Skip to main content
sharethis

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง


 


"แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่" คือ บทสรุปแห่งความร่วมมือระหว่างชุมชนบนเกาะลันตาและนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์


 


คณะทำงานจากจุฬาฯ และแคลิฟอร์เนียทำงานต่อเนื่องตลอดปี 2550 เพื่อค้นหารูปแบบการปฏิบัติการที่เหมาะสมกับชุมชนบนเกาะลันตา และข้อค้นพบที่สำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในแผนแม่บทฉบับนี้ คือ "การร่วมมือกันของภาคส่วนต่างๆ" ตั้งแต่ในส่วนของภาครัฐ อย่าง อบต. หรืออำเภอ ภาคธุรกิจ คือโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และชุมชนที่รวมตัวกันกลายเป็น "ประชาคมลันตาบ้านเรา" เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน


 


มองหา "ลันตาบ้านเรา" 


ตลอดปี คณะทำงานลงพื้นที่มาหลายครั้งจนนักศึกษาบางคนต้องมาฝังตัวอยู่ในพื้นที่แรมเดือน ทั้งพูดคุยและหารือกันภายใต้การเปิดรับของคนในลันตาจนสุดท้ายได้ผลสรุปออกมาเป็นร่าง  "แผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่" ทำให้คณะทำงานเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลสู่เกาะลันตาอีกครั้งเพื่อฟังเสียงจากภาคส่วนต่างๆผ่านงานสัมมนาที่จะทำให้ "ประชาคมลันตาบ้านเรา" กลายเป็นจริง


 


การสัมนามีขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม 2550 ณ เซาเทิร์นลันตารีสอร์ท แต่ก่อนหน้านั้นวันหนึ่ง ระหว่างการตระเตรียมงาน คณะทำงานบางส่วนลงพื้นที่รอบเกาะอีกรอบ ที่เกาะลันตาใหญ่แม้จะมีขยะตามรายทางให้เห็นบ้างแต่ก็น้อยกว่าที่เกาะลันตาน้อย ชายหาดและทะเลยังคงสะอาดน่าเล่นและน่ามอง แต่หลายจุดถูกบดบังไปด้วยโรงแรมและรีสอร์ทขนาดใหญ่มากที่แทรกตัวมาด้วยการกว้านซื้อที่ดิน การถากถางป่า การขุดภูเขาเพื่อแปลงสภาพให้โก้หรูดึงดูดนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก


 


อย่างไรก็ตาม ในความบ้าระห่ำของทุนนิยมสามานย์ที่กอบโกยแบบไม่คิดหน้าคิดหลังและทำลายล้างนี้ เรากลับพบว่ามีรีสอร์ทบางแห่งเลือกที่จะพัฒนาแบบกลมกลืนไปกับพื้นที่ ทั้งด้านวัสดุหรือการก่อสร้างที่ปรับไปตามสภาพพื้นที่จนเหมือนแทรกตัวอยู่ตามโขดหิน และป่าเขามากกว่าการโชว์ความโอ่อ่า ศิวิไลซ์แบบเมือง


 



 



 



 


ถนนพาเราไปถึงปลายเกาะด้านตะวันออก ผ่านชุมชนดั้งเดิมอย่างบ้านหัวแหลม หมู่บ้านชาวประมงอูรักลาโว้ย ยังคงเสน่ห์ทางวัฒนธรรมอย่างเหลือล้น บ้านชั้นเดียวแบบชาวเลยกเสาชิดหาดติดทะเลเรียงรายยาวไปสุดตา ลักษณะเฉพาะของบ้านชาวเลคือส่วนท้ายบ้านแต่ละหลังยาวยื่นลงไปในทะเล ดั้งเดิมจะใช้ไผ่ขัดแตะบุผนัง แต่ปัจจุบันกลายเป็นไม้ฝาหรือวัสดุอย่างสังกะสีไปแล้ว ริมหาดหลังบ้าน เรือประมงพื้นบ้านจอดเรียงรายไว้ราวกับเตรียมพร้อมออกสู่ทะเลตามวิถีที่บรรพบุรุษเคยทำ


 



 



 


ทอดตาไปตามถนนปูนเล็กๆที่ผ่านกลางหมู่บ้าน บ้านหลังหนึ่งที่คณะเราผ่านผู้คนจับกลุ่มคุยกัน มองมาทางเราด้วยสายตายิ้มแย้ม ไอ้หนูคนหนึ่งมากับแม่ยิ้มให้อย่างกวนๆ  หน้าบ้านมีนกกรงหัวจุกตัวงามแขวนไว้ เมื่อถามว่าตอนสึนามิเป็นอย่างไรกันบ้าง เขาตอบว่าที่นี่เสียหายเพียง 2-3 หลังเท่านั้น ซึ่งคงเป็นโชคดีของที่เลือกตั้งหมู่บ้านในจุดที่หลบลมมรสุมมาแต่ดั้งเดิม


 



 


รถสำรวจของคณะเดินทางแล่นเฉื่อยฉิว ผ่านวัดเกาะลันตาไปหยุดอีกทีที่บ้านศรีรายา ศูนย์กลางเก่าของเกาะ ตอนนี้ยังพอเห็นร่องรอยความคึกคึกในอดีตได้ ยังมีตลาดนัดตอนเย็นหรือมีส่วนราชการบางหน่วยอยู่ ความคึกคักยังมาจากร้านค้าและร้านอาหารที่ปรับสภาพจากที่อยู่อาศัยมารองรับนักท่องเที่ยวที่มักขับมอร์เตอร์ไซค์มาชมเกาะและอดจะหยุดชมวิวไม่ได้เมื่อผ่านบริเวณนี้


 


 



 



 


จากคำบอกเล่าของคนในชุมชน บ้านศรีรายาเคยเป็นตลาดนัดเช้าที่สำคัญของคนลันตา คือเมื่อเรือหาปลากลับมาตอนเช้าตรู่ การซื้อขายก็เกิดขึ้นอย่างคึกครื้น แน่นอนว่าที่ไหนมีการค้า มักย่อมต้องมีชาวไทยเชื้อสายจีน เราจึงเห็นศาลเจ้าสามต่องอ๋อง ปัจจุบันนอกจากยังเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีนแล้ว บางครั้งก็กลายเป็นที่ประชุมหารือย่อยๆกันของชุมชนด้วย


 



 



 


รถได้พาคณะเดินทางออกจากศรีรายาเพื่อกลับสู่ที่พัก ตามเส้นทางถนนด้านตะวันออกผ่านไปตามหมู่บ้านมุสลิม ความคึกครื้นของที่นี่ดูจะเป็นเรื่องของวิถีชีวิตที่เรียบง่าย นอกจากทำประมงแล้วยังเป็นพื้นที่ของการทำสวนยางพารา แต่หลายแห่งเริ่มมีการขัดตัดภูเขาหรือปรับหน้าดินไปบ้างแล้ว ในไม่ช้าอาจได้เห็นความเปลี่ยนแปลงบางประการ


 



 


ถนนสายหลักของฝั่งตะวันออกยังไม่พัฒนามาก หลายจุดเป็นดินลูกรังหรือที่ลาดยางก็เริ่มกร่อนพัง ยิ่งช่วงนี้ฝนตกทำให้ดูเฉอะแฉะและอาจลื่นไถลได้ง่าย เสียดายที่รถของเราไปไม่ถึงบ้านทุ่งหยีเพ็ง หมู่บ้านมุสลิมที่จัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ด้วยการอนุรักษ์ป่าชายเลนและเป็นไปตามวัฒนธรรมคำสอนแห่งศาสนาอิสลาม     


 


รถสำรวจของคณะเดินทางพาเรากลับมาที่เดิมโดยไม่ทันมืดนัก  พริบตาของการเดินทางสำรวจเราพบความหลากหลายบนการจัดการที่หลากหลาย ในบางส่วนเดินทางไปสู่การทำลาย แต่บางส่วนเดินสวนกลับมา จากสิ่งที่เห็นผ่านการสำรวจเล็กๆ "ลันตาบ้านเรา" ยังมีแนวโน้มเป็นไปได้มาก เพียงแต่ต้องเงี่ยหูฟังและเอ่ยปากคุยกันบ่อยๆเท่านั้นเอง


 


สู่ปฏิบัติการ "ลันตาบ้านเรา" 


การเดินทางทำให้ดวงตามองเห็นสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมมากมาย "คนลันตา" รักและผูกพันกับพื้นที่อย่างลึกซึ้งทั้งผ่านวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปฏิเสธการธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างสิ้นเชิง ในมุมกลับกลายเป็นภูมิใจเสียอีกที่ "บ้านเรา" มีคนอื่นๆรักและมองเห็นคุณค่า เพียงแต่กระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้นำพาระบบเศรษฐกิจแบบใหม่เข้ามาด้วย ในขณะที่ความเป็นจริงเศรษฐกิจภาคชนบทหรือความพอเพียงตามมีตามเกิด ณ วันนี้คงเอาตัวรอดหรือปฏิเสธการพึ่งพาเศรษฐกิจแบบภาคเมืองได้ยาก ทำให้ความเป็นเมืองไหลบ่าผ่านทุนเข้ามาอย่างรวดเร็วและกลืนกินทุกอย่างจนเปลี่ยนโฉมหน้าของเกาะลันตาไปอย่างที่คนลันตาเองแทบไม่ทันรู้ตัว  ดังนั้นการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับอนาคตจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนของวันนี้


 


"แผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่" ถูกนำเสนอท่ามกลางความสนใจของคนลันตาเมื่อรับรู้ข่าว หลายหมู่บ้านส่งตัวแทนเข้ามาร่วม ในขณะที่ภาครัฐดูจะเมินเฉยกว่า มีเพียงตัวแทนจากโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกระบี่ และหน่วยงานทางหลวงชนบทจังหวัดกระบี่เท่านั้นที่รับฟังและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดจนจบงาน ส่วนภาคเศรษฐกิจนั้นถ้าไม่ใช่นักธุรกิจรายย่อยซึ่งเป็นคนในลันตาแล้ว เรียกได้ว่ามากันแบบประปราย


 



 



 


หลังการเริ่มต้นเวทีด้วยการชี้แจงที่มาที่ไปแล้ว ศุภลักษณ์ หรือ เก๋ เป็นตัวแทนของคณะทำงานชี้ประเด็นที่สำคัญที่คนลันตาสามารถนำไปใช้ในการชี้วัดพื้นที่ของตัวเองหลังจากนี้ว่าดีหนือแย่ว่า สามารถดูได้จาก "สภาพของพื้นที่ลุ่มน้ำ" ซึ่งจากการสำรวจพบสาเหตุปัญหาที่จะทำให้สภาพพื้นที่ลุ่มน้ำเสื่อมโทรมลงหลายประการตั้งแต่ การแปลงสภาพพื้นดินและตัดต้นไม้เพื่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ท อย่างการเทพื้นทำลานจอดรถขนาดใหญ่ การสร้างสิ่งกีดขวางลุกล้ำทางน้ำแล้วใช้เพียงการฝังท่อเล็กๆ การดาดผิวดิน การถมดินก่อสร้าง สาเหตุเหล่านี้ทำให้ดินสามารถซับน้ำได้น้อยลงหรือทำให้น้ำไม่สามารถถ่ายเทได้ตามปกติจนเกิดสภาพน้ำขังท่วมอย่างที่เริ่มเกิดกับ พื้นที่หาดพระแอะ


 



 



 


อีกปัญหาใหญ่คือเรื่องขยะที่ขาดการจัดการ ปัจจุบันเกาะลันตาใหญ่มีจุดทิ้งขยะใหญ่เพียงจุดเดียวคือที่บ้านศาลาด่าน ในขยะที่มีจุดย่อยอีกจุดคือที่บ้านศรีรายา ทำให้เกิดการลักลอบทิ้งขยะในเกาะมากมาย ประเด็นสำคัญที่ได้จากการสำรวจคือขยะที่เกิดขึ้นมหาศาลนั้นเกิดจากคนในลันตาเอง ขยะเหล่านี้หากขาดการจัดการจะไหลลงสู่แหล่งน้ำ จากแหล่งน้ำสู่ทะเลและวกกลับเข้ามาเป็นขยะชายหาด


  


การคมนาคม ก็เป็นอีกปัญหาที่สำคัญ โดยเฉพาะการข้ามฟากระหว่างเกาะที่ต้องใช้แพในขณะที่มีเจ้าของผูกขาดเพียงเจ้าเดียว ทำให้ใช้เวลาในการเดินทางมาก แพยังปล่อยมลพิษลงแหล่งน้ำ และเป็นสาเหตุทางอ้อมของอุบัติเหตุในลันตา เนื่องจากเพราะความช้าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการเดินทางด้วยแพนำมาสู่การเร่งรีบทำเวลาเมื่อขึ้นฝั่งได้ ในขณะที่ถนนในลันตายังขาดทั้งทางเท้า สัญญาณไฟจราจร หรือทางข้ามที่เพียงพอ ในอีกหลายจุดเส้นทางก็ชำรุด


 


ตัวแทนนักศึกษาจากจุฬาฯ อีกคนหนึ่ง พูดถึงแนวการแก้ไขปัญหาว่า จะต้องวางอยู่บนความเชื่อในวิถีชุมชน สำหรับลันตานั้นส่วนมากเป็นชุมชนอิสลาม เมื่อสอบถามจากผู้รู้ในศาสนาพบว่า ศาสนาอิสลามไม่ได้ห้ามการค้า เพียงแต่ต้องวางอยู่บนหลักความเป็นธรรม ไม่กอบโกย และเลี่ยงเรื่องดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังต้องหากฎหมายมาควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน


 



 


สำหรับปัญหาใหญ่อย่างเรื่องขยะต้องรวมลันตาน้อยและลันตาใหญ่เข้าด้วยกัน เพราะหากจัดการเฉพาะเกาะลันตาใหญ่ สิ่งที่ตามมาคือขยะจะถูกนำไปทิ้งที่เกาะลันตาน้อยแทน จะต้องพื้นที่รองรับขยะและปรับจุดรวมขยะให้ถูกสุขลักษณะ ส่วนในระดับบ้านต้องลดการใช้ขยะด้วยการคัดแยกขยะ


 


ในส่วนการคมนาคม จะลดอันตรายได้ด้วยการเพิ่มป้ายต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อเข้าใกล้เขตชุมชน มีทางเดินเท้าและจักรยานเฉพาะแยกออกมา เพิ่มรถยนต์สาธารณะเพื่อลดการนำเข้ารถยนต์มาในเกาะ ในกรณีสำคัญเรื่องแพข้ามฟาก หลายคนเสนอให้สร้างสะพานข้ามเกาะแต่ประเด็นนี้ต้องระวังเพราะมีทั้งผลดีและผลสีย จะมีปัญหาที่ตามมาอย่าง เช่น รถจะมากขึ้น คนจะเยอะขึ้น สิ่งแวดล้อมก็จะแย่ลง การสร้างสะพานจึงต้องมองไปถึงว่าจะควบคุมอย่างไรและใครจะเป็นผู้ควบคุม


 


ทั้งนี้ อาจมองต่อไปได้ในเรื่องของการเก็บค่าใช้จ่ายสำหรับต้นทุนธรรมชาติที่เสียไป อาจจะด้วยการเก็บภาษีทางเลือก เช่น ใครใช้ทรัพยากรมากต้องจ่ายภาษีมาก ค่านั่งรถเข้าเกาะ การเก็บภาษีจะต้องออกใบเสร็จให้นักท่องเที่ยวได้รู้ว่าเงินเหล่านี้จะนำไปใช้อะไร


 


"การเก็บเงินประมาณ 60 บาท เท่ากับกาแฟ 1 แก้ว ของนักท่องที่ยว แต่มันสามารถนำไปสู่การจัดการขยะ การหาพื้นที่สาธารณะ การพัฒนาอาชีพ หรือการสร้างเครือข่ายชุมชนได้" บี กล่าว


 


สุดท้ายสิ่งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือรื่องการศึกษา จะต้องส่งเสริมและกระจายออกไป อาจจะมาจากการอบรม หรือจัดทำเป็นจดหมายข่าว ให้ความรู้ในสิ่งที่ชุมชนต้องการ


 


อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาต่างๆที่กล่าวมาคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากขาด "กระบวนการ" ซึ่ง คณะทำงานได้เสนอรูปแบบการปฏิบัติที่เรียกว่า "โหมว" ขึ้น


 


"โหมว" ตามลุ่มน้ำ การจัดการโดยชุมชน


อาจจะสงสัยกันว่า "โหมว" คืออะไร คนใต้มักจะคุ้นชินกับคำนี้คู่ไปกับคำว่า "โหมวเรา" หรือที่แปลเป็น "หมู่เรา" หรือกลุ่มพวกเราในภาษาภาคกลาง คำๆนี้สามารถออกเสียงได้หลายแบบอาจจะเป็น " โบ๋" หรือ "โบ้" ก็ได้ ตามสำเนียงแต่ละท้องถิ่นแต่ความหมายไม่ได้เปลี่ยนไป


 


คณะทำงานได้เลือกใช้คำว่า "โหมว" และมองว่าเป็นกระบวนการจัดการพื้นที่ที่สำคัญที่สุดที่จะนำมาสู่ "ลันตาบ้านเรา" และยังเป็นคำที่แสดงถึงอัตลักษณ์เฉพาะของคนพื้นที่เพื่อให้เข้าใจง่าย


 



 


ในส่วนนี้ ตรีชาติ เลาแก้วหนู ตัวแทนของชุมชนเกาะลันตา แหลงอธิบายเป็นภาษาใต้กับผู้ร่วมเสวนาเกี่ยวกับ "โหมว" ว่า เป็นการจัดกลุ่มชุมชนเพื่อให้เกิดจัดการพื้นที่ใหม่ที่ไม่ใช่การแบ่งตามรูปแบบการปกครองเป็นอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน หรือตามองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยมีเกณฑ์แบ่งตามลุ่มน้ำที่มีในเกาะ เช่น คลอง ห้วย เพราะ "คุณภาพน้ำ" คือ "ตัวชี้วัดสภาพเกาะ" ว่าดีหรือแย่


 


การแบ่ง "โหมว" ตามลุ่มน้ำจะทำให้รู้ง่ายขึ้นว่าพื้นที่ไหนได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวหรือการพัฒนาอย่างไร เพราะ เป็นเรื่องของวิถีชีวิตที่คนจะต้องพึ่งอาศัยกันกับแหล่งน้ำอยู่แล้ว อย่างคลองไหนเน่าเสียก็จะรู้ว่ากระทบชุมชนอะไรบ้าง การแบ่งโหมวยังต้องใช้เกณฑ์อีกอย่างหนึ่งด้วย คือ แบ่ง "โหมว"ตามกลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ศูนย์กลางชุมชนอย่างมัสยิด วัด หรือศาลเจ้า  ซึ่งเมื่อนำทั้ง 2 เกณฑ์มาประกอบกันแล้วเกาะลันตาสามารถแบ่งออกได้เป็น 7 โหมวดังต่อไปนี้


 


 


แผนที่การแบ่ง 7 โหมว


 


 


ตรีชาติ อธิบายประโยชน์ของการแบ่งโหมวว่า จะทำให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่ตามศักยภาพและเฝ้าระวังได้ง่าย  ขณะเดียวกันที่ผ่านมา แม้ อบต.จะมีอำนาจในการออกกฎควบคุมและอนุมัติงบประมาณแต่ก็ขาดบุคลากร การจัด "โหมว" จึงเป็นการเติมเป็นส่วนที่ขาดไปและทำให้เกิดการตรวจสอบโดยชุมชน อีกทั้งมีข้อเสนอทั้งทางด้านงบประมาณและการออกกฎข้อบังคับใช้ในแต่ละ "โหมว" ซึ่งเป็นการทำงานที่สอดคล้องไปด้วยกันกับ อบต.


 


แต่ละโหมวเองก็สามารถจัดการตัวเองไปตามเอกลักษณ์ชุมชนและพื้นที่ได้ เช่น โหมวทุ่งหยีเพ็ง สามารถพัฒนาต่อไปเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  ในขณะที่ โหมวสังกาอู้ บ้านหัวแหลม ศรีรายา ที่เป็นชุมชนดั้งเดิมอาจจะพัฒนาไปทางด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรม


 


ทั้งนี้ การแบ่ง "โหมว" จะต้องไม่ใช่การแยกส่วนกันดูแลเกาะ แต่สุดท้ายแล้วทุก "โหมว" จะต้องมีสิ่งที่ต้องทำร่วมกัน นั่นก้คือการดูแลรักษา "พื้นที่ลุ่มน้ำ" การปรับปรุงทางสัญจร และส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ชุมชน


 



พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์


 


ทิ้งท้าย


 


"สิ่งที่พยายามเสนอคือต้องดูคลอง ดูชีวิตที่คลอง เพื่อให้รู้ว่าทำไมจึงมีข้อห้าม มันต้องดูก่อนระบายสี เพราะสิ่งเหล่านี้มันไม่สามารถคุมได้ด้วยกฎหมาย แต่คนลันตาต่างหากที่ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอมาแล้วก็ไป แผนนี้ทำมา 3 ปี เปลี่ยนไปแล้ว 2 ผู้ว่าฯ 3 นายอำเภอ ส่วน อบต.  4 ปีก็เลือกใหม่ แต่การแบ่งนี้ (โหมว) เราคำนึงถึงน้ำที่ใช้สอยด้วยกันหรือไม่ คำนึงถึงที่ดินที่มองเห็นหน้ากันหรือไม่ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม คือต้องควบคุมทิศทางการพัฒนาได้" คือคำกล่าวสรุป ของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายหลังการนำเสนอรายงานแผนปฏิบัติการฯ แม้เสร็จสิ้นลงแล้วแต่แฝงนัยสะท้อนแห่งการเริ่มต้นของบางสิ่งบางอย่าง


 


การเสวนาไม่ได้จบลงเพียงการนำเสนอรายงานแผนปฏิบัติการฯ เพราะนั่นคงเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นที่ได้จากการศึกษาจากมุมมองและกระบวนการทางวิชาการด้านหนึ่งเท่านั้น แต่การได้พูดคุยกันจริงๆในทุกภาคส่วนต่างหากที่จะเป็นหล่อหลอมฟูมฟักให้รูปร่างของ "โหมว"ชุมชนสามารถได้กำหนดทิศทางการจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภพและมีความสุขร่วมกันทุกฝ่ายได้ เวทีเสวนาดำเนินต่อไปอีกครึ่งค่อนวันด้วยการคืนการสนทนาให้ชาวลันตาและทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมได้ลองนำ "โหมว" จากการศึกษามาเป็นแก่นแกนของการพูดคุยและใช้แบ่งเป็น 4 กลุ่ม


 


ช่วงท้ายรื่องราวที่พูดคุยหารือกันทั้งหมดถูกนำมาแลกเปลี่ยนกันอีกครั้งในเวทีใหญ่ การสรุปในช่วงท้ายนี้ทำให้มองเห็นปัญหาและข้อเสนอที่เป็นแนวทางการจัดการอีกมากมาย แน่นอนว่าทั้งหมดนี้มันคงไม่ใช่คำตอบที่สำเร็จและจะพูดถึงในวันนี้ แต่มันหมายถึงการเดินไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่งของ "ประชาคมลันตาบ้านเรา" ที่จะทำให้เกาะลันตาทั้ง 2 เกาะ ใครๆ ก็อยากไปเยี่ยมเยือน ส่วนที่อยู่เองก็มีความสุขอย่างยั่งยืนจนน่าอิจฉาตลอดไป


 



 




 


อ่านข่าวย้อนหลัง


รายงานพิเศษ: เปิดเล "ลันตา" (ตอน 1) การเผชิญหน้ากับ "ทางแพร่งแห่งความเปลี่ยนแปลง", โดยภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง, ประชาไท, 18 พ.ย. 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net