Skip to main content
sharethis


โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (มีเดีย มอนิเตอร์) ร่วมกับอาจารย์ และนักศึกษานิเทศศาสตร์และรัฐศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 8 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,  โครงการสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์, และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ "ข้อเสนอแนะต่อสื่อมวลชน" เพื่อเตรียมพร้อมรับมือการรายงานข่าวการเมืองในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ ดังนี้


 



  1. ต่อการให้ความรู้ระบบการเลือกตั้ง:  สื่อควรมีการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ โดยเฉพาะการอธิบายถึงความแตกต่างของระบบเลือกตั้งแบบใหม่ ที่มีความสับสนอย่างมากประชาชน จากระบบระบบการเลือกตั้งที่แบ่งออกเป็น  2 ระบบ คือผู้สมัครแบบสัดส่วน และผู้สมัครแบบเขต ที่มีการใช้ตัวเลขกันคนละเบอร์ และแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่  ทั้งนี้ควรสอดแทรกในช่วงการรายงานข่าว หรืออาจจัดทำเป็นรายงานพิเศษ หรือสกู๊ปข่าวสั้นๆ แทรกท้ายข่าวหรือสป็อตโฆษณาสั้นแทรกระหว่างรายการต่างๆ



  1. ต่อการนำเสนอข้อมูลของพรรคการเมือง : สื่อควรมีการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิเคราะห์ วิพากษ์ ตรวจสอบ เปรียบเทียบนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ที่นำเสนอว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว นโยบายดังกล่าวสะท้อนความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองเช่นไร มากกว่าที่จะนำเสนอนโยบายพรรคการเมืองในระดับผิวเผิน หรือนำเสนอเพียงข่าวคราวความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง หรือนักการเมืองซึ่งเน้นเพียงตัวบุคคล ควรเน้นการรายงานข่าวที่สาระ ใจความ ประเด็น เพราะจะมีประโยชน์ต่อการตัดสินใจทางการเมืองมากกว่า



  1. ต่อการนำเสนอข้อมูลของผู้สมัคร : สื่อมักนำเสนอข้อมูลผิวเผินของนักการเมืองในลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ว่าเป็นลูกใคร เคยอยู่พรรคใด สัมพันธ์กับใคร เช่นความสัมพันธ์ทางเครือญาติ แต่ไม่ได้นำเสนอสาระของความคิด ประวัติการการงานของนักการเมือง สื่อควรสืบเสาะให้เห็นที่มาของนักการเมืองคนนั้น เน้นข้อมูลที่เป็น "ผลงาน" ของผู้สมัครหรือนักการเมือง โดยเฉพาะการกระทำและพฤติกรรมทางการเมืองของนักการเมืองนั้นๆ สื่อควรแสดงให้เห็น "สาระของประวัติการทำงาน" หรืออุดมการณ์ทางการเมืองของนักการเมืองดังกล่าวที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งประโยชน์โดยตรงต่อผู้ชมในฐานะประชาชนที่มีข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับการตัดสินใจเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมือง



  1. ต่อมูลเหตุเบื้องหลังของเหตุการณ์ทางการเมือง : สื่อปัจจุบันเน้นข้อมูลรายวัน ปัจจุบัน และมักตั้งตัวเป็นผู้ทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้า ซึ่งทำให้ผู้ชมขาดความเข้าใจข่าวอย่างต่อเนื่อง กระจัดกระจาย แตกส่วน ในกรณีที่สื่อเห็นว่าการนำเสนอข้อมูลเพื่อกำหนดแนวทางในอนาคตทางการเมือง สื่อควรใช้ข้อมูลในอดีตมาประกอบการนำเสนอ โดยที่ข้อมูลในอดีตนี้เป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นเบื้องหลังทางความคิด การกระทำ และพฤติกรรมการทำงานทางการเมืองของนักการเมืองนั้นๆ มากกว่าที่จะนำเสนอว่านักการเมืองนั้นๆ เป็นญาติสนิท เครือญาติสายสัมพันธ์ทางการเมือง



  1. ต่อการให้พื้นที่กับภาคประชาชน : สื่อมักนำเสนอความคิด ทัศนคติ อารมณ์ความรู้สึกของนักการเมืองฝ่ายเดียว หรือการถามถึงเหตุผลของการตัดสินใจเล่นการเมืองของผู้สมัครรายต่างๆ หรือสอบถามถึงสาระของนโยบายพรรคการเมืองนั้น ๆ โดยละเลยความคิด ทัศนคติ และความรู้สึก ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิ โดยเฉพาะประชาชนผู้ที่อยู่ในพื้นที่เขต จังหวัดของนักการเมืองคนนั้น พรรคนั้น หรือการให้พื้นที่กับนักวิชาการ องค์กรอิสระ นักประชาสังคม หรือแม้แต่ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจอื่นใด ที่มีข้อมูล ความรู้ ข้อเท็จจริงของเรื่องราวต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากปรากฏว่ามีเนื้อหาของความคิดของประชาชนก็มีในรูปแบบของความคิดเห็นสั้นๆ จากประชาชนหลายๆ คนเท่านั้น (vox pop)



  1. ต่อการทำงานของผู้สื่อข่าว ผู้ประกาศข่าว ผู้ดำเนินรายการในข่าว : สื่อควรระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นลงไปในเนื้อหาข่าว โดยเฉพาะกิริยาท่าทาง การใช้เสียงสูง เสียงต่ำ การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง การเน้นคำหรือความที่อาจเป็นคุณหรือโทษต่อแหล่งข่าวที่ถูกพาดพิง ขณะเดียวกันสื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการซักถามแหล่งข่าวด้วยคำถามที่ไม่นำมาสู่คำตอบที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน โดยเฉพาะคำถามที่เน้นเรื่องส่วนบุคคลของนักการเมือง และไม่ได้เชื่อมโยงหรือเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือคำถามที่จะเอื้อประโยชน์ทางการเมืองและประโยชน์ส่วนตนของนักการเมือง


ทั้งนี้เพื่อให้การรายงานข่าวการเมืองในสื่อเป็นไปอย่างมีคุณค่า สารประโยชน์เพื่อเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็ง และเพื่อให้การเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการทางการเมืองที่มั่นคงต่อไป


 


....................................


website: www.mediamonitor.in.th e-mail: mediamonitorth@gmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net