Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 8-9 ธ.ค. 50 มีการอภิปรายเรื่อง "ภาพรวมสถานการณ์มนุษยชนในรอบปี" ในงานสัมมนา "ทิศทางสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย" เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล ปี 2550 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรพันธมิตรด้านสิทธิมนุษยชน กว่า 31 องค์กร ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ


 


 


กฎหมายละเมิดสิทธิ ผลิตผลจาก 19 ก.ย. 49


นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวในด้านกฎหมายกับกระบวนการยุติธรรมที่ส่งผลต่อสิทธิมนุษยชนว่า แท้จริงแล้วสำหรับคนไทยสิทธิมนุษยชนเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2475 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการรับรองสิทธิของพลเมืองไทยให้เข้ามามีบทบาทและมีอำนาจในการกำหนดชีวิตตัวเอง และในรอบปีที่ผ่านมา ผลพวงจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 ทำให้มีการออกกฎหมายที่อาจเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในอนาคต โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นข้าราชการแต่สถาปนาตัวเองเป็นตัวแทนประชาชน


 


กฎหมายฉบับแรกที่นายไพโรจน์ยกตัวอย่างถึงคือ ร่างพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ที่มีสาระสำคัญ คือ การสถาปนาให้ทหารในนามกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยอีกครั้ง ในฐานะผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยและรักษาความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีบทบาทและอำนาจสามารถเข้าไปแทนที่หน่วยงานราชการได้ทั้งหมด รวมทั้งสามารถออกกฎระเบียบที่จะละเมิดสิทธิประชาชนได้โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากสถาบันตุลาการ


 


นายไพโรจน์กล่าวถึงสิ่งที่น่าเป็นห่วงว่า จากที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้กำหนดทิศทางการมีส่วนร่วมของประชาชนและขยายสิทธิเสรีภาพค่อนข้างสูง แต่การมีส่วนร่วมนี้อาจถูกตีความเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐบาลได้ และ พ.ร.บ.นี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลชุดต่อๆ ไปในอนาคตเพื่อจัดการความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคม ดังที่เกิดขึ้นกับการปราบปรามคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกรณีคอมมิวนิสต์ในอดีต


 


"กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อสิทธิเสรีภาพ เป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อหลักนิติธรรม ใช้อำนาจโดยฝ่ายบริหารโดยไม่ต้องตรวจสอบ และเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน" นายไพโรจน์กล่าว


 


นายไพโรจน์กล่าวต่อว่า สิทธิในการพัฒนาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่รัฐธรรมนูญปี 2550 พยายามให้การรับรอง ในการมีส่วนร่วมตรวจสอบการพัฒนา แผน กิจกรรม หรือโครงการของรัฐที่จะเข้ามามีผลกระทบต่อชุมชนของประชาชน และมีความพยายามขยายความไปถึงการจัดทำแผนพัฒนาสังคมและการวางแผนการทำผังเมือง แต่เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา สนช.ได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน โดยถ่ายโอนสิทธิในการวางแผนพัฒนาท้องถิ่นจากองค์กรปกครองในท้องถิ่นมาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นแกนกลางในการทำแผนพัฒนาระดับจังหวัด


 


นอกจากนี้ในระดับชุมชน ตำบล มีการแก้กฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องถิ่นกำหนดให้ตั้งกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และองค์กรในหมู่บ้านที่มหาดไทยกำหนด ทำหน้าที่บูรณาการแผนพัฒนาหมู่บ้าน ให้ขึ้นต่ออำเภอ และขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจากเดิมที่ความพยายามถ่ายโอนอำนาจจากราชการส่วนภูมิภาคสู่ประชาชนในระดับท้องถิ่น แต่รัฐธรรมนูญ 2550 กลับคืนอำนาจสู่ราชการ ให้มีการแบ่งอำนาจและงบประมาณเป็น "ส่วนภูมิภาค ส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น" จึงถือเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิในการพัฒนา โดยการรวบอำนาจของกระทรวงมหาดไทยภายใต้การพัฒนา "ส่วนภูมิภาค" ผ่านกลไกของกฎหมาย


 


ด้านสิทธิในการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายไพโรจน์กล่าวถึงกฎหมาย 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งเป็นการต่อสู้อันยาวนานมากว่า 15 ปี และล่ารายชื่อกว่า 5 หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายป่าชุมชน แต่เมื่อมีการออกกฎหมายกลับไม่รับรองให้ชุมชนที่อยู่โดยรอบป่าอนุรักษ์จัดการป่าทั้งที่เดิมมีการจัดการอยู่ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 1,000 แห่ง สองเรื่องที่ดิน โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ปรับปรุงกฎหมายของตนเอง ให้อำนาจเบ็ดเสร็จในการโยกย้ายชุมชนได้เลยใน 2 กรณีคือ ในชุมชนที่เสี่ยงต่อภัยดินถล่ม และในชุมชนที่มีกระบวนการผลิตอันก่อให้เกิดมลพิษ ทั้งที่เดิมมีหน้าที่ในทางวิชาการและการดูแลคุณภาพดินเป็นหลัก


 


สุดท้ายกฎหมายการแปรรูปและนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งนายไพโรจน์กล่าวว่า เป็นภัยระยะยาวต่อสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา แม้ว่ามีนักวิชาการออกมาให้เหตุผลที่มหาวิทยาลัยจะมีอิสระสามารถจัดการตัวเองได้ดีขึ้น แต่การที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะส่งผลกระทบในเรื่องค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้น และการเลือกเปิดสอนเฉพาะสาขาที่ทำเงินให้มหาวิทยาลัยได้มากเท่านั้น


 


นอกจากนี้นายไพโรจน์ กล่าวถึงกฎหมายที่เป็นเชิงบวกไว้ 3 ฉบับคือ กฎหมายคุ้มครองสิทธิคนพิการ กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว และกฎหมายการห้ามค้ามนุษย์ ส่วนในด้านกระบวนการยุติธรรมนั้น นายไพโรจน์กล่าวว่า ตามขนบของการพิจารณากฎหมายตามลายลักษณ์อักษร เมื่อกฎหมายมีการละเมิดตั้งแต่ต้น กระบวนการพิจารณาก็จะเป็นไปตามนั้น


 


"ผลผลิตของการรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย.ได้สร้างอาณาจักรให้ราชการมีบทบาท มีอำนาจเพิ่มขึ้น โดยกฎหมายไม่กี่ฉบับ ซึ่งเป็นการลดทอนอำนาจของประชาชนไปโดยอัตโนมัติ เมื่อถามถึงทางออกของเรา คือ เราจะไม่ยอมจำนนต่อมัน เพราะฉะนั้นในวันที่ 12 นี้เราจะไปปิดสภาเพื่อให้ สนช. หยุดออกกฎหมาย ณ บัดนี้" นายไพโรจน์กล่าวสรุปโดยเชิญชวนผู้ร่วมฟังการอภิปรายร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านการทำหน้าที่ของ สนช.


 


 


ประชาธิปไตยกับการมีส่วนร่วม เมื่อการขัดขวางการมีส่วนร่วมยังคงอยู่


นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงเรื่องประชาธิปไตยกับการมีส่วนร่วมในสถานการณ์ปัจจุบันโดยเริ่มต้นด้วยคำถามเกี่ยวกับความคิดในการเป็นเจ้าของชาติและกล่าวว่า การยื้อเพื่อการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของชาติของประชาชนนี้เองทำให้ต้องเกิดการสูญเสียชีวิต และเลือดเนื้อ การมีส่วนร่วมไม่ใช่สิ่งที่ได้มาเปล่าๆ ในเมื่อข้าราชการ ทุน และอำมาตยาธิปไตย ยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของชาติอยู่ อีกทั้งพยายามจะขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด ในทุกวิถีทาง


 


ตามความคิดของนายพิภพ ไม่ว่าในรัฐบาลสุรยุทธ์ รัฐบาลทักษิณ หรือรัฐบาลชวน ในเรื่องการมีส่วนร่วมรัฐบาลทุกสมัยคลายคลึงกัน เพราะต่างก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ อีกทั้งยังพยายามทำให้ประชาชนคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของประเทศ การเปิดช่องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมที่ผ่านมาเป็นการทำอย่างขอไปที ยกตัวอย่างการเซ็นต์สัญญากับอาเซียนล่าสุดที่มีการให้จัดทำประชาพิจารณ์เพียงเพื่อให้ผ่านตามข้อบัญญัติของกฎหมายแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลใดๆ ให้ประชาชนได้รับรู้


 


นายพิภพกล่าวแสดงความคิดเห็นว่าในการมีส่วนร่วม สิ่งมีความสำคัญมากกว่ากฎหมายคือวิธีคิดของคนที่มีอำนาจในสังคม ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางในเมือง กลุ่มทุน อำมาตยาธิปไตย หรือขุนนางศักดินา ซึ่งไม่เคยคิดถึงการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง แม้ต่อมาจะมีรัฐธรรมนูญที่ระบุถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยวิธีการต่างๆ แต่วิธีคิดอันส่งผลไปถึงการปฏิบัติของชนชั้นปกครองก็ยังคงเดิม ดังนั้นจึงต้องมีการต่อสู้เพื่อให้คนเหล่านี้เปลี่ยนความคิด โดยทำให้รู้ว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของผืนแผ่นดินร่วมกับพวกเขา


 


"เพราะการสู้เท่านั้นที่จะทำให้คนเหล่านี้เปลี่ยนความคิด ไม่มีคำว่าวินวิน ต้องสู้เพื่อให้เอาชนะให้ได้" นายพิภพกล่าว


 


ตามความคิดของนายพิภพเรื่องการมีส่วนร่วมต้องตีความอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าการมีสวนร่วมในแผ่นดิน การมีส่วนร่วมในที่สาธารณะ การมีส่วนร่วมในการถือครองทรัพย์สินและอีกมากมาย ที่ต้องมีการต่อสู้กันอยู่ในปัจจุบัน


 


ในกรณีการมีส่วนร่วมในที่ดินนายพิภพกล่าวว่า ที่ดินในประเทศไทยทั้งประเทศกว่า 320 ล้านไร่ แบ่งเป็นป่าเขา 25 เปอร์เซ็นต์ เหลือทีดินอีกกว่า 240 ล้านไร่ คำนวณแล้วคนไทย 60 ล้านคนจะมีที่ดินคนละ 4 ไร่ แต่ในความเป็นจริงประชาชนบางกลุ่มกลับไม่มีที่ดินในขณะที่คนบางกลุ่มมีที่ดินนับหมื่นไร่ หากตีความหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วแล้ว 24 มิ.ย.2475 แผ่นดินควรเป็นของประชาชนตามหลักประชาธิปไตยของคณะราษฎรไม่ใช่เป็นขององค์ระมหากษัตริย์ตามระบอบราชาธิปไตยอีกต่อไป ฉะนั้นจึงจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในผืนแผ่นดิน ที่อยู่อาศัย มีสวนร่วมในการถือครองทรัพย์สินและการมีส่วนร่วมในสิ่งต่างๆ อีกมากมาย


 


แต่สถานการณ์ในขณะนี้เพียงแค่การมีส่วนร่วมตัดสินใจในโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐและกลุ่มทุนที่จะเข้าไปในพื้นที่รัฐยังไม่ยินยอม อีกทั้งอย่าไปหวังว่าทหารที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะมาช่วยเหลือประชาชน จากตัวอย่างใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีการย้ายการประกาศกฎอัยการศึกแถบตะเข็บชายแดนมาอยู่ในพื้นที่ที่มีการต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกับโรงงานถลุงเหล็กเครือสหวิริยาและโรงไฟฟ้า แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการความต้องการจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่โดยใช้กฎอัยการศึก ซึ่งผลปะโยชน์ที่ได้ตกอยู่กับบริษัทเอกชนอย่างเห็นได้ชัด


 


นอกจากนี้ นายพิภพได้กล่าวถึงสิ่งที่ขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกอันหนึ่ง คือกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ ศาล ซึ่งตีความการมีส่วนร่วมของประชาชนว่าเป็นการขัดขวางการพัฒนา ถ่วงความเจริญ และรับเงินต่างชาติมาเพื่อสร้างปัญหา เพราะฉะนั้นกระบวนการขัดขวางการมีส่วนรวมจึงเป็นกระบวนการทางความคิด ซึ่งไม่ว่าจะมีการออกกฎหมายรัฐธรรมนูญออกมาดีอย่างไร แต่การต่อสู้ก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป เพราะสุดท้ายเมื่อกระบวนการยุติธรรมเป็นเช่นนี้แล้วใครจะเป็นผู้ตัดสินการมีส่วนร่วมของประชาชน


 


ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหา นายพิภพ กล่าวว่าต้องเริ่มต้นทัศนคติในครอบครัว ที่จะสอนในเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม มาถึงโรงเรียนทีจะช่วยสร้างทัศนคติว่าการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่จำเป็น เช่นการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งกับครู และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ต้องเป็นผู้ถามว่าโครงสร้างการเรียนการสอนของโรงเรียนละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า แต่หากการแก้จากหน่วยเล็กๆ อย่างครอบครัวและโรงเรียนทำไดยาก ก็ต้องทำในหน่วยใหญ่คือทำให้การครอบงำทางความคิด และวัฒนธรรมของรัฐโดยผ่านกระทรวงศึกษาธิการต้องยุติ


 


สุดท้าย การมีส่วนร่วมหลังจากการเลือกตั้ง นายพิภพกล่าวว่าอยากจะเห็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งชูนโยบายวาระประชาชน ที่ว่าประชาชนต้องมาก่อน ในฐานะที่เป็นพรรคที่ขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด ทำลายทรัพยากรมากที่สุด ในรัฐบาล 3 ยุคที่พูดมาขั้นต้น รองลงมาคือพรรคพลังประชาชน อุปสรรคของกระบวนการมีส่วนร่วมนั่นคือ วิธีคิดและวัฒนธรรมของคนที่อยู่ในอำนาจรัฐ อำนาจทุน อำนาจตุลาการ หากเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ก็การมีส่วนร่วมก็ต้องต่อสู้กันต่อไป


 


"แม้ปัจจุบันตำรวจ อัยการ ศาล จะมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างพอสมควร ข้าราชการได้เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร แต่โครงสร้างใหญ่ที่มีก็ยังขัดขวางกระบวนการการมีส่วนร่วมอยู่" นายพิภพจบ โดยการกล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน


 


 


สิทธิชุมชนที่รัฐวางเฉยต่อประชาชน


นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวถึงสถานการณ์สิทธิชุมชนในรอบปีว่า สิทธิชุมชนเป็นเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ ไม่ใช่เพียงเรื่องฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า แร่ แต่รวมถึงการวางผังเมือง ที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และการตัดสินใจในทุกส่วน แต่ปัญหาใหญ่เรื่องสิทธิมนุษยชนคือการกระจายอำนาจเพื่อให้ชุมชนตัดสินใจในเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อพวกเขาในแต่ละมิติ เพราะไม่ได้ให้อำนาจประชาชนในการตัดสินใจด้วยตนเอง


 


ความเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาสิทธิมนุษยชนรอบปีนี้ยังคงเป็นเหมือนรอบปีก่อน จากรัฐธรรมนูญปี 40 จนมีรัฐธรรมนูญปี 50 ที่มีการพูดเรื่องสิทธิชุมชนโดยให้มีการกระจายอำนาจอย่างเต็มที่ ต้องให้ข้อมูลข่าสารก่อนการตัดสินใจ ต้องมีกระบวนการประชาพิจารณ์ มีกรรมการที่เป็นกลางในการรับฟังความคิดเห็น แต่วันนี้กระบวนการต่างๆ ยังคงเป็นเหมือนเดิม คือ เมื่อมีกระบวนการพัฒนาในโครงการใดๆ ก็ตามประชาชนยังคงเป็นเพียงผู้ตัดสินใจเล็กๆ ยังคงไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน หน่วยงานรัฐไม่เคยถามว่าประชาชนค้านเพราะอะไร ไม่เคยมีการลงไปดูพื้นที่จริง ซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ดังนั้นจึงนำมาซึ่งความขัดแย้งต่อชุมชนจำนวนมหาศาล มีการอพยพชุมชนด้วยโครงการรัฐ และปัจจุบันนโยบายของรัฐก็ยังชูทิศทางการพัฒนาเช่นเดิมทั้งหมด


 


นางสุนีกล่าวต่อมาถึงปัญหาใหญ่ซึ่งทำให้สถานการณ์สิทธิชุมชนย่ำเท้าอยู่กับที่ว่า คือการที่ "รัฐวางเฉย" เมื่อประชาชนลุกขึ้นมาคัดค้านไม่ว่าในโครงการใหญ่น้อย รัฐจะวางเฉยต่อการเรียกร้องของประชาชน ปล่อยปัญหาให้บานปลาย และปล่อยให้กลุ่มทุนทำร้ายประชาชน นอกจากนี้รัฐยังซ้ำเติมประชาชนที่ลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนของพวกเขา โดยการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ที่ไม่เคยประกาศมาก่อน ยกตัวอย่างการลงพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขณะที่ประชาชนต้องการให้รัฐช่วยแก้ปัญหาแต่รัฐกลับอ้างกฎหมายที่ไม่อิงกับรัฐธรรมนูญเพื่อการข่มขู่คุกคามประชาชน


 


สิทธิชุมชนกับการกระจายอำนาจ เชื่อมร้อยไปถึงสวัสดิการสังคมโดยการจัดการของชุมชนที่เข้มแข็ง และกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นช่องทางของการละเมิดสิทธิชุมชนโดยรัฐและกลุ่มทุนซ้ำแล้วซ้ำอีก ประชาชนที่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิถูกจับกุม คุมขัง ดำเนินคดี เช่นปัญหาการปุรุกป่า ซึ่งรัฐไม่แก้กัญหาเรื่องที่ดินหรือเรื่องเขตพื้นที่ป่าแต่กลับใช้การตั้งข้อหาดำเนินคดี และให้ประกันตัวในวงเงินที่สูงมาก อีกทั้งกระบวนการในการสืบหาผู้กระทำผิดในการทำร้ายทำลายประชาชนก็ถูกทำให้ล่าช้าและนิ่งเฉย ดังเช่นกรณีการสูญเสียนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจำนวนมากที่ยังจับผู้กระทำทำผิดไม่ได้


 


นางสุนีกล่าวถึงการสรุปบทเรียนที่ได้จากการต่อสู้ 10 ปีที่ผ่านมาว่า สิทธิชุมชนและการกระจายอำนาจให้ชุมชนเข้มแข็งและจัดการตัวเองได้ ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งกับแรงงาน คนเมือง คนชนบท ดิน น้ำ ป่า แร่ ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้จำเป็นต้องมีการพิทักษ์ และทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นจริง ซึ่งถึงเวลาแล้วที่จะมีการก้าวต่อไปด้วยการจัดการแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม จัดการกับกระบวนการที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ


 


"ปัญหาสำคัญที่จะต้องพูดกันคือทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของบ้านเรา ซึ่งเป็นผลจากกระบวนการส่งเสริมทุนนิยมใหญ่จากต่างชาติ และเป็นที่มาทั้งหลายทั้งปวง ดังนั้นเราจะไม่สามารถแก้ให้สิทธิชุมชนของเราให้เติบโตได้เลย เมื่อวันนี้ยังจะต้องผลักดันต่อสู้กับนโยบายของรัฐ และประชาชนเองก็จะต้องวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่าต้องเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นสิทธิชุมชนที่เข้มแข็งของเราจะสามารถเกิดขึ้นได้ ต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและมีเสรีภาพในการชุมนุมร่วมด้วย" นางสุนี กล่าว


 


 


การเลือกปฏิบัติ ยาพิษที่มีอยู่ทุกหย่อมหญ้า


นางเรืองรวี พิชัยกุล เกตุผล ผู้จัดการโครงการอาวุโส มูลนิธิอาเซีย กล่าวในหัวข้อของการเลือกปฏิบัติโดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจว่า การเลือกปฏิบัติเป็นการให้ความหมายในความเหมือนและความแตกต่าง โดยการทำให้เรื่องที่เหมือนเป็นเรื่องที่ต่าง ปฏิบัติต่อบุคคลอย่างแตกต่างโดยหวังผลประโยชน์ เช่น การถูกเลือกปฏิบัติเมื่อเป็นคนจน เมื่อเป็นชนกลุ่มน้อย ทำให้ต่าง ทำให้รู้สึกตกต่ำ เข้าถึงอะไรไม่ได้ แล้วใช้ความแตกแยกของความแตกต่างสร้างประโยชน์ และการทำให้เรื่องที่ต่างเป็นเรื่องที่เหมือนจนทำให้คนที่อ่อนแอต่อสู้ไม่ได้ต้องเสียเปรียบ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดอันนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิและละเมิดความเป็นมนุษย์


 


นางเรืองรวีกล่าวถึงการเลือกปฏิบัติในกลุ่มกฎหมายและนโยบาย ว่าการออกกฎหมายเพื่อพวกพ้องและผลประโยชน์ของตนคือการเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่ง เช่น การที่เจ้าหน้าที่รัฐเลือกช่วยเหลือบางกลุ่มและละเลยในบางกลุ่มทั้งที่ทุกคนเป็นคนเหมือนกันควรได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน ซึ่งในขณะนี้การเลือกปฏิบัติโดยใช้กฎหมายและนโยบายจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมความเชื่อได้สร้างความแตกแยกในสังคมจนไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อใดจึงจะเยียวยาได้ ยกตัวอย่างกรณีสามจังหวัดภาคใต้ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีที่การเลือกปฏิบัติรุนแรงที่สุดในสังคมไทย จากเหตุการณ์ที่ประชาชนในพื้นที่ถูกจับโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา ไม่แจ้งสถานที่คุมขัง ในกระบวนการยุติธรรมที่มีกฎหมายที่ต้องเคารพอย่างเท่าเทียมกันแต่คนกลุ่มหนึ่งกลับถูกเลือกปฏิบัติเช่นนี้ถือเป็นความเจ็บปวดอย่างหนึ่ง


 


นางเรืองรวีกล่าวต่อมาว่า วัฒนธรรมของไทยมักสอนให้มีการสมยอมในบางเรื่อง โดยยกตัวอย่างการอยู่ในระบอบอำมาตยาธิปไตยซึ่งเรากำลังสมยอมอยู่ในระบอบนี้ มีใครกล้าไหมที่จะลุกขึ้นมาท้าทาย รวมทั้งการยอมไม่เป็นคนช่างร้องเรียน ไม่ต่อสู้เรียกร้องในสิทธิที่ไม่เป็นธรรม เพราะกลัวการตีตราอย่างมีอคติว่าเป็นคนหัวหมอ เป็นพวกชอบต่อต้าน ชอบก่อกวน ชอบมีเรื่อง เป็นไอ้พวกชอบมีม็อบ ซึ่งการตีตรานี้เป็นกระบวนการที่ยิ่งใหญ่มากโดยผ่านสื่อและผ่านคำสั่งต่างๆ มากมาย ดังนั้นจึงต้องมีความตระหนักและเท่าทัน


 


นอกจากนี้นักต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานหนักเพื่อสังคม ต้องมีคนเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อที่จะฝากความหวัง เมื่อการเลือกปฏิบัตินั้นเป็นเหมือนยาพิษ เป็นยาดำที่มีอยู่ทุกหย่อมหญ้า วันไหนที่ต้องการให้เกิดความแตกต่างก็ยกข้ออ้างได้ตลอดเวลา ไม่ว่าเหตุผลการเป็นเด็ก เป็นผู้หญิง ตัวอย่างในกรณีการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงที่ยังคงมีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งมีการต่อสู้ในเรื่องมาเป็นเวลานาน สังเกตได้จากการส่งผู้สมัครหญิงลงแข่งขันในสนามการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีอยู่น้อยมากทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้แล้วในมาตรา 97 วรรค 2 ให้คำนึงถึงการมีสัดส่วนของผู้หญิงในสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แต่ในความเป็นจริงการคำนึงถึงในส่วนนี้ของพรรคการเมืองมีอยู่ไม่มากนัก


 


ด้านแนวคิดในการเลือกปฏิบัตินางเรืองรวีกล่าวว่ามี 2 รูปแบบคือ หนึ่ง การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม คือ เหมือนแต่ปฏิบัติให้ต่างหรือ มีความต่างแต่บังคับให้เหมือน สอง คือ การเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือคนที่อ่อนแอในสังคม คำนึงถึงความแตกต่างเพื่อการปฏิบัติที่พิเศษ ซึ่งคำตอบของการเลือกปฏิบัติทั้ง 2 รูปแบบคือความเสมอภาคที่จะเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ


 


"กรณีตากใบ คนที่ทำร้ายพวกเขาต้องได้รับการลงทาเหมือนคนทำผิดทั่วๆ ไป" นางเรืองรวีกล่าวทิ้งท้ายการแสดงความคิดเห็น


 


 


รัฐสวัสดิการต้องมาจากการเก็บภาษีที่เป็นธรรม


นายจอน อึ้งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวถึงคำว่าสวัสดิการว่าทำให้นึกถึงการให้แบบสะเปะสะปะของรัฐบาล ดังนั้นจึงขอใช้คำว่ารัฐสวัสดิการ โดยให้คำอธิบายว่าเป็นสิทธิของประชาชน ซึ่งรวมสิทธิมนุษยชนเกือบทุกด้านเอาไว้ อีกทั้งมีคุณสมบัติที่ครบวงจรตั้งแต่เกิดจนตาย ครอบคลุมการศึกษา สุขภาพ การประกันการมีงานทำ ประกันรายได้ สิทธิในที่อยู่อาศัย การแบ่งสรรที่ดิน การช่วยเหลือคนที่มีปัญหาการดำรงชีวิตในบางด้าน เช่น หญิงที่ถูกสามีละทิ้ง คนทุพลภาพ รัฐสวัสดิการต้องเติมให้เต็มโดยชดเชยในสิ่งที่ขาดหายไป


 


"สุขภาพไม่ดี การศึกษาก็ไม่ได้ ที่อยู่อาศัยย่ำแย่ สุขภาพก็เป็นปัญหา" อาจารย์จอนยกคำพูดของอาจารย์ใจน้องชาย เพื่ออธิบายถึงการส่งเสริมรัฐสวัสดิการที่ต้องทำอย่างครบวงจร


 


นอกจากนั้น นายจอนยังได้ยกคำพูดของอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม ซึ่งได้กล่าวไว้ว่าการส่งเสริมรัฐสวัสดิการต้องไม่ใช่เฉพาะในส่วนกายภาพ แต่ต้องรวมถึงด้านจิตใจด้วย เช่น กรณีการรวมกลุ่มของสหภาพแรงงาน การมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมไปถึงสาธารณูปโภคต่างๆ จะเอาไปขายไม่ได้เพราะต้องเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนเข้าถึง และต้องไม่มีประชาชนที่ขึ้นรถโดยสารประจำทางไม่ได้เพราะไม่มีเงิน พร้อมกล่าวว่าโดยหลักการแล้วรัฐสวัสดิการต้องทำอย่างทั่วถึงถ้วนหน้า ไม่ใช่เฉพาะคนจนแต่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันหมด


 


"รัฐสวัสดิการต้องเข้ากับสิทธิชุมชน รัฐบาลกลางอาจต้องจัดสรรงบประมาณให้เกิดรัฐสวัสดิการ แต่ชุมชนต้องเป็นผู้ลงไปจัดการในพื้นที่ เช่นจัดระบบสุขภาพเอง จัดโรงเรียนเอง ให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น" นายจอนกล่าวถึงลักษณะสำคัญอีกข้อหนึ่งของรัฐสวัสดิการ


 


ส่วนในด้านงบประมาณที่จะนำมาใช้กับรัฐสวัสดิการนั้น นายจอนกล่าวว่าจะเป็นเงินที่มาจากการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า โดยยกตัวอย่างความสำเร็จในการจัดการรัฐสวัสดิการของประเทศอังกฤษ ซึ่งเริ่มต้นในขณะมี GDP (ผลิตภัณฑ์ในประเทศ: Gross Domestic Product: GDP) ใกล้เคียงกับประเทศไทยปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้สามารถเริ่มต้นการจัดการรัฐสวัสดิการได้


 


"รัฐสวัสดิการต้องมาจากการเก็บภาษีที่เป็นธรรม รายได้ยิ่งสูงยิ่งเก็บมาก ภาษีมรดก ภาษีจากการถือครองที่ดินจำนวนมาก การผลักดันรัฐสวัสดิการต้องผลักดันภาษีที่เป็นธรรมด้วย" นายจอนกล่าว


 


ในด้านการหนุนรัฐสวัสดิการตามนโยบายของนักการเมือง ประธานกป.อพช. แสดงความคิดเห็นว่า ประเทศไทยในขณะนี้ไม่มีพรรคการเมืองพรรคไหนพูดในเรื่องรัฐสวัสดิการอย่างจริงจัง โดยดูได้จากการที่ไม่มีพรรคใดบอกเพิ่มอัตราภาษีพร้อมทิ้งท้ายว่ารัฐสวัสดิการเป็นประเด็นสังคมที่ทุกภาคส่วนต้องเคลื่อนไหวผลักดันไม่ต้องคอยรอแต่รัฐบาล


 


"การอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเลยคือการสมยอม การอยู่เงียบๆ โดยปราศจากเสียงเรียกร้องคือการยอมรับ และการไม่ลุกขึ้นต่อสู้คือการยอมจำนน เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการจะมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิของเราเอง เราต้องไม่อยู่เฉย เราต้องส่งเสียง และเราต้องต่อสู้" นางศรีประภา เพชรมีศรี ผู้อำนวยการโครงการสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดำเนินรายการกล่าวทิ้งท้ายการอภิปราย


 


ทั้งนี้กิจกรรมหลักในงานสัมมนา "ทิศทางสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย" ประกอบด้วย การมอบรางวัลให้เป็นกำลังใจแก่บุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านมนุษยชน  โดยในปี 2550 นายสมชาย หอมลออ ได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นฝ่ายชาย และนางสมบุญ สีคำดอกแค ได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นฝ่ายหญิง สำหรับองค์กรภาคเอกชนดีเด่น คือ สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ส่วนองค์กรภาคราชการดีเด่นไม่มีหน่วยงานใดส่งเข้ารับการคัดเลือก


 


นอกจากนั้นยังมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์มนุษยชนในรอบปี พร้อมร่วมพิจารณาปัญหาและเสนอแนวทางการแก้ไข รวมทั้งร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในอนาคต  ส่วนบรรยากาศในงานวิชาการคับคั่งไปด้วยการจัดนิทรรศการและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ประเภทต่างๆ จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ต่อด้วยกิจกรรมทางวัฒนธรรม นิทรรศการ และการแสดงดนตรี ในช่วงเย็นวันที่ 8 ธ.ค. ณ ลานอเนกประสงค์ ด้านข้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี ภายใต้ชื่อ "ฅ.ฅน สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net