Skip to main content
sharethis

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดสัมมนาเรื่อง "สันติวิธี ความรุนแรง และสังคมไทย"(Nonviolence, Violence and Thai Society) โครงการปีที่ 2 "ความรุนแรง : "ซ่อน-หา" สังคมไทย" ณ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2550


 


ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 มีการนำเสนอบทความหนึ่งในโครงการวิจัยนี้คือ "สิทธิที่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือเหตุผลของรัฐต่อความชอบธรรมทางการเมือง"  โดย ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


ดร.เกษม เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงประสบการณ์สองชุด ชุดแรกคือประสบการณ์ส่วนตัวที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ 9/11 ประกอบกับช่วงเวลาที่สหรัฐฯประกาศสงครามกับอิรัก กับประสบการณ์ชุดที่สองคือ ประสบการณ์การค้นคว้าวิจัยหลังจากได้รับหัวข้อเกี่ยวกับความรุนแรงนี้มา ซึ่งประสบการณ์ทั้งสองชุดนี้นำไปสู่คำถามที่ว่า "รัฐ" มีเหตุผลอะไรบ้างที่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือสร้างความรุนแรงขึ้นมา โดยแบ่งรายงานการวิจัยออกเป็น 3 ส่วน


 


ส่วนแรก : การเข้าไปสืบค้นว่า รัฐอ้างสิทธิอำนาจของตนเองอย่างไรเพื่อบอกว่าการกระทำนั้นชอบธรรม ซึ่งพบว่าเรื่องเหตุผลของรัฐอยู่คู่กับเรื่ององค์อธิปัตย์


 


ดร.เกษม กล่าวว่า รัฐทำงานควบคู่กับองค์อธิปัตย์ในฐานะที่เป็นแหล่งอ้างอิงสิทธิอำนาจในการอ้างความชอบธรรมต่อเรื่องต่างๆ ในกรณีสังคมไทยความชอบธรรมนี้มีอยู่สองชุด


 


ชุดแรกคือ การพยายามทำงานผ่านกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายมหาชน ซึ่งรัฐคิดจากมุมมองของรัฐโดยตลอด กล่าวคือ คิดในเรื่องการดำรงอยู่และการจัดการเพื่อจะควบคุมคนและผลบังคับใช้ กฎหมายไทยจึงเต็มไปด้วยข้อห้ามและข้อบังคับ และพูดถึงแนวทางการปฏิบัติน้อยมาก


 


ชุดที่สองคือ องค์อธิปัตย์ในฐานะที่เป็นแหล่งอ้างอิงสิทธิอำนาจนั้นมักพูดถึงองค์อธิปัตย์ที่ผูกติดกับสภาพความเป็นตัวแทนของประชาชนโดยผ่านรัฐสภา แต่ในความเป็นจริงเป็นการพยายามที่จะผูกโยงกลับไปสู่สถาบันกษัตริย์ในฐานะที่เป็นตัว finalized ของอำนาจ


 


"อำนาจและความชอบธรรมในสังคมไทยและเหตุผลของรัฐ ถูกโยงว่าใครคือองค์อธิปัตย์ และองค์อธิปัตย์นั้นมีสิทธิที่จะบอกว่าชอบธรรมอย่างไรเมื่อตัวเองผ่านมติ"


 


ส่วนที่สอง : การพยายามจะมองว่าถ้าปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นจากกฎหมาย ขณะเดียวกันโดยสามัญสำนึกของเรากฎหมายเป็นสิ่งที่รักษาความยุติธรรมหรือความเที่ยงธรรมในสังคม แล้วมันขัดแย้งหรือย้อนแย้งกันอย่างไร ส่วนนี้ ดร.เกษม ทำการศึกษาผ่านขนบและจารีตของการศึกษาทางนิติปรัชญาและกระบวนการ professional training ในประเทศไทย


 


ดร.เกษม กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจและน่าตกใจคือตลอดเวลาที่มีการเรียนการสอนวิชานิติปรัชญาพบว่ามีตำราเพียง 5 เล่ม โดยเล่มที่สำคัญที่สุดคือตำราของ อ.ปรีดี เกษมทรัพย์ ซึ่งมีความน่าสนใจตรงที่ไม่ได้มีการตั้งคำถามกับความยุติธรรมที่มีต่อตัวกฎหมาย แต่ยืนยันว่ากฎหมายยุติธรรมและเที่ยงธรรม ส่วนงานของ อ.สมยศ เชื้อไทย ก็มีลักษณะคล้ายกับ อ.ปรีดี เกษมทรัพย์ คือบอกว่ากฎหมายคือการคลี่คลายตัวของความยุติธรรมและมีความชอบธรรมในการบังคับใช้


 


แต่มีงานอีก 3 เล่ม ซึ่ง ดร.เกษม ให้ความสำคัญคืองานของ อ.รองพล (เจริญพันธ์), อ.พิธินัย (ไชยแสงสุขกุล) และ อ.จรัญ (โฆษณานันท์) เพราะได้นำปมปัญหาสำคัญของนิติปรัชญาขึ้นมา โดยเฉพาะการกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องความยุติธรรม


 


"ที่ผมให้ความสนใจกับความยุติธรรมเป็นพิเศษ เพราะความยุติธรรมเป็นสิ่งที่นิยามไม่ได้ แต่นักกฎหมายเองพยายามจับให้มั่นคั้นให้ตายว่าความยุติธรรมคือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในกฎหมาย" ดร.เกษม ขยายความ


 


ทั้งนี้ ดร.เกษม เห็นว่า นักกฎหมายไทยหยิบยกเอาส่วนที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อตนในการที่จะยืนยันหรืออ้างอิงสิ่งที่เรียกว่า "ยุติธรรม" ผ่านการตีความ ผ่านบทบัญญัติ มากกว่าที่จะตรวจสอบตัวกฎหมายในฐานะที่เป็นความเป็นไปได้ของความยุติธรรม


 


"กฎหมายสำหรับผมคือความเป็นไปได้ของความยุติธรรม ขณะที่นักกฎหมายมองกฎหมายในฐานะการคลี่คลายตัวของความยุติธรรมซึ่งสามารถนำมาใช้และปฏิบัติการได้จริง"


 


ดร.เกษม กล่าวต่อมาว่า "เราเชื่อฟังกฎหมายหรือปฏิบัติตามกฎหมายไม่ใช่เพราะว่ากฎหมายเป็นเรื่องของความยุติธรรม แต่เราเชื่อฟังกฎหมายเพราะกฎหมายมีผลบังคับใช้ และการบังคับใช้ของกฎหมายมาพร้อมกับบทลงโทษ และนี่คือธรรมชาติของกฎหมายซึ่งแปลกแยกกับความยุติธรรมโดยสิ้นเชิง"


 


"กฎหมายสร้างความรุนแรงผ่านความชอบธรรมของตัวมันเอง ซึ่งโดยธรรมชาติการบังคับใช้ของมันทำให้เราจำเป็นต้องปฏิบัติตาม และการปฏิบัติตามตรงส่วนนี้รัฐใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ประสิทธิภาพแรกของการใช้กฎหมายและความรุนแรงส่วนนี้คือการพยายามจะควบคุมวิถีชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตาย"


 


ส่วนที่สาม : ตัวอย่างกระบวนการใช้สิทธิอำนาจของรัฐ


 


ในส่วนนี้ ดร.เกษมยกตัวอย่างที่สำคัญ 3 ตัวอย่างคือ


 


1. การเลิกทาส และพรบ.สิทธิสภาพบุคคล ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ที่รัฐพยายามผนวกคนไม่ว่าสถานะใดมาเป็นพลเมืองหรือประชากรของรัฐ ซึ่งเป็นการจัดรูปแบบของรัฐสมัยใหม่ที่พยายามตรึงประชากรให้เป็นส่วนประกอบของรัฐ


 


2. การใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดเพื่ออ้างอิงความชอบธรรมสูงสุดของรัฐ โดยยกกรณี มาตรา 17 ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ และ มาตรา 21 ในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519


 


3. กรณีของการจัดระเบียบสังคม ซึ่งกล่าวได้ว่าคือการทำงานของกฎหมายและระเบียบความรุนแรงที่ชีวิตคนถูกตรึงไว้ระเบียบรัฐ


 


ดร.เกษม กล่าวว่า รัฐสมัยใหม่ไม่ได้ทำความรุนแรงเฉพาะหน้าแต่เป็นความรุนแรงที่ชาชิน ซึ่งหมายถึง การที่ทุกคนอยู่ในระเบียบแบบแผน มีชีวิตเป็นปกติโดยที่ตนเองไม่รู้ว่าความรุนแรงในส่วนนี้มันควบคุมและจัดการกับชีวิตเราอยู่ ไม่ใช่กฎหมายที่เมื่อทำผิดแล้วมีบทลงโทษ แต่เป็นกฎหมายที่จัดการกับชีวิตให้ดีงามในความหมายของรัฐ แต่ไม่ใช่ในความหมายของความยุติธรรม


 


"ปัญหาความรุนแรง และความรุนแรงซ่อน-หานี้ เป็นความรุนแรงที่ปราศจากอคติ เพราะเราไม่รู้สึกตัวว่าเราเผชิญหน้าหรือมีชีวิตอยู่กับความรุนแรงรูปแบบนี้ ซึ่งกฎหมาย ความชอบธรรม และสิทธิอำนาจในการบงการชีวิตเรามันทำงานผ่านชีวิตเราอยู่ตลอดเวลา" ดร.เกษม สรุปในตอนท้าย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net