Skip to main content
sharethis


 


เผยแพร่วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.  2550


แถลงการณ์


ร้องให้กองทัพยุติการใช้กฎหมายแบบฉ้อฉล  กดดันให้ชาวบ้านกลับเข้ารับการฝึกอบรม


กรณีการกลั่นแกล้งจับกุมตามหมายพรก.


กับผู้เรียกร้องสิทธิในการกลับภูมิลำเนา ที่มัสยิด จ. สุราษฎร์ธานี


 


สืบเนื่องแต่วันที่  5 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ทางคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ได้ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนและทนายความจากส่วนกลางและในพื้นที่  ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่กลุ่มบุคคลที่ต้องการจะยุติการอบรมอาชีพดังกล่าว โดยได้ให้ญาติของผู้ถูกฝึกอบรมอาชีพ ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้ทางหทารปล่อยตัวผู้ถูกฝึกอบรมอาชีพประมาณ 80 คน มีผลทำให้เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา ศาลได้มีคำตัดสินให้บุคคลดังกล่าวเป็นอิสระ แต่เมื่อออกมาจากค่ายและศูนย์ฝึกอบรมของทหาร เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมแล้ว ก็ไม่สามารถจะกลับบ้านในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้   เนื่องจากมีประกาศคำสั่งลงนามโดยแม่ทัพภาคที่ 4  ได้อ้างว่า ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก สั่งห้ามบุคคลเหล่านั้นและคนอื่นๆอีกรวม 384 คน เข้าไปหรืออยู่อาศัยในพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้   มีผลทำให้บุคคลเหล่านั้นต้องอาศัยมัสยิดกลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นที่พักพิงชั่วคราว  และปรากฎว่าในขณะนี้ได้มีผู้ออกมาจากศูนย์และค่ายฝึกอาชีพเพิ่มเติมอีกโดยได้มาอยู่รวมกันที่มัสยิดดังกล่าว ไม่น้อยกว่า 190 คน ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ซึ่งขณะนี้ทางคณะทำงานฯ ร่วมกับองค์กรอื่นๆ กำลังดำเนินการเพื่อขอให้กองทัพภาคที่ 4 ยกเลิกคำสั่งอันไม่เป็นธรรมดังกล่าวเสีย


โดยในวันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2550 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายจับ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถายการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (หมายฉฉ.) ออกโดยศาลจังหวัดยะลาลงวันที่ 2 พ.ย. พ.ศ.2550 ผู้ร้องขอออกหมาย คือ ร.ต.ท. บรรดาศักดิ์ ศรีเลิศ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอกาบัง โดยอ้างการใช้มาตรา 11 แห่งพรก.ฉุกเฉิน ในฐานความผิด คือ ร่วมกันก่อให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน มาจับตัว นายมะยากี  หมันปูเต๊ะ  ไปจากมัสยิดจังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้รับแจ้งว่า จะจับกุมตัวและนำไปส่งที่ศปก.ตร. ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่สภอ.เมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี   


ในเวลาประมาณ 9.00 น. ของวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550  ได้มีนายตำรวจผู้ใหญ่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เดินทางมาที่มัสยิดจังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้แจ้งให้ทราบว่า มีหมาย ฉฉ. ของบุคคลอีก 3 คน ต้องการนำตัวไปพร้อมกับนายมะยากี โดยทางฮอลิคอปเตอร์เพื่อนำตัวไปศปก. ตร.ส่วนหน้า และได้รับทราบแนวทางปฏิบัติอย่างไม่เป็นทางการว่า บุคคลที่อยู่ในมัสยิดที่สุราษฎร์ธานี ถ้าต้องการกลับไปฝึกอบรมอาชีพก็จะไม่มีการออกหมายฉฉ. อีก 


ทางคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพขอประณามการใช้กฎหมายแบบฉ้อฉล และการที่รัฐใช้อำนาจรัฐทั้งโดยตำรวจและทหารกดดันและบังคับให้บุคคลทั้งหมดที่กำลังเรียกร้องสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2550 เพื่อให้กลับเข้าไปโครงการฝึกอบรมอาชีพฯ   การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกลั่นแกล้งและข่มขู่ประชาชน นักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม โดยไม่คำนึงถึงหลักคุณธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม 


การต่อรองอย่างไม่เป็นทางการโดยการแจ้งให้ทราบว่า ถ้าเดินทางกลับไปฝึกอาชีพจะไม่มีการออกหมายเชิญตัว (หมายจับ) ตามพรก. ฉุกเฉิน ถือเป็นการส่อให้เห็นถึงเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์  แสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มบุคคลที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐไม่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นในการแก้ไขปัญหา  ถือเป็นการไม่เคารพต่อคำสั่งศาลที่ระบุว่า


 "บุคคลผู้มีชื่อตามคำร้องของผู้ร้องยินยอมเข้ารับการฝึกอบรม กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ต่อมาผู้เข้ารับการฝึกอบรมแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับการฝึกอบรมอีกต่อไป ข้อตกลงหรือความยินยอมสมัครใจรับการฝึกอบรมที่ได้ให้ไว้ย่อมสิ้นสุดลง ดังนั้น การฝึกอบรมโดยบุคคลผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่ยินยอมหรือไม่สมัครใจ ย่อมไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๒ วรรคห้า ศาลจึงมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านระงับการฝึกอบรมเฉพาะบุคคลผู้มีชื่อตามคำร้องของผู้ร้อง..."


            นอกจากนี้ การอ้างมาตรา 11 ตามพรก.ฉุกเฉินเพื่อมานำมาออกหมายจับกุมกลุ่มบุคคลซึ่งต่อสู้คัดค้านการควบคุมตัวตามโครงกาฝึกอาชีพซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัว น่าจะเป็นการคุกคามต่อผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวอย่างเห็นได้ชัด เพราะบุคคลเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตามพรก.ฉุกเฉินขณะที่มีการออกหมายจับฉฉ.


ทางคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ขอเรียกร้องดังนี้


1.    ขอให้ทางนายกรัฐมนตรี  ผู้บัญชาการทหารบก และแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้มีอำนาจเต็มในการสั่งการแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แสดงท่าทีที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งเรื่องการบังคับให้คนไทยบางกลุ่มต้องเป็นผู้พลัดถิ่น  และการออกหมายเชิญตัวตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉินโดยไม่มีเหตุอันควรตามกฎหมาย  ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักนิติธรรม และ ส่งตัวแทนมาพูดคุยเจรจาเกี่ยวกับประกาศห้ามเข้าพื้นที่ กับตัวแทนอดีตผู้ถูกควบคุมตัวที่ปัจจุบันพักอาศัยชั่วคราวที่มัสยิดจังหวัดสุราษฎร์ธานี และทนายความ  โดยทันที


2.    ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ทุกหน่วยงานยุติการดำเนินการออกหมายเชิญตัวตามพรก. ฉุกเฉิน  เนื่องจากกลุ่มบุคคลนี้ เคยถูกเชิญตัวด้วยกฎหมายฉบับเดียวกันนี้ไปแล้ว ก่อนที่จะถูกบังคับให้เข้ารับการฝึกอบรมอาชีพ และในขณะนี้กำลังมีการเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ  การใช้กฎหมายพรก. ฉุกเฉินข่มขู่ที่จะจับกุมจึงเป็นใช้อำนาจตามอำเภอใจ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่เป็นธรรม


3.    ให้รัฐบาลดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญาแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมในครั้งนี้ รวมทั้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช) คณกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม) และผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งกรมพระธรรมนูญ  ใช้อำนาจหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ทีประพฤติมิชอบในครั้งนี้ด้วย


4.    ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้ร้องขอออกหมายจับชี้แจงถึงเหตุแห่งการออกหมายจับดังกล่าวและแสดงพยานหลักฐานที่เพียงพอในการออกหมายจับดังกล่าวเพื่อความชัดเจนต่อสาธารณะ


+++++++++++++++


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net