บทความ : ความสำคัญของการเลือกตั้ง ในมุมมองเศรษฐกิจการเมือง

 

เกรียงชัย ปึงประวัติ

 

 

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้นำไปสู่วิวาทะข้อใหญ่ในวงวิชาการ ว่าด้วยความชอบธรรมของการรัฐประหาร โดยมีประเด็นถกเถียงอันแหลมคมข้อหนึ่งคือ นักวิชาการควรแสดงจุดยืนคัดค้านการรัฐประหารหรือไม่

 

ซึ่งท่าทีของนักวิชาการเป็นไปอย่างหลากหลาย มีตั้งแต่ที่มองว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมเพราะสามารถขจัดรัฐบาลอธรรมของทักษิณและปัดเป่าความไม่สงบสุขออกไปจากสังคมไทยได้ การแบ่งรับแบ่งสู้ในทำนองไม่เห็นด้วยแต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและจำเป็นจะต้องอยู่กับมัน การตำหนิว่าเป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตย การปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ไปจนถึงการคัดค้านอย่างแข็งขัน

 

วิวาทะดังกล่าวนับว่าเป็นความแตกแยกทางความคิดครั้งสำคัญของวงวิชาการไทยนับตั้งแต่เคยผนึกกำลังกันเพื่อร่วมผลักดันการปฏิรูปการเมืองอันนำมาสู่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 คำอธิบายข้อหนึ่งของความแตกแยกที่เกิดขึ้นคือ ความแตกต่างด้านอายุนำไปสู่ท่าทีต่อการรัฐประหารที่แตกต่างกัน เพราะอายุที่ต่างกันย่อมหมายถึงประสบการณ์ตรงในด้านการเมืองที่แตกต่างกันด้วย

 

นักวิชาการอาวุโสบางส่วนมีแนวโน้มที่ไม่คัดค้านการรัฐประหาร เพราะเห็นการรัฐประหารมามากครั้งกว่าและเห็นเป็นเรื่องธรรมดาของการเมืองไทย

 

ในทางตรงกันข้ามนักวิชาการรุ่นหนุ่มสาวโดยเฉพาะที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีลงมา เห็นการรัฐประหารมาน้อยครั้งกว่าและคุ้นเคยกับการเลือกตั้งซึ่งในมโนทัศน์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นว่าการรัฐประหารเป็นวิธีการที่ไม่ชอบธรรมในการเปลี่ยนรัฐบาล

 

แม้ว่าคำอธิบายข้างต้นจะสามารถใช้เป็นข้อสังเกตต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยได้ แต่ก็ควรพิจารณาถึงมิติทางประวัติศาสตร์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น บทความนี้จึงมีจุดมุ่งหมายในการนำเสนอว่าการเปลี่ยนผ่านของเวลาทำให้เกิดพัฒนาการทางการเมือง การเมืองไทยในปัจจุบันมีความแตกต่างในเชิงคุณภาพไปจากการเมืองไทยในอดีต กล่าวโดยขยายความฐานะความสำคัญของการรัฐประหารและการเลือกตั้งในอดีตย่อมแตกต่างไปจากปัจจุบัน

 

นับตั้งแต่การปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2501 ประเทศไทยมีการรัฐประหาร 6 ครั้ง ในขณะที่มีการเลือกตั้ง 13 ครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป การยอมรับที่มีต่อการรัฐประหารมีความลดน้อยถอยลงตามลำดับ ในทางตรงกันข้ามการเลือกตั้งได้ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้มิได้มีสาเหตุมาจากการที่จำนวนครั้งของการเลือกตั้งที่มีมากกว่าแต่เป็นเพราะเหตุผลในด้านพัฒนาการทางการเมือง ซึ่งในแง่มุมหนึ่งการเมืองที่มีพัฒนาการคือระบบการเมืองที่สามารถสร้างสถาบันหรือกฎ กติกา สำหรับตอบสนองต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือความเรียกร้องต้องการในด้านต่างๆของประชาชนได้มากขึ้น โดยนัยนี้การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการทำหน้าที่นี้

 

ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งรวมเป็นระยะเวลา 24 ปี 8 เดือนซึ่งใกล้เคียงกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าตัดรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองออกไปจะเหลือระยะเวลาประมาณ 18 ปี 2 เดือนซึ่งกล่าวโดยประมาณว่าเป็นเพียง 1 ใน 3 ของระยะเวลาทั้งหมด อย่างไรก็ตามช่วงเวลาอันไม่ยาวนานนี้การเลือกตั้งได้ทวีบทบาทความสำคัญต่อการเมืองไทยมากขึ้น

 

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 เป็นผลลัพธ์จากการแบ่งอำนาจกันระหว่างฝ่ายราชการและฝ่ายการเมือง เพราะฝ่ายราชการมิอาจผูกขาดอำนาจและกีดกันนักการเมืองมิให้เข้าสู่เวทีการเมืองได้ เนื่องจากผลของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 สร้างพลวัตรแห่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจจากระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงสินค้าส่งออกทางการเกษตรน้อยชนิดได้แก่ ข้าว ยางพารา ไม้สัก ดีบุก ไปสู่การผลิตพืชไร่ในเขตบุกเบิก เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ปอกระเจา ข้าวโพด ถั่วเหลือง และการเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า พร้อมกับการเกิดขึ้นของอาชีพอย่างใหม่ เช่น กิจการค้าขายพืชไร่ เมล็ดพันธุ์ เคมีภัณฑ์และเครื่องจักรกลการเกษตร กิจการขนส่ง ตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นฐานที่มั่นที่นักธุรกิจหัวเมืองได้เติบโตขึ้นทางเศรษฐกิจและก้าวเข้าสู่การเมืองโดยผ่านการเลือกตั้งจากระดับท้องถิ่นและพัฒนาไปสู่ระดับชาติ

 

ภายหลังการเลือกตั้งในปี 2522 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ได้มีการจัดการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องทำให้การเลือกตั้งได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นกติกาสำหรับนักการเมืองในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศซึ่งเป็นมาตั้งแต่รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2531 กติกาข้อนี้นับว่ามีความสำคัญถึงขนาดว่าการพยายามฝ่าฝืนได้นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535

 

การทวีความสำคัญของการเลือกตั้งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ เพราะเหตุว่าในช่วงที่รัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การกำหนดนโยบายสาธารณะถูกผูกขาดไว้กับระบบราชการทั้งนโยบายเศรษฐกิจมหภาคซึ่งกินความรวมถึงนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน นโยบายหนี้สาธารณะและการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และนโยบายรายสาขา โดยที่ประชาชนไม่มีช่องทางที่เป็นทางการที่จะเข้าร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายได้เลย

 

ในทางตรงกันข้าม เมื่อการเลือกตั้งถูกสถาปนาเป็นกติกาในทางการเมือง ทิศทางของกระบวนการกำหนดนโยบายดังกล่าวเกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุที่ว่านักการเมืองย่อมต้องแสวงหาคะแนนนิยมทางการเมืองเป็นสำคัญ ซึ่งมรรควิธีสำคัญข้อหนึ่งก็คือ การนำเสนอนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งว่าถ้าชนะการเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลจะดำเนินนโยบายอะไรบ้าง

 

จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ การนำเสนอนโยบายเงินผันของพรรคกิจสังคมซึ่งต่อมาสามารถจัดตั้งรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี 2518 ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมาความพยายามของนักการเมืองในการผลักดันนโยบายต่างๆ ก็ประสบผลสำเร็จมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป แต่ก็มิได้เป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในการกำหนดนโยบาย เป็นแต่เพียงการเสริมนโยบายบางข้อเพิ่มเข้าไปจากนโยบายที่กำหนดมาจากฝ่ายราชการ ทั้งนี้เกิดจากสาเหตุหลักสองประการคือ ประการแรกความรู้ ความเชี่ยวชาญในทางเทคนิควิชาการยังคงถูกผูกขาดไว้กับระบบราชการ และประการที่สองคือฝ่ายการเมืองยังเติบโตไม่เพียงพอที่จะพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการกำหนดนโยบายเนื่องจากช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้งยังไม่ยาวนานนัก โอกาสในการเข้าร่วมรัฐบาลผสมมีความไม่แน่นอน และความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลผสม

 

ตราบจนถึงการเลือกตั้งในปี 2544 ซึ่งเป็นไปตามกติกาของรัฐธรรมนูญ 2540 ภายหลังการเลือกตั้งเงื่อนไขหลายประการที่กำหนดขึ้นโดยรัฐธรรมนูญส่งผลให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีเสถียรภาพและความเข้มแข็งมากกว่าที่เป็นมาในอดีต ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นเหตุปัจจัยให้รัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายที่นำเสนอในการเลือกตั้งให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลทำให้การเลือกตั้งมีความหมายเท่ากับการตัดสินใจเลือกนโยบาย ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนมาตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2548 ที่ทุกพรรคการเมืองล้วนพยายามสร้างความแตกต่างในด้านนโยบายและต่างมุ่งแข่งขันกันในการนำเสนอนโยบายในการหาเสียงเพื่อให้ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ทั้งนี้การแข่งขันดังกล่าวได้ทวีความเข้มข้นเป็นอย่างยิ่งในการหาเสียงเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้

 

กล่าวโดยสรุป ฐานะของการเลือกตั้งในปัจจุบันมีความสำคัญมากกว่าการเลือกตั้งในอดีตเพราะได้พัฒนามาเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้มีอำนาจทางการเมืองกับประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนโดยผ่านการแข่งขันในการนำเสนอนโยบายระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ และการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นวิถีทางในการก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองทวีความชอบธรรมมากขึ้น เพราะเป็นไปอย่างสอดคล้องกับความหมายอย่างง่ายของการเมืองซึ่งก็คืออำนาจอันชอบธรรมในการจัดสรรทรัพยากรระหว่างภาคส่วนต่างๆในสังคม ในทางตรงกันข้ามผลที่เกิดขึ้นจากการที่การเลือกตั้งมีความสำคัญมากขึ้นกลับทำให้การรัฐประหารซึ่งมีความหมายเท่ากับการปฏิเสธการเลือกตั้งลดความชอบธรรมลง

 

โดยอาชีวปฏิญาณของความเป็นนักวิชาการ (ซึ่งผู้เขียนเป็นแต่เพียงนักเรียน) ย่อมมิเป็นการบังควรที่จะชี้นำสังคมไปในทางที่จะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังแข่งขันกันหาเสียงเลือกตั้ง แต่อยากจะฝากข้อที่ควรแก่การพิจารณาไว้ในความลงท้ายนี้ว่า การที่จะเชื่อใครก็ควรพิจารณาถึงประวัติและผลงานของบุคคลผู้นั้นที่เคยเป็นมาในอดีตเป็นสำคัญ ซึ่งในแง่ของการนำเสนอนโยบาย บุคคลที่เคยรักษาสัญญาย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่าบุคคลผู้เคยเบี้ยวสัญญา เข้าทำนองว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาและเป็นดังภาษิตว่างาช้างย่อมไม่งอกจากปากสุนัข              

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท