นฤมล นิราทร : แล้ว "คนจน" ก็จะ "จน" ต่อไป ?

 

* หมายเหตุ : การนำเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งในงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ "ความยากจน แรงงาน และสวัสดิการ: โจทย์สำหรับรัฐและชุมชน" จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2550 ณ ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

 

หัวข้อเสวนาในช่วงเช้า คือ "แรงงานและสวัสดิการแรงงาน: สภาพปัญหา สถานะความรู้ และทางออก"

การนำเสนอในประเด็นต่างๆ ได้แก่ "แรงงานนอกระบบ" โดย ผศ.ดร.วัชรียา โตสงวน คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "แรงงานข้ามชาติ" โดย ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "คนจนในชุมชนเมือง" โดย รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ., "สวัสดิการแรงงาน" โดย ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มธ., "ระบบประกันสังคม" โดย อภิชาต สถินิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

 

หัวข้อเสวนาในช่วงบ่าย คือ "สวัสดิการเพื่อแก้ปัญหาความยากจน: สภาพปัญหา สถานะความรู้ และทางออก" มีการนำเสนอประเด็น ได้แก่ "มาตรการทางการคลังเพื่อคนยากจนและด้อยโอกาส" โดย ศ.ดร.ปราณี ทินกร คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม" โดย ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "การคลังท้องถิ่นกับสวัสดิการสังคม" โดย รศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "สวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ" โดย รศ.ดร.มัทนา พนานิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "นโยบายสังคมและสวัสดิการสังคม" รศ.ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุล คณะสังคมสังเคราะห์ศาสตร์ มธ., "องค์กรการเงินชุมชน" โดย คุณภีม ภคเมธาวี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

 

ทั้งหมดนี้ "ประชาไท" จะทยอยนำเสนอ โปรดติดตาม

 

 

"เมื่อพูดถึงเรื่องคนจน คิดถึงใคร? อยู่ที่ไหน? เค้าทำอะไรอยู่? เป็นคนแก่? เด็ก? คนเร่ร่อนไร้บ้าน? คนใต้สะพาน? คนเหล่านี้มาจากไหน? ยังชีพได้อย่างไร? ถ้าบอกว่าจนแล้วเอาข้าวมาจากไหน? ขอที่วัดหรือมีใคร? และสุดท้าย คนเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องจนตลอดไปหรือเปล่า?

 

รศ.ดร.นฤมล นิราทร นักวิชาการคณะสังคมศาสตร์ มธ. นำเสนอในเรื่อง "คนจนในชุมชนเมือง" ซึ่งนอกจากจะตั้งคำถามถึงปัจจัยที่ทำให้จนแล้ว อีกคำถามสำคัญคือ คนจนจำเป็นต้องจนตลอดไปหรือไม่? การนำเสนอของรศ.ดร.นฤมล ทิ้งท้ายแบบท้าทายว่า การที่เราจะแก้ปัญหาปากท้อง ปัญหาคุณภาพชีวิต หรือเรียกโดยรวมว่า "ระบบสร้างความมั่นคงขั้นพื้นฐาน" จำเป็นหรือไม่ที่เราต้องรอ "ระบบรัฐสวัสดิการ" มาคลี่คลายปัญหา หรือที่แท้แล้วเราควรนึกถึงมันในนามของ "โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม" (Social Safety Net)

 

 

0 0 0

 

 

"คนจนในชุมชนเมือง"

รศ.ดร.นฤมล นิราทร

คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ.

 

 

 

 

 

"คำว่า "สงเคราะห์" ทำให้คนมองเรื่องสวัสดิการผิดไปหรือเปล่า?"

 

พูดเรื่องสังคมสงเคราะห์ เรื่องนี้คงต้องเริ่มมองในมิติประวัติศาสตร์ ย้อนไปเมื่อ 50 ปีก่อนเกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ขณะนั้นแม้จะมี "ความจน" และ "คนจน" แต่ก็ไม่มีความแตกต่างระหว่างคนมากขนาดนี้ ดังนั้น การช่วยเหลือหรือบรรเทาความเดือนร้อนของคนที่ถูกคิดว่าลำบากจึงไม่เป็นระบบ และไม่ได้พูดถึงสวัสดิการว่าจะช่วยคนจนที่ถูกคิดว่าเขาอยู่ไม่ได้ ให้อยู่ได้ การแจก การให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้า จึงเป็นสิ่งที่สังคมไทยทำในขณะนั้น

 

เมื่อเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้กับสวัสดิการ จะเห็นได้ถึงความเชื่อมโยงของ "การสงเคราะห์" และความคิด "สวัสดิการ" ระบบสวัสดิการมีพัฒนาการเริ่มต้นจากแบบแรก พื้นฐานที่สุด คือ "การเก็บตก" คือ เป็นการสงเคราะห์ เป็นการให้ เมื่อเห็นว่าบุคคลไม่สามารถมีมาตรฐานการดำรงชีวิตแบบคนทั่วไปในสังคม ซึ่งทั้งในไทยและต่างประเทศ แม้แต่ยุโรป อเมริกา ก็มีการเริ่มต้นเช่นเดียวกันนี้

 

จากนั้น เมื่อเกิดพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ จากเดิมที่มองว่าการช่วยเหลือคนจนคือการให้แบบให้ทาน ก็เข้ามาสู่แนวคิดที่คนทุกคนมีความหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจ การให้แบบสังคมสงเคราะห์จึงเปลี่ยนไป เป็นการมองว่าแนวคิดเรื่องสวัสดิการเป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำให้ชาติให้คนมีคุณภาพอยู่ในสภาวะที่จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศได้

 

ผนวกเข้ากับแนวคิดเรื่องสิทธิ ตอนนี้เราพูดถึงสวัสดิการในเรื่องความเป็น "สิทธิ" แล้ว ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการ แม้แรงงานต่างด้าวไม่ใช่คนไทย แต่ทุกคนมีสิทธิที่ในฐานะที่เป็นมนุษย์ เมื่อเข้ามาในประเทศไทยก็สมควรได้รับสวัสดิการเช่นกัน แต่จะให้หรือไม่ให้นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยกตัวอย่างแรงงานพม่าที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย เมื่อท้องจะต้องกลับไปคลอดลูกในพม่า คลอดลูกในเมืองไทยไม่ได้ เพราะไม่ต้องการให้เค้าอยู่ที่นี่ จริงๆ แล้วเค้ามีสิทธิคลอดลูกในเมืองไทย แต่รัฐบาลไทยบอกว่าไม่ต้องการให้แรงงานพม่าคลอดลูกในประเทศไทย

 

ในเรื่อง "คนจนในเมือง" ขอเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า อย่างไรเรียกว่าจน ไม่มีคำตอบ แต่คำถามจะเป็นโครง (Out line) ของเรื่องที่จะพูด

 

"คนจนชนบท" กับ "คนจนในเมือง" ต่างกันไหม ต่างกันอย่างไร เมื่อพูดถึงเรื่องคนจนในชุมชนชนบท คิดถึงใคร? คิดถึงอะไร? คนจนในชุมชนเมืองเป็นใคร? อยู่ที่ไหน? และเค้าทำอะไรอยู่? มีลักษณะอย่างไร? เป็นคนแก่? เด็ก? คนเร่ร่อนไร้บ้าน? คนใต้สะพาน? คนเหล่านี้มาจากไหน? เป็นคนกรุงเทพเท่าไหร่? มาจากต่างจังหวัดเท่าไหร่? แล้วคนเหล่านี้ทำอะไรอยู่? ยังชีพได้อย่างไร? ถ้าบอกว่าจนแล้วเอาข้าวมาจากไหน? ขอที่วัดหรือมีใคร? มีเครือข่ายไหนเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ? และสุดท้าย คนเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องจนตลอดไปหรือเปล่า? จะมีโอกาสที่จะลืมตาอ้าปากหรือไม่? เงื่อนไขอะไรที่จะทำให้เค้าลืมตาอาปากได้ หรือเงื่อนไขอะไรที่จะทำให้เขาจนตลอดไป จากรุ่นสู่รุ่น

 

สิ่งที่จะพูดนี้ เป็นผลการทำงานวิจัย 3-4 ปีที่ผ่านมา ผนวกกับการทำงานร่วมกับองค์กรนานาชาติที่ทำงานกับคนที่ยากจนในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย เพราะฉะนั้นก็จะพยายามประมวลจากประสบการณ์ในการทำงานทั้งในทางวิชาการและในภาคสนาม โดยจะขอเล่าเป็นเรื่อง

 

เรื่องของคนในชุมชนสะพานพุทธ ชื่อเรื่องว่า "ครอบครัวสันติสุข" เป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีลูก 3 คน ในแต่ละครั้งที่แต่งงานก็มีลูก และเกิดการเลิกรากันไป ไม่มีอาชีพที่แน่นอน แต่คำว่าไม่มีอาชีพที่แน่นอนไม่ได้หมายความว่าไม่ทำงาน หรือไม่มีงานทำ แต่ในที่นี้คือมีงานทำไปเรื่อยๆ แบบรับจ้างรายวัน และไปรับจ้างร้อยพวงมาลัยขายแล้วก็สะสมทุนมาขายอาหารหน้าบ้าน ต่อมาสามีเลิกรากันไปก็เกิดความกระทบกระเทือนจิตใจ ทดท้อในชีวิตจนเลิกทำงานแล้วก็ไปขอข้าววัดกิน นี่คือชีวิตของผู้หญิงคนนี้

 

ในลักษณะนี้เราจะเห็นได้ว่าโอกาสที่จะลืมตาอ้าปากได้คงจะยาก ไม่ได้ถึงขั้นว่าจะอดตาย แต่ชีวิตก็จะไปอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วสุดท้ายลูกจะเป็นอย่างไร จากการศึกษาชีวิตของผู้หญิงคนนี้กว่า 4-5 ปี พบว่าสุดท้ายลูกชายก็เรียนหนังสือไม่จบ ไปเป็นเด็กท้ายรถสองแถว ส่วนลูกสาวก็ไปแต่งงานมีหลานกลับมาให้ยายเลี้ยง ที่เล่าเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่ามันคือคำตอบ แต่เล่าให้ฟังว่านี่คือความยากจนอันหนึ่งที่เราเจอ ในชุมชนสะพานพุทธใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี่เอง

 

อีกเรื่องหนึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง "หาบเร่" ความสำเร็จ และตัวบ่งชี้ ในปี 2546-2547 จากการตั้งคำถามว่าทำไมหาบเร่บางคนถึงอยู่ได้ แต่คนหาบเร่ขายของบางคนถึงต้องเลิกทำไป ก่อนหน้าที่จะมีงานนี้ราว 10 ปี ได้เข้าไปในชุมชนแล้วเกิดตั้งคำถามว่า คนที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือเป็นแรงงานนอกระบบในความหมายหนึ่งของอาจารย์วัชรียา (ผศ.ดร.วัชรียา โตสงวน คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.) ทำไมบางคนสามารถขยายการประกอบอาชีพได้ และทำไมบางคนทำไม่ได้

 

แม้คำตอบที่ได้จากการศึกษา ใน 10 ปีต่อมาจะไม่สามารถใช้อธิบายได้กับทุกคน แต่สิ่งที่พบคือ ลักษณะเฉพาะของคนที่จะสามารถขยายการประกอบอาชีพได้ และลักษณะเฉพาะของคนที่จะไม่มีการขยายอาชีพ ซึ่งมีปัจจัยหลายตัว เช่น หาเช้ากินคำ

 

กรณีของคนหาเช้ากินค่ำ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มจากการให้ประเมินตนเองและผู้ศึกษาร่วมประเมินด้วย คือ คนที่มองว่าตัวเองหาเช้ากินค่ำ คนที่มองว่าตัวเองมีเงินออม และคนที่มองว่าตัวเองสามารถขยายอาชีพได้

 

เมื่อถามกลุ่มเป้าหมายว่าทำไมถึงจน คำตอบที่เป็นปัจจัยหนึ่งคือ เรื่องครอบครัว กลุ่มคนที่ติดลบ มักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ มีภาระต้องเลี้ยงดูลูกหลาน โดยจะมีลักษณะบางอย่างร่วมกันที่มีความเชื่อมโยงกันอยู่กับกรณีตัวอย่างที่ชุมชนสะพานพุทธในเรื่องภาระที่มีในครอบครัว หากไม่มีการเข้าไปดูแลช่วยเหลือในการเสริมพลัง เขาก็จะอยู่อย่างนี้ ซึ่งกลุ่มนี้จะบอกเลยว่าครอบครัวไม่ได้ช่วยอะไร อีกทั้งไม่มีทุนทางสังคม ไม่มีเงิน ไม่มีเพื่อน และคนเหล่านี้มักขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่เชื่อว่าตัวเองจะสามารถทำอะไรได้ ซึ่ง "ความเชื่อมั่นในตัวเอง" เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

 

ขณะที่กลุ่มที่คิดว่าจะขยายอาชีพได้ จะรู้ได้โดย 1. มีทุนทางสังคม มีเครือข่ายเยอะ 2. มีความเชื่อมันในตัวเองสูงมาก 3. คนกลุ่มนี้มีการวางแผนทางการเงินที่ชัดเจน ยกตัวอย่ากรณีการจัดการทางการเงินของแม่ค้ากล้วยทอดซึ่งมาจากจังหวัดร้อยเอ็ดที่มีบัญชีออมทรัพย์ 5 เล่ม และสามารถบอกได้ว่าเงินในบัญชีแต่ละเล่มใช้ทำอะไร โดยใช้เวลาในกรุงเทพกว่า 10 ปี เพื่อจะเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่าง แต่ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เลื่อนฐานะได้ คือ มีครอบครัวที่ดีคอยให้การสนับสนุน และมีวิธีการในการจัดการครอบครัวที่ดี

 

การศึกษาเป็นเพียงการติดตามในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งหลังจากการศึกษา บางรายมีการเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตรที่สามารถดำรงสถานะของการเป็นผู้มีเงินออม และครอบครัวยังดีอยู่ ประเด็นหลักอยู่ที่ว่า ทุกอย่างไม่ได้อยู่กับที่ แต่มีพลวัตร และมีปัจจัยหลายตัวที่ทำให้คนเหล่านี้ดีขึ้นหรือเลวลง และน่าสนใจว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถดำรงปัจจัยเหล่านี้เอาไว้ได้ แน่นอนว่าจะไม่ใช่เฉพาะ ปัจจัยในเชิงโครงสร้างเท่านั้น แต่เป็นปัจจัยเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วย ซึ่งตรงนี้ยืนยันว่าคำตอบที่ได้ไม่ใช่คำตอบที่ Conservative แต่เป็นข้อสรุปจากกรณีตัวอย่างกรณีศึกษาของหาบเร่ร่วมร้อยรายทั้งชายและหญิง

 

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่กำลังทำอยู่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนจนในชุมชนเมือง โดยศึกษาเรื่อง "การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนเมือง" เน้นที่แรงงานนอกระบบ เศรษฐกิจนอกภาคทำการ พบว่า คนทั่วไปที่จะมีความความสามารถดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงได้ ต้องมีความมั่นคงในชีวิตถึงระดับหนึ่ง คือ มีที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนของลูกต้องได้รับการดูแล

 

จากการลงพื้นที่ในชุมชนที่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงตามโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งความจริงแล้วกว่าที่คนจะมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยได้นั้น ไม่ใช่ว่ารัฐบาลสร้างบ้านมั่นคงแล้วชาวบ้านจะมั่นคงทันที และพบว่ามีกระบวนการบางอย่างที่ทำให้ต้องหันมาตั้งคำถามกับกระบวนการทำงานกับคนจนในชุมชนเมือง หากเชื่อว่าความมั่นคงในที่อยู่อาศัยจะสามารถทำให้คนหลุดพ้นจากความยากจนได้ กระบวนการอะไรที่จะทำให้ฝันนั้นเป็นจริงได้จริงๆ คงไม่ใช่แค่การตั้งกลุ่มตั้งสหกรณ์ขึ้นมาให้คนในชุมชนจัดการกันเอง ซึ่งพบว่ามีคนจำนวนหนึ่งตกขอบ และกระบวนการตรงนั้นไม่สามารถทำให้คนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยได้อย่างแท้จริง

 

ถ้าคิดว่าการทำให้คนจนพ้นจากความยากจนได้ต้องมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ก็ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการในการทำงานเพื่อสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยด้วย คิดว่าต่อให้จนหรือไม่จนก็ต้องอาศัยกระบวนการในการปรับตัวต่อสิ่งใหม่ที่เข้ามา ต้องให้เวลาและให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วม รวมทั้งกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในการทำงาน

 

กับคำถามที่ว่า คนจนจำเป็นต้องจนตลอดไปหรือไม่ ซึ่งพูดไปแล้วส่วนหนึ่งในเรื่อง Enabling Factor และ Disabling Factor และจากการเข้าร่วมงานเสวนาของทีดีอาร์ไอ ที่ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการเสนอวิธีการ การแข่งขัน แจกจ่าย หรือสวัสดิการ ซึ่งจากวงมีการเสนอว่าประเทศไทยควรเป็นรัฐสวัสดิการ (Welfare State) ยกตรงนี้ขึ้นมาเพื่อให้มีการถกเถียงกันว่า เรามีการนิยาม คำว่า รัฐสวัสดิการไว้ว่าอย่างไร จริงๆ แล้วระบบที่สร้างความมั่นคงขั้นพื้นฐานนั้นจะสามารถเรียกว่ารัฐสวัสดิการได้หรือไม่ หรือควรเรียกว่าโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety net)

 

เรื่อง "รัฐสวัสดิการ" และเรื่อง "โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม" จะสามารถเป็นเรื่องเดียวกันได้หรือไม่? ขอทิ้งท้ายตรงนี้ไว้

 

 

 


รายงานอื่นๆ ที่น่าสนใจ :

วัชรียา โตสงวน: คนส่วนใหญ่ไร้สวัสดิการ! ไม่ใช่เรื่องต้อง"ช่วยเหลือ"แต่คือความบกพร่องที่ต้อง"แก้ไข"

กิริยา กุลกลการ : ทำไมไม่กระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นดูแล "แรงงานข้ามชาติ"

ปราณี ทินกร : ดู "ความจริงใจ" ของรัฐบาลได้จากงบประมาณที่ใช้ในการแก้ปัญหาของ "ประชาชน"

มัทนา พนานิรามัย : สังคมจะเตรียมตัวอย่างไรให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ได้อย่างมี "คุณภาพ" ?

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ : แรงงานนอกระบบก็มีบำนาญได้ : แนวทางสวัสดิการ "การออมพันธมิตร" รัฐ+ชุมชน

นภาพร อติวานิชพงศ์ : ชุมชนแรงงานเป็นโต้โผ แล้วรัฐสนับสนุน - ทางออกการจัดการสวัสดิการสังคม

 

 

ชมเทปบันทึกงาน เสวนา "ความยากจน แรงงาน และสวัสดิการ: โจทย์สำหรับรัฐและชุมชน"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท