที่ไม่สามารถใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้ ดังนั้นในเมื่อเจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจในการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก จึงมีอำนาจในการควบคุมตัวนายมะยากี หมันปูเต๊ะไม่เกิน ๗ วันเท่านั้น คือ ควบคุมตัวได้ไม่เกินวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐ แต่ข้อเท็จจริงดังที่ได้ประทานกราบเรียนต่อศาล กลับปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายในการควบคุมตัวนายมะยากี หมันปูเต๊ะต่อไป เกินกำหนดเวลา ๗ วัน ไปจนถึงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ โดยอ้างว่าควบคุมตัวตามประกาศในมาตรา ๑๑(๑) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้องและเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบและเสียหายขอสงวนสิทธิที่จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ทีเกี่ยวข้องต่อไป หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังบังคับให้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรม/พัฒนาศักยภาพผู้ถูกควบคุม ที่ค่ายวิภาวดีรังสิตอีกเป็นระยะเวลา ๔ เดือน โดยไม่เคยมีการแจ้งข้อหาใดๆ ว่านายมะยากี หมันปูเต๊ะ เป็นผู้กระทำความผิดอาญาแต่อย่างใดเลย ซึ่งหากศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่มีคำสั่งให้ระงับการฝึกตามโครงการดังกล่าวแล้ว นายมะยากี หมันปูเต๊ะ คงจะต้องถูกควบคุมตัวต่อไปจนครบกำหนดเวลาตามโครงการดังกล่าว และอาจขยายต่อไปโดยไม่มีกำหนดตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ และหลังจากที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีคำสั่งให้ระงัยการฝึกดังกล่าว นายมะยากี หมันปูเต๊ะ ยังไม่สามารถเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาของตนเองได้ เพราะเป็นผู้มีรายชื่อตามประกาศกองทัพภาคที่ ๔ เรื่อง ห้ามบุคคลเข้าไปหรืออาศัยในเขตท้องที่จังหวัดยะลา, จังหวัดปัตตานี, จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลาเป็นการชั่วคราว มีระยะเวลากำหนดไม่เกิน ๖ เดือน ตามประกาศลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ครบกำหนดเวลา ๖ เดือน ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๑ ดังนั้นหลังจากที่นายมะยากี หมันปูเต๊ะ ได้ออกจากค่ายวิภาวดีรังสิต จึงเข้าพักอาศัยอยู่ที่มัสยิดประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีตลอดมาจนถูกควบคุมตัวตามหมายจับของศาล ดังกล่าว


 


ด้วยเหตุดังที่ได้ประทานกราบเรียนต่อศาลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นได้ว่าการที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกาบัง จังหวัดยะลาได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอออกหมายจับตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๑๑(๑) นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกาบัง ไม่มีอำนาจที่จะขออนุญาตศาลเพื่อทำการจับกุมและควบคุมตัวนายมะยากี หมันปูเต๊ะ ได้อีกเนื่องจากเคยถูกควบคุมตัวมาครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ นั้น หากเจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวต่อไปก็ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น มิใช่ขออนุญาตศาลจับและควบคุมตัวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้ปล่อยตัวจากการควบคุมแล้ว ทั้งก็ไม่มีเหตุอันควรสงสัยอย่างใดๆว่านายมะยากี หมันปูเต๊ะ จะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในท้องที่จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาสแต่อย่างใด เพราะถูกควบคุมตัวตลอดมาจนถึงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๐ และหลังจากนั้นก็ไม่สามารถเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาของตนเองได้ ดังที่ได้ประทานกราบเรียนต่อศาลข้างต้น และการกระทำของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอกาบัง จังหวัดยะลา จึงเป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้ง นายมะยากี หมันปูเต๊ะ ที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีคำสั่งให้ระงับการฝึกโครงการดังกล่าว ซึ่งทำให้เจ้าหน้ที่ที่เกี่ยวข้องไม่พอใจนายมะยากี หมันปูเต๊ะ และผู้ฝึกอาชีพอื่นๆจะเห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ของโฆษกกองทัพภาคที่ ๔ และการยื่นข้อเสนอให้แก่นายมะยากี หมันปูเต๊ะ และบุคคลอื่นๆอีกว่า หากไม่ยอมกลับเข้าไปรับการฝึกอบรมอาชีพต่อไปจนครบกำหนด ก็จะต้องถูกจับกุมตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งรายละเอียดผู้ร้องจะได้ประทานกราบเรียนในชั้นไต่สวนต่อไป จึงเห็นได้ชัดเจนว่าการที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกาบังต้องขอต่อศาลเพื่อขออนุญาตจับและควบคุมตัวนายมะยากี หมันปูเต๊ะนั้น ไม่ได้ทำไปตามเจตนาและความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑(๑) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ แต่ทำไปโดยมีเจตนากลั่นแกล้งนายมะยากี หมันปูเต๊ะ และข่มขู่ผู้ที่ออกจากโครงการฝึกอาชีพคนอื่นๆ ให้ยอมกลับไปเข้าฝึกอาชีพอีก


 


ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ร้องขอประทานกราบเรียนต่อศาลว่า การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกาบัง ร้องขอให้ศาลอนุญาตให้จับกุมและควบคุมตัวนายมะยากี หมันปูเต๊ะ นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนายมะยากี หมันปูเต๊ะ ไม่เป็นบุคคลที่มีภูมิลำเนาหรือสงสัยว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๑ เนื่องจากเป็นผู้มีภูมิลำเนาและขณะทำการจับกุมก็อยู่นอกเขตการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับมาตรา ๕ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวที่จำกัดการใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ เฉพาะท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หากเป็นการดำเนินการนอกพื้นที่หรือเมื่อยกเลิกหรือพ้นกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ก็ต้องใช้กฎหมายปกติ ทั้งผู้ที่ไปทำการจับกุมนายมะยากี หมันปูเต๊ะ และควบคุมตัวมาจากมัสยิดประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ก็ไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้ที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ แต่อย่างใด เป็นเพียงพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น การที่นายมะยากี หมันปูเต๊ะ ยังถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎอัยการศึก และการจับกุมและควบคุมตัวนายมะยากี หมันปูเต๊ะ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ จึงเป็นการจับกุมและควบคุมตัวที่มิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ร้องจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป


 


ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอออกหมายจับตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๓ ที่กำหนดว่า "การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม" ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมีอยู่ และจะเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งที่จะเป็นเหตุให้สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สามารถสงบลงได้ในเร็ววัน


 


ผู้ร้องไม่มีผู้ใดเป็นที่พึ่งอีกต่อไปแล้ว จึงต้องมาขอความเมตตา ปราณีจากศาล เพื่อขอให้ศาลได้โปรดมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้อง และยกเลิกหมายจับและควบคุมตัวนายมะยากี หมันปูเต๊ะ ตามที่เจ้าหน้าที่อ้างอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ ฉฉ. ๒๙๑/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ให้ปล่อยตัวนายมะยากี หมันปูเต๊ะจากการควบคุมต่อไป


 


ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด


 


 


 


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net