Skip to main content
sharethis


 


"จาตุรนต์"ฟ้องศาล-กกต.ละเมิดสิทธิ


 


"จาตุรนต์" ประกาศฟ้องศาลรธน. ชี้กกต.ละเมิดสิทธิ ห้าม 111 อดีตกก.บห.ไทยรักไทยยุ่งเกี่ยวการเมือง เตรียมถกกลุ่มถูกตัดสิทธิเพื่อปกป้องศักดิ์ศรี "อดิศร" กร้าวเดินหน้าปราศรัยท้าทายกฎเหล็ก เพื่อแผ่นดิน "ปลด" ประธานและที่ปรึกษาสภายุทธศาสตร์ที่มาจากอดีต 111 ทรท. ส่วนรวมใจไทยฯเลิกเชิญ "สุวัจน์" นั่งประธานสภาที่ปรึกษา ด้านอดีต กมธ.ยกร่างฯ ฟันธงร้องศาลไม่ได้ ชี้แค่ความเห็น กกต.ยังไม่มีคำสั่งทางกฎหมาย ยันไม่ใช่รอนสิทธิ


 



ภายหลังที่ กกต.มีมติห้าม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยยุ่งเกี่ยวการเมือง ทั้งช่วยหาเสียงผู้สมัคร ร่วมปราศรัยหรือเป็นวิทยากร หรือทำหน้าที่เสมือนหนึ่งกรรมการบริหารพรรคการเมือง ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี เตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะเห็นว่าเป็นการออกกฎที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ


 



นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย อดีตกรรมการบริหารที่ถูกตัดสิทธิแถลงข่าวที่โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง วานนี้ (17 พ.ย.) ว่า การพิจารณาห้ามเพิ่มเติมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ได้ออกมาเป็นระเบียบหรือคำสั่งแต่อย่างใด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่กล้าหาญ ไม่กล้ารับผิดชอบ การออกมติมาเช่นนี้ทำให้พรรคการเมืองเกรงว่าหากให้ 111 คนทำอะไรที่กกต.ห้ามนี้แล้วจะผิดกฎหมายเท่ากับเป็นการตัดสิทธิทั้ง 111 คน ถือเป็นการละเมิดสิทธิ กลั่นแกล้ง สกัดกั้น ขัดขวาง การใช้สิทธิและเสรีภาพ ซึ่งถือว่าขัดต่อมาตรา 30 และมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ


 



"กกต.เลือกปฏิบัติ โดยอาศัยสถานะของบุคคล เพราะอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และจะมีผลไม่ให้มีสิทธิอื่นๆ แต่ไม่มีกฎหมายใดห้ามแสดงความคิดเห็น กกต.บอกว่าไปปราศรัยไม่ได้ก็เป็นการเลือกปฏิบัติ ทั้งที่ย่อมมีสิทธิเท่ากับประชาชนในการแสดงความเห็นหรือปราศรัย"



เขาระบุว่า ภายหลังจากที่ได้หารือกับฝ่ายกฎหมายแล้ว เห็นว่าจะอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 28 เพื่อใช้สิทธิทางศาลบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยส่วนตัวคิดว่าจะยื่นฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะหารือกับ 111 คน อย่างเป็นทางการอีกครั้ง หนึ่ง คาดว่าจะสรุปผลได้ในวันที่ 19-20 พ.ย. นี้ เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตามคงไม่ต้องถึงกับหารือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเมื่อหารือนักกฎหมายแล้วสามารถยื่น 1-2 คน ได้ทันที


 



นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า กกต.เรียนกฎหมายมา แต่ไม่เคารพกฎหมาย และไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยเลย น่าเสียดายที่ กกต.ต้องมีหน้าที่ส่งเสริมการเลือกตั้งให้เกิดความเป็นกลางแต่กลับเป็นผู้มาสกัดกั้นทำลายสิทธิและเสรีภาพไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนมีคิวปราศรัยช่วยผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชาชนหลายเวที ดังนั้นจึงไม่ยุติธรรมต่อพรรคการเมืองและผู้สมัคร ถ้าถามว่ามีผลย้อนหลังหรือไม่ ถ้าถามกฎหมายปัจจุบันย่อมย้อนหลังได้ เพราะมีบรรทัดฐานที่ตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยส่งเดชไปในคราวที่แล้ว


 



"เชิญเลยจะเอาอย่างไรก็เอา ในเมื่อไม่มีหลักนิติธรรมแล้ว แต่เชื่อว่าคงไม่คิดย้อนหลัง แต่คิดไปข้างหน้าว่า 111 คนนี้ยังอยู่ในพรรคพลังประชาชนหลายคน และเป็นนักปราศรัยจึงออกกติกามา พรรคอื่นไม่ได้เดือดร้อน" นายจาตุรนต์ กล่าว


 



อ้างตั้งธงรัฐบาล - ปลุกคนไทยต้าน



นายจาตุรนต์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์การเมือง ว่า คนไทยไม่ควรยินยอมให้ผู้มีอำนาจมากำหนดผลการเลือกตั้งล่วงหน้า โดยกำหนดว่าพรรคไหนจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลบ้าง อย่างที่ทำอยู่ ตนขอเรียกร้องคนไทยที่รักประชาธิปไตย หวงอำนาจของตนเองได้กล้าที่จะออกใช้สิทธิในครั้งนี้ เพื่อเลือกคนที่ตัวเองต้องการ เลือกรัฐบาลที่ตัวเองต้องการ ให้เข้ามาเป็น ส.ส.หรือนายกรัฐมนตรี โดยไม่ยอมให้ผู้มีอำนาจมาเป็นผู้กำหนดไปทั้งหมด


 



"ตอนนี้คนที่เคยมีอำนาจอยู่ใน คมช. หรือคนที่มีอำนาจใน คมช.กำลังดำเนินการเพื่อกำหนดผลการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา และกำลังทำให้การเลือกตั้งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่พอจะอ้างกับชาวโลกว่าเมืองไทยมีเลือกตั้งแล้ว แต่ความจริงทั้งอยู่เบื้องหลัง และเบื้องหน้าในการกำหนดผลการเลือกตั้งด้วยความไม่เป็นกลาง และไม่มีความยุติธรรม"


 



นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เรียกรัฐบาลชุดก่อนว่ากลุ่มอำนาจเก่า พยายามสกัดกั้น ทำลายอำนาจเก่าทุกวิถีทาง มีส่วนแสดงเจตนาชัดเจนว่าต้องการเห็นพรรคไทยรักไทยถูกยุบ มีคำสั่งให้มีการตัดสิทธิ 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย โดยเป็นคำสั่งที่มิชอบ จากนั้นมาดึงสมาชิกพรรคไทยรักไทยเพื่อร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองต่างๆ เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าผู้นำ คมช.บางคนเข้าไปมีส่วนสนับสนุนอยู่เบื้องหลังในการตั้งพรรคการเมือง เพื่อไปรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ และร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล


 



" พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. เข้ามาเป็นรองนายกฯในปัจจุบันนั้น ก็แสดงความคิดเห็นมาเรื่อยๆ ในทำนองที่เป็นผลเสียต่อพรรคพลังประชาชนที่จะได้รับเสียงข้างมากในสภา มีการคาดการณ์ว่าประชาชนต้องเสียใจถ้าพรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะ พล.อ.สนธิ ยังเป็นประธาน ครส. ที่แสดงให้เห็นว่าไม่ได้วางตัวเป็นกลาง "นายจาตุรนต์ กล่าว และว่า นอกจากนั้นยังมีกระแสข่าวด้วยว่า อดีตผู้นำ คมช.และผู้นำ คมช.ปัจจุบันเข้าไปพัวพันกับพรรคการเมืองที่พยายามรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาล จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความเป็นกลาง ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม


 



"อดิศร"กร้าวเดินหน้าปราศรัยหาเสียง



นายอดิศร เพียงเกษ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า กกต.ชุดนี้พยายามทำให้ตัวเองเป็นคณะกรรมการกีดกันการเลือกตั้ง ทั้งที่ต้องตีความเป็นคุณต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่ตีความทำลายสิทธิและเสรีภาพ การตัดสิทธิซ้ำเติมเช่นนี้ตนว่าน่าจะเอาเราไปประหารชีวิตดีกว่าหรือไม่ และการวินิจฉัยเช่นนี้เสียต่อสถาบัน กกต.เอง ไม่อย่างนั้นทำไมไม่วินิจฉัยว่าให้พรรคการเมืองใดเป็นรัฐบาลไปเลย ให้ คมช.เป็นนายกรัฐมนตรี อะไรก็ว่าไป อย่าให้รัฐธรรมนูญต่ำลงไปกว่านี้


 



"ผมไปหาเสียงช่วยพ่อผมไม่ได้ เป็นลูกอกตัญญูทันทีเลยนะ" นายอดิศร กล่าว และว่าในวันจันทร์ที่ 19 พ.ย.จะไปขึ้นเวทีปราศรัย 3 จุด ที่ จ.ขอนแก่น โดยจะขึ้นร่วมเวทีอยู่เช่นเดิม และในวันพุธที่ 21 พ.ย. ที่ จ.อำนาจเจริญ ก็ขอเชิญ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. และนายสุเมธ อุปนิสากร กกต. ซึ่งเป็นคนยโสธร ไปฟังภาษาอีสาน


 



"ผมจะไม่รอคำวินิจฉัย แต่ไปในฐานะที่เป็นประชาชนที่ถูกตัดสิทธิมีความเห็นต่อการเมืองอย่างไรก็พูดไป ไม่ทราบว่าทำได้หรือไม่ครับ ประธานกกต. ได้หรือไม่ครับคุณสดศรี สัตยธรรม" นายอดิศร กล่าว


 



เพื่อแผ่นดินโละ111สภายุทธศาสตร์



วันเดียวกันนี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) ให้สัมภาษณ์ระหว่างนำผู้สมัคร ส.ส.กทม.ลงหาเสียงที่สวนลุมพินี ว่า พรรคพร้อมจะปฏิบัติตามมติของกกต. โดยจะปรับเปลี่ยนตำแหน่งที่ปรึกษานโยบายและสภายุทธศาสตร์ของพรรค และจะแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในพรรค อาทิเช่น นายวิจิตร สุพินิจ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายศุภชัย พิศิษฐวานิช อดีตปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย ฤชุพันธุ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งเป็นน้องชายของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)


 



รวมทั้ง นายบรรพต หงษ์ทอง อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งบุคคลต่างๆ เหล่านี้ก็น่าที่จะให้คำปรึกษากับพรรคของเราได้ ทั้งนี้พรรคยังได้มีการแต่งตั้งคนนอกเข้ามาช่วยทำงานเพิ่มเติมด้วยคือ นายสรจักร เกษมสุวรรณ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


 



ย้ำฟ้องศาลรธน.เป็นเรื่อง4อดีตทรท.


เขายืนยันว่าจะไม่สลายสภายุทธศาสตร์ของพรรค เพราะยังมีอีกหลายคนที่ไม่เกี่ยวข้องและยินดีทำงานให้กับพรรค ส่วนที่เกรงกันว่าจะมีคนหยิบเรื่อง 111 คน ที่อยู่ในพรรคไปฟ้องร้องนั้น ไม่มีใครจงใจทำผิดกฎหมาย เพราะที่ผ่านมายังมีความก้ำกึ่งกันอยู่อยากให้ดูที่เจตนา เมื่อมีกติกาออกมาแล้วเราก็พร้อมที่จะยอมรับกติกา และเชื่อว่าที่ผ่านมาอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่อยู่ภายในพรรค ไม่มีประเด็นใดที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกหรือกรรมการบริหารพรรค และไม่มีบทบาทต่อการตัดสินใจในพรรค จึงไม่น่าจะมีผลย้อนหลังมาดำเนินการกับพรรค


 



ต่อข้อถามกรณีที่นายจาตุรนต์จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 4 คน ที่อยู่กับพรรคจะร่วมฟ้องด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ เพราะขึ้นอยู่กับทั้ง 4 คน


 



ทั้งนี้ อดีต 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่อยู่ในพรรคเพื่อแผ่นดิน คือ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายพินิจ จารุสมบัติ นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ


 



มีรายงานแจ้งว่า จากเดิมที่พรรคเพื่อแผ่นดินกำหนดการจะประชุมส.ส.ใหญ่ของพรรค โดยมีคิวให้นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ขึ้นบรรยายให้ความรู้แก่ส.ส.พรรคในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งภายหลังจากที่กกต.มีข้อห้ามออกมาทำให้การประชุมใหญ่ของพรรคต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด


 



รช.เลิกเชิญสุวัจน์-ข้องใจขัดรธน.



นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา (รช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารพรรคได้เชิญนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ มาเป็นประธานสภาที่ปรึกษายุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารพรรค โดยอยู่ระหว่างรอคำตอบจาก กกต. แต่เมื่อ กกต.มีความเห็นออกมาแล้ว พรรคจึงไม่มีความประสงค์จะเชิญนายสุวัจน์ มาดำรงตำแหน่งดังกล่าว และนายสุวัจน์ก็ไม่มีความประสงค์จะรับตำแหน่งดังกล่าว ทั้งนี้ยืนยันว่าในระยะเวลาที่ผ่านมานายสุวัจน์ไม่เคยมีบทบาทเสมือนหนึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคแต่อย่างใดทั้งสิ้น


 



อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารพรรคได้ตั้งข้อสังเกตว่าการห้ามกิจกรรมการเมืองของทั้ง 111 คนในครั้งนี้ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองหรือไม่


 



อภิสิทธิ์ชี้กกต.จำกัดสิทธิมากไป


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กกต.ต้องระมัดระวังในการออกมติจำกัดสิทธิการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของ 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย โดยต้องไม่ทำเกินเลยกว่าที่ข้อกฎหมายกำหนดหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ควรจะควบคุมไม่ให้ผู้ถูกตัดสิทธิเข้าไปทำหน้าที่เสมือนเป็นกรรมการบริหารพรรคเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จึงไม่เห็นด้วยกับการตัดสิทธิทางการเมืองทุกอย่าง


 



อดีตกมธ.ยกร่างฯยันไม่ใช่รอนสิทธิ



นายคมสัน โพธิ์คง อดีตกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีจะยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่ กกต.ละเมิดสิทธิ 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ว่า อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยยังไม่มีสิทธิร้องต่อศาล เนื่องจากมติที่ออกมาจาก กกต.เป็นเพียงการตอบข้อสงสัยตามที่พรรคการเมืองขอหารือมาเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ กกต.ทำคือ การออกแนวทางปฏิบัติ เป็นแค่การเตือนเท่านั้น ยังไม่ได้มีคำสั่งใดๆ ที่มีผลบังคับตามกฎหมายทั้งสิ้น แต่หากทั้ง 111 คน ฝ่าฝืนคำเตือนของ กกต.แล้วมีผู้ร้องเข้ามายัง กกต. และ กกต.วินิจฉัยว่าเป็นความผิด จึงสามารถร้องต่อศาลได้


 



"ข้อห้ามที่ กกต.ออกมานั้น ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดหรือลิดรอนสิทธิ์ เพราะเจตนารมณ์จะไม่ให้บุคคลเหล่านี้ยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการแข่งขัน เพื่อเข้าสู่การใช้อำนาจรัฐโดยสิ้นเชิง ดังนั้นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการเมืองของพรรคการเมือง ย่อมทำไม่ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพคู่กับผู้สมัคร หรือการไปออกทีวีโฆษณานโยบายให้พรรคการเมือง หรือการจัดสรรผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้นทั้ง 111 คน ต้องศึกษาให้ดีว่าพวกคุณถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง ไม่ใช่สิทธิทางการเมือง แต่ยังมีเสรีภาพในการพูดหรือแสดงความเห็นทางการเมืองได้" นายคมสัน กล่าว


 



ขณะที่ นายศรีราชา เจริญพานิช อดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า บุคคลเหล่านี้ถูกตัดสิทธิ โดยคำพิพากษาของตุลาการรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ดังนั้นจะอ้างสิทธิเหมือนคนทั่วไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะมีกติกาไว้ทำไม เรื่องนี้เปรียบเหมือนนักฟุตบอลที่ทำผิดกติกาขั้นรุนแรง จนถูกใบแดงไล่ออกจากสนาม สิ่งที่ทำได้อย่างเดียว คือขึ้นไปนั่งบนอัฒจันทร์ แล้วนั่งดูได้อย่างเดียว


 



"สมัคร" รับข้อห้าม กกต.- อุบข้อมูลใหม่



 ด้านนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ให้สัมภาษณ์ระหว่างหาเสียงที่แฟลตตำรวจ รถไฟบางซื่อ ถึงมติ กกต.ว่า กกต.ว่าอย่างไร ตนก็ว่าอย่างนั้น ตนเคารพ กกต.ไม่มีปัญหากับ กกต. และ 111 คน อยู่ข้างหลังก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ข้างหน้า และช่วยงานเต็มที่ เคราะห์ดีที่ไม่ได้บอกว่า ห้ามหายใจหรือห้ามคิดถึงพรรคพลังประชาชน หากเป็นแบบนั้นก็ต้องท้วงกันหน่อย แต่ยังให้หายใจ กินข้าวได้ก็ไม่มีปัญหา ส่วนกรณีที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง จะหารือกับอดีต 111 กรรมการ บริหารไทยรักไทยเพื่อฟ้องร้อง นั่นคือผู้เสียหายโดยตรง ที่คงคิดว่ามันคงมากไป นายจาตุรนต์จะทำอะไรก็กรุณาลองดู ไม่มีปัญหา


 



ต่อข้อถามถึงการปราศรัยเมื่อค่ำวันที่ 16 พ.ย. ที่ระบุว่า มีบางคนมองว่านโยบายประชานิยมเป็นนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์ นายสมัคร กล่าวว่า คนๆ นั้นไม่ได้บอกว่าพรรคพลังประชาชน เพียงแต่บอกว่าพรรคการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยม มีแนวทางที่ต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เขาบอกให้คนของเขาไปสมัครสมานกับปลัดกระทรวงต่างๆ และสร้างนโยบายมาตรฐานไว้ เมื่อพรรคการเมืองเข้ามาใช้มาตรฐานนี้ที่กระทรวงมีอยู่ ไม่ใช่ใช้นโยบายพรรค และตนไม่อยากแจกเอกสารนี้ เพราะไม่อยากมีเรื่อง เมื่อซักว่า มีหลักฐานหรือไม่ นายสมัคร ตอบว่า "ไม่มีแล้วจะพูดได้อย่างไร ปัดโธ่"


 



เมื่อถามว่า จะส่งเอกสารนี้ให้ กกต.ตรวจสอบหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า ก็ให้คนที่ตนเอ่ยถึงพูดสิ เถียงสิว่าไม่ได้พูดจริง คราวนี้มาในมาดใหม่แล้ว ตนเอ่ยออกตัวแบบนี้ หากใครกินปูนร้องท้องก็เปิดมา แก้ออกมาเลย ไข่ออกมาแล้วก็กระต๊ากเลย ตนนั่งรอมา 2 วันแล้ว โอเคไหม


 


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com


 


เปิดขุมกำลังหุ้นการเมืองพรึบ!พรรคใหญ่กระสุนตรึม


พลันที่เสียงปี่เสียงกลองในสนามการเมืองดังกระหึ่มขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสมาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ในฟากของตลาดหุ้นนั้นมักจะถูกโยงความสัมพันธ์กับการเมือง



จากบทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) ระบุว่านับจากปี 2531 จนถึงปัจจุบัน(พ.ศ. 2550 )ประเทศไทย มีการเลือกตั้งทั่วไปรวม 7 ครั้ง ซึ่งจากการเก็บข้อมูลช่วงก่อนการเลือกตั้ง 3 เดือน พบว่า นอกจากการเลือกตั้งครั้งที่ 21 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงแล้ว ก่อนการเลือกตั้งทุกครั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯจะปรับตัวขึ้นประมาณเฉลี่ย 10.45 %


 


โดยหุ้นที่จะถูกจับตาเป็นพิเศษในการเลือกตั้งแต่ละครั้งคือ "หุ้นการเมือง"(นักการเมืองหรือคนใกล้ชิดถือหุ้น) ที่มักจะมีความเคลื่อนไหวไปตามอุณหภูมิการเมือง นอกจากนี้มักกล่าวขานกันว่าตลาดหุ้นยังเป็นแหล่งหาเงินตุนกระสุนของกลุ่มทุนการเมืองและผู้เกี่ยวข้อง


 



ทุน-อดีตคนในตลาดหุ้นพรึ่บ!


สำหรับการเลือกตั้งปี 2550 นอกจากจะมีหุ้นที่มีนักการเมืองขาประจำหรือหน้าเก่าแล้ว ยังมีกลุ่มทุนการเมืองหน้าใหม่อย่างประชัย เลี่ยวไพรัตน์ หัวหน้าพรรคมัชฌิมาประชาธิปไตยที่ปัจจุบันมีกิจการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 2 บริษัท คือ บมจ.ทีพีไอ โพลีน และบมจ.บางกอกสหประกันภัย เป็นต้น


 



นอกจากนี้มีบุคคลที่เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงในวงการตลาดทุนอย่างกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ที่เคยประกาศว่าจะร่วมกับพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาก่อนถอนตัวออกมาด้วยเหตุผลส่วนตัวและ กรณ์ จาติกวณิช อดีตผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจหลักทรัพย์ปัจจุบันเป็น รองเลขาธิการ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ถือเป็นคนจากตลาดห้นที่เข้าไปในแวดวงการเมือ



อีกทั้งยังมีกลุ่มทุนที่มีความสัมพันธ์ทางอ้อมกับนักการเมืองที่กลุ่มทุนเหล่านี้จะอยู่หลังฉากคอยส่งน้ำเลี้ยง(ให้เงินสนับสนุน)


 



หุ้นเจ๊แดง แผลงฤทธิ์


ตลาดหุ้นกับการเลือกตั้งปี 2550 ทุนการเมืองก็แผลงฤทธิ์ และสร้างความฮือฮาให้แก่แวดวงนักลงทุนท่ามกลางภาวะตลาดอยู่ในอาการ 3 วันดี 4 วันไข้ เมื่อ"ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ " ลูกสาวเยาวภา วงศ์สวัสดิ์" หรือเจ๊แดง น้องสาวพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โดดลงเล่นการเมือง


 



โดยเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ได้มีการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัท วินโคทส์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด(มหาชน) (บมจ.) (WIN) ที่ตระกูลวงศ์สวัสด์ ถือหุ้นรวม 56.35 %


 



สำหรับชินณิชา ได้ขายหุ้นวิสโคสท์ฯ ที่ถืออยู่ทั้งหมด 72.50 ล้านหุ้นหรือ 14.79% ให้กับนายจักร จามิกรณ์ และนายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล เช่นเคยมีการตั้งคำถามว่าผู้ถือหุ้นใหม่ของบมจ.วินโคสท์ ฯ ใช่ คนกันเอง กับตระกูลวงศ์สวัสดิ์หรือไม่ ?


 



หุ้น"กระเป๋าใหญ่"ชาติไทยขยับ


วันเดียวกันนั้น( 13 พ.ย) ยังมีความเคลื่อนไหวของหุ้นการเมืองอีกตัว นั่นคือ "บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน ( HEMRAJ) ซึ่งมีนายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง เจ้าพ่อที่ชอบเล่นของหนัก(ธุรกิจเหล็ก) และธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหาร ขณะที่บทบาทในทางการเมืองนั้น นายสวัสดิ์ เป็นหนึ่งในทีมเศรษฐกิจของพรรคชาติไทย


 



โดยมีการซื้อขายหุ้นรายการขนาดใหญ่(บิ๊กล็อต) หุ้นเหมราชถึง 5 รายการ คิดเป็น 179 ล้านหุ้น รวมมูลค่า 259.55 ล้านบาท ซึ่งในแวดวงตลาดหุ้นตั้งข้อสังเกตุว่าน่าจะ เป็นการขายของสวัสดิ์ เพื่อเตรียมเงินไปเลือกตั้งในฐานะนายทุนของพรรคชาติไทย ขณะที่สวัสดิ์ กล้อมแกล้มตอบคำถามสื่อข่าว ว่าไม่ใช่ตัวเขาที่ขาย แต่ก็รู้ว่าเป็นใคร


 



นั่นเป็นเพียงหนึ่งในความเคลื่อนไหวของหุ้นทุนการเมือง นอกจากนี้ต้องจับตาหุ้นธุรกิจในเครือเจ้าพ่อเหล็กรายนี้ เช่น บมจ.ซันเทค กรุ๊ปส่วนบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็มีเช่น บริษัทศรีราชาฮาร์เบอร์ จำกัด และบริษัทสตีล ทอป จำกัด เป็นต้น


 



หุ้นตัวไหนสัมพันธ์กับนักการเมืองบ้าง


ในฐานะที่มีการคาดหมายว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคปชป. จะมาวินชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จึงต้องประเดิมเชื่อมโยงหุ้นที่มีความสัมพันธ์กับพรรคเจ้าแม่บีบมวยผมที่ว่ากันว่ากลุ่มทุนการเมืองของค่ายนี้ยังคงเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มล่ำซำ สาย โพธิพงษ์ ล่ำซำ เจ้าของ บ.เมืองไทยประกันชีวิต และถือหุ้นใหญ่ บมจ.ภัทรประกันภัย และหุ้นตระกูล "โสภณพนิช"


 



มาที่ พรรคพลังประชาชน หรือจะว่า พรรคไทยรักไทย เดิมก็ไม่ผิด เพราะพรรคนี้ยังมีคนของตระกูลชินวัตร คุมบังเหียนอยู่นั่นคือ "เจ๊แดง" หรือเยาวภา วงศ์สวัสดิ์


 



ขณะที่ปัจจุบันเจ๊แดงมีธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายบริษัท และเป็นที่รู้กันในแวดวงตลาดหุ้นว่าบางบริษัทอาจไม่มีชื่อของคนในตระกูลวงศ์สวัสดิ์ แต่ใช้ผู้ถือหุ้นแทนหรือนอมินี


 



โดยบริษัทที่เจ๊แดงหวงหนาและยังคงใช้ชื่อคนในตระกูลถือหุ้นคือ บมจ.เอ็มลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น ส่วนอีก 2 บริษัท คือ บมจ.ทราฟฟิก คอร์นเนอร์ (TRAFF) และบมจ.แอสคอน คอนสตรัคชั่น ว่ากันว่าเจ้าของตัวจริงก็คือ ตระกูลวงศ์สวัสดิ์ นั่นเอง


 



จับตาหุ้นเกี่ยวดองพรรคน้องใหม่


สำหรับพรรคการเมืองน้องใหม่อย่าง"พรรคเพื่อแผ่นดิน" ที่สุวิทย์ คุณกิตติ เป็นหัวหน้าพรรค ก็ถือว่ามาแรงและไม่น้อยหน้าพรรคหน้าเก่า เพราะนอกจากเป็นพรรคที่มีขุมกำลังหรือบุคคลากรระดับมันสมองที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจทั้งในแวดวงธุรกิจและตลาดหุ้นอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว นายทุนของพรรคก็กระเป๋าหนักและมีคนใกล้ชิดอาศัยตลาดหุ้นสะสมกระสุน(เงิน )ให้ นั่นคือ พินิจ จารุสมบัติ เป็นต้น นอกจากนี้มีปรีชา เลาหพงศ์ชนะ โดยปรีชามีชื่อเกี่ยวข้องในหุ้นที่ทำธุรกิจกำจัดขยะคือ บมจ.โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี


 



นอกจากนี้พรรคเพื่อแผ่นดินยังมี"ศุภชัย พิศิษฐ์วานิช" ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ไอร่า จำกัด อดีตปลัดกระทรวงการคลังที่รู้จักกันดีในชื่อปลัดไก่ ว่ากันว่าปลัดไก่มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกลุ่มบมจ.สามารถ ของตระกูลวิไลลักษณ์ มาเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับพรรค



นอกจากนี้ปลัดไก่ได้ดึง "วิจิตร สุพินิจ" อดีตประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มาร่วมพลพรรคด้วย อีกทั้งมีวิเชียร เตชะไพบูลย์ ที่ปัจจุบันเป็นกรรมการอิสระในบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง เช่น ดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการ บมจ.สามารถ กรรมการ บมจ.เอเซียไฟเบอร์ และ บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา นอกจากนี้มีดร.วัชระ พรรณเชษฐ์ เลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดิน ปัจจุบันเป็นกรรมการ บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ของเสี่ยวิชา พูลวรลักษณ์ เป็นต้น


 



ตลาดฯ จับตาหุ้นการเมือง


กับการที่มีนักการเมืองเกี่ยวดองกับกิจการในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวนมาก ไม่ว่าจะทางตรงและทางอ้อมนั้น สำหรับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ยอมรับว่าอยู่เฉยไม่ได้


 



โดยภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท.เผยว่า ช่วงเลือกตั้งในเดือนธันวาคมนี้ว่า นักการเมืองที่ต้องการซื้อขายหุ้น ควรดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ให้มีความโปร่งใสมากที่สุด และแจ้งข้อมูลทุกครั้งที่มีการซื้อหุ้นขายหุ้น รวมทั้งกลุ่มบุคคลที่เข้ามาซื้อหุ้นเพื่อไม่ให้ราคาหุ้นเคลื่อนไหวผิดปกติ เพราะเป็นกลุ่มที่อยู่ในความสนใจของประชาชน นอกจากนี้หากมีการซื้อขายถึงระดับ 25% ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์(เทนเดอร์ ออฟเฟอร์)จากนักลงทุน


 



นักการเมืองถือเป็นนักลงทุนคนหนึ่ง มีสิทธิที่จะซื้อและขายหุ้น โดยต้องให้รายงานข้อมูลทุกอย่างด้วยความโปร่งใส ต้องรายงานข้อมูลให้มีความชัดเจน ผู้ซื้อว่าเป็นใคร ไม่ให้ราคาเคลื่อนไหวผิดปกติ จึงต้องระมัดระวังเพราะมีคนที่ดูการซื้อขายอยู่"


 



เช่นเดียวกับที่มือตรวจสอบอย่าง สุภกิจ จิระประดิษฐกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานกำกับตลาด ตลท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลท.ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบการซื้อขายหุ้นของนักการเมืองเพิ่มขึ้น โดยจะพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเป็นหลักว่าผิดปกติหรือไม่ หากมีราคาเคลื่อนไหวที่ผัน ผวนมากจะต้องเข้าไปตรวจสอบว่ากลุ่มที่เข้ามาซื้อหุ้นในครั้งนี้เป็นใคร


 



จากความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับนักธุรกิจในตลาดหุ้นทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและทางอ้อม อีกทั้งมีอดีตผู้บริหารในตลาดทุนที่ได้เล่นการเมืองกันหลายคนนั้น จึงเชื่อได้ว่า ตลาดหุ้นยังทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนชั้นดีให้กับ พรรคการเมืองเพื่อใช้ระดมทุนสำหรับรณรงค์ชิงชัยในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขี้นเช่นเดียวกับหลายครั้งที่ผ่านๆมา


 


 


ที่มา: http://www.thannews.th.com


 


 

 


เศรษฐกิจ


 







เศรษฐกิจ


 


สิงคโปร์หนุนอาเซียนร่วมมือเศรษฐกิจสู้จีน


สิงคโปร์ - สิงคโปร์กระตุ้นชาติอาเซียนสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจสู้กับจีนและอินเดีย ด้านวุฒิสมาชิกสหรัฐลงมติเรียกร้องสมาชิกอาเซียนแบนพม่า จนกว่าจะปรับปรุงเรื่องสิทธิมนุษยชน



นายลี เซียน หลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวต่อที่ประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุน สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) วานนี้ (17 พ.ย.) ว่า สมาชิกอาเซียนจะต้องร่วมกันสร้างประชาคมเศรษฐกิจที่สามัคคีกัน เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการแข่งขันกับจีนและอินเดีย แต่ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมระบุว่าอาเซียนจะเป็นรากฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจเอเชีย


 



"กลุ่มประเทศของเราให้ประโยชน์ครบครันแก่ภาคธุรกิจ และเป็นแกนกลางที่จะทำให้เอเชียสามารถสร้างความผูกพันทางเศรษฐกิจ และกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค อาเซียนจะต้องร่วมเป็นหนึ่งเดียวและสามัคคีกัน เพื่อช่วยให้ภูมิภาคสามารถเทียบกับเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย ที่ใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่าได้" นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าว


 



ทั้งนี้ กลุ่มประเทศอาเซียนตกลงจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว เพื่อทำให้ตลาดและผลผลิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยยึดหลักให้สินค้า บริการ การลงทุน และแรงงาน ไหลเวียนอย่างอิสระภายในปี 2558


 



นายลี เผยว่า สมาชิกอาเซียนจะลงนามในพิมพ์เขียวการสร้างตลาดเดี่ยวแบบสหภาพยุโรป (อียู) ในสัปดาห์หน้า โดยพิมพ์เขียวดังกล่าวจะช่วยขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก และช่วยให้การประกอบธุรกิจระหว่างประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ


 



ก่อนหน้านั้น สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวันศุกร์ (16 พ.ย.) กระตุ้นให้สมาชิกของ



อาเซียนระงับสมาชิกภาพของพม่า และพิจารณามาตรการลงโทษที่เหมาะสม จนกว่ารัฐบาลทหารพม่าจะให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน


 



ด้านหนังสือพิมพ์นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ อ้างสุนทรพจน์ของพลเอกอาวุโส ตัน ฉ่วย หัวหน้ารัฐบาลทหารพม่า ว่า พม่าจะเดินหน้าตามแผนโรดแมพเพื่อนำพาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย พร้อมย้ำว่า โรดแมพเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างราบรื่นไปสู่การเป็นรัฐใหม่ ขณะที่กองทัพช่วยปกป้องพม่าจากภัยอันตรายต่างๆ ที่จะกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติเสมอมา แต่ไม่ได้ระบุถึงเหตุประท้วงทั่วประเทศครั้งล่าสุด


 



ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com


 


 


โอเปคเตือนภัยคุกคามพลังงาน


ริยาด-โอเปคหลีกเลี่ยงการพาดพิงถึงระดับการผลิตน้ำมัน และผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ในการประชุมระดับรัฐมนตรี แต่เตือนถึงภัยคุกคามความมั่นคงพลังงาน หากประเทศผู้บริโภคออกกฎหมายต่อต้านโอเปค


 



สำนักข่าวดาวโจนส์อ้างร่างแถลงการณ์หลังการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมัน การคลัง และการต่างประเทศ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันศุกร์ (16 พ.ย.) ว่า ที่ประชุมหลีกเลี่ยงการพาดพิงถึงระดับผลผลิตน้ำมัน และผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ พร้อมย้ำว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับการผลิตในขณะราคาน้ำมันดิบโลกใกล้แตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะอยู่ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันกลุ่มโอเปค ที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ วันที่ 5 ธ.ค.


 



ร่างแถลงการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มได้รับการรับรองจากผู้นำโอเปคในการประชุมสุดยอดช่วงสุดสัปดาห์นี้ ขณะเจ้าหน้าที่อาวุโสยืนยันว่า เนื้อหาในร่างแถลงการณ์ประกอบด้วยการส่งสัญญาณถึงประเทศผู้บริโภคน้ำมันว่า การออกกฎหมายใดๆ ที่มีลักษณะต่อต้านกลุ่มโอเปค จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพตลาดและความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต รัฐบาลประเทศผู้บริโภคควรดำเนินนโยบายพลังงาน สิ่งแวดล้อม งบประมาณ และการค้า ที่โปร่งใส เป็นธรรม และสามารถคาดเดาได้ รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงตลาดและทรัพยากรการเงินโดยเสรี


 



คำเตือนในร่างแถลงการณ์เป็นการพาดพิงถึงความพยายามของสหรัฐ ที่จะฟ้องร้องกลุ่มโอเปคเกี่ยวกับกิจกรรมในลักษณะการทำสัญญาตกลงร่วมมือกัน หรือการออกกฎหมายประหยัดพลังงาน



อย่างไรก็ตาม ร่างแถลงการณ์ไม่ได้เอ่ยถึงผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นประเด็นที่อิหร่าน และเวเนซุเอลาพยายามผลักดัน แต่ยังคงยึดมั่นในประเด็นหลัก 3 ประการ คือ การรักษาเสถียรภาพของตลาดพลังงานทั่วโลก พลังงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และพลังงานกับสิ่งแวดล้อม



เจ้าชายซาอัด อัล-ไฟซาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ทรงแสดงความเห็นว่า ที่ประชุมไม่ควรพูดถึงค่าเงินดอลลาร์ เนื่องจากจะยิ่งเป็นอันตรายต่อค่าเงินสหรัฐ และอาจทำให้ค่าเงินล่มสลายได้


 



ก่อนหน้านั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไนจีเรีย แองโกลา และอิรัก กล่าวว่า ประเทศทั้งสามกำลังพิจารณาโยกย้ายการถือครองเงินประมาณ 80,000 ล้านดอลลาร์ ในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ไปเป็นเงินสกุลอื่นแทน เช่น ยูโร



ด้าน นายคามาล อัล-บาสรี ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายนูริ อัล-มาลิกิ นายกรัฐมนตรีอิรัก กล่าวกับดาวโจนส์ว่า เขากำลังศึกษาร่วมกับธนาคารกลางอิรักถึงความจำเป็นที่จะต้องกระจายการถือครองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมูลค่า 23,000 ล้านดอลลาร์


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com


 


 


 







คุณภาพชีวิต-สิ่งแวดล้อม


 


"เหยื่อพายุ"ทะลุ2พัน บังกลาเทศอ่วมหนัก นานาชาติระดมช่วย


ธากา - ยอดผู้เสียชีวิตจากพายุไซโคลน "ซิดร์" ที่พัดเข้าถล่มพื้นที่ทางใต้ของบังกลาเทศ เพิ่มขึ้นเกิน 2,000 คนแล้ว ขณะที่นานาชาติเร่งให้ความช่วยเหลือ ยูเอ็นมอบ 1.5 ล้านยูโร ส่วนเยอรมนีควักกระเป๋าเกือบ 300,000 ดอลลาร์


 



สำนักข่าวยูเอ็นบีของบังกลาเทศ รายงานเมื่อวานนี้ (17 พ.ย.) ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างไม่เป็นทางการจากเหตุพายุไซโคลนซิดร์ พัดเข้าถล่มชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เมื่อกลางดึกวันพฤหัสบดี (15 พ.ย.) น่าจะเกิน 2,000 รายแล้ว และมีผู้สูญหายอีกอย่างน้อย 300 คน


 



ขณะที่ทางการยืนยันยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 932 ราย แต่ยอมรับว่าตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้ เมื่อข้อมูลจากต่างจังหวัดเริ่มทยอยเข้ามายังส่วนกลาง กระนั้นก็ตาม เชื่อว่าภัยพิบัติครั้งนี้จะไม่เลวร้ายเท่ากับเหตุพายุไซโคลนพัดถล่มเมื่อปี 2534 ที่คร่าชีวิตผู้คนไป 138,000 ราย และปี 2513 ที่คร่าชีวิตผู้คนไป 500,000 ราย


 



นายอายับ มีอาห์ เจ้าหน้าที่กระทรวงหายนภัย กล่าวว่า ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะสิ้นสุดการค้นหาผู้ประสบภัย และทราบตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แน่นอน รวมทั้งยอดความเสียหายต่อทรัพย์สินต่างๆ


 



อนึ่ง พายุไซโคลนลูกนี้ทำให้ชาวบังกลาเทศหลายหมื่นคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย เรือกสวนไร่นา และฟาร์มประมงได้รับความเสียหายอย่างหนัก รวมถึงถนนและไฟฟ้าถูกตัดขาด แม้แต่ในกรุงธากา เมืองหลวงของประเทศ ทำให้การติดต่อสื่อสารและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความยากลำบาก



เฮลิคอปเตอร์ และเรือของทหารเข้าร่วมค้นหาและช่วยเหลือผู้รอดชีวิต ขณะเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยภาคพื้นดินประสบความยากลำบากในการค้นหาผู้ประสบภัย และให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากถนนสายต่างๆ ถูกตัดขาดหรือมีสิ่งกีดขวางขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่บางส่วนต้องอาศัยช้างเข้ามาช่วย


 



ขณะเดียวกัน นานาชาติได้เร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อการบรรเทาทุกข์ โดยสหรัฐแสดงความเสียใจกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น และประกาศพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลบังกลาเทศ และประเทศผู้บริจาคอื่นๆ อย่างเต็มที่ ขณะที่เยอรมนีจะมอบเงินช่วยเหลือฉุกเฉินมูลค่าประมาณ 293,000 ดอลลาร์


 



นายตูห์อิด ฮอสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า กองทัพเรือสหรัฐส่งเรือสะเทินน้ำสะเทินบก 2 ลำ พร้อมเฮลิคอปเตอร์มาช่วยแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการเสนอความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ



ด้าน นายจอห์น โฮล์มส์ รองเลขาธิการฝ่ายกิจการเพื่อมนุษยธรรม สหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า ความเสียหายต่อชีวิต บ้านเรือน และพืชผลอยู่ในขั้นรุนแรงมาก ทางสำนักงานจัดสรรเงินช่วยเหลือไปแล้วมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านยูโร ขณะที่องค์กรเพื่อมนุษยธรรมหลายแห่ง เช่น ยูนิเซฟ และแคร์ ต่างร่วมมือกับรัฐบาลบังกลาเทศ และหน่วยงานอาสาสมัครท้องถิ่น จัดสรรน้ำดื่มและอุปกรณ์ฉุกเฉินให้แก่พื้นที่ประสบภัย


 



นายซูมาน อิสลาม เจ้าหน้าที่ แคร์ บังกลาเทศ แสดงความหวังว่า การให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินจะช่วยลดการเสียชีวิตลงได้ แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไร้ที่อยู่อาศัย บ้านเรือนและพืชผลเสียหาย ซึ่งจะกลายเป็นแรงกดดันอย่างหนักต่อรัฐบาล เศรษฐกิจ และตัวประชาชนเอง


 



นายวินซ์ เอ็ดเวิร์ด ผู้อำนวยการ เวิลด์ วิชั่น บังกลาเทศ กล่าวว่า ทีมบรรเทาทุกข์ขององค์กรเริ่มกระจายความช่วยเหลือฉุกเฉินออกไปแล้ว ในเบื้องต้นคาดว่าช่วยเหลือประชาชนได้ราว 100,000 คน แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ ที่เจ้าหน้าที่เข้าไม่ถึง เนื่องจากมีต้นไม้ล้มกีดขวาง


 



นายลูอิส มิเชล กรรมาธิการยุโรป รับผิดชอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการพัฒนา กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือเป็นโศกนาฏกรรมร้ายแรง มีผู้เสียชีวิตนับพัน และผู้คนนับหมื่นได้รับความทุกข์ทรมานจากหายนภัย



ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com


 


 


เวเนซุเอล่าประกาศแผนพัฒนาโครงการนิวเคลียร์


ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ผู้นำเวเนวูเอล่า ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ของฝรั่งเศสขณะเยือนกรุงปารีสของฝรั่งเศส ว่า มีแผนการจะเริ่มโครงการพัฒนานิวเคลียร์ขึ้นในเวเนซุเอล่าในเร็วๆนี้ โดยจะพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ไปในทางสันติ ขณะเดียวกันผู้นำเวเนซุเอล่ากล่าวปกป้องโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านว่า อิหร่านได้กระทำไปในทางสันติเช่นเดียวกัน


 


ด้านประธานาธิบดีมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด ผู้นำอิหร่าน ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์อัล-อาราบียา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าในช่วงเวลานี้สหรัฐไร้ความสามารถที่จะใช้กำลังทหารโจมตีอิหร่านเนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ นอกเหนือไปจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจ การเมืองและการทหารแล้ว สหรัฐย่อมตระหนักดีว่าชาวอิหร่านจะลุกขึ้นสู้ และระบุว่าสหรัฐจะต้องเสียใจหากโจมตีอิหร่าน


 


ส่วนแผนการประชุมของประเทศมหาอำนาจเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดมากขึ้นต่ออิหร่านต้องถูกยกเลิกไป หลังจีนประกาศจะไม่เข้าร่วมประชุม สำหรับกำหนดวันใหม่ในการประชุม นายฌอน แมคคอร์แม็ค โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่ายังไม่มีการกำหนดขึ้น ซึ่งแต่เดิมเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากประเทศมหาอำนาจ 6 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยเยอรมนีและสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 5 ประเทศ มีกำหนดจะประชุมเพื่อหารือเรื่องดังกล่าวในกรุงบรัสเซลส์ วันจันทร์นี้ โดยก่อนหน้านี้สหรัฐเตือนว่า จีนไม่ควรจะขัดขวางการคว่ำบาตรอิหร่านของสหประชาชาติครั้งใหม่


 


ที่มา: เว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก


 



โฟกัส 6 เขื่อนกั้น 'แม่น้ำโขง' 'ธุรกิจยักษ์' ตีตั๋วจอง 'สูบทรัพย์'


การรื้อฟื้นแผนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ 6 เขื่อน บนแม่น้ำโขงตอนล่าง กำลังเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายแสดงความห่วงใยถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคแม่น้ำโขง ล่าสุด



องค์กรภาคประชาชนและบุคคล 201 รายชื่อ จาก 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงกลุ่มภาคประชาสังคมในประเทศแม่น้ำโขง 126 กลุ่ม ได้ยื่นจดหมายถึงคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือ MRC) และประเทศผู้บริจาคในการประชุมหารือประจำปีวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา


 



โดยเนื้อหาในจดหมายแสดงถึงหายนะที่จะเกิดขึ้น หากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง และเรียกร้อง MRC ให้แสดงความรับผิดชอบที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงในการอนุรักษ์แม่น้ำโขง รวมทั้งเรียกร้องบรรดาประเทศผู้ให้ทุนทั้งหลายทบทวนอย่างจริงจังว่า สมควรที่จะสนับสนุนด้านการเงิน MRC หรือไม่ แต่ทางฝ่ายคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงยังไม่มีท่าทีต่อโครงการพัฒนาเหล่านี้ ขณะที่เขื่อนบนแม่น้ำโขงจ่อคิวเดินหน้า


 



ประเด็นเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงสายหลักกำลังฟื้นคืนชีพนี้ เปรมฤดี ดาวเรือง จากโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า (TERRA) บอกว่า หลังจากเตรียมการวางแผนมากว่า 10 ปี เขื่อนขนาดใหญ่ 6 เขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่างได้รับการรื้อฟื้นอีกครั้ง จากที่เคยทิ้งข้อเสนอการสร้างเขื่อนเหล่านี้ไปแล้วในอดีตเพราะเป็นโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมหาศาล อีกทั้งมีราคาสูงเกินไป แต่เมื่อต้นปี 2549 บริษัทสัญชาติไทย มาเลเซีย และจีน กลับได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ให้เดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ของเขื่อนต่างๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก


 



เปรมฤดีอธิบายถึงโครงการที่มีการผลักดันอยู่ในขณะนี้ว่า มี "เขื่อนดอนสะฮอง" แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว มีการลงนามในเอ็มโอยูระหว่างบริษัท เมกะ เฟิร์สท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ของมาเลเซีย กับรัฐบาลลาวเมื่อเดือนมีนาคม 2549 จะใช้เงินลงทุนราว 10,000 ล้านบาท มีแผนสร้างเสร็จในปี 2553 เขื่อนไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี ประเทศลาว มูลค่าการลงทุน 60,000 ล้านบาท โดยบริษัท ช.การช่าง มหาชน จำกัด ของไทยเซ็นเอ็มโอยูกับรัฐบาลลาว เดือนพฤษภาคม 2550 จะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2554 บริษัทยังได้สัมปทานในการผลิตไฟฟ้าจากรัฐบาลลาวเป็นเวลา 30 ปี คาดว่าจะขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ในปี 2558


 



"เขื่อนปากลาย" แขวงไซยะบุรี ลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาทเช่นกัน บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของจีนที่ชื่อ ชิโน ไฮโดร คอร์ปอเรชั่น และบริษัท ไชน่า เนชั่นแนล อิเลคโทรนิค อิมพอร์ต จำกัด ได้ลงนามกับรัฐบาลลาวเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา และจะได้สัมปทานผลิตไฟจากลาว 30 ปี "เขื่อนปากแบ่ง" แขวงอุดมไซ ประเทศลาว เซ็นเอ็มโอยูระหว่างบริษัท ต้าถัง อินเตอร์เนชั่นแนล พาวเวอร์ เจเนเรชั่น จำกัดกับรัฐบาลลาว เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 "เขื่อนซำบอ" จังหวัดกระแจ๊ะ ประเทศกัมพูชา มีการลงนามระหว่างบริษัท ไชน่า เซาธ์เทิร์น พาวเวอร์กริด กับรัฐบาลกัมพูชา เมื่อตุลาคม 2550


 



เขื่อนที่ 6 คือ "เขื่อนบ้านกุ่ม" ชายแดนไทย-ลาว อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ทางกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ได้ว่าจ้างให้บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท แมคโคร คอนซัลแตนท์ ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะใช้เงินลุงทุน 90,000 ล้านบาท นอกจากนี้ทาง พพ.ยังได้เสนอโครงการ "เขื่อนผามอง" บริเวณชายแดนไทย-ลาว จ.เลย ซึ่งว่าจ้างบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท แมคโคร คอนซัลแตนท์ ทำการศึกษาความเป็นไปได้ มีรายงานล่าสุดว่ามีการว่าจ้างสถาบันการศึกษาท้องถิ่นให้ลงมือทำการศึกษาผลกระทบทางสังคมในหมู่บ้านต่างๆ ในเขต อ.ปากชม จ.เลย อีกด้วย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการ เขื่อนนี้เคยได้รับการผลักดันอย่างหนักในช่วง 30 ปีก่อน แต่ล้มเลิกไปเพราะการต่อต้านจากชาวบ้าน ซึ่งจะต้องอพยพจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำกว่า 250,000 คน


 



"มีทั้งหมด 6 แห่งที่จะเกิดขึ้นบนแม่น้ำโขงสายหลัก มาแบบจู่โจมทีเดียวหลายเขื่อน อย่างเขื่อนดอนสะฮอง แม้เป็นขนาดเล็ก แต่จะสร้างปิดช่องทางน้ำที่เรียกว่า "ฮูสะฮอง" ในบริเวณน้ำตกคอนพระเพ็ง ซึ่งมีความสำคัญทางการประมง ในรายงาน World Fish Center ระบุว่า ฮูสะฮองเป็นช่องทางสำคัญที่ปลาอพยพผ่านน้ำตกไปยังตอนบนของแม่น้ำได้ตลอดปี ช่องน้ำอื่นๆ เป็นน้ำตกสูงชันปลาผ่านไปไม่ได้ ข้อมูลยังชี้ว่าบางจุดมีปลาอพยพสูงถึง 30 ตันต่อชั่วโมง ถ้าปลาอพยพขึ้นตอนบนของน้ำโขงไม่ได้พันกว่าชุมชนตอนบนจะประสบปัญหากับความไม่มั่นคงด้านอาหารแล้วยังมีเขื่อนซำบอในเขมร กำลังผลิต 3,300 เมกะวัตต์ เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่กั้นลำน้ำโขงร่วม 4 กิโลเมตร พื้นที่สร้างเขื่อนนักวิทยาศาสตร์ระบุว่ามีความสำคัญต่อการประมง ถือว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก" เปรมฤดีกล่าวถึงโครงการเขื่อนต่างๆ ที่จะคุกคามต่อปลาและการประมงในแม่น้ำโขง


 



ประเด็นที่หลายฝ่ายตั้งคำถามต่อบทบาทคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือ MRC ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการปกป้องแม่น้ำโขงภายใต้ "ข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน" เมื่อปี 2538 เปรมฤดีขยายความตรงนี้ให้ฟังว่า การลงนามในข้อตกลงแม่น้ำโขงเมื่อปี 2538 เหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงพันธกิจใหม่ที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการใช้ประประโยชน์อย่างเท่าเทียม


 



แต่ภาคประชาสังคมตั้งคำถามว่า MRC ปกป้องหรือทำลายแม่น้ำโขงกันแน่ ที่ผ่านมา MRC ใช้เวลาและทุนจำนวนมากไปกับการทบทวนแผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก มีการระบุถึงโครงการเขื่อนอีกจำนวนมากกว่า 200 เขื่อน ส่วนใหญ่อยู่บนแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงที่ไหลมาจากที่ราบสูงของลาว กัมพูชา และเวียดนาม มันคนละเรื่องกัน


 



"12 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่ MRC บอกว่าจะทำมันล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ โครงการสร้างเขื่อน 6 แห่งบนแม่น้ำโขงสายหลัก MRC ทำสิ่งที่ตรงข้ามกับหลักการตามข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 ที่ระบุถึงภารกิจของ MRC มีหน้าที่ป้องกัน หยุดยั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านปริมาณน้ำ คุณภาพน้ำ ระบบนิเวศน์ และความสมดุลของระบบแม่น้ำที่เป็นผลจากการพัฒนาและการใช้ทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำโขง"


 



เปรมฤดี ยังระบุว่า MRC มีหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ตลอดจนเปิดให้มีส่วนร่วมตามหลักการ MRC กลับล้มเหลวที่จะบอกต่อสาธารณะเกี่ยวกับความเสี่ยงของโครงการพัฒนาลักษณะนี้ และเก็บงำข้อมูลเหล่านั้นไว้โดยไม่เปิดเผย นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 เป็นต้นมา คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้รับการสนับสนุนด้านการเงินมากกว่า 800 ล้านบาท จากประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยียม และประเทศแหล่งทุนอื่นๆ ความจริงแล้วการสนับสนุนทั้งด้านเงินและด้านเทคนิคอยู่บนพื้นฐานที่ว่า MRC จะส่งเสริมและประสานให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ MRC กลับล้มเหลวที่จะปกป้องนิเวศวิทยาของแม่น้ำโขง การดำรงอยู่ของ MRC ถือว่าไม่มีประโยชน์ และไม่สมควรที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากประเทศผู้ให้ทุนทั้งหลาย นี่เป็นอีกประเด็นที่องค์กรนานาชาติเรียกร้อง


 



ด้าน รศ.สุริชัย หวันแก้ว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นถึงบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงว่า MRC ควรแสดงความรับผิดชอบและความโปร่งใสเปลี่ยนภาพพจน์ใหม่ในการรับฟังเสียงของประชาชนในภูมิภาคมากกว่าเสียงจากการประชุมของเจ้าที่รัฐ เพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน นับเป็นสิ่งท้าทายที่ MRC ต้องแสดงให้เห็นว่าตัวเองเป็นประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ ไม่ใช่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนหรือรัฐบาลเท่านั้น ต้องรวมถึงชาวบ้านด้วย เป็นผลประโยชน์ระยะยาวของภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ จะมีกลไกอย่างไรให้ประเทศต้นน้ำอย่างจีนและพม่า ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิก MRC ได้ร่วมพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาน้ำโขงร่วมกันอย่างจริงจัง มีการประสานประโยชน์อย่างเป็นธรรมในระหว่างประเทศภูมิภาคแม่น้ำโขง


 



เขื่อนกั้นแม่โขงจะมีผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไรเพียรพร ดีเทศน์ จากโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตมีคำตอบ เธอบอกว่า วันนี้แม่น้ำโขงกำลังถูกคุกคามด้วยกระแสการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม มองสายน้ำที่เป็นสายเลือดของผู้คนกว่า 100 ล้านคนตลอดลุ่มน้ำ เป็นเพียงแหล่งพลังงาน แม่น้ำโขงตอนบนในเขตมณฑลยูนนานของจีนมีการสร้างเขื่อนไปแล้ว 2 แห่ง และมีแผนจะสร้างทั้งหมด 8 เขื่อน ส่วนลุ่มน้ำโขงตอนล่างคงไหลอย่างอิสระได้อีกไม่นาน เมื่อหยิบแผนสร้างเขื่อนมาปัดฝุ่นอีกครั้งด้วยแรงผลักดันของกลุ่มธุรกิจพลังงานในภูมิภาค ซึ่งช่วงปีที่ผ่านมามีการดำเนินการอย่างเงียบๆ และรุดหน้าไปเร็วมาก โดยเฉพาะในลาวและกัมพูชา โครงการเขื่อนที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในขณะนี้มีทั้งหมด 6 แห่ง


 



เพียรพรกล่าวว่า สิบปีที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนตอนบนของแม่โขงในจีนส่งผลกระทบท้ายน้ำข้ามพรมแดนมาสู่ประเทศอื่นๆ ชุมชนริมโขงชายแดนไทย-ลาวที่เชียงรายยืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศของแม่น้ำ และความผันผวนของระดับน้ำที่ถูกควบคุมโดยเขื่อน การลดจำนวนลงของปลาที่จับได้เป็นผลกระทบข้ามพรมแดนที่ส่งผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน และยังไม่ได้รับการแก้ไข


 



"การพัฒนาเขื่อนถึง 6-7 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนล่างจะทำให้แม่น้ำโขงที่มีระบบนิเวศสลับซับซ้อน มีวังน้ำ เกาะแก่ง สันดอน เอื้อต่อการดำรงอยู่ของพันธุ์ปลาและวิถีชีวิตชุมชนกลายเป็นอ่างเก็บน้ำนิ่งๆ ความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศจะส่งผลกระทบกว่า 60 ล้านชีวิตในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ตั้งแต่ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม จากการศึกษาภาคสนามในลาว เขมร รวมทั้งชายแดนไทย-ลาว ยังพบว่าชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินโครงการสร้างเขื่อน" เพียรพรกล่าว


 



ความสูญเสียด้านพันธุ์ปลาและการประมงเป็นอีกประเด็นสำคัญที่เพียรพรชี้ให้เห็น จากรายงานของ MRC ระบุว่า ลุ่มน้ำโขงมีความอุดมสมบูณณ์รองจากลุ่มน้ำอะเมซอน มีพันธุ์ปลากว่า 1,300 ชนิดในลุ่มน้ำแห่งนี้ ทำให้การประมงมีมูลค่าสูงถึง 70,000 ล้านบาทต่อปี และลุ่มน้ำโขงตอนล่างนั้นเป็นแหล่งปลาน้ำจืดที่ชุกชุมที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมถึงโลมาอิรวดี โลมาน้ำจืด ซึ่งมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ พบได้บริเวณที่จะสร้างเขื่อนดอนสะฮองและเขื่อนซำบอ รวมทั้งปลาบึกที่พบในเขตไทย นอกจากนี้ ปลาในแม่น้ำโขงมีการอพยพขึ้นลงในแม่น้ำตามฤดูกาลโดยไม่มีพรมแดน หากมีการสร้างเขื่อนจะเป็นการปิดกั้นเส้นทางอพยพปลาและส่งผลให้อัตราการไหลของน้ำเปลี่ยนแปลง


 



"หลายเขื่อนพูดว่ามีมาตรการบรรเทาผลกระทบ แต่จากการศึกษาของ World Fish Center ระบุว่า ไม่มีตัวอย่างใดๆ ที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาผลกระทบเรื่องพันธุ์ปลาจากการสร้างเขื่อน และในลุ่มน้ำโขงไม่มีที่ใดประสบความสำเร็จเรื่องบันไดปลาโจน เช่นเดียวกับบันไดปลาโจนที่ปากมูล วันนี้ทำงานไม่ได้ ผลาญเงินไปจำนวนมาก" เพียรพรกล่าว และว่า จากประสบการณ์ในไทยและประเทศเพื่อนบ้านการสร้างเขื่อนไม่ได้ทำให้ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ชาวบ้านยังคงเรียกร้องในสิ่งที่ควรจะได้ ทั้งค่าชดเชยตลอดจนปัญหาผลกระทบที่รัฐยังไม่ได้แก้ไขจนทุกวันนี้


 



ส่วนการอพยพประชาชนจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำ นักวิชาการคนเดิมชี้ให้เห็นว่า เขื่อนเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนอย่างน้อย 17,300-75,000 คน ซึ่งต้องถูกย้ายจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำ จำนวนประชากรดังกล่าวยังไม่ชัดเจน ข้อมูลจากรายงานการศึกษาแตกต่างกันไป นอกจากนี้ อยากเรียกร้องให้ MRC ทำการศึกษาและประเมินโครงการต่างๆ บนแม่น้ำโขงที่จะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำ ที่ผ่านมาไม่มีการศึกษาผลกระทบโดยรวมจากการสร้างเขื่อนทุกแห่ง การศึกษาที่โปร่งใสและเชื่อถือได้จะเป็นประโยชน์ว่าสมควรสร้างเขื่อนหรือไม่


 



"วันนี้แม่น้ำโขงกำลังไม่ใช่สายน้ำนานาชาติของสุวรรณภูมิอีกต่อไป เพราะกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่พากันตีตั๋วจับจองจุดต่างๆจากรัฐบาลประเทศแม่น้ำโขง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ละเลยวิถีชีวิตชุมชนที่พึ่งพาสายน้ำโขงสายเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตตลอดมา" เพียรพรกล่าวในท้ายที่สุด



ที่มา: http://www.thaipost.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net