Skip to main content
sharethis

คณะทำงานรณรงค์การเลือกตั้ง


คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


 


 


 


การเลือกตั้ง เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกทำให้คนค่อนโลกเชื่อว่าสังคมนั้นมีความเป็นประชาธิปไตย ภายหลังการหย่อนบัตรเลือกตั้งลงหีบบัตรแล้วหมายความว่า พลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้มอบสิทธิทางการเมืองอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการปกครองประเทศให้แก่พรรคการเมืองเข้าไปใช้อำนาจในรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


 


ใครก็ตามที่สามารถยึดรัฐสภาได้จึงอาจมีอำนาจล้นฟ้า (แม้กระทั่งจะออกกฎหมายห้ามมิให้คนจนมีลูกเกินความจำเป็นเพียงเหตุผลว่าความจนบั่นทอนความมั่นคงสารพัดรูปแบบของรัฐชาติก็อาจทำได้) การเมืองหลังการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องของนักการเมืองแต่เพียงฝ่ายเดียว นั่นเป็นขอบเขตของประชาธิปไตยในอดีตในความเห็นของนักการเมือง ถึงขนาดมีนักการเมืองบางคนออกมาท้าทายประชาชนอยู่เสมอว่า "ถ้าแน่จริงให้มาลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกัน" ที่ท้าทายเช่นนั้นเพราะเขา (นักการเมือง) รู้ดีว่า เขาเท่านั้นที่มีความได้เปรียบในการเข้าไปใช้อำนาจการเมืองในนามรัฐสภา เพราะกุมเงิน กุมกลไกการเลือกตั้ง และกุมกติกาการเลือกตั้งไว้ในมือ


 


ส่วนภายหลังการเลือกตั้งชะตากรรมทางการเมืองของประเทศชาติจะเป็นอย่างไรนั้น ประชาชนซึ่งเป็นเพียงคน เสิร์ฟเค้กได้แต่ยืนมองปรากฏการณ์ "บุฟเฟ่คาบิเนต" ที่ผู้แทนของตนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกินเค้กตาปริบ ๆ ไร้อำนาจตรวจสอบใด ๆ เหตุผลการเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความล้มเหลวของการเมืองระบบตัวแทน จนนำมาสู่ข้อเรียกร้องของการปฏิรูปการเมือง รูปธรรมประการหนึ่งของการปฏิรูปการเมืองคือการเขียนรัฐธรรมนูญโดยประชาชน จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญปี 2540


 


หัวใจสำคัญของการปฏิรูปการเมืองคือการแบ่งเค้กอำนาจกันใหม่ระหว่างนักการเมืองและพลเมือง ระหว่างรัฐส่วนกลางและรัฐส่วนท้องถิ่น ระหว่างพื้นที่ทุนนิยมและพื้นที่ประชาสังคม หรือระหว่างคนใช้อำนาจและเจ้าของอำนาจ เพื่อกำหนดกติกาหรือโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรทางการเมืองอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม เปิดพื้นที่การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อน การปักปันเขตแดนอำนาจใหม่ในสังคมเริ่มตั้งแต่การต่อสู้ในการแย่งชิงที่มาของอำนาจอธิปไตย เรายังคงจำวิวาทะสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ดีระหว่าง "อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย" หรือ "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" ความสามารถในการยึดที่มาของอำนาจอธิปไตยว่า "เป็นของปวงชนชาวไทย" ได้นั้นเป็นชัยชนะและเป็นความชอบธรรมทางการเมืองสูงสุดของ "ปวงชนชาวไทย"


 


            ตลอดเวลาเกือบสิบปีที่มีการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 หากมองภายใต้แว่นของการเมืองในระบอบรัฐสภา ดูเหมือนว่าการเมืองจะอยู่ในสภาพวุ่นวาย เพราะมีปัญหามากมายที่รัฐบาลต้องเผชิญและถูกเรียกร้อง แม้ว่าพรรคการเมืองบางพรรคจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปฏิวัติ 2475 ก็ยังไม่วายที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่นักการเมืองถือว่า สั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมือง การใช้สิทธิทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญถูกปฏิเสธจากรัฐครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งการเคลื่อนไหวก่อนการรัฐประหาร 19 กันยา ซึ่งอาจเป็นความวุ่นวายทางการเมืองสำหรับนักการเมือง แต่จริง ๆ แล้วเป็นการประลองกำลังเพื่อขีดเส้นแบ่งทางอำนาจอย่างท้าทายและแหลมคมระหว่างนักการเมืองและประชาสังคม ภายใต้กระบวนทัศน์ทางการเมืองแบบใหม่ สิ่งนั้นอาจบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมืองของนักการเมือง แต่ไม่บั่นทอนเสถียรภาพทางการเมืองของสังคมอย่างแน่นอน นักรัฐศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นั้นว่า การเมืองแบบใหม่ หรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ไม่ใช่ม็อบหรือกลุ่มผลประโยชน์อย่างที่นักรัฐศาสตร์สมัยเก่าให้คำนิยาม


           


ปรากฏการณ์ความวุ่นวายในสายตานักการเมืองเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะสังคมไทย แต่เป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ท้าทายเฉพาะอำนาจรัฐไทยเท่านั้น หากครอบคลุมถึงอำนาจรัฐทหารเยี่ยงนายพลตานฉ่วยของพม่าด้วยเช่นกัน ขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้ไม่ได้มุ่งล้มล้างอำนาจรัฐดังขบวนการคอมมิวนิสต์ในอดีต หากแต่มุ่งเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรทางการเมืองที่ถูกผูกขาดโดยนักการเมืองในรัฐสภาเป็นสำคัญ นั่นเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน และเปิดพื้นที่ให้กับประชาธิปไตยทางตรง นั่นเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความล้มเหลวของการเมืองในรัฐสภาและเปิดพื้นที่ให้การเมืองภาคประชาชน ดังนั้นการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองเท่านั้นจะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมลดน้อยลง การปล่อยให้การเมืองถูกกำหนดทิศทางโดยการเมืองแบบรัฐสภาเพียงอย่างเดียวรังแต่จะสร้างภาวะโกลาหลไม่สิ้นสุด เพราะคะแนนเสียงของ "ปวงชนชาวไทย" จะมีฐานะเพียงความชอบธรรมที่นักเลือกตั้งใช้เป็นข้ออ้างในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น ขณะนี้คงเป็นที่แน่นอนภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม จะเกิดความวุ่นวายอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างน้อยการจัดตั้งรัฐบาลคงไม่สามารถทำได้อย่างราบรื่นภายใต้ภายใต้ระบบพรรคการเมืองและการแบ่งขั้วอำนาจที่ชัดเจนเช่นนี้ สังคมจะรับมืออย่างไรกับปัญหาที่จะตามมา


 


ทิศทางการเมืองหลังการเลือกตั้งของนักเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรคงไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องกังวล ภาคประชาสังคมจะมีบทบาทในการควบคุมนักเลือกตั้งอย่างไรเป็นสิ่งที่จะต้องขบคิดมากกว่า พลังการตรวจของประชาสังคมเท่านั้นที่จะถ่วงดุลอำนาจกับนักการเมืองในรัฐสภา ประชาสังคมต้องร่วมกันเปลี่ยนนิยามนิยามความหมายของประชาธิปไตยที่ว่าเป็นเสียงของคนส่วนใหญ่มาเคารพเสียงส่วนน้อย รับใช้คนจน สร้างดุลอำนาจการตรวจสอบที่โปร่งใส เพราะอำนาจการตรวจสอบและการถ่วงดุลเท่านั้นที่จะทำให้ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ประชาธิปไตยจะกินได้ก็ต่ออยู่ภายใต้กติกาการเมืองที่นำไปสู่เงื่อนไขของการปฏิรูปการเมืองเพียงอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งจะมีฐานะเพียงพิธีกรรมทางการเมืองเท่านั้น อย่าให้พลเมืองเป็นเพียงหุ่นเชิดทางการเมืองเหมือนที่ผ่านมา อย่าให้เสียงของเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีความหมายเพียงไม่กี่วินาทีที่คูหาเลือกตั้ง


 


สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะสร้างประชาธิปไตยที่กินได้คือ ต้องไม่ลืม ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศของรัฐบาลเผด็จการทหาร กฎกติกาทางการเมืองอันได้แก่รัฐธรรมนูญจนถึงพระราชบัญญัติประกอบการเลือกตั้งและกฎระเบียบของ กกต. เป็นกฎเกณฑ์ที่ออกแบบขึ้นเพื่อแก้ปัญหาผลพวงทางการเมืองของรัฐธรรมนูญปี 2540 หากผู้ร่างและกุมกฎเหล่านั้นไม่เข้าใจจิตวิญญาณประชาธิปไตย ก็อย่าหวังว่ากฎกติกาเหล่านั้นจะเป็นเครื่องมือในการสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เกิดใหม่ได้ วิถีทางสร้างสังคมประชาธิปไตยที่กินได้ให้เกิดขึ้นก็มีเพียงแต่เขียนรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการปฏิรูปการเมืองเท่านั้น


 


นั่นคือภารกิจสำคัญเพียงอย่างเดียวของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 จะต้องทำ ก่อนการสลายตัว เพราะไม่มีรัฐบาลชุดใดสามารถบริหารบ้านเมืองให้อยู่รอดภายใต้รัฐธรรมนูญเผด็จการ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net