มูลนิธิผู้บริโภคหวั่นรัฐบาลอุ้ม ปตท. - 14รมต.ถือหุ้น "สุรยุทธ์-โฆสิต-ไพบูลย์"

วันที่ 16 ธ.ค.50  ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถนนงามวงศ์วาน กทม. น.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง      ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และ น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการ สอบ. ร่วมกันแถลงข่าวจุดยืนของกลุ่มในการติดตามผลการดำเนินงานของภาครัฐ ภายหลังจากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้แบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กลับคืนมาเป็นของรัฐ พร้อมคัดค้านการที่กระทรวงพลังงานกำลังรวบรัดนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ ส่อไปในทางเอื้อผลประโยชน์ ให้ ปตท.

 

น.ส.รสนากล่าวว่า ในวันที่ 17 ธันวาคม กลุ่มในฐานะผู้ยื่นเรื่องฟ้องคดี ปตท.จะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้มีคำสั่งบังคับไปยังผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ราย ได้แก่ ครม. นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล ทั้งในส่วนของการแยกสิทธิเรื่องต่างๆ รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะโอนกับมาเป็นสมบัติของแผ่นดินให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น เพราะทางกลุ่มมองว่าทรัพย์สินที่จะต้องโอนต้องมากกว่าทรัพย์สิน 3 รายการในคำพิพากษา นอกจากนี้ กลุ่มจะยื่นเรื่องขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ถอดเครื่องหมาย SP หุ้น ปตท.จนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ราย จะโอนทรัพย์สินให้เรียบร้อยก่อน สำหรับการตรวจสอบความถูกต้องของทรัพย์สิน ควรจะมีการตั้งคณกรรมการกลางขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ และต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องนี้ หรือเข้าไปถือหุ้น  ใน ปตท.

 

น.ส.รสนากล่าวต่อไปว่า รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะการแปรรูป ปตท.ถือเป็นการทุจริตครั้งมโหฬารของรัฐบาลชุดที่แล้ว และขณะนี้ สอบ.ตรวจพบข้อมูลว่ารัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยทธ์ 14 คน จาก 29 คน เข้าไปถือหุ้นใน ปตท.ด้วย หากรัฐบาลยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนในการรักษาสมบัติของแผ่นดินเอาไว้ อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้

 

น.ส.สารีกล่าวว่า ประชาชนที่ถูกเวนคืนที่ดินจากการดำเนินงานของ ปตท. และต้องการเรียกร้องสิทธิ คืน ขอให้แจ้งข้อมูลเข้ามาที่ www.consumerthai.org เพื่อที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะได้ดำเนินการเรื่องนี้ให้ ส่วนที่มีข่าวว่าประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือญาติเข้าไปถือหุ้น ปตท.ด้วยนั้น ยอมรับว่าเป็นความจริง  แต่ขณะนี้ประธานมูลนิธิได้ขายหุ้นส่วนนี้ไปนานแล้ว และปัจจุบันกลุ่มผู้ยื่นเรื่องฟ้องคดีไม่มีใครเข้าไปถือหุ้น

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรี 14 คน ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ที่กลุ่มผู้   ฟ้องคดี ปตท.ระบุว่าเข้าไปถือหุ้นใน ปตท. ทั้งถือหุ้นโดยตรงและผ่านกองทุนเพื่อการลงทุน ประกอบด้วย 1.พล.อ.สุรยุทธ์ 2.นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 3.นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกฯ และ รมว.อุตสาหกรรม 4.นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกฯ และ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 5.นายประสิทธิ์ โฆวิไลกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ 6.นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 7.นายวิจิตร    ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ 8.นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รมช.อุตสาหกรรม 9.นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รมช. คมนาคม 10.นายอภัย จันทนจุลกะ รมว.แรงงาน 11.นายสิทธิชัย โภไคยอุดม อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศ 12.นายนิตย์ พิบูลสงคราม รมว.ต่างประเทศ 13.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน   14.นายสวนิต คงสิริ อดีต รมช.ต่างประเทศ

 

น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า สอบ.มองว่าการเร่งรัดนำเรื่องเข้า ครม.เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้ ปตท. ส่อสร้างละครตบตาหรือฮั้วกัน ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง กระทรวงพลังงาน และ ปตท. เนื่องจากทำกันภายใน ปตท. และกลุ่มบุคคลที่มีความสัมพันธ์อันดีกับ ปตท.มาโดยตลอด โดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากสาธารณะ และคณะบุคคลที่เป็น กลางเชื่อถือได้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญในเรื่องทรัพย์สินที่ ปตท. และกระทรวงพลังงานไม่ได้กล่าวถึงเลยคือโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างไทยกับมาเลเซีย เมื่อปี 2543 รัฐไทยได้มอบหมายให้ ปตท.ซึ่งขณะนั้นยังเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% เป็นตัวแทนรัฐไทยในการทำสัญญาและลงทุนกับประเทศมาเลเซีย และออกเป็น พ.ร.บ. องค์กรความร่วมมือไทย-มาเลเซีย แต่เมื่อ ปตท. แปรรูปในปี 2544 กิจการโครงการท่อ ส่งก๊าซฯ   ไทย-มาเลเซีย ก็โอนไปให้ ปตท.โดยปริยาย ดังนั้น ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จึงต้องเอากิจการทั้งหมดที่เป็นของรัฐและทรัพย์สินของแผ่นดิน  ที่ตกไปอยู่ในมือนิติบุคคลเอกชนกลับคืนมา

 

น.ส.สายรุ้งกล่าวอีกว่า ทางสหพันธ์ยังขอเรียกร้องให้จัดตั้งคณะกรรมการก๊าซแห่งชาติเพื่อดำเนินการประกอบกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ 100% หรือองค์การมหาชนดำเนินกิจการด้านก๊าซธรรมชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ประชาชน ผู้บริโภค รัฐบาลต้องดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำผิด ทั้งหมดในกระบวนการแปรรูป ปตท. จนเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และประชาชน

 

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า จากหลักการที่ได้หารือร่วมกับ ปตท.เรื่องการโอนท่อก๊าซ เห็นว่านอกเหนือจากท่อก๊าซ 3 เส้น คือ 1.ท่อก๊าซจากโรงแยกก๊าซ จ.ระยอง-อ.วังน้อย 2.ท่อก๊าซวังน้อย-ราชบุรี 3.ท่อก๊าซเชื่อมต่อจากชายแดนไทยและพม่า จ.กาญจนบุรี มายังโรงไฟฟ้า จ.ราชบุรี ที่ต้องโอนตามคำพิพากษาแล้ว ในส่วนท่อก๊าซเส้นย่อยอื่นๆ หากเข้าหลักการตามคำพิพากษา คือ การใช้อำนาจกฎหมายมหาชนในการรอนสิทธิของเอกชนเพื่อ    สร้างท่อก๊าซก็จะให้โอนคืนให้หมด สำหรับท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ถือว่าไม่อยู่ในหลักการตามคำพิพากษา เพราะเป็นการใช้เงินลงทุนของ ปตท. ขณะที่ท่อก๊าซอื่นๆ นั้น ใช้เงินลงทุนจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจก่อนแปลงสภาพ ส่วนค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้รัฐนั้น ให้จ่ายย้อนหลังตั้งแต่เริ่มแปลงสภาพ

 

สำหรับข้อเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการกลางตรวจสอบทรัพย์สินนั้น นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า ในการนำ  เรื่องเข้า ครม.วันที่ 18 ธันวาคมนี้ เพื่อให้ได้หลักการ   ที่ชัดเจนว่าจะแบ่งแยกทรัพย์สินใดบ้าง ไม่ให้มีปัญหาเรื่องการเปิดซื้อขายหลักทรัพย์ แต่การดำเนินการโอนทรัพย์สินจะต้องตรวจสอบทรัพย์สินอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

 

แหล่งข่าวจากระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในวันที่ 17 ธันวาคม นายฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ รมว.คลัง ได้เรียกประชุมหาข้อสรุปกรณี ปตท.ต้องโอนที่ดินและท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้กรมธนารักษ์เพื่อนำเสนอ ครม.อนุมัติในวันที่ 18 ธันวาคม ประกอบด้วย กรมธนารักษ์ซึ่งจะรับโอนที่ดินพร้อมท่อส่งก๊าซ 32 ไร่จาก ปตท. กรมสรรพากรซึ่งดูเรื่องภาษีที่เกิดจากการโอนสินทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจและการแปรรูป สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องในการโอนสินทรัพย์ดังกล่าวจะมี 2 ประเด็นหลักคือ 1.เรื่องค่าเช่าที่จะเรียกเก็บจากสินทรัพย์ที่ ปตท.จะนำกลับมาใช้ประโยชน์ 2.ภาษีที่เกิดจากการโอนสินทรัพย์ โดยในส่วนของค่าเช่าได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะเรียกเก็บในอัตรา 2% ของรายได้จากค่าผ่านท่อที่ ปตท.ได้รับอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี และจะต้องจ่ายค่าเช่าย้อนหลังตั้งแต่ปี 2544 ที่แปลงสภาพ ปตท.เป็นบริษัทจำกัดจนถึงปัจจุบัน หากคำนวณคร่าวๆ ก็จะต้องจ่ายค่าเช่าปีละประมาณ 200 ล้านบาท รวม 6 ปี เป็นเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท ส่วนเรื่องค่าเช่านั้นมีมาตรฐานการเช่าที่ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในอัตรา 2-5% ของรายได้ กรณีของ ปตท.เป็นการให้บริการสาธารณูปโภค หากคิดค่าเช่าในเชิงพาณิชย์จะกระทบกับค่าครองชีพของประชาชน ก็สามารถปรับลดให้เป็นอัตรา 2% ได้

 

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนแนวทางในการจัดเก็บภาษีที่เกิดจากการโอนกิจการท่อก๊าซตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดนั้น มีแนวโน้มที่จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ให้ ปตท. เนื่องจากหากกรมสรรพากรตีความการโอนทรัพย์สินดังกล่าวว่าเป็นการให้สัมปทานในลักษณะ Build - Transfer - Operate (B.T.O.) หมายถึงการทำสัญญาให้บริษัทเอกชนมารับผิดชอบระดมทุน ออกแบบ ก่อสร้าง แล้วโอนให้แก่รัฐ แลกกับสิทธิบริหารทรัพย์สินดังกล่าวตลอดอายุสัมปทาน กรณีนี้เคยดำเนินการมาแล้วในสมัยที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย  (ทีโอทีในปัจจุบัน) ให้สัมปทานเอกชน ก่อสร้างเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน 3 ล้านเลขหมาย และโทรศัพท์เคลื่อนที่ และยกให้องค์การโทรศัพท์ในสมัยนั้น ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายด้านภาษี

 

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าว "มติชนออนไลน์" รายงานเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ว่า จากการตรวจสอบคำพิพากษาดังกล่าวทำให้พบข้อเท็จจริงที่สาธารณชนไม่เคยรับรู้มาก่อนคือ คำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีคือคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ยืนยันว่า ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ตลอดจนเครือญาติของกรรมการมูลนิธิผู้ห้องคดีที่ 1 รวมทั้งผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้แทนผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้จองและซื้อหุ้นของบริษัท ปตท.ในการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) ตั้งแต่ปี 2544 และถือหุ้นไว้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นข้อกล่าวหาผู้ถูกฟ้องที่ว่ากระจายหุ้นไม่เป็นธรรม จึงไม่มีมูลความจริง (คำพิพากษาหน้า 15) โดยประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซื้อหุ้นบริษัท ปตท. ประมาณ 8,000 หุ้น เป็นต้น

        

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคนปัจจุบัน ได้แก่ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ส่วนกรรมการประกอบด้วย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เลขาธิการมูลนิธิ นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ เหรัญญิก รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ กรรมการ รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ นางสุวรรณา อัศวเรืองชัย นพ.ประพจน์ เภตรากาศ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ นายน้ำค้าง มั่นศรีจันทร์ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ นายชัยรัตน์ แสงอรุณ น.ส.ยุพดี ศิริสินสุข นายภัทระ คำพิทักษ์ นางบังอร ฤทธิ์ภักดี น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการ/ผู้จัดการ

ด้าน น.ส.สารี  อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยอมรับว่า ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือญาติเข้าไปถือหุ้นบริษัท ปตท.เป็นความจริง แต่ขณะนี้ประธานมูลนิธิได้ขายหุ้นส่วนนี้ไปนานแล้ว และปัจจุบันกลุ่มผู้ยื่นเรื่องฟ้องคดีไม่มีใครเข้าไปถือหุ้น

ขณะที่พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวยืนยันว่า ไม่มีหุ้นอยู่ในบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เช่นเดียวกับพันเอกหญิง ท่านผู้หญิงจิตรวดี จุลานนท์ ภริยา และนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งไม่มีหุ้นในบริษัทดังกล่าว ส่วนรัฐมนตรีมนตรีอีก 14 คนที่กระแสข่าวระบุการถือครองหุ้นนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการตรวจสอบ แต่หากมีอยู่จริงก็ไม่ได้เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะจำนวนหุ้นที่ถืออยู่มีจำนวนไม่มากนัก

'ผมยังไม่ได้ตรวจสอบ ก็คิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่การกระทำผิดในแง่การซื้อหุ้นปตท.ในช่วงที่ผ่านมา แล้วก็ไม่ได้มีส่วนที่เรียกว่าส่วผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ได้เข้าข่ายในกรณีที่ถือหุ้นเป็นจำนวนมาก เพราะว่าหุ้นใหญ่ที่สุดคือรัฐบาล' รมต.มหาดไทยกล่าว

พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันพรุ่งนี้ (18 ธ.ค.) จะมีการพิจารณาถึงการดำเนินการตามคำสั่งศาลที่จะมีการโอนสังหาริมทรัพย์และเงินค่าชดเชยที่จะต้องจ่าย ซึ่งจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาพิจารณาพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะไม่เข้าไปตรวจสอบการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่น โดยเฉพาะบริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเหมือนบริษัท ปตท. เนื่องจากศาลไม่ได้สั่งและรัฐบาลจะดูแลเฉพาะเรื่องที่มีปัญหาในช่วงเวลาการบริหารงานเท่านั้น

 

 

-------------------------------------------------

ที่มา: เว็บไซต์มติชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท