Skip to main content
sharethis


เจ้าหน้าที่รัฐบังคับชาวบ้านสร้างทางหลวงในรัฐชิน

สำนักข่าว Democratic Voice of Burma รายงานว่า เจ้าหน้าที่ทางการพม่าในเมืองฮาคา (Hakha) รัฐชิน เรียกเก็บเงินจากชาวบ้านเพื่อนำไปสร้างทางหลวงในพื้นที่ ส่วนชาวบ้านที่ไม่มีเงินจ่ายต้องไปเป็นแรงงานแทนโดยที่ทางการไม่ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายใด ๆ แม้แต่ค่าเดินทางซึ่งชาวบ้านต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวเอง


 


ชาวบ้านคนหนึ่งในพื้นที่กล่าวว่า  การดำเนินการสร้างทางหลวงดังกล่าวไม่คืบหน้า และดูเหมือนว่าค่าใช้จ่ายจะบานปลายขึ้นด้วย ซึ่งขณะนี้ใช้งบประมาณไปแล้ว 50 ล้านจั๊ต (133, 690 บาท) ขณะที่ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จไปเพียง 4 กิโลเมตรกว่า  


 


ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เรียกเก็บเงินชาวบ้าน 5, 000 - 10,000 จั๊ต (134 - 267 บาท) โดยผู้ที่ไม่สามารถจ่ายเงินได้จะต้องไปทำงานก่อสร้างทางหลวงดังกล่าวแทน ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางถึงสองวันจึงจะถึงสถานที่ก่อสร้างทางหลวง และต้องทำงานเป็นเวลา 7 วันในแต่ละครั้ง โดยทางการพม่าไม่ให้ความช่วยเหลือในเรื่องอาหาร การเดินทาง ที่พัก และสวัสดิการด้านสุขภาพให้แก่แรงงาน และทางเจ้าหน้าที่รัฐในฮาคาปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกับเรื่องดังกล่าว


 


อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานว่า ชาวบ้านในเมืองฮาคาและเมืองแมนทอ (Mantaw) ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐข่มขี่และบังคับให้เป็นแรงงานสร้างทางหลวงมาแล้ว


 


 


 


ทหารพม่าทำลายพื้นที่เพาะปลูกในรัฐกะเหรี่ยง


สำนักข่าว Irrawaddy รายงานเมื่อวันที่ 11 เดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า แหล่งข่าวในรัฐกะเหรี่ยงเปิดเผยว่า ทหารพม่าได้ทำลายนาข้าวและพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว หวังตอบโต้และโจมตีกลุ่มติดอาวุธชาวกะเหรี่ยงและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในรัฐกะเหรี่ยงและในเขตเมืองพะโค


 


โพชาน ผู้ประสานงานองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงกล่าวว่า กองกำลังทหารพม่าได้ทำลายนาข้าวและพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านเพื่อตัดเสบียงอาหารและบีบให้ชาวบ้านย้ายเข้าไปอยู่ในเขตควบคุมของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านปฏิเสธที่จะย้ายที่อยู่ตามคำสั่งของทหารพม่าเนื่องจากกลัวว่าจะถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงาน ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพอื่นเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้


 


เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ฤดูแล้งเป็นช่วงที่ชาวกะเหรี่ยงจะเกี่ยวข้าวและเก็บไว้สำหรับปีถัดไป ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวกองทัพพม่าก็มักจะเพิ่มกองกำลังทหารเช่นกันทุกปีเพื่อทำการจู่โจมกองกำลังทหารเคเอ็นยู  ชาวบ้านบางส่วนจึงต้องแอบเข้าไปปลูกข้าวและกักตุนอาหารไว้ในป่าให้พ้นจากการคุกคามของทหารพม่า แต่หากทหารพม่าไปพบก็จะถูกทำลาย และกดดันให้ชาวบ้านไปอยู่ในเขตที่กองทัพจัดให้ ชาวบ้านต่างขาดแคลนอาหารและบางครั้งต้องอาศัยขอแบ่งจากเพื่อนบ้านที่พอมี สร้างความเดือดร้อนกับประชาชนเป็นอย่างมาก  


 


จากรายงานขององค์กรฟรีเบอร์มาเรนเจอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มบรรเทาทุกข์เพื่อผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่าเมื่อวันที่ 22 เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาระบุว่า นับตั้งแต่กองทัพพม่าเริ่มบังคับชาวบ้านโยกย้ายถิ่นฐานในปี 2549 เป็นต้นมา มีชาวบ้านถูกสังหารไปแล้ว 370 คน ในจำนวนนั้นมีทั้งเด็กและสตรี และยังส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 30, 000 คนต้องพลัดถิ่นไร้ที่อยู่อาศัยและส่วนใหญ่ยังคงหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า


 


มอลอ โฆษกของหน่วยงานบรรเทาทุกข์และพัฒนาชาวกะเหรี่ยง กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนปี 2550 มีชาวบ้านกว่า 1, 300 คนได้ลี้ภัยมาอาศัยอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยเอตูท่าในฝั่งพม่าติดกับแม่น้ำสาละวิน โดยผู้ลี้ภัยทั้งหมดเดินทางมาจากทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยงและเขตพะโค โดยค่ายผู้ลี้ภัยเอตูท่าถูกสร้างขึ้นเมื่อกลางปี 2549 โดยปัจจุบันเป็นที่พักพิงของผู้ลี้ภัยกว่า 3,900 คน


 


ด้านกองกำลังทหารกะเหรี่ยงเคเอ็นยูได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า กองทัพพม่าได้สั่งการเพิ่มกองกำลังทหารชุดใหม่อีกกว่า 83 กองพันในเขตควบคุมของกองกำลังเคเอ็นยู โดยขณะนี้มีกองกำลังทหารพม่าประจำอยู่ในพื้นที่ทั้งหมด 187 กองพันซึ่งพร้อมที่จะเข้าจู่โจมกองกำลังเคเอ็นยูทุกเมื่อ


 


นายม่านชา เลขาธิการของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยูได้กล่าวยืนยันในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยทหารพม่ากำลังทำการสร้างถนนหลายสาย ได้แก่ ถนนจากเมืองจาอินเส็กจีไปยังชายแดนด้านด่านเจดีย์สามองค์  ถนนจากจาอินเส็กจีไปยังเมืองไจ้ก์ดง และถนนจากเมืองกอกะเร็กเชื่อมต่อเมืองไจ้ก์ดงในรัฐกะเหรี่ยง


 


นายม่านชากล่าวเพิ่มเติมว่า ทหารพม่าได้เข้าจู่โจมทหารเคเอ็นยูกองพลที่ 1, 2, 3 และ 5 ในจำนวน 7 แห่ง ทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยงและในภาคพะโค โดยทหารพม่าได้เริ่มโจมตีกองพล 6 และ 7 ที่เหลือแล้ว


 


ก่อนหน้านี้ กองกำลังเคเอ็นยูและทหารพม่าได้ทำข้อตกลงหยุดยิงกันในปี 2546 โดยมีนายพลโบเมียะ ผู้แทนจากเคเอ็นยูและเป็นผู้นำเคเอ็นยูในขณะนั้นร่วมหารือกับพลเอกขิ่นยุ้นต์รัฐมนตรีของพม่าขณะนั้น แต่ต่อมาในเดือนตุลาคมปี 2547 พลเอกขิ่นยุ้นต์ถูกจับ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นอันต้องยกเลิกไป และเมื่อต้นปี 2550 ที่ผ่านมา กองกำลังเคเอ็นยูได้ตัดขาดกับรัฐบาลพม่าหลังจากที่พลตรีเถ่งหม่อง อดีตผู้บัญชาการกองพลที่ 7 ของเคเอ็นยูไปเจรจาสงบศึกกับรัฐบาลทหารพม่าโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลางของเคเอ็นยู

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net