Skip to main content
sharethis

ธีรมล บัวงาม
(
สัมภาษณ์/เรียบเรียง)


สำนักข่าวประชาธรรมมีโอกาสจับเข่าคุยกับ พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง และนางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานและเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ...ป่าชุมชน สมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ถึงความเป็นไปของร่างพ...ป่าชุมชน กฎหมายที่ผ่านร้อนหนาว ผ่านมือรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย เนื่องจากล่าสุด พ...ป่าชุมชนซึ่งถูกผลักดันมานานกว่า 2 ทศวรรษก็ถึงมือสนช. โดยราวปลายปี 2549 ภายหลังจากสมาชิกสนช.จำนวนหนึ่งได้ล่ารายชื่อเสนอให้มีการพิจารณาร่างพ...ป่าชุมชนในนามคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาที่ดินป่าไม้ โดยมีสาระสำคัญคือให้ชุมชนดูแลรักษาป่าภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อ คือ หนึ่ง เป็นชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานมานาน สอง เป็นผู้ที่ดูแลรักษาป่ามานาน สามมีวีถีชีวิตภูมิปัญญาที่รักษาป่า และสุดท้ายมีแผน กฎเกณฑ์ที่จะดูแลรักษาป่าในอนาคต โดยกรรมาธิการได้นำส่วนดีของร่างพ...ป่าชุมชนในอดีตที่ยกร่างขึ้นจากฝ่ายต่างๆ ทั้งของภาคประชาชน รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา มาผสมผสานกัน


อย่างไรก็ดี สนช.ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาเป็นการเฉพาะ ด้วยเหตุที่แม้ทุกฝ่ายมีเป้าหมายตรงกันที่อยากให้ป่ารอดพ้นจากการถูกทำลาย ทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำ แหล่งยา อาหารและความหลากหลายทางชีวภาพให้กับสังคมไทยและคนทั้งโลกอย่างยั่งยืน แต่ก็ติดขัดในหลักการว่าควรให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์หรือไม่ ซึ่งการพิจารณาของคณะกรรมาธิการนับจากเดือนพฤษภาคม 2550 ก็มีความคืบหน้าไปมาก จนจะมีการพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป


ผลการพิจารณาพ...ป่าชุมชนล่าสุดของสนช.เป็นอย่างไร


พล..สุรินทร์ พิกุลทอง:
กฎหมายป่าชุมชนพิจารณาผ่านไปหมดแล้ว เหลือที่ยังเป็นปัญหาหลักๆ คือมาตรา 24 และมาตรา 34 ในส่วนมาตรา 24 เรื่องการยื่นขอป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ ตัวกฎหมายที่รัฐบาลเสนอมานั้นกำหนดให้ยื่นขอเป็นป่าชุมชนได้เฉพาะชุมชนที่อยู่ในเขตอนุรักษ์และอยู่ก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์ ส่วนชุมชนที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์ก็ให้เอาไปไว้ในบทเฉพาะกาล ซึ่งสนช.เห็นว่า ไม่ควรกำหนดว่าชุมชนอยู่ที่ไหน ควรพิจารณาเพียงแค่ว่าป่าชุมชนอยู่ตรงไหน แต่ชุมชนนั้นๆ ต้องตั้งมาก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์


บ้านเราประกาศเขตอนุรักษ์ ครั้งใหญ่ที่สุดหลังจากการปิดป่าเมื่อปี 2535-2536 เป็นเวลาไม่ถึง 20 ปี แต่ชุมชนดั้งเดิมที่อยู่บนที่สูงทั้งหลายอยู่มาเป็นร้อยปีแล้ว บางแห่งเคยเป็นป่าหัวโล้น เขาก็ดูแลจนกลายเป็นป่าทึบ พอประกาศเป็นป่าอนุรักษ์กลายเป็นชาวบ้านหมดสิทธิ ต้องไปอยู่ในบทเฉพาะกาล สนช.จึงไม่เห็นด้วย พร้อมเสนอหลักการให้ชาวบ้านสามารถยื่นขอจัดตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ได้ ถ้าอยู่ก่อนประกาศเขตอนุรักษ์ และดูแลป่าอย่างต่อเนื่อง 10 ปี แต่ถ้าใครดูแลมาแล้วอย่างน้อย 5 ปีก็ค่อยขอยื่นในอนาคตจนกว่าจะครบ 10 ปี ส่วนชาวบ้านที่ดูแลป่าต่ำกว่า 5 ปีนั้น จะหมดสิทธิยื่นขอจัดตั้งป่าชุมชนตามเงื่อนไขกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งสนช.ก็มีมติเห็นชอบในหลักการดังกล่าวแล้ว


"หวังว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการแก้ไขตัวบทตรงนี้ เพื่อให้คนที่ดูแลป่ามาอย่างเนื่องแต่ยังไม่ถึง 5 ปีหลังกฎหมายประกาศใช้ได้มีโอกาสดูแลต่อไป เพราะหัวใจของพ...นี้คือการส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างอย่างสมดุลและยั่งยืน ดังนั้นถ้าเอาตามที่รัฐบาลเสนอก็เท่ากับเป็นการตัดออกไปทั้งหมด แทนที่จะมีส่วนร่วมส่งเสริมชุมชนแต่กลายเป็นกฎหมายที่มองประชาชนเป็นผู้ร้าย ซึ่งเราพยายามอย่างยิ่งที่จะบอกว่ามันขัดกับหลักการของกฎหมายฉบับนี้เอง รวมถึงมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างชัดเจน"


ส่วนมาตรา 34 การใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ซึ่งของรัฐบาลเสนอมาว่าห้ามทำไม้ในเขตอนุรักษ์ ถามว่ามันจะมีประโยชน์อะไรที่เขาช่วยสร้างป่าขึ้นมา แล้วกันสิทธิของเขาออกไปจนทำอะไรไมได้เลย พูดง่ายๆ คือไม่ตรงกับกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้นของที่รัฐบาลร่างมามันไม่ส่งเสริม แต่เป็นแนวคิดกีดกัน คิดว่าฉันเท่านั้นที่เป็นคนดูแลเป็นเจ้าของป่า ไม่ใช่ชุมชน


การที่รัฐธรรมนูญให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติก็เป็นที่ประจักษ์ว่าประเทศไทยให้ข้าราชการดูแลทรัพยากรของชาติจนสูญเสียไปมากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าไม้ เมื่อเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ในปีพ.. 2504 มีป่าไม้จริงๆ อยู่ 172 ล้านไร่ แต่พอปี 2538 ป่าเหลือไม่ถึง 70 ล้านไร่ หายไปร้อยล้าน ซึ่งในจำนวนนี้มีป่าในเขตอนุรักษ์ที่รัฐเป็นผู้ดูแลด้วย


"ดังนั้นชัดเจนว่าตราบใดที่ทรัพยากรเป็นของราชการมันก็ต้องหมด แต่ถ้าให้ชุมชนเข้ามีส่วนในการดูแลมันก็มีความหวัง ยกตัวอย่างป่าชายเลนที่ประชาชนช่วยกันดูแล ในกรณีสึนามิที่ผ่านมาผมเป็นประธานแก้ไขปัญหาที่ดิน พบว่าชุมชนที่อยู่กับป่าชายเลนมาเป็นร้อยๆ ปีอย่างชาวมอแกน เขารักษาป่าไว้ กุ้งหอยปูปลาอุดมสมบูรณ์ แต่พ้นจากหมู่บ้านมอแกนไปเล็กน้อยก็เป็นนากุ้งโล่งหมดและอาจมีการออกเป็นเอกสารสิทธิด้วยนี่คือรัฐดูแล หรือกรณีป่าอนุรักษ์ของชุมชนกระเหรี่ยงก็เช่นกัน เขาก็มีการอนุรักษ์ป่าผ่านวัฒนธรรม ผ่านการถือผี ลูกออกมา 1 คนก็ต้องเอาสะดือไปผูกไว้กับต้นไม้เรียกว่าป่าสะดือ มีการแบ่งพื้นที่ป่าใช้สอยออกจากป่าอนุรักษ์อย่างชัดเจน แล้วถามว่าไอ้ป่าหัวโล้นในเขตอนุรักษ์นั้นมีชุมชนอยู่หรือไม่ คำตอบคือไม่มี แต่ที่หัวโล้นเพราะราชการ เข้าไปทำลาย"


คิดว่าสนช.จะพิจารณากฎหมายป่าชุมชนอย่างไรต่อไป


เตือนใจ ดีเทศน์ :
คือส่วนตัวเองจะพยายามคุยกับกรรมาธิการหลายๆ ท่าน เพราะภาษิตที่ว่า "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" มันน่าคิดมาก คือ การที่เราจะเสียเล็กน้อยให้ประชาชนที่เขาอนุรักษ์ป่ามาแล้วได้ทำไม้ ซึ่งในการทำไม้ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเลื่อยไม้แผ่นใหญ่ๆ แต่เป็นการเอาไม้มาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อยังชีพ เพราะเขาใช้มันอย่างมีกติกาและเน้นการใช้อย่างสุมดุลแลยั่งยืน แต่กรณีเสียมาก คือ การถางป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว อาทิ กะหล่ำปลี ไร่ขิง หรือกระทั่งมันฝรั่ง อันนื้คือเสียมากเสียง่ายเนื่องจากใช้โดยไม่มีการควบคุมปล่อยปละละเลย


ขณะที่ชุมชนที่ดูแลรักษาป่าจนรัฐบาลสามารถประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ได้ เขาขอใช้นิดเดียวอย่างกรณีของที่ต.ศิลาเพชร อ.ปัว จ.น่าน มีการเก็บสถิติเอาไว้ว่าในพื้นที่ป่าที่ดูแลอยู่กว่า 9,000 ไร่ ในรอบ 1 จะมีไม้ล้มขอนนอนไพรโดยเฉลี่ยประมาณ 150 ต้น เขาขอใช้เพียงปีละ 5 ต้น แล้วทำไมจึงให้ชาวบ้านที่รักษามาก่อนประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ไม่ได้


ตรงนี้ก็พยายามชี้แจงกันว่าอย่าให้กฎหมายเป็นไปตามภาษิตดังกล่าว ซึ่งจะมาเสียใจกันภายหลังว่าชุมชนดี ชุมชนที่พร้อมจะมีกฎเกณฑ์ กติกาในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ทำไมเราจึงให้ยากมากๆ แต่พอเผาไร่กันเป็นแสนๆ เป็นล้านไร่ เรากลับมองข้ามกันง่ายๆ


"ไม่อยากให้สังคมไทยเป็นอย่างนั้นจึงต้องเตือนทุกฝ่าย และสร้างความเข้าใจกับสังคมที่เคยมองกันตั้งแต่สมัยที่ร่างพ...นี้มันติดในวุฒิสภาว่า ประชาชนจะขอเข้าไปทำไม้ ลำพัง 2 แขน 2 มือ และมีดของชาวบ้านมันไม่มีทางทำเป็นแสนเป็นล้านไร่ แต่ให้เขาใช้เพื่อประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เพื่อการยังชีพก็น่าจะเป็นไปได้ ซึ่งคาดว่าวันที่ 31 ตค. น่าจะมีการคุยกันเป็นรายบุคคล และก็หวังว่าทั้งกรรมาธิการจากสนช. และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจะมีเข้าใจร่วมกันที่จะให้ของขวัญแด่พระเจ้าอยู่หัวในวาระทรงพระชนม์มายุ 8 พรรษา ด้วยการคลอดพ...ป่าชุมชนที่ตรงกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่กับป่า ให้ความเป็นธรรม และคืนธรรมชาติที่ยั่งยืนกลับมา"


พล.อ สุรินทร์ พิกุลทอง :
กฎหมายฉบับนี้เป็นการสร้างกฎกติกาการใช้ประโยชน์ในป่า ดูแลรักษาป่า และฟื้นฟูป่าอย่างไร แต่ทางราชการมองว่ามันไม่ดี และยึดเอากติกาของราชการเพียงอย่างเดียว ซึ่งมันดูเหมือนเป็นเรื่องตลก ผมเองรับราชการมา 43 ปี เห็นชัดว่าตราบใดที่ป่าเป็นของราชการป่าก็ต้องหมดด้วยกฎกติกาทั้งหลายที่เรามีอยู่ ฉะนั้นกฎหมายที่ออกมามันควรเป็นไปตามที่พระราชโอวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าอย่าใช้กฎหมายรักษากฎหมายแต่ใช้กฎหมายรักษาความเป็นธรรม ตามสภาพความเป็นจริง ในส่วนของสนช.ซึ่งมีหน้าที่ออกกฎหมายไปบังคับใช้ ก็ต้องเอาคำของนายหลวงมาตรวจสอบว่า


หนึ่ง กฎหมายต้องอำนวยความเป็นธรรม ไม่ใช่รักษากระดาษหรือตัวหนังสือ ถามว่าเขาดูแลป่ารักษาขึ้นมาจนมันฟื้น มีน้ำกลับคืนมา พอเห็นก็ประกาศเป็นอุทยาน และกันให้เขาเข้าใช้ไม่ได้ ถามว่าอันนี้เป็นธรรมหรือไม่


สอง หากกฎหมายไม่ออกตามสภาพความเป็นจริง ก็ไม่เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและส่วนรวม ถ้าเราส่งเสริมทุกชุมชน พอป่าขึ้นเขียวหมด อย่างที่พื้นที่ห้วยปูลิง จ.แม่ฮ่องสอนที่ลงพื้นที่มา ป่าใช้สอยของเขามีพื้นที่ไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด จึงเป็นพื้นที่เล็กมากๆ ไม่มากมายอย่างที่คนคิดกัน


เตือนใจ ดีเทศน์ :
ประเด็นนี้ สนช.เคยเสนอกันว่าถ้าทางฝ่ายรัฐบาลมีความเป็นห่วงว่าในพื้นที่อนุรักษ์จะถูกใช้สอยมากเกินไป ก็สามารถออกเป็นกฎกระทรวงหรือเป็นกฎระเบียบได้ว่า ป่าชุมชนที่ตั้งในเขตอนุรักษ์ต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่เกินร้อยละเท่าไหร่ ส่วนนอกเขตอนุรักษ์จะเป็นอย่างไรก็ว่ากันต่อ โดยให้มองว่าด้วยวิถีชีวิตพอเพียงของชาวบ้านที่เป็นอยู่ เราอย่าออกกฎหมายทำร้ายคนดี แล้วคนที่ตามกระแสทุนนิยม ปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำลายป่าเป็นแสนเป็นล้านไร่ทั่วประเทศ แค่ในภาคเหนือเมื่อ 2- 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ข้าวโพดราคาดีป่าก็หายไปตามด้วย ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดไหน


ดังนั้น กฎหมายต้องส่งเสริมคนดี เราต้องมีมาตรการชักจูงส่งเสริมสนับสนุนพ...ป่าชุมชน ซึ่งเป็นการส่งเสริมชุมชนที่ดี ในสมัยกฎหมายอยู่การพิจารณาของสว.ก็มีการพูดอยู่ตลอดว่า ชาวบ้านรุกเข้าไปในเขตอนุรักษ์ ซึ่งพลเอกสุรินทร์ก็ค้านมาตลอดว่าเขาอยู่มาก่อน


อคติเรื่องคนอยู่กับป่าก็ยังเป็นข้อขัดแย้งตลอดกาล?


พล..สุรินทร์ พิกุลทอง :
เขามักจะพูดกันเสมอว่าชาวบ้านเข้าไปในเขตอนุรักษ์ ผมจึงต้องย้ำว่าคำนี้เลิกพูดได้หรือไม่ เพราะเขาอยู่มาก่อนแล้ว กฎหมายออกมาทีหลังทั้งหมด มันก็มีการเถียงว่าเราจะพิสูจน์อย่างไรว่าชาวบ้านอยู่มาก่อน ซึ่งเอาแค่ในชุมชนเพียงแค่ 2-3 ตระกูล ปู่ ย่า ตา ยาย ตายเมื่อไร่ อย่างกรณีแม่เหียะใน คนที่อายุ 83 ปี เขาเกิดที่นี่ ถามว่าพ่อเขาตายเมื่อไหร่ ก็ย้อนกลับไปอีกเกือบ 200 ปี พอประกาศเป็นเขตอุทยาน เป็นป่าสงวนเป็นที่หวงห้าม ชุมชนก็ต้องถูกกันออก โดยไม่สนว่าในชุมชนมีกฎกติกาในการดูแลอย่างไร


กฎหมายป่าชุมชนในกรณีที่จะเอากี่ร้อยละเท่าไหร่เป็นป่าใช้สอย ก็สามารถสร้างระเบียบกันเองโดยมีทุกฝ่ายเข้ามาร่วม โดยมีคณะกรรมการตั้งแต่ระดับสมาชิกป่าชุมชน คณะกรรมการระดับจังหวัด ระดับชาติ มันมีหลายขั้นตอนมากมายกว่าจะทำได้ แต่คนที่เคยดูแลมาก่อนกลับคิดว่าจะเป็นการเปิดทางให้มีการทำลายป่า


เตือนใจ ดีเทศน์ :
เรื่องนี้ถ้าเทียบกับตอนที่สว.พิจารณา กรรมาธิการชุดนี้มีทัศนคติดีขึ้นมาก เพียงแต่เราคาดหวังมากขึ้นด้วย คือเดิมประเด็นการทำป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ไม่ได้เลย แต่ตอนนี้ก็ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่อยู่ในเขตอนุรักษ์ หรือถูกกันออกมาแล้ว รวมถึงชุมชนที่อยู่นอกแต่มาดูแลป่าในเขตอนุรักษ์ เพียงแต่ว่ายังขาดอีกแค่ 2 ส่วน คือมาตรา 34 ที่ไม่ให้ทำไม้เลยในเขตอนุรักษ์ ซึ่งอันนี้ยังไม่ตรงกับความเป็นจริง

ที่สำคัญอยากให้กฎหมายมีผลกับอนาคตด้วย คือ ชุมชนที่ยังดูแลป่าไม่ถึง 10 ปี อย่างแค่ 5 ปีก็ให้เขายื่นความจำนง เมื่อครบ 10 ปีก็สามารถจัดตั้งได้ ดังนั้นการพิจารณากฎหมายป่าชุมชนคิดว่าเหลืออีก 5% เท่านั้น ซึ่งต้องให้กำลังใจและชื่นชมกรรมาธิการชุดนี้ รวมทั้งตัวแทนที่มาจากกรมอุทยาน และกรมป่าไม้ เพราะเขาพยายามที่จะอุดช่องว่างของกฎหมาย ซึ่งบังคับใช้กับคนทั้งประเทศ ถ้ากฎหมายมีช่องโหว่เพียงเล็กน้อย คนไม่ดีก็สามารถใช้ช่องโหว่หาประโยชน์ ก็ต้องให้กำลังใจและทำความเข้าใจในยกสุดท้าย


พล..สุรินทร์ พิกุลทอง :
ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ คือ คำจำกัดความของตามป่าพ...ป่าไม้ 2484ที่นิยามว่าป่า คือที่ดินที่ไม่มีบุคคลใดได้ตามกฎหมายที่ดิน ซึ่งกฎหมายนี้ออกในช่วงที่รัฐต้องค่าภาคหลวงจากการตัดไม้ เพื่อให้ทุกพื้นที่สามารถประกาศเป็นเขตหวงห้ามได้ทั้งหมด แต่พอมาถึงใช้เป็นกฎหมายอุทยาน กฎหมายป่าสงวนก็ยกคำจัดความดังกล่าวมาอีก ซึ่งกลายเป็นคำจำกัดความที่ไม่เป็นธรรม เพราะหากป่าคือที่ดินที่ไม่มีบุคคลใดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มันไม่ได้พูดถึงต้นไม้เลย


กฎหมายมองประชาชน หรือใครที่เกิดหรืออยู่ในป่าเป็น 2 อย่าง คือ คนป่า และสัตว์ป่า ฉะนั้นที่ดินไหนไม่มีเอกสารสิทธิก็คือคนที่อยู่ในป่า เราจึงต้องเปลี่ยนคำจัดความของป่าในกฎหมาย ซึ่งทำให้กฎหมายป่าไม้เป็นกฎหมายปิดป่า ซึ่งอาจเจอกันครึ่งทางว่าป่า คือ พื้นที่ที่มีต้นไม้ปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และไม่มีบุคคลใดได้มาตามเอกสารสิทธิของประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้นจึงไม่ใช่ที่ของคนใดคนหนึ่ง หรือสวนมะม่วง


"คำจัดความแบบเก่าน่าจะใช้ไม่ได้แล้ว เพราะใช้ได้เฉพาะช่วงปี 2484 เท่านั้นที่จะหาเงิน ไม่ใช่การอนุรักษ์ป่า ถ้าชาวบ้านไม่แจ้งถือว่าสละสิทธิ หรือถ้าแจ้งแล้วแต่ทางราชการไม่ดำเนินการต่อ ก็ถือว่าเป็นผู้บุกรุก ป่าไม่น้อยกว่า 90% ที่ประกาศมาไม่ได้กันออก แต่กันออกบ้างเฉพาะคนที่มีชื่อเสียง แต่ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดา ผมได้ยินจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งหนึ่ง สมัยที่เขาเป็นปลัดอำเภอเขาได้นำป่าไม้อำเภอไปพบชาวบ้านาและทำแผนที่จนป่านนี้ ลูกบ้านของเขากลายเป็นปลัดอำเภอก็ยังเป็นผู้บุกรุกป่า ผมก็สะท้อนใจว่าบ้านเมืองเราเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร"


เตือนใจ ดีเทศน์ :
นี่เป็นโอกาสที่ดีถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดและมองในแง่บวกแล้วทำให้สังคมโดยรวมเข้าใจว่าคนที่อยู่กับป่าคือคนที่รักษา และเป็นรากฐานของประเทศ อย่างครั้งที่มีวิกฤติฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 ถ้าเราไม่มีชนบทที่อุดมสมบูรณ์ ประเทศไทยก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นอย่าไปรังเกียจคนที่อยู่กับป่ามาก่อน ต้องส่งเสริมให้เขามีส่วนร่วมทั้งในการดูแลและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะนั่งเฝ้าโดยไม่ใช้ประโยชน์ เหมือนอย่างบ้านถ้าไม่มีคนอยู่ บ้านก็เสื่อมโทรมหากไม่มีคนดูแล


ยกตัวอย่างระบบไร่หมุนเวียนก็เกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ป่า เพราะสัตว์บางประเภทถ้ามีแต่ป่าใหญ่ซึ่งพื้นมันโล่งหมด เก้งก็ต้องไปอยู่ในป่าเหล่าที่เป็นไร่เก่าซึ่งพื้นสภาพขึ้นมา วิถีของคนในแนวเศรษฐกิจพอเพียงสามารถรักษาป่าได้ดี จึงควรส่งเสริมชุมชนเหล่านี้ให้ขยายตัวมากขึ้น อย่าไปคุมกำเนิด


ที่สำคัญประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจในสังคมกับว่า การขอจัดตั้งป่าชุมชนนั้นมีความยุ่งยากมีกติกาเยอะมาก จึงไม่ควรจะกลัวว่าจะมีชุมชนรีบมาขอจัดตั้ง เพราะว่านี่เป็นการทำให้การใช้ทรัพยากรป่าเป็นไปอย่างมีกฎเกณฑ์กติกาดีกว่าที่จะปล่อยให้มีการลักลอบตัดไม้ หรือเผาป่าเพื่อปลูกพืชไร่ราคาถูก และยิ่งในช่วงที่เราต้องการพลังงานไบโอดีเซล จำพวกอ้อย ปาล์ม ถ้าไบโอดีเซลเหล่านี้ต้องใช้วัตถุดิบที่ได้มาจากการรุกป่าแล้วทำไมต้องไปกลัวกับการที่ชุมชนเขาขอจัดตั้งป่าชุมชน


แนวโน้มของทั้งโลกการพัฒนาเป็นการทำให้คนในชนบทย้ายเข้ามาในเมืองหลวง และในอนาคตทั่วโลกจะมีพื้นที่ในชนบทน้อยกว่าเมืองหลวงซึ่งคนต้องแย่งกันกินแย่งกันใช้ ดังตัวอย่างที่มีให้เห็นเยอะแยะ คนในชนบทอยู่อย่างไม่มีความหวัง เพราะธรรมชาติถูกทำลายจากผู้มีอิทธิพล มีเครื่องมือ มีทุน แต่ชาวบ้านที่มีแค่ 2 มือ และวิถีชีวิตแบบพอเพียงเมื่อขอจัดตั้งป่าชุมชนเราก็สนับสนุน ถ้าเราทำความเข้าใจกันได้ว่าชนบทคือผู้รักษาธรรมชาติ เพราะคนในเมืองใช้ทรัพยากรมากมายแต่ไม่เคยมองดูตัวเอง แต่มองว่าชนบทจะแตะไม้สักต้นหนึ่งไม่ได้ อันนี้ต้องช่วยกันทำให้สังคม ทำให้คนในเมืองใหญ่หันมามองว่าการแก้ภาวะโลกร้อนต้องทำให้มีป่าเพิ่มขึ้น ลดการใช้พลังงาน และทรัพยากรทุกชนิด อยู่อย่างพอเพียงเรียบง่ายที่สุด ซึ่งคนในกรุงคนในเมืองใหญ่ต้องเรียกร้องตัวเองด้วย อย่าไปเข้มงวด ควบคุมกับคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เพราะกฎหมายป่าชุมชนจะสร้างสำนึกรักป่าและความเคารพหวงแหนธรรมชาติ ซึงมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในป่าหรือเมืองต้องสร้างให้เกิดขึ้นแม้ว่าถ้าอยู่ในเมืองก็ต้องสร้างป่าในเมือง


มองว่ากรณีกฎหมายป่าชุมชน สะท้อนอะไรออกมาบ้าง


พล..สุรินทร์ พิกุลทอง :
ผมเองอยู่ในสภาสั้นมีความเห็นเล็กน้อยว่า บ้านเมืองเรามีกฎหมายบ้านเยอะแต่การบังคับใช้กฎหมายน้อยมาก เพราะการออกกฎหมายในบ้านเรามันออกตามพรรค ตามพวก ตามกระแส ไม่ได้เป็นตามที่นายหลวงกล่าวไว้ กฎหมายไม่ออกมาเพื่ออำนวยความเป็นธรรม ตามสภาพความเป็นจริง หรือประโยชน์สูงสุด จึงมีการล็อบบี้ตลอดเวลา กฎหมายในบ้านเราที่ออกมาตามความเห็นของผม คือ กฎหมายที่เก็บไว้ในตู้เป็นส่วนใหญ่ และราชการก็ใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการทำมาหากินโดยไม่ชอบ


เตือนใจ ดีเทศน์ :
จากประสบการณ์ของการเป็นสว.มาจนถึงปัจจุบัน การพิจารณากฎหมายนั้นมีเยอะ แต่ประชาชนไม่มีส่วนรับรู้ อย่างเช่นพ...ป่าชุมชนก็เป็นเกิดมาจากกระบวนการของประชาชน เมื่อประชาชนเป็นเจ้าของเขาก็ต้องตามเรื่องนี้ แต่กฎหมายอีกหลายร้อยฉบับประชาชนไม่รับรู้ เพราะทุกสัปดาห์การประชุมสภาแต่ละครั้ง มีกฎหมายเข้ามาให้พิจารณานับ 10 ฉบับ ตัวสนช. หรือสส. สว. ไม่รู้ทุกเรื่อง ซึ่งกฎหมายก็จะสนองคนแต่ละกลุ่มไป ทั้งๆ ที่มันบังคับใช้ทั่วประเทศ อันนี้คือจุดอ่อนว่ากระบวนการเสนอและพิจารณากฎหมายที่ขาดการมีส่วนร่วม


สื่อมวลชนของเราเองก็ขาดความรู้ที่จริงการประชุมรัฐมนตรี และประชุมสภาแต่ละครั้งมันมีผลต่อประชาชนทั้งประเทศ ควรต้องถ่ายทอดสดให้มากที่สุด แต่ถ่ายทอดเฉพาะวิทยุรัฐสภา ซึ่งไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด ส่วนทีวีรัฐสภาก็ต้องผ่านสัญญาณดาวเทียม และมีคนจำนวนเล็กน้อยที่ได้รับ นี่คือจุดอ่อนของระบบประชาธิปไตยที่ใช้คำว่านิติรัฐ หรือรัฐที่ปกครองโดยนิติศาสตร์หรือกฎหมาย ภายใต้คำว่าประชาธิปไตย ที่ประชาชนเข้าไม่ถึง


กลายเป็นว่าคนส่วนน้อยที่รู้กฎหมาย จึงเอากฎหมายมาใช้ในทางเป็นโทษ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายสัญชาติซึ่งทำให้เกิดการทุจริต คอรัปชั่น กดขี่ผู้ด้อยโอกาสที่สุด นี่คือจุดอ่อนของกระบวนการพิจารณากฎหมายในสภา และโดยรัฐบาล พอเปรียบเทียบระหว่างสภากับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลมีอำนาจมากกว่าในการเสนอกฎหมาย เพราะกฎหมายที่รัฐบาลเสนอมีเรื่องของการเงินได้ แต่กฎหมายที่สภาเสนอมีเรื่องของการเงินไม่ได้ ทั้งนี้ไม่ใช่สภาอยากออกกฎหมายควบคุมภาษีการถือครองที่ดิน หรือมรดก สภาก็เสนอมไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัด ดังนั้นต้องปรับปรุงกระบวนการเสนอและพิจารณากฎหมายอีกเยอะ เพื่อให้กฎหมายเป็นธรรม เป็นจริง และอำนวยประโยชน์สูงสุด


ป่าชุมชนที่ส่งเสริมชุมชนให้มีส่วนร่วมในการดูและรักษาป่า ต้องออกมาในทางที่เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมชุมชนดี ที่จะเพิ่มพื้นที่ป่า และทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีส่วนร่วมในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน อุณหภูมิของโลกจะลดลงได้ถ้ามีป่าเพิ่มขึ้น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net