นิสิต ม.นเรศวร ประท้วงมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเงียบกริบ ไม่มีประชาพิจารณ์

วันที่ 27 พ.ย.50   เวลาประมาณ 13.30 น. นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รวมกลุ่มกันเพื่อชุมนุมประท้วงต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หรือการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล โดยมีนิสิต บุคลากร และผู้สนใจเข้าร่วมรับฟัง และเดินขบวนในครั้งนี้ด้วยราว 500 คน
     

ขบวนประท้วงเริ่มต้นขึ้นที่บริเวณหน้าลานอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยเส้นทางการเดินขบวนเริ่มต้นจากลานสมเด็จฯผ่านไปยังหน้าตึกของหลายคณะ และไปสิ้นสุดที่บริเวณตลาดนัดวันอังคาร

 

รายงานข่าวระบุว่า การประท้วงครั้งนี้มีการให้ข้อมูลด้านกฎหมายที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบให้แก่ผู้ร่วมชุมนุม และมีการถกปัญหาข้อสงสัย เปิดการปราศรัยจากนิสิตคณะต่างๆ และเรื่องที่เป็นประเด็นมากที่สุดก็คือ การที่ทางมหาวิทยาลัยไม่แจ้งรายละเอียดเรื่องการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเลย ประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวรยังไม่เคยเห็นพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่นี้ และไม่เคยได้มีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์ใดๆ

 

 

ด้านนายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ว่าที่ประชุม สนช.จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มน.วาระแรกในวันที่ 28 พฤศจิกายน หลังจากที่ตนได้ขอเลื่อนการพิจารณามาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากประธานสภาอาจารย์ มน.ทำหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.มน. เพราะสภาอาจารย์มีมติคัดค้านการนำ มน.ออกนอกระบบราชการ ดังนั้น ตนจึงได้ขอเลื่อนการพิจารณา พร้อมกับส่งหนังสือร้องเรียนไปยังสภา มน.ได้ดำเนินการแก้ปัญหาให้เรียบร้อยก่อน เพราะเรื่องนี้ถือว่าเป็นไปด้วยความสมัครใจ ซึ่งตนทราบว่าคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะนายกสภา มน. และอธิการบดี มน. ได้มีการหารือกับสภาอาจารย์ มน.แล้ว และที่สุดมีมติให้ดำเนินการเรื่องนี้ต่อ ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 7 ฉะนั้น จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มน.ใน สนช.ต่อไป ส่วนที่มีกระแสข่าวระบุว่า มีการบังคับอาจารย์ให้ลงชื่อเห็นด้วยกับการนำ มน.ออกนอกระบบราชการนั้น ตนคิดว่าเป็นถึงอาจารย์ คงไม่มีใครไปบังคับใครได้

 

นายวิจิตรยังกล่าวถึงกรณี นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมากดดันให้ยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ไม่เช่นนั้นจะหาช่องทางฟ้องศาลว่า ตนไม่อยากพูดเรื่องนี้ เพราะถือเป็นเรื่องภายในจุฬาฯ การจะนำจุฬาฯออกนอกระบบราชการหรือไม่ เป็นความสมัครใจและเป็นมติของสภาจุฬาฯ ถ้าข้องใจก็ต้องไปพูดกับสภาจุฬาฯ ไม่ใช่มาพูดกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

 

'เรื่องนี้ผมจะไม่ไปล้วงลูก เพราะการนำจุฬาฯออกนอกระบบถือเป็นความสมัครใจของสภาจุฬาฯ ผมมีหน้าที่แค่เสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อ สนช.เท่านั้น และเวลานี้ไปไกลถึงขนาดเป็นร่าง พ.ร.บ.ของ สนช.ไปแล้ว เมื่อ สนช.รับหลักการ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ก็มีหน้าที่พิจารณาไปตามหลักการนั้น จะแก้ไขให้ผิดจากหลักการไม่ได้' นายวิจิตรกล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท