คนงานนิคมจ.ลำพูนรวมใจสู้-ร้องนายจ้างปรับปรุงสวัสดิการ-สภาพการทำงาน

หลังจากที่ เมื่อวานนี้ (11 ธ.ค.) เวลาประมาณ 9.00 . ตัวแทนพนักงานโรงงาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 13 ข้อ พร้อมลงลายมือชื่อกว่า 3,286 รายชื่อ ขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานให้กับตัวแทนจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูนนั้น (ดูข้อเรียกร้องที่นี่)

 

 

 

 

 

 

 

ต่อมาในเวลาประมาณ 17.30 น. วานนี้ ที่หน้าโรงงาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) ภายในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน พนักงาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ได้รวมตัวชุมนุมเรียกร้องให้นายจ้างปรับปรุงสวัสดิการและสภาพการทำงาน มีการตั้งเวที เครื่องเสียงบนรถกระบะ และป้ายผ้าที่มีข้อความว่า "พนักงานโฮยารวมใจสู้" "รวมพลัง รวมใจ พวกเราสู้ เพื่อชีวิตคนทำงาน HOYA" โดยมีพนักงานที่เพิ่งเลิกงานช่วงกลางวัน และพนักงานที่กำลังเดินทางมารอทำงานในช่วงกลางคืนชุมนุมกว่าสองพันคน

 

โดยการชุมนุมเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ตัวแทนพนักงานได้ตั้งชุดรักษาความปลอดภัยขึ้นมาระหว่างการชุมนุม คอยรักษาความปลอดภัย และรักษาความสะอาดของสถานที่ชุมนุม ตลอดจนห้ามไม่ให้พนักงานนำสุราเข้ามาดื่มในที่ชุมนุม

 

ตัวแทนพนักงาน กล่าวปราศรัยว่า วันนี้เรียกร้องให้ทุกคนได้รับสิทธิเหมือนกัน ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง โดยการรวมกันครั้งนี้นับเป็นประวัติศาสตร์ของคนงาน จ.ลำพูน โดยผู้ชุมนุมยังได้เตรียมทีมเจรจา 7 คน เพื่อต่อรองกับนายจ้างหลังจากยื่นข้อเรียกร้องด้วย และบอกกับคนงานว่าต่อไปนี้หากได้รับความเดือดร้อนเรื่องสภาพการจ้างงาน สามารถปรึกษาทีมเจรจาได้เลย

 

ต่อมาเวลาประมาณ 19.10 น. แกนนำพนักงานโฮยา ได้เชิญนายณัฐพงษ์ อุดเวียง พนักงานบริษัท อี.เอฟ.ดี (ประเทศไทย) ประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ จ.ลำพูน พูดให้กำลังใจ โดยนายณัฐพงษ์ กล่าวว่าการเรียกร้องสิทธิของคนงานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นศักดิ์ศรีของความเป็นคน ลูกจ้างมีใครรวยบ้าง ทุกวันนี้ก็ไม่พอกินอยู่แล้ว สิทธิของคนงานหวังความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานอย่างเดียวไม่พอ ด้วยภาระหน้าที่ทำให้เขาอาจเข้าไม่ถึงคนงานทั้งหมด ดังนั้นต้องคาดหวังกับตัวแทนการเจรจาทั้ง 7 ซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงาน 3,286 คนที่ลงรายชื่อเรียกร้องสิทธิดังกล่าว

 

แกนนำพนักงานโฮยา ได้เชิญที่ปรึกษาทางกฎหมายสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ จ.ลำพูน ขึ้นกล่าวให้กำลังใจพนักงาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) ดังกล่าว และว่า การชุมนุมของพนักงานโดยสงบเพื่อเจรจาเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานนั้น ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ถือเป็นการเรียกร้องสิทธิของคนงาน หากนายจ้างไม่ยอมเจรจาภายใน 3 วัน จะเข้าสู่กระบวนการพิพาทแรงงาน แต่ถ้าภายใน 3 วันนี้นายจ้างยอมเจรจา แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ คนงานก็สามารถยื่นข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้

 

โดยพนักงาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) ได้ชุมนุมกันถึงเวลา 19.30 น. ก็สลายตัวอย่างสงบ รอการเจรจาระหว่างตัวแทนคนงานกับนายจ้างต่อไป โดยล่าสุดขณะนี้ฝ่ายผู้บริหาร บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) ยังไม่ยอมเจรจาด้วยแต่อย่างใด

 





กำไร "โรงงาน" มาจากน้ำพักน้ำแรง "พนักงาน"

: ความในใจของผู้ใช้แรงงาน

 

ระหว่างการชุมนุมเรียกร้องให้นายจ้างปรับปรุงสภาพการจ้างงาน ของพนักงาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) ภายในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือนั้น "ประชาไท" มีโอกาสสัมภาษณ์พนักงานรายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำการชุมนุม ถึงความในใจของเขาว่าเหตุใด พนักงานหลายพันคนถึงเข้าร่วมการชุมนุมในวันนี้

 

เขาเล่าถึงสภาพการทำงานของโรงงานดังกล่าวว่า ทำการผลิตทั้งวันทั้งคืน มีการแบ่งพนักงานออกเป็นสองช่วง หรือที่เรียกว่า "กะ" คือ กะเช้า (day time) ในเวลา 8.30 - 20.30 น. รวมการทำงานล่วงเวลา (โอที) และ กะดึก (night time) 20.30 - 8.30 น. ของอีกวันหนึ่ง ถ้าไม่ทำโอทีก็จะออกงานเวลา 17.30 น. และ 5.30 น.

 

แต่พนักงานก็ทำโอทีโดยถือเป็น "ไฟท์บังคับ" เพราะรายได้ของพนักงานเกิดจากการทำโอที

 

ค่าแรงพนักงานสุทธิยังไม่รวมสวัสดิการ ขั้นต่ำเริ่มต้นที่วันละ 152 บาท ซึ่งเป็นอัตราตามค่าแรงขั้นต่ำของ จ.ลำพูน ที่เพิ่งปรับขึ้นมาเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากเดิมวันละ 149 บาท

 

ที่ผ่านมาทางโรงงานไม่เคยดูแลสวัสดิการ ไม่ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจ ทำให้พนักงานเดือดร้อน

 

"บริษัทโฮยา เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดใน นิคมฯลำพูน ซึ่งประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา เรื่องสวัสดิการก็ไม่มีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน อย่างเช่นตามที่ข้อเรียกร้องได้แจ้งไว้ คือเรื่องของค่าน้ำมัน เป็นต้น ค่าน้ำมันตอนนี้มีเพดานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่สวัสดิการค่าน้ำมันต่อวันที่บริษัทให้กับพนักงานก็ยังเป็นระดับต่ำคือ 20 บาทต่อวัน ซึ่งผ่านมาประมาณ 4 ปี แล้ว เราจึงต้องออกมาขอความเป็นธรรมกับนายจ้าง ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน" เขากล่าว

 

หนึ่งในแกนนำการชุมนุมผู้นี้ ยังได้กล่าวถึงสภาพสวัสดิการอื่นๆ ในโรงงาน เช่น ค่ายืน ที่ให้กับพนักงานที่ยืนทำงานในโรงงาน เป็นเงินที่ให้เพิ่มเติมจากเงินเดือน ทางบริษัทยังคงราคาไว้ที่ 7 บาทต่อวัน

 

"สวัสดิการที่บริษัทเคยให้ เช่น ค่ายืน วันละ 7 บาทต่อวัน เราขอให้ปรับขึ้นอีก 3 บาท ให้กับพนักงานที่ต้องยืนทำงาน แยกต่างหากกับเงินเดือนที่คิดจากอัตราขั้นต่ำวันละ 152 บาท ในส่วนของค่ายืน บริษัทเขาให้เหมือนโปรโมชั่น คืออยู่ๆ ถ้าบริษัทจะตัดออกก็ได้ โดยที่เราไม่มีสิทธิจะไปฟ้องร้องกับใคร"

 

 นอกจากนี้ตัวแทนของแกนนำการชุมนุมยังได้กล่าวถึงเรื่องสวัสดิการของพนักงานที่มีอายุงานต่อเนื่อง

 

"บริษัทโฮยา พนักงานส่วนใหญ่จะมีอายุงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายผลิต แต่ก็ยังมีการปรับค่าระวางแค่ บาท-สองบาท เหมือนทำงานปีหนึ่งได้เพิ่มอีกหนึ่งบาท มันก็คงไม่พอเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้า เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่อีก"

 

พนักงานผู้นี้ เห็นว่า บริษัทโฮยาบริษัทปกปิดผลประกอบการที่ทำกำไร แจ้งแต่เฉพาะส่วนที่ขาดทุน ทั้งที่มีการสำรวจพบว่าบริษัทนี้ ในปี 2549 ที่ผ่านมา ทำกำไรสุทธิติดอันดับ 5 จากทั่วประเทศ คิดเป็นเงิน 4 พัน 7 ร้อยล้านบาท

 

"ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่นายจ้างได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของแรงงานที่ค่อนข้างสูงมาก แต่การเจียดเม็ดเงินจากผลกำไรแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ให้กับเรานี้ยากมาก" เขากล่าว

 

เขายังบอกว่า การชุมนุมครั้งนี้ เพราะต้องการแถลงข้อเรียกร้องของพนักงาน และถือเป็นการแถลงสำหรับพนักงานทุกคนเพื่อจะเรียกร้องต่อรองกับนายจ้าง โดยที่ในตอนนี้ นายจ้างก็ยังไม่ออกมาเจรจา และเขายังได้บอกอีกว่า จะชุมนุมไปเรื่อยๆ หากยังไม่ได้มีการตกลงข้อเรียกร้องกับนายจ้าง แต่ในส่วนของการทำงานก็จะยังคงมีต่อตามปกติ

 

"หลังจากเสร็จภารกิจตรงนี้ก็คงเข้าทำงานตามปกติ เพราะเรายึดนโยบายว่า ที่เราเรียกร้องวันนี้ ไม่ได้อยากให้การผลิตหยุดชะงัก แต่เราต้องการให้มันเกิด ความเป็นธรรมที่มากกว่านี้ หลังเลิกชุมนุมตรงนี้เราก็จะกลับเข้าไปทำงานตามปกติ" เขากล่าวทิ้งท้าย

 

ดังนั้นพอเลิกชุมนุมในเวลา 19.40 น. พนักงานช่วงกลางคืนก็รอทำงานช่วงกลางคืนต่อ หลายคนที่เพิ่งเลิกงานช่วงกลางวันก็กลับบ้านนอนเอาแรง หวังว่าเช้าวันใหม่จะได้ทำงานสู้ชีวิต เอาน้ำแรงแลกน้ำเงินต่อไป พร้อมๆ กับการเรียกร้องจนกว่าจะได้สิทธิ-สวัสดิการของตนกลับมา

 

เพราะแกนนำบนเวทีก็ประกาศแล้วว่าพร้อมจะกลับมารวมกันทุกเมื่อ หากการเจรจาไม่คืบหน้า

 


ข่าวประชาไทต่อเนื่อง

พนักงานโรงงานโฮยานิคมลำพูนยื่นข้อเรียกร้อง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ, ประชาไท, 11/12/2550

บทความ: เมื่อคนงานโฮย่ากลาสดิสก์ลำพูนรวมใจสู้: ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้, ประชาไท, 13/12/2550


คนงานโฮยาชุมนุมรอฟังการเจรจานัดแรก แต่ผลยังไม่คืบหน้า, ประชาไท, 14/12/2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท