Skip to main content
sharethis



กระเป๋าผ้าของนักออกแบบชื่อดัง Anya Hindmarch


 


นับตั้งแต่ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง An inconvenient truth ที่พูดถึงปัญหาโลกร้อนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมออกฉายทั่วโลกเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่าประเด็น "โลกร้อน" ได้กลายเป็น "กระแส" ที่มาแรงแซงโค้ง(และเข้ากันดีโดยมิได้ันัดหมายกับกระแส "สีเขียวครองเมือง" เมื่อปีที่แล้วด้วย)


 


ที่มาที่ไปของการรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงภาวะโลกร้อนอาจเริ่มต้นมานานแล้ว โดยนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทำงานของตัวเองอย่างขะมักเขม้นมาเป็นเวลาหลายปี แต่เชื่อเถอะว่า...กระแสโลกร้อนทีกำลังขายดีและขายได้ เพิ่งจะมาฮิตถึงขีดสุดเมื่อไม่กี่เพลานี้เอง


 


กระแสเรื่องโลกร้อนแรงแค่ไหน? ต้องบอกว่าแรงถึงขนาดที่นักการตลาดบางคนสร้างคำว่า "โลกร้อนมาร์เก็ตติ้ง" หรือ "กระแสการตลาดเรื่องโลกร้อน" ขึ้นมาเพื่อเรียกขานปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดในบ้านเรา (และบ้านอื่นๆ ทั่วโลก)


 


กระเป๋าผ้าลดโลกร้อน, งานประชุมลดโลกร้อน, คอนเสิร์ตระดมทุนเพื่อลดปัญหาโลกร้อน หรือแม้กระทั่งการชอปปิงก็ยังช่วยลดโลกร้อนทางอ้อมได้ (อ้อมมากๆ)...แล้วแต่ว่าบรรดานักการตลาดและนักโฆษณาจะออกแคมเปญอะไรมาให้ผู้บริโภครับรู้และไล่ตามกัน


 


น่าเสียดายที่กระแสตื่นตัวเรื่องโลกร้อนส่งผลข้างเคียงต่อชีวิตประจำวันของคนในสังคมหลายแห่งมากเกินไป และในขณะเดียวกัน มันกลับสร้าง "เปลือกสีเขียว" ที่ทำให้คนมองเข้าไปไ่ม่ถึงแก่นแท้ของปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยซ้ำ


 


ลดโลกร้อนด้วยการ "บริโภค" - โลกทัศน์ดี แต่ชีวทัศน์เลว


 


ความเชื่ออย่างหนึ่งซึ่งผุดขึ้นมาท่ามกลางกระแสการตลาดเรื่องโลกร้อน ว่ากันว่า "กระเป๋าผ้า" (หรือถุงผ้า) จะมากำจัด "ถุงพลาสติก" ให้สิ้นซาก โทษฐานที่กระบวนการผลิตถุงพลาสติก เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เนื่องจากสารที่โรงงานผลิตถุงพลาสติกปล่อยขึ้นไปในอากาศจะล่องลอยไปทำลายชั้นบรรยากาศข้างบนให้เป็นรูๆ


 


เช่นเดียวกับที่พลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้ในเวลาข้ามปี เป็นเหตุให้บรรดาสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก (ที่ไม่ใช่มนุษย์) ตกเป็นเหยื่อของถุงพลาสติก อาทิ เต่าทะเล ปลา หรือ นก ล้วนประสบชะตากรรมอันน่าเห็นใจ เพราะสัตว์โลกเหล่านี้มักขาดใจตายคาถุงพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเลหรือแม่น้ำลำคลอง หรือไม่ก็เป็นเพราะมันเผลอกินเจ้าวัตถุที่ไม่ย่อยสลายนี้ลงไปโดยไม่รู้ตัว


 


กระแสรณรงค์ให้คนทั่วโลกหันมาใช้ "ถุงผ้า" หรือ "กระเป๋าผ้า" เพื่อลดปริมาณถุงพลาสติกและช่วยกันลดภาวะโลกร้อนจึงเกิดขึ้น และได้รับความนิยมอย่างรุนแรงเมื่อ "อันย่า ไฮด์มาร์ช" (Anya Hindmarch) นักออกแบบกระเป๋าชื่อดังระดับโลก ร่วมมือกับองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม We Are What We Do ผลิตกระเป๋าผ้าแบบเก๋ไก๋ออกมา เพื่อกระตุ้นให้คนส่วนใหญ่หันมาใช้กระเป๋าผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก


 


กระเป๋าผ้าของไฮด์มาร์ชถูกนำไปขายที่ห้างสรรพสินค้าแบบขายปลีกขนาดใหญ่ของประเทศอังกฤษ ซึ่งสาขาของห้างที่มีกระเป๋าผ้ารุ่นนี้วางขาย เป็นสาขาที่มียอดจำหน่ายสินค้าสูง ซึ่งหมายความว่า ถ้าลูกค้าจำนวนมากที่ซื้อของเป็นประจำที่สาขานี้ ปฏิเสธที่จะเอาของที่ตัวเองซื้อใส่ถุงพลาสติก และหันมาใช้กระเป๋าผ้าแทน ก็จะช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลงได้


 


การตอบรับกระเป๋าผ้าสกรีนประโยคเด็ดว่า "ฉันไม่ใช่ถุงพลาสติก" หรือ I"m not a plastic bag ของไฮด์มาร์ช ก็ดีเกินคาด! เพราะถุงผ้ากว่า 20,000 ใบที่วางจำหน่าย ขายหมดเกลี้ยงสต๊อกในเวลาไม่นาน


 


แต่ยังไม่ทันที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะได้ชื่นใจกับปริมาณการใช้ถุงพลาสติกที่ (คาดว่าจะ) ลดลง ผลกระทบที่ตามมาจากการซื้อขายและผลิตกระเป๋าผ้ารุ่น "ขายดีเป็นบ้าเป็นหลัง" นี้ กลับส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมไม่แพ้การใช้ถุงพลาสติก...และคนบางกลุ่มก็ไม่ทันได้รับรู้ด้วยซ้ำว่า เจตนาดีที่ต้องการจะช่วยลดภาวะโลกร้อนของตัวเอง ยิ่งตอกย้ำให้ปัญหานั้นแย่กว่าเดิม...


 


เพราะหลังจากที่กระเป๋าผ้า I"m not a plastic bag ของไฮด์มาร์ชออกวางจำหน่ายในราคาใบละ 5 ปอนด์ หรือประมาณ 300 กว่าบาท พ่อค้าแม่ค้าที่กว้านซื้อกระเป๋ารุ่นนี้มาเก็งกำไรก็ประกาศขายทางเว็บไซต์อีเบย์ด้วยราคาใบละ 220 ปอนด์ หรือ 13,200 บาท และมีคนจากทั่วโลกสั่งซื้ออย่างไม่เสียดายเิงิน


 


กระเป๋าผ้าที่มีเจตนาออกแบบมาเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน จึงกลายเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้โลก (ยิ่ง) ร้อนไปกันใหญ่ เพราะถึงแม้ว่าการสั่งซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตจะช่วยให้ประหยัดเวลา และทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงสิ่งที่ตัวเองอยากได้โดยสะดวกง่ายดายขึ้น แต่การส่งสินค้าข้ามประเทศก็ยังต้องอาศัยกระบวนการขนส่งที่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมไม่แพ้กัน


 


กระเป๋าผ้าของแท้ที่ไฮด์มาร์ชออกแบบอาจถูกบรรจุหีบห่อด้วยพลาสติกกันกระแทก และถูกส่งจากอังกฤษไปยังสิงคโปร์ (หรือประเทศในซีกโลกอื่นๆ) โดยเครื่องบิน ซึ่งพลังงานหรือเชื้อเพลิงที่ถูกใช้ในการขนส่งก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ดี


 


บริษัทผลิตกระเป๋าเลียนแบบที่มีอยู่ทั่วโลกก็ถือโอกาสนี้แย่งกันผลิตกระเป๋าผ้า I"m not a plastic bag ออกมาขายตัดราคากันเอง ทำให้กลไกการผลิตเพื่อจำหน่ายคราวละมากๆ เบ่งบาน และเผาผลาญทรัพยากรเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน


 


ล่าสุด เว็บไซต์หนึ่งของไทย ได้ประกาศขายกระเป๋าผ้าเลียนแบบผลงาน อันย่า ไฮด์มาร์ช ด้วยสนนราคาใบละ 320 บาทเท่านั้น มีให้เลือกหลายสีเสียด้วย!


 


นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงอื่นๆ เกี่ยวกับการผลิตกระเป๋าผ้า "ฉันไม่ใช่ถุงพลาสติก" ของไฮด์มาร์ช ก็เป็นเรื่องที่น่าสลดใจไม่แพ้กัน เพราะหลังจากที่นักชอปปิงผู้ตั้งใจจะสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซื้อกระเป๋าผ้าที่เปี่ยมด้วยจิตสำนักที่ดีรุ่นนี้ไปใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ก็มีการเปิดเผยข้อมูลโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่า ไฮด์มาร์ชผลิตกระเป๋าผ้ารุ่นนี้ที่โรงงานในประเทศจีน ซึ่งเป็นโรงงานที่กดขี่ค่าแรงคนงาน และไม่ได้ใช้ผ้าฝ้ายที่อยู่ในโครงการแฟร์เทรด ซึ่งหมายความว่าผ้าฝ้ายที่ใช้ผลิตกระเป๋า มาจากกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม ไม่ได้รับการยอมรับจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยซ้ำไป


 


ที่สำคัญ สาวนักชอปฯ จากทั่วโลก เ่ช่น สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน มาเลเซีย แทบจะตบตีกันเพื่อให้ได้กระเป๋ารุ่นนี้มาครอบครอง จนตกเป็นข่าวไปทั่วโลก (1) (2) และเหตุวุ่นวายที่ว่ามาก็น่ากลัวถึงขนาดที่ว่ารัฐบาลสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และจีน ต้องสั่งยกเลิกการวางจำหน่ายในประเทศของตนไปเลย เพราะเกรงว่าอาจจะเกิดการจลาจลเพื่อแย่งกระเป๋าเกิดขึ้น...


 


ด้วยเหตุการณ์อะไรทำนองนี้ อาจทำให้คนที่คิดจะช่วยลดภาวะโลกร้อนหลงประเด็นไปไกล เพราะอันที่จริงแล้ว...การทำตัวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่ควรต้องสิ้นเปลืองพลังงานขนาดนี้!


 


เล็กๆ ดีกว่า...อย่าเพิ่งคิดการใหญ่...


 


หันมามองทางฝั่งประเทศไทยบ้าง จะเห็นได้ว่ากระแสการตลาดเรื่องโลกร้อนในบ้านเราก็มาแรงไม่แพ้ที่อื่นใดในโลก งานระดมทุนเพื่อลดปัญหาโลกร้อนผุดขึ้นมากมาย ในรูปแบบของการเดินแฟชั่นการกุศล, คอนเสิร์ตการกุศล, ชอปปิงการกุศล, เพนท์กระเป่าผ้าเพื่อการกุศล โดยวัตถุประสงค์หลักของงานการกุศลเหล่านี้ก็เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของภาวะโลกร้อน และลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาดังที่ว่ามาแล้ว...


 


สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเรื่องการบริโภคสินค้าที่ผลิตมาตอบสนองกระแสการตลาดเกี่ยวกับโลกร้อนว่า แม้จะมีความคิดดี แต่ปฏิบัติไม่ได้ สิ่งที่ตั้งเป้าไว้ก็ไม่มีทางเป็นจริง เหมือนกับคำโบร่ำโบราณที่ว่า "โลกทัศน์ดี แต่ชีวทัศน์เลว"


 


"การที่คนลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อคิดแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องที่ดีในเบื้องต้น แต่อยากให้ทุกคนคิดถึงความเป็นจริงหรือตระหนักจริงๆ ว่าแก่นของปัญหานี้มันคืออะไร การช่วยในเรื่องของการลดโลกร้อนมันอาจจะต้องเข้าใจให้ถึงแก่นว่ารากเหง้าของปัญหาคืออะไร"


 


"เราทุกคนอยู่ในรากเหง้าที่ทำให้เกิดปัญหาเหมือนกันทั้งหมด มันคือการใช้ชีวิตประจำวัน การอยู่ การกิน การใ้ช้พลังงาน การใช้ถุงพลาสติก การทำทุกอย่าง ซึ่งมันไม่ใช่แค่การใช้ชีวิตประจำวันของปัจเจกบุคคลเท่านั้นปัจเจกบุคคลเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่มันมีเรื่องขององค์กร หน่วยงาน เรื่องของธุรกิจ เรื่องของทุกองคาพยพในสังคมไทยรวมอยู่ด้วย ฉะนั้น ถ้าอยากจะลดโลกร้อนจริง มันต้องเข้าใจถึงแก่น และเข้าใจว่านี่ไม่ใช่ปัญหาที่เป็นแฟชั่น แต่มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบสังคมโลก"


 


"อย่าทำให้ความรับผิดชอบของคนในสังคมเหลือน้อยนิดเดียว เหมือนเรื่องเลือกตั้ง เหมือนเรื่องประชาธิปไตย มันไม่ใช่แค่การหย่อนบัตรแค่ห้าวินาที อย่าทำให้สังคมไทยหรือสังคมโลกเหลือแค่ความคิดว่า "ถ้าฉันอยากแก้ปัญหาโลกร้อนแล้ว ฉันไม่ต้องทำอะไรเลย ฉันยังเปิดแอร์ 20 องศา ใช้ชีวิตปกติ เพียงแต่ฉันไปซื้อกระเป๋าผ้ามา มีตั้งแต่ไปละ 50-60 ใบละ 200 ไปจนถึงไปละเป็นพัน แค่นี้ ถือว่าจบแล้ว ฉันช่วยลดโลกร้อนแล้ว" เราต้องไม่ทำให้ความรู้สึกรับผิดชอบของคนเหลือแค่นี้"


 


"ไม่ได้จะต่อว่าการซื้อกระเป๋าผ้า หรือว่าการจัดคอนเสิร์ต แต่แค่เอาเงินไปซื้อกระเป๋าผ้า ไปซื้อบัตรคอนเสิร์ต ไปดูหนัง แล้วก็จบแค่นี้ โลกร้อนคงไม่สามารถแก้ได้แน่นอน เพราะทุกคนยังไม่มีจิตสำนึกที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ไม่มีสำนึกที่จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของครอบครัว ชุมชน หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนโยบายใดๆ ทั้งสิ้น"


 


ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกคนอาจจะปิดหู หลับตา ไม่รู้ไม่ฟังว่าตอนนี้ประเทศไทยมีนโยบายอะไรบ้างที่ทำให้โลกร้อนขึ้น คงไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้เลย แต่ควรจะต้องเริ่มจากจิตสำนึกของปัจเจกบุคคลและสังคม เพื่อต่อยอดไปสู่การรับผิดชอบสังคมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนโยบายและกฎกติกาของสังคมให้ได้


 


"นักวิชาการบางท่านบอกว่าเรื่องโลกร้อนมันจะต้องเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบ "พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน" อย่างเช่น ถ้าบอกว่า ทำยังไงดีเราถึงจะช่วยลดโลกร้อนได้ มันไม่ใช่แค่การใช้กระเป๋าผ้าอย่างเดียว แต่เราอาจจะเริ่มต้นที่ว่า เราจะไม่ใช้พลังงานถ่านหิน แล้วเราก็มาช่วยกัน ทำยังไงก็ได้ ให้ประเทศไทยไม่ใช้พลังงานถ่านหิน และต้องไม่ใช้ (พลังงาน) นิวเคลียร์ด้วย ไม่ใช่พอบอกว่าไม่ใช้พลังงานถ่านหินก็หันไปใช้พลังงานนิวเคลียร์ เราต้องเปลี่ยนทั้งวิถีชีวิตตัวเองในเชิงปัจเจกบุคคล แล้วก็ต้องเปลี่ยนโครงสร้างส่วนบนให้ได้ด้วย"


 


"โครงสร้างส่วนบนที่พูดถึง รวมกฎ กติกา นโยบายต่างๆ ของประเทศเราทั้งหมด อย่างตอนนี้ เรามีนโยบายพลังงานที่มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40 โรง มันจะขัดแย้งไปไหมที่ประเทศไทยบอกว่าเรากำลังจะลดโลกร้อน แต่กระทรวงพลังงานของเรากำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผู้ว่า กฟผ.คนใหม่ก็ประกาศเมื่อ 12 พ.ย.2550 บอกว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 4 โรง"


 


"ระหว่างที่ใช้ถุงผ้า เรามารวมตัวกันเลยดีกว่า บอกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยว่า "เราไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน" อะไรลดโลกร้อนได้มากกว่ากัน อันนี้เป็นมิติที่อยากให้เห็นว่า ถ้าเราอยากจะช่วยลด (โลกร้อน) จริงๆ เราต้องเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมโลกและสังคมไทย ในเรื่องกฎ กติกา การใช้ทรัพยากรธรรมชาติของเราให้ได้ เราตัวเล็กๆ ทำได้ โดยเริ่มต้นจากตัวเราเองก่อน เสร็จแล้วก็ต้องมีการรวมกลุ่มรวมพลังกัน เพื่อทำยังไงให้นโยบายประเทศของเรามันสอดรับได้จริงๆ ไม่ใช่ปากพูดว่าลดโลกร้อน แต่นี่ประเทศเรากำลังจะสร้างพลังงานถ่านหิน กำลังมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ห้างใหญ่ๆ อะไรพวกนี้อยู่"


 


"เราสามารถบอกได้ว่า ต่อไปนี้เราจะไม่ผลิตหรือสร้างโรงไฟฟ้าที่สร้างผลกระทบให้โลกร้อนเด็ดขาด เราจะหันมาสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก อย่างเช่น โรงไฟฟ้าที่ทำจากพลังงานน้ำขนาดเล็กมาก การผลิตไฟฟ้าแบบนั้นอาจใช้ได้ประมาณ 8 บ้าน บางบ้านอาจใช้พลังงานลม บางบ้านใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ส่งเสริมการผลิตพลังงานแบบเล็กๆ เลิกพูดไปเลย เรื่องถ่านหิน เรื่องนิวเคลียร์ เลิกพูดเรื่องใหญ่ๆ เพราะเรื่องใหญ่ๆ ไม่ว่าจะยังไงก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน รวมถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ผลต่อการบริโภค และผลกระทบต่อชุมชน"


 


"อย่างเรื่องพลังงานไฟฟ้า ต่างประเทศมีเยอะแยะที่เขาทำโรงไฟฟ้าขนาดเล็กๆ เพื่อชุมชน มีความยั่งยืนมั่นคง ไม่มีผลกระทบมาก อย่างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในบ้านเราก็พอจะมีบ้าง แต่มันถูกกีดกัน อย่างเช่นการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กแบบ Micro Hydro ต้องใช้เครื่องมือราคาประมาณ 4 พันบาท ในประเทศเราไม่มีอุตสาหกรรมนี้ ประเทศเราหาซื้อไม่ได้ ปรากฏว่าคนที่อยากจะทำพลังไฟฟ้าขนาดเล็กจากน้ำ ต้องไปซื้อมาจากเวียดนาม บ้านเราไม่มีการส่งเสริมเรื่องแบบนี้เลย แล้วเราจะไปพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดินได้ยังไง เรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อนนี้ บางทีอาจจะต้องหยุดอะไรที่มันใหญ่ๆ ต้องพัก ต้องเลิกคิด และหันไปคิดเรื่องเล็กๆ บ้าง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net