บทความ ประภาส ปิ่นตบแต่ง : ลงคะแนนด้วย "ตีน" ของพวกเราดีกว่าไหม

ประภาส ปิ่นตบแต่ง

 

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับร่าง พ.ร.บ.จำนวน 40 ฉบับในการประชุมเพียง 2 วัน คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธ์ (หนังสือพิมพ์มติชน) คำนวณให้เห็นว่า พวกเขาพิจารณากฎหมายแต่ละฉบับด้วยเวลาเฉลี่ยราว 12 นาที

 

น่าแปลกว่า เหตุใดรัฐบาลชั่วคราวจึงเร่งออกกฎหมายแบบไม่ลืมหูลืมตา ทั้งๆ ที่เหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคมแล้ว คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ยังแถลงว่า หลังการเลือกตั้ง สนช.ก็จะยังพิจารณาออกกฎหมายต่อไป

 

กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาก็มักจะเร่งรีบพิจารณารวบเอาวาระ 2-3 ในวันเดียวกัน และที่สำคัญการลงมติก็มีสมาชิกครั้งละแทบไม่ถึง 100 คน จากสมาชิกทั้งหมด 250 คน (ลาออกไปเลือกตั้ง 7 คน)

 

กฎหมายสำคัญๆ จำนวนมากได้ผ่านสนช.ไปโดยที่ผู้คนในสังคมไม่ได้รับรู้ ไม่ได้ถกเถียง ทั้งๆ ที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน ไม่มีใครติดตาม เพราะผู้คนกำลังอยู่ในบรรยากาศที่ถูกทำให้หลงใหลได้ปลื้มกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการเลือกตั้ง

 

พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายปกครองท้องที่ 2457 ได้ผ่านฉลุยเรียบร้อยโรงเรียนมหาดไทยไปแล้ว ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ถูกเขียนให้เป็นลูกน้องของนายอำเภอ คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ถูกเขียนให้เป็นกลไกในการจัดทำแผนในระดับหมู่บ้าน แต่ให้มหาดไทยออกระบบในการกำหนดคุณสมบัติกลุ่มองค์กร และผู้ทรงคุณวุฒิ

 

เรื่องเหล่านี้ ไม่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันเลยว่า จะส่งผลต่อการกระจายอำนาจ และประชาธิปไตยในระดับชุมชนอย่างไรบ้าง

 

พ.ร.บ.ป่าชุมชนก็ผ่านไปในลักษณะรวบรัดแบบเดียวกัน แต่พี่น้องเครือข่ายป่าชุมชน นักพัฒนา และนักวิชาการ ที่เคยร่วมผลักดันกันมายาวนานได้ออกมาแถลงข่าวคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ และกำลังจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดกับบทบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนหรือไม่

 

ผู้คนได้ร่วมกันผลักดันให้มีบทบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชน จนได้รับการบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66 และ 67 แต่กฎหมายฉบับนี้กลับสร้างเงื่อนไขตัดสิทธิ์ชาวบ้านอยู่นอกป่าอนุรักษ์ไม่ให้จัดการป่าชุมชน ซึ่งเท่ากับกฎหมายฉบับนี้จะไม่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน เพราะชุมชนส่วนใหญ่จะตั้งอยู่นอกป่าอนุรักษ์ แต่มีป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์

 

นอกจากนี้ ยังขยายเวลาในการรับรองชุมชนที่จะจัดการป่าชุมชนได้ ต้องมีการจัดตั้งป่าชุมชนมาก่อนการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างน้อย 10 ปี (ร่างเดิมๆ ที่ผ่านมากำหนดไว้เพียง 5 ปี)

 

นี่ก็เป็นตัวอย่างของกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ที่แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นประโยชน์แก่ชาวบ้าน แต่ก็ถูกปิดประตูตีแมว ผ่านการพิจารณาโดย สนช. ที่แก้ไข บิดเบี้ยวไปจากขั้นกรรมาธิการ จนทำให้เป็นปัญหาต่อชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่า

 

เรื่องนี้ควรเป็นบทเรียนของ สนช. ฝ่ายก้าวหน้าบางท่าน ซึ่งมักจะเชื่อในช่องทางความสัมพันธ์ส่วนตัว ความรู้จักมักคุ้นกับท่านนายพลบางคน แต่กลับสร้างเวรกรรมให้กับชาวบ้านเอาไว้เช่นนี้

 

กฎหมายเชิงบวกต่อประชาชนยังเกิดปัญหาถึงเพียงนี้ แล้วกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนที่เร่งผลักดันกันจำนวนมากในขณะนี้ จะเป็นอย่างไรบ้าง

 

เราอาจจะเห็นร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับทรัพยากร กฎหมายเรื่องการทดลองพืชจีเอ็มโอ ร่างพ.ร.บ.แปรสภาพรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ถูกลักไก่พิจารณาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และลงมติรวบรัด 2 วาระรวด โดยสังคมไม่มีส่วนร่วมตรวจสอบ

 

เหตุใดจึงไม่รอให้กฎหมายที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนวงกว้างในสังคมได้รับการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะไม่ว่าผู้แทนฯ จะ เป็นอย่างไรก็ตาม แต่กระบวนการพิจารณากฎหมายเช่นนั้นจะเปิดให้เกิดการถกเถียงกันกว้างขวางทั้งในสภา และบรรยากาศที่สื่อสารมวลชนไม่ได้ก้มหน้าก้มตาทำกันแต่ข่าวเลือกตั้งเช่นนี้

 

ใครและทำอย่างไรจะหยุดพวกเขาไม่ให้พิจารณากฎหมายเหล่านี้

 

หัวหน้าบางพรรคอุ้มไก่ชนพระนเรศวรโดยทำท่าเหมือนจะรบราฆ่าฟันกับพวกทหารพม่า บางคนรำดาบออกศึกเหมือนชาวบ้านบางระจัน ฯลฯ

 

บรรดานักและพรรคการเมืองต่างๆ สนใจแต่จะกู้ชาติกู้แผ่นดิน พวกเขาจึงล้วนประดิดประดอยชื่อพรรคออกมาในทำนองนี้ "เพื่อแผ่นดิน" "ประชาราช" (แปลว่า ประชาชนของพระราชา) "รวมใจไทยฯ" ฯลฯ

 

พรรคการเมืองและการเลือกตั้งจึงไม่ใช่คำตอบสำหรับประชาชนมากนัก นโยบายของแต่ละพรรคล้วนเป็นประชานิยมจอมปลอม นโยบายหาเสียงจะกลายมาเป็นนโยบายของรัฐบาลใหม่จะมีความสำคัญน้อยมาก หากกฎหมายเหล่านี้ถูกผลักออกมา

 

เมื่อเร็วๆ มานี้ เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ประชุมกันและมีข้อสรุปร่วมกันว่า จะไปชุมนุมปิดประตูรัฐสภา เพื่อให้ สนช. หยุดพิจารณากฎหมาย (โดยนัดหมายกันหลังพระราชพิธีสำคัญ)

 

ไม่รู้ว่าปิดล้อม สนช. ครั้งนี้จะประสบผลมากน้อยแค่ไหน แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้อาจจะสำคัญกว่าการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคณะกู้ชาติ กู้แผ่นดินที่กำลังหาเสียงกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งดูเหมือนจะไม่ได้มีคำตอบอะไรให้ผู้คนในสังคมมากนัก

 

เมื่อคราวร่างรัฐธรรมนูญ พี่น้องสมัชชาคนจนบอกว่า ต้องเขียนรัฐธรรมนูญด้วย "ตีน" พวกเขาให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญน้อยกว่าการเดินขบวน ประท้วงเพื่อกดดันให้รัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารแก้ปัญหา และรักษาพื้นที่การเมืองเอาไว้

 

ประสบการณ์ของพี่น้องคนจนเหล่านี้ อาจให้บทเรียนแก่เราว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้สำคัญน้อยกว่าการหยุดยั้งกฎหมายเหล่านี้

 

การลงคะแนนด้วยการเอา "ตีน" จำนวนมากๆ ของพวกเราเพื่อปิดล้อม สนช. ร่วมกับเครือข่าย องค์กรภาคประชาชนที่ได้นัดหมายกันไว้ จึงน่าจะสำคัญกว่า การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคมนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท