Skip to main content
sharethis

ปาริฉัตร มังคละ และศิริลักษณ์ สายบัว เรียบเรียง


เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนโยบายการจัดการที่ดิน กรณีปัญหาเชิงโครงสร้างการจัดการที่ดินทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตลอดจนแนวทางการจัดการทรัพยากร ทั้งนี้กระบวนปฏิรูปที่ดินของอาจไทยผิดทิศผิศทางแทนที่จะมุ่งกระจายการถือครองที่ดินเพื่อให้คนจนเข้าถึงทรัพยากร แต่กลับกลายเป็นการปฏิรูปที่ดินเพื่อทำให้ที่ดินกลายเป็นสินค้าในระบบตลาด


000


ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์


อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์


การปฏิรูปที่ดินของบ้านเมืองเรา มันเป็นวิธีการของการปฏิรูปที่ดินที่มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการที่จะเปลี่ยนที่ดินให้กลายเป็นสินค้าในระบบตลาด ซึ่งก็หมายความว่าเป็นการมุ่งให้ที่ดินมันกลายเป็นสมบัติส่วนตัว


ลักษณะที่ดินของบ้านเมืองเรานั้นเริ่มต้นด้วยการให้เอกสารสิทธิแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินแล้วหลังจากที่มีการออกเอกสารสิทธิให้ให้กับผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดิน คนที่เข้าไปอยู่ในเขตป่าสงวนก็จะมีการออกเอกสารสิทธิให้ด้วยเช่นกัน เอกสารสิทธิที่ให้เดิมทีก็เป็น สทก. (เป็นการให้สิทธิการใช้) ต่อมาก็จะเป็นเอกสารสิทธิ สปก.4-01 (มอบโดยสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) ซึ่งก็ถือว่าเป็นเอกสารสิทธิเบื้องต้นเท่านั้นยังไม่เป็นการให้สิทธิอย่างเด็ดขาดต้องครอบครองนานถึง 10 ปี ถึงจะได้เป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริงซึ่งพอถึงเวลานั้นก็จะกลายเป็นสมบัติส่วนตัว


แล้วทำไมเป็นสมบัติส่วนตัว เพราะการเป็นสมบัติสมบัติส่วนตัวสามารถนำเอาที่ดินไปขายได้ ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าแนวความคิดการปฏิรูปที่ดินของบ้านเรายึดหลักการที่จะทำให้ที่ดินกลายเป็นสินค้าในท้องตลาดแล้วก็ถือว่าเป็นพื้นฐานของกลไกตลาดที่ดิน


เราคิดว่ากลไกตลาดตลาดเป็นกลไกที่ดีที่สุดในการจัดการทรัพยากร เพราะเมื่อก่อนบ้านเราใช้ระบบศักดินาหรือระบบต่างๆ ซึ่งก็ถือได้ว่ามีอำนาจในการจัดการทรัพยากรเรื่องที่ดินหรือมีอำนาจในการขยายที่ดินจึงส่งผลให้ที่ดินเกิดการกระจุกตัวอยู่อยู่กับผู้ที่มีอำนาจมีอิทธิพล


ดังนั้นเราจึงคิดว่าเปลี่ยนให้ตลาดได้เข้ามามีส่วนในการจัดการที่ดินบ้างอาจจะมีการกระจายที่ดินได้ดีกว่าการใช้ระบบศักดินาเข้ามาจัดการเรื่องที่ดินแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเรามีความคาดหวังกับระบบตลาดมาก คิดว่าคงจะเป็นกลไกในการจัดการเรื่องที่ดินได้ดีที่สุด แต่มันกับกลายเป็นข้อผิดพลาดเพราะในอดีตเราคิดว่าการที่ตลาดเข้าไปซื้อที่ดินถ้าซื้อเก็บไว้นานๆ ราคาที่ดินก็จะมีราคาที่ดีขึ้นตาม


หลังจากที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 เราก็ได้พบแล้วว่ากลไกตลาดไม่ประสบความสำเร็จเสมอไป บางครั้งกลไกตลาดก็ก่อให้เกิดความล้มเหลวได้ แล้วเมื่อกลไกตลาดล้มเหลวก็จะส่งผลให้การปฏิรูปที่ดินมีปัญหาได้ แล้วเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ "น้ำลดตอก็ผุด" ซึ่งก็หมายความว่า หลังจากที่เศรษฐกิจตกต่ำเราก็พบว่าที่เราปล่อยให้กลไกตลาดจัดการเรื่องที่ดินในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาที่มีการเร่งรัดการจัดการเรื่องที่ดิน การจัดการเรื่องที่ดินการจัดสรรเรื่องที่ดินโดยการแจกเอกสารสิทธิมันไม่ได้ทำให้ที่ดินเกิดการกระจายตัวอย่างที่เราได้คาดหวัง


นอกจากการที่ไม่ได้เกิดการกระจายตัวขึ้นแล้วมันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับสมัยที่ใช้อำนาจนิยมที่ปล่อยให้มีการกระจุกตัวของที่ดินและกระจุกตัวอยู่กับคนบางกลุ่ม แต่ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือ ที่ดินที่เกิดการกระจุกตัวไม่ได้ถูกนำเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะงานวิจัยที่ผ่านมาได้พบว่า เมื่อปีพ.ศ.2540 ที่ดินไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ถึง 30 ล้านไร่ (เป็นที่ดินที่อยู่ในเขตชลประทานที่อุดมสมบูรณ์มากพอ) ทั้งๆ ที่คนก็มีการเก็งกำไรที่ดินเอาที่ดินมาซื้อขายกันในตลาดที่ดินกันอย่างมากมาย ซึ่งแทนที่ตลาดที่ดินจะกระจายตัวได้ดี


ที่ดินดังกล่าวนั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง เรากลับปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า มันก็เลยกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้คนจนพยายามเข้าไปบุกรุกป่าซึ่งเขาก็ต้องหาที่ดินเพื่อทำมาหากินเพราะที่ดินในเขตชลประทานก็ไม่ใช่ที่ดินของพวกเขาหรือไม่ก็เข้าไปใช้ที่ดินพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้ แต่เมื่อเราปล่อยให้ที่ดินตรงนั้นมันรกร้างว่างเปล่า มันก็เลยทำให้คนจนไม่ได้มีสิทธิตรงที่ดินพื้นพวกนั้นได้เลย


ที่ดินที่มีการเก็งกำไรสูงมากขึ้นเท่าไหร่มันก็จะก่อให้เกิดการบุกรุกป่ากันมากเพิ่มขึ้น แล้วจะไปโทษคนจนเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ได้ ทำไม่ไม่โทษนโยบาย ที่รัฐเน้นให้สิทธิกับปัจเจกแล้วเอาที่ดินขายเพื่อเก็งกำไรต่างๆ เหล่านี้มันทำให้สูญเสียศักยภาพของเศรษฐกิจประเทศไปตั้งเท่าไหร่ กฎหมายที่บังคับการใช้ที่ดิน 30 ล้านไร่ทำไมไม่พูดบ้าง มันจึงทำให้เชื่อมโยงว่าที่ดินกับป่าว่า เรามีแต่จะเอาป่าไปออกเอกสารสิทธิมันก็เลยทำให้ยิ่งมีการบุกรุกป่ากันมากเพิ่มขึ้น เพราะมีแรงกดดันจากตลาดที่ดินมากๆขึ้น คนจนก็จะมีแรงกดดันจากราคาสินค้าการเกษตร เศรษฐกิจก็ตกต่ำ คนจนจึงต้องไปใช้ที่ดินที่อยู่ห่างไกลจากเขตชลประทานเพิ่มมากขึ้นตาม ที่ดินที่อยู่ห่างเขตชลประทานมากขึ้นเท่าไหร่ที่ดินก็จะไม่อุดมสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น ขณะที่ราคาสินค้าการเกษตร ผลผลิตก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ มันก็เลยส่งผลให้คนย่ำแย่ลงเรื่อยๆ การเกษตรก็จะตกต่ำลงเรื่อยๆ ที่ดินที่มันมีคุณภาพเรากลับปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ก็เปลี่ยนไปทำอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างเช่น ปาล์มน้ำมัน สวนยาง มันก็ยิ่งทำให้คนจนที่มีอาชีพเกษตรกรขนาดเล็กไม่มีสิทธิ์ต่างๆที่จะเข้าถึงการครอบครองที่ดินเพราะว่ามันมีแต่การเก็งกำไรหรือปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้าไปบุกรุกป่ามันจึงกลายเป็นปัญหาสืบเนื่อง


ต้นเหตุสำคัญเกิดจากการที่ยึดมั่นกลไกตลาดจนไม่ลืมหูลืมตา แล้วจากการที่ชาวบ้านเข้าไปบุกรุกป่าหรือเข้าไปบุกรุกที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ อาจารย์อานันท์ได้กล่าวว่า ปัญหาสาเหตุก็คล้ายๆกับเรื่องที่ได้กล่าวเอาไว้เบื้องต้นว่า อาจจะเกิดจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และจารีตประเพณีได้เช่น เมื่อก่อนที่ดินเราไม่ต้องมีสิทธิการใช้ที่ดินก็สามารถจะใช้ได้ แต่หลักการใช้ที่ดินสมัยก่อนที่ดินพื้นไหนถ้าว่างก็จะมีคนเข้าไปใช้ แล้วเมื่อมีคนใช้ที่ดินพื้นนั้นอยู่คนอื่นก็จะไม่เข้าไปใช้แล้วถ้ามีการหยุดใช้ที่ดินคนอื่นๆก็จะเข้าไปใช้ที่ดินพื้นนั้นต่อ ซึ่งก็หมายความว่า เมื่อใช้ก็จะมีสิทธิ์ถ้าไม่ใช้ก็หมดสิทธิ์ ประวัติศาสตร์ถือเป็นจารีตที่สืบทอดกันมานาน


ดังนั้นปัจจุบันเมื่อคนมีเอกสารสิทธิแล้วปรากฏว่าไม่ใช้ที่ดินพื้นนั้น คนจนไม่ได้รู้กฎหมายได้ดีเสมอไป เขาก็จะถือว่าเมื่อพื้นที่ไหนมันว่างๆพวกเขาก็จะเข้าไปใช้เข้าไปทำ เมืองไทยจะมีลักษณะการใช้ที่ดินแบบนี้กันมากแล้วมันก็ถือว่าเป็นการบุกรุกไปโดยปริยาย ซึ่งสำหรับคนจนเขาแค่คิดว่าอะไรที่พอจะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปได้วันๆเขาแค่ของเพียงมีที่ดินให้เขาได้ทำมาหากินเพียงเท่านั้นเอง ซึ่งเมื่อก่อนไม่ได้ถือหลักกรรมสิทธิ์ไม่ได้ถือหลักการยึดครอบครองแค่ถือหลักการทำมาหากินหลักการได้ใช้ประโยชน์ เมื่อคุณไม่ใช่ประโยชน์คุณก็ไม่ควรจะมีสิทธิ์การครอบครอง ซึ่งหลักการนี้ไม่ใช่เป็นจารีตแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น มันก็ยังปรากฏในกฎหมายที่ดินที่มีข้อยกเว้นในมาตรา 6 และได้กล่าวไว้ว่า ที่ดินที่คุณไม่ได้ใช้ประโยชน์ภายในระยะเวลา 10 ปี รัฐมีสิทธิถอดสิทธิในการใช้ ซึ่งก็หมายความว่ารัฐก็ยังให้ความสำคัญกับจารีตประเพณีเดิมอยู่ แต่มันเป็นปัญหาว่ามันไม่ได้ถูกนำมาใช้บังคับเลย และปัจจุบันก็ไปเน้นการตลาดมากจนเกินไปจึงมีการบังคับสิทธิได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง


สิทธิในการบังคับใช้ที่ดินเป็นของกรมที่ดินเป็นคนจัดการ ที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการทำการเกษตรและในด้านอื่นๆ ถ้าเรามีทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือที่ดินแล้วไม่นำมาให้เกิดประโยชน์มันก็เป็นการบั่นทอนศักยภาพทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อเรามีกฎหมายอยู่ในมือแต่ไม่ได้บังคับใช้มันก็จะก่อให้เกิดผลกระทบอยู่ดี


000


เมื่อเราไปไม่เน้นแทนการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์แล้วเรากลับไปเน้นการถือครองกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของมากจนเกินไป หรือเมื่อเจ้าของที่ดินสามารถนำเอาที่ดินไปขายได้ แต่เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนคุณต้องใช้ประโยชน์จากที่ดินเสียก่อนถึงจะขายได้ เช่นได้จากการปลูกพืชผักผลไม้ซึ่งก็ถือว่าได้ประโยชน์จากการปลูกพืชผักนั่นเอง แต่ปัจจุบันสามารถขายที่ดินได้เลยจึงมักจะมีการหาช่องทางหรือวิธีการต่างๆ เพราะที่ดินไม่ใช่ที่ที่ก่อให้เกิดประโยชน์จากการปลูกได้เพียงอย่างเดียวอีกแล้ว มันกลายเป็นสินค้าอย่างหนึ่งไปแล้วสำหรับคนจนไม่ได้มีที่ดินเอาไว้ขายแต่เขาคิดแค่ว่าจะปลูกอะไรแล้วทำให้เขาได้ผลประโยชน์ แต่คนจนกลับมองว่าถ้าขายที่ดินจะได้กำไรสักเท่าไหร่ มันกับกลายเป็นมองคนละแบบทั้งๆ ที่ที่ดินเหมือนกันแต่กลับมองที่ดินไม่เหมือนกัน ตรงนี้มันกลายเป็นมิติอย่างหนึ่งที่ครอบงำคนทำให้มองไปคนละทิศทาง ดังนั้นเมื่อมองว่ามันคือสินค้ากอปรกับเงินมันไม่เข้าใครออกใคร ทำให้เกิดปัญหาการฉ้อฉลที่ดินเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่มีการรับสินบน กรมที่ดินก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะคนที่ทำสิ่งเหล่านี้มักจะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลสูง ไม่เป็นผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ก็ทางการเมืองหรือทางราชการ


คนที่ต้องการใช้ที่ดินจริงๆ ควรมีสิทธิ์ในที่ดิน ไม่ใช้ให้ที่ดินกับคนที่ไม่ใช้ แต่กลับเอาไปทำอย่างอื่น เช่น เอาไปขาย หรือประเภทที่บอกว่าเอาที่ดินไปฝากแบงค์ แล้วบอกว่าใช้ที่ดินเหมือนกัน เพราะว่าเกิดดอกเบี้ย ซึ่งการใช้ที่ดินไม่ได้หมายถึงใช้แบบนี้ แต่เป็นการใช้บนตัวที่ดินนั้นจริงๆ ซึ่งการกระทำเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่า ไม่ได้เห็นความสำคัญจริงๆของที่ดิน แต่เห็นกับเงินมากกว่า


หากต้องการที่จะแก้ไขปัญหา ต้องคิดว่าไม่ใช่กลไกตลาดเพียงอย่างเดียวที่จัดสรรทรัพยากรได้ กลไกภาษีอากร คือการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ก็จะเป็นการจำกัดขนาดของการถือครองลงไป และถ้าที่ดินถูกจำกัดขนาดของการถือครอง ราคาที่ดินก็จะตก คนจนก็จะเข้าถึงที่ดินได้มากขึ้น ถือเป็นการปฏิรูปที่ดินแบบกระจายสิทธิ์ ด้วยหลักของระบบทุนนิยมด้วยการให้กฎหมายควบคุมมากขึ้น เรื่องการใช้ที่ดิน เช่น หลักของกฎหมายผังเมือง ที่บอกว่าตรงไหนเป็นเขตเกษตร เขตอุตสาหกรรม เขตที่อยู่อาศัย ต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน แล้วก็ควบคุมการใช้ ถ้าเป็นพื้นที่สีเขียวก็ต้องห้ามตั้งโรงงานอุตสาหกรรม


คือคุณถือกรรมสิทธิ์จริง แต่คุณใช้ที่ดินโดยมีผลกระทบต่อคนอื่นไม่ได้ โดยกฎหมายไม่ได้ละเมิดสิทธิการถือครองที่ดิน แต่ออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิการใช้ โดยให้สังคมหรือท้องถิ่นกำหนด เป็นการปฏิรูปการใช้โดยให้ท้องถิ่นเป็นคนทำ เพราะในอนาคตการใช้ที่ดินอาจส่งผลกระทบต่อท้องถิ่น เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน การสร้างโรงงานที่ปลดปล่อยมลภาวะสูง เนื่องจากในอนาคตประเทศไทยจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม จะมีโรงงานมาก จะเกิดการใช้ที่ดิน ที่สร้างหรือเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง คนก็จะออกมาต่อต้าน เพราะเรายังไม่มีกฎหมายช่วย การที่จะทำอะไรต้องปรึกษาหรือต้องเจรจากับคนท้องถิ่น ถือเป็นการใช้สถาบันทางสังคมคือท้องถิ่น ภาคประชาสังคม โดยตั้งเป็นหน่วยงานอิสระ หลักการมันคือ ไม่ใช่ปล่อยให้กลไกตลาดจัดการอย่างเดียว ให้มีกลไกทางสังคมอย่างอื่นเข้ามาถ่วงดุลบ้าง จะได้ทำให้กลไกตลาดไม่ละเมิดการใช้ที่ดิน เพราะเมืองไทยมีคนที่มีสถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจต่างกันเยอะ ถ้าเราใช้กลไกตลาดอย่างเดียวมันไม่พอ ต้องมีกลไกทางสังคมมาคอยตรวจสอบ ถ่วงดุลด้วย ไม่ใช่ว่าเลิกใช้กลไกตลาดเลย เพียงแต่ว่าเลือกให้มันเหมาะสม ไม่ใช่ให้โฉนดแต่กับปัจเจกบุคคลอย่างเดียว เพราะจะเข้าทางกลไกตลาด บางที่เป็นที่เกษตรชั้นดี ถ้าไม่อยากเสียพื้นที่เหล่านี้ไป เราต้องพิทักษ์พื้นที่นั้น


สถาบันทางสังคมมีหลายรูปแบบ แต่เวลานี้เราใช้แต่กลไกตลาดเป็นหลัก เราไม่ค่อยนำเอากลไกทางสังคมอื่นๆหรือวัฒนธรรมมาช่วย วิธีคิดทางสังคมศาสตร์คือ เราต้องพยายามค้นคว้าหาดูว่ามีกลไกชนิดอื่นหรือไม่ ที่จะมาทำงานเป็นการช่วยเหลือกัน เปิดให้สถาบันอื่นๆมีส่วนร่วมในการจัดการที่ดีกว่านี้ หลักการก็คือว่า ที่ผ่านมาเราเป็นการจัดการทรัพยากรที่ดิน โดยยึดหลักการเชิงเดี่ยว คือให้สิทธิกับบุคคลหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เลยทำให้เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นหลักการที่สำคัญคือ ต้องใช้การจัดการเชิงซ้อน ให้สิทธิกับกลุ่มอื่นๆในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ เช่น ป่าไม้ที่เราให้กรมป่าไม่ทำคนเดียว ถ้าเราให้กลุ่มอื่นเช่น ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในป่าชุมชนบ้าง มีการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนอิสระ เข้ามาถ่วงดุลระหว่างชุมชนกับรัฐ คือต้องมีหลายฝ่าย นี่คือหลักของการจัดการเชิงซ้อนที่ให้หลายฝ่ายเข้ามาร่วมในการจัดการ (Co-management) ซึ่งการจัดการที่ดินเมื่อก่อนเราเน้นสิทธิการเป็นเข้าของแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างเดียว ที่ใช้ในการจัดการทรัพยากร แต่จริงๆแล้วมีหลายสิทธิให้เราเลือกใช้ เช่น สิทธิปัจเจก สิทธิชุมชน สิทธิสาธารณะ สิทธิการจัดการ สิทธิการใช้ สิทธิการตรวจสอบถ่วงดุล สิทธิการเข้าชม เห็นได้ว่ามันมีสิทธิหลายสิทธิในเมืองไทย แต่เราให้แค่สิทธิการเป็นเจ้าของในการจัดการ แสดงให้เห็นชัดว่าขาดพลัง ทำให้ประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรมันสูญเสียไป สร้างความไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรสูงมากขึ้น


ถ้าเรานำเอาสิ่งที่พูดมาผสมกันให้เหมาะสม ตามลักษณะ ประเภทของทรัพยากร และขึ้นอยู่กับพื้นที่ เงื่อนไข สถานการณ์ เพราะมันไม่มีสูตรสำเร็จที่จะบอกได้ มันต้องมีการศึกษาวิจัย ไม่ใช่ว่านักวิชาการแปรว่ารู้หมด เราไม่รู้อะไร จริงๆแล้วเรารู้น้อย แต่ว่าเราศึกษามาก เราต้องไปศึกษาและเรียนรู้ ไม่ใช่ว่ามีคำตอบให้กับสังคมทั้งหมด ถ้าสังคมมีปัญหาเราก็จะวิจัย เพียงแต่เรามีหลักคิดที่ว่า การจัดการเชิงเดี่ยวมันล้าสมัยแล้ว สังคมมันซับซ้อนกว่าสมัยก่อน เราต้องใช้หลักคิดอื่นๆ ที่บอกไปแล้วต้องเอามาใช้หมด มันเป็นอาวุธทางปัญญา เป็นหลักคิด มันเหมือนกับสมอง สติปัญญา ต้องเอามาใช้ ไม่ใช่อะไรก็คิด เอาแต่ง่ายๆเข้าว่า มันก็แก้ปัญหาไม่ได้"


ส่วน "หลักการเชิงซ้อน" ถ้าเราทำได้มันก็จะแก้ไขปัญหาได้ โดยต้องทำให้ไม่มีใครผูกขาดการใช้และการจัดการผู้เดียว เพราะถ้าไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเข้าไปจัดการ ใครมันจะไปสนใจ หลักการที่พูดไปจะเป็นแนวทางในการเอาไปคิด แต่มันไม่มีคำตอบทันที เพราะแต่ละที่แต่ละทางมันอาจจะต่างกัน แต่หลักคิดที่ว่าด้วยการจัดการเชิงซ้อน การไม่ใช้กลไกตลาดเพียงอย่างเดียว เป็นเพียงข้อคิดเบื้องต้น เอาไปช่วยให้เรามองเห็นทิศทางมากขึ้น ว่าเราจะหากลไกอื่นๆอะไรมาช่วยดูแลจัดการทรัพยากรของเราให้เป็นไปตามที่เราอยากเห็น คือ คนที่อยากใช้ได้ใช้ ใช้แล้วก็มีความยั่งยืน ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่ตอบสนองต่อคนในประเทศมากขึ้น ไม่ใช่กระจุกตัว เป้าหมายของการพัฒนาก็จะเป็นจริงได้เพราะเราเข้าใจถึงพลังต่างๆในสังคม แล้วเอาพลังและสติปัญญาเหล่านั้นมาใช้ แต่เวลานี้เราไม่สนใจ พูดง่ายๆคือเราไม่มองเลย เราหน้ามืด เห็นตลาด เห็นเงินก็หน้ามืดตาบอด มัวเมา จนกระทั่งหลงลืมไปว่าอะไรที่เราเคยมีและอะไรที่เราสร้างใหม่ได้ ปัญหาจึงคาราคาซัง เป็นดินพอกหางหมูอย่างที่เราพบอยู่ทุกวันนี้


ในเรื่องเกี่ยวกับการที่ชาวบ้านเข้าไปบุกรุกที่ดินต่างๆ นั้น ศ.ดร.อานันท์เห็นว่า .. มันเป็นกระบวนการต่อรอง ไม่ใช่ว่าชาวบ้านถูกหรือกฎหมายผิด มันไม่มีใครถูกใครผิด เพียงแต่ว่าชาวบ้านเดือดร้อนต้องการที่ทำกิน ชาวบ้านจึงเข้าไปใช้ที่ดินในกรรมสิทธิ์ของคนอื่น ทั่วโลกก็มีไม่ใช่ว่าเมืองไทยจะเป็นที่เดียว แต่ศึกษากันมาเยอะแยะแล้ว มันเป็นกระบวนการที่แสดงว่าคนสิ้นไร้ไม่ตอกจริงๆ แต่เขาก็อยากจะช่วยตนเอง


ที่เราบอกเศรษฐกิจพอเพียงต้องพึ่งตนเอง แต่ไม่เปิดให้เขาพึ่ง คนเราถ้าไม่มีที่ดิน มันก็จะมีแต่แรงงาน แล้วจะไปทำที่ไหน เศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ เรามีการจัดสรรทรัพยากร ไม่ใช่พูดแต่สโลแกน มันไม่ทำให้เป็นจริงได้ ถึงแม้จะเป็นเป้าหมายที่ดี เป็นปรัชญาที่ดี แต่ว่ามันไม่เกิดผล ถ้าไม่จัดสรรทรัพยากรให้คน ก็เหมือนกับการชกลม แต่ถ้ามีที่ดินคุณก็ไม่ต้องชกลม ทำอะไรก็เกิดผลงอกเงย


การบุกรุกที่ดินที่เกิดขึ้นมันผิดกฎหมายจริง แต่กฎหมายเราสร้างออกมาให้เป็นประโยชน์กับสังคม ถ้ากฎหมายที่ออกมามันยังมีบางข้อ บางแง่ บางมุมที่ไม่ได้เกิดประโยชน์กับสังคมก็ปรับ มันเป็นแค่สิ่งที่เราสร้างขึ้นมา เมื่อสร้างขึ้นมากับมือ ก็แก้ได้หรือที่มีอยู่แล้วอย่าง มาตรา 6 (ประมวลกฎหมายที่ดิน)1 ก็ไม่ใช้ ถ้าใช้มันก็แก้ได้


เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันต้องเอามาคิดให้รอบคอบ ต้องช่วยกันจึงจะเกิดผลต่อทุกคนอย่างเสมอภาค และให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งพูดอย่าง แต่ไม่ทำไรเลย มันไม่ได้ มันต้องพูดและทำถึงจะเกิดผล.


หมายเหตุ


1 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 6 นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฎิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ บุคคลใดมีสิทธิในที่ดินตามโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำ ประโยชน์ หากบุคคลนั้นทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือปล่อย ที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
(1) สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน เกินสิบปีติดต่อกัน
(2) สำหรับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เกินห้าปี ติดต่อกันให้ถือว่าเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือที่ปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เมื่ออธิบดีได้ยื่นคำร้องต่อศาล และศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว ให้ที่ดินนั้น ตกเป็นของรัฐเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายนี้ต่อไป


(ที่มา: http://www.kodmhai.com/m2/m2-1/m1-1-13.html)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net