รายงาน: เกาะติดคดีสังหารทีมบอลสะบ้าย้อย ความกระจ่างที่ชาวบ้านยังต้องรอ...

หากพูดถึงคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แน่นอนว่าหลายคนคงนึกถึงคดีสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่นำมาสู่การเสียชีวิตของชาวบ้าน 78 คนจากการขนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2547 กับคดียิงถล่มมัสยิดกรือเซะที่ถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้าไปหลบและยึดเป็นที่กำบัง อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันกว่า 11 จุด รวมผู้เสียชีวิต 106 ศพเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547

ยังมีอีกคดีหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของคนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน แม้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่มีทีท่าจะลดลงก็ตาม นั่นคือ คดีสังหารทีมฟุตบอลสะบ้าย้อย 19 ศพ เหตุเกิดที่หน่วยบริการประชาชนตลาดสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งเกิดเหตุวันเดียวกับที่มัสยิดกรือเซะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

สำหรับคดีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนักฟุตบอลทั้ง 19 คน นั้น ที่ผ่านมาศาลจังหวัดสงขลาได้นัดไต่สวนพยานไปแล้วกว่า 20 ปาก จากทั้งหมด 61 ปาก โดยปากแรกเริ่มไต่สวนตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2548 ล่าสุดศาลจังหวัดสงขลาได้ไต่สวนพยานปาก ส.ต.อ.ประวิทย์ บัวผัน ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะบ้าย้อย ลำดับที่ 29 ซึ่งเป็นพยานฝ่ายญาติผู้ตาย

โดย ส.ต.อ.ประวิทย์ ถูกนำตัวมาเบิกความเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา

สำหรับพยานปาก ส.ต.อ.ประวิทย์ นั้น ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2550 ที่ศาลจังหวัดสงขลา โดยนายเสรี จารุอรอุไร ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสงขลา ได้ออกหมายจับตัวพร้อมกับ ส.ต.อ.สมวงค์ ผลิฟ้า ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะบ้าย้อย และนายอรุณ หลำโส๊ะ อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) เนื่องจากไม่มาศาล โดยไม่ทราบเหตุขัดข้อง ศาลเห็นว่าจงใจขัดหมายเรียกศาลเนื่องจากเจ้าหน้าที่สามารถส่งหมายเรียกได้ ด้วยวิธีปิดหมาย

โดยศาลเห็นว่า พยาน 3 ปากแรกนั้นได้มีการส่งหมายไปแล้วเป็นครั้งที่สอง และไม่มาศาลทั้งสองครั้ง โดยครั้งแรกมีการอ้างเหตุไม่มาศาลนั้น สำหรับ ส.ต.อ.ประวิทย์ ได้มีหนังสือจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะบ้าย้อย อ้างว่าอยู่ระหว่างลาพักผ่อน ไม่สามารถติดตามตัวได้ ส่วน อส.อรุณ ได้ติดตามนายอำเภอไปที่กรุงเทพมหานครเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนครั้งที่สองคือครั้งนี้ไม่มีการอ้างเหตุไม่มาศาล

ขณะที่พยานอีก 2 ปาก คือ จ.ส.ต.วราพงศ์ สกุลรัตน์ ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะบ้าย้อย และนายธีรเดช จันทร์มณี ปลัดอำเภอสะบ้าย้อย ไม่มาศาลในวันดังกล่าวด้วย แต่ศาลสั่งให้ส่งหมายเรียกใหม่อีกครั้ง เนื่องจากในหมายเรียกพยานบุคคลที่ส่งไปแล้วและไม่มีผู้รับแทนนั้น ปรากฏว่ามิได้มีการประทับตราคำสั่งให้ปิดหมายไว้ ซึ่งตามรายงานของเจ้าหน้าที่ระบุว่าพบบ้านตามที่ระบุในหมายแล้ว แต่ไม่พบบุคคลผู้รับหมาย จึงนำหมายกลับมา ซึ่งเห็นว่าเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ศาล จึงเห็นว่าพยานทั้งสองปากไม่ทราบวันนัดไต่สวน จึงยังไม่สมควรออกหมายจับ

ศาลเห็นว่า พยานทั้ง 5 ปากเป็นพยานปากสำคัญ

ทั้งนี้ ในวันนัดไต่สวนวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมานั้น พยานทั้ง 3 ปากที่ถูกออกหมายจับได้เดินทางมาศาลจังหวัดสงขลาด้วย โดยทนายญาติผู้ตายได้เบิกตัวพยานปาก ส.ต.อ.ประวิทย์ มาเบิกความต่อศาล จนถึงเวลา 16.30 นาฬิกา ทนายญาติผู้ตายแถลงขอเลื่อนไปสืบพยานต่อในนัดหน้า พนักงานอัยการแถลงไม่คัดค้าน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานที่เหลือในนัดหน้า ดังนี้

วันที่ 12 มีนาคม 2551 เวลา 13.30 น. สืบพยานปาก ส.ต.อ.ประวิทย์ ต่อ วันที่ 13 และ 25 มีนาคม 2551 เวลา 13.30 น. สืบพยานปาก ส.ต.อ.สมวงค์ ผลิฟ้า วันที่ 26 มีนาคม และ 24 เมษายน 2551 เวลา สืบพยานปาก นายอรุณ หลำโส๊ะ วันที่ 13 พฤษภาคม 2551 เวลา 13.30 น.นายวราพงษ์ จันทมณี

สำหรับเหตุที่มีวันนัดไม่ต่อเนื่องกัน เนื่องจากทั้งศาล พนักงานอัยการและทนายญาติผู้ตาย ไม่มีวันว่างตรงกันและมิได้เข้าระบบต่อเนื่องซึ่งอาจล่าช้ากว่านี้อีกร่วมปี จึงได้สืบพยานแทรกวันว่างเฉพาะช่วงบ่าย

อนึ่ง พนักงานอัยการแจ้งด้วยว่านายวราพงษ์ จันทมณี ได้ลาออกจากการเป็นข้าราชการนับตั้งแต่ภายหลังเกิดเหตุการณ์สังหารทีมฟุตทั้ง 19 คนเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547

สำหรับคำเบิกความ ส.ต.อ.ประวิทย์ ในวันดังกล่าว เบิกความสรุปว่า วันเกิดเหตุข้าพเจ้าได้รับคำสั่งจาก ร.ต.อ.อุทัย รัตนนวล หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านโหนด อำเภอสะบ้าย้อย ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการ สั่งให้เคลื่อนตัวไปอยู่บริเวณกำแพงหน้าร้านอาหารสวยนะ สถานที่เกิดเหตุ ใกล้กับประตูที่ 2 ของร้านด้านติดกับร้านขายของชำ ในเขตเทศบาลตำบลสะบ้าย้อย

ร.ต.อ.อุทัยได้เจรจากับผู้ก่อเหตุนาน 20 นาทีโดยให้ยอมมอบตัว แต่ไม่มีกำหนดเวลาว่าให้มอบตัวเมื่อใด ผู้ก่อเหตุตอบกลับมาว่า เราสู้ตายและมีเสียงพูดยาวีซึ่งตนไม่เข้าใจ ขณะนั้นตำรวจไม่ได้ใช้ปืนยิงแต่อย่างใด คงมีแต่ฝ่ายผู้ก่อเหตุซึ่งใช้ปืนยิงออกมาจากร้านอาหารสวยนะ

เขาเบิกความด้วยว่า วันเกิดเหตุตนไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ก่อเหตุคนใด และไม่เห็นเจ้าหน้าที่คนใดใช้อาวุธปืนยิงฝ่ายผู้ก่อเหตุ โดยตนยืนอยู่บริเวณกำแพงนาน 30 นาทีเสียงปืนจึงสงบลง คาดว่าขณะนั้นเป็นเวลา 08.30 นาฬิกา

นั่นเป็นคำเบิกความบางส่วนของ ส.ต.อ.ประวิทย์ ก่อนที่ศาลจะเลื่อนนัดสืบพยานในครั้งต่อไป

ก่อนหน้านี้ พยานหลายปากโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เบิกความสรุปว่า เหตุการณ์เริ่มขึ้นเวลาประมาณ 05.30 น. วันที่ 28 เมษายน 2547 โดยมีชาย 2 คน ถือมีดวิ่งลงจากรถจักรยานยนต์ ตรงมายังบังเกอร์ด้านหน้าหน่วยบริการประชาชนตลาดสะบ้าย้อย ขณะนั้นมี จ.ส.ต.ชาญณรงค์ หนูเลื่อน ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะบ้าย้อยนั่งอยู่หมายจะทำร้าย จ.ส.อ.ชาญณรงค์ จึงใช้ปืนยิงไปที่ทั้งสองคนจนเสียชีวิต จากนั้นมีการยิงสกัดพวกพรรคที่เตรียมจะเข้ามาจู่โจม จนต้องวิ่งหนีเข้าไปหลบร้านอาหารสวยนะและบริเวณบ้านพักครูซึ่งอยู่ใกล้กัน จนนำมาสู่การเสียชีวิตของทั้ง 19 คน

แม้อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ยังต้องเผชิญกับความรุนแรงหลายครั้งตามมา จนมีผู้เสียชีวิตอีกจำนวนมาก ทั้งคนไทยพุทธและมุสลิม แต่วันนี้ยังมีชาวบ้านบางส่วนยังใจจดใจจ่อรอฟังผลการพิจาณาของศาลว่าจะมีคำสั่งออกมาเช่นไร ผู้ตายคือใคร ใครทำให้ตายและตายอย่างไร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

เพราะยังมีบางสิ่งที่ค้างคาใจชาวบ้าน ทั้งเหตุใดพวกเขาถึงตายในที่เดียวกัน ลักษณะบาดแผลคล้ายๆ กัน ถูกไล่ต้อนจนหมดทางหนีหรือไม่ พวกเขายังคงรอผลการพิจารณาของศาล แม้จะอีกนานก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท