จินตนา แก้วขาว: พิทักษ์บ้านเกิด อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใต้เงา "กฎอัยการศึก"

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาหัวข้อ "รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง กับความหวังของประชาชน" (คลิกที่นี่เพื่ออ่านข่าวย้อนหลัง) ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักบริการคอมพิวเตอร์ อาคารบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย สุนันท์ ศรีจันทรา ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จินตนา แก้วขาว กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ่อนอกหินกรูด อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ และนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแห่งรัฐฮาวายอิ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

คุณจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด หนึ่งในวิทยากรได้สะท้อนความเห็นของเธอในเรื่อง รัฐธรรมนูญ กับการเลือกตั้ง ว่าเป็นที่พึ่งหวังของประชาชนแค่ไหน และนี่คือมุมมองของพลเมืองคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่นของตนว่าเขามอง "รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง กับความหวังของประชาชน" เอาไว้อย่างไร

 

000

 

 

จินตนา แก้วขาว

ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด

 

 

รัฐธรรมนูญปี 2540 ให้สิทธิประชาชนได้มีการรักษาจารีตประเพณี วัฒนธรรม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และพวกเราถือเป็นชาวบ้านกลุ่มแรกๆ ที่ได้มีการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ถึงแม้การเรียกร้องสิทธินั้นไม่ได้ผลเต็มร้อยก็ตาม แต่ทางกลุ่มก็ได้ใช้สิทธิในการบอกกล่าวเรื่องราวปัญหาต่างๆ จนทำให้สังคมได้รับรู้ จนวันหนึ่งการเรียกร้องตามสิทธิรัฐธรรมนูญได้นำไปสู่การยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อย่างไรก็ตามก็กลับไปโผล่โครงการในพื้นที่อื่น ไปละเมิดสิทธิของประชาชนที่อื่นต่อไปแทน

 

ซึ่งเราจะเห็นว่าการเมืองที่ผ่านมาไม่ว่าจะก่อนหรือหลังมีรัฐธรรมนูญปี 40 เราจะเห็นได้ว่ามีนักการเมืองบางกลุ่มเข้าไปมีผลประโยชน์ในโครงการต่างๆ อย่างสมัยรัฐบาลชุดก่อนก็จะมีนักการเมืองพรรคที่กำลังจะได้ตั้งรัฐบาลเข้าไปมีผลประโยชน์ในเหมืองถ่านหิน แล้วก็จะไปสร้างโรงไฟฟ้าที่บ่อนอก อดีตเป็น ส.ส.  ขณะที่กลุ่มของพวกเรายื่นหนังสือเรียกร้องต่อหัวหน้าพรรคเพื่อข้อคัดค้าน แต่ลูกพรรคกลับมีผลประโยชน์ในพื้นที่ที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น

 

ถามว่านักการเมืองก็คือกลุ่มที่มีผลประโยชน์อยู่ในพื้นที่นั้นๆ โดยเอาธุรกิจของตนเองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเสนอเพื่อที่จะสร้างโครงการ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของพี่น้องประชาชนซึ่งพวกเขาไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลยจากการสร้างโครงการอะไรใดๆ

 

ชาวบ้านบ้านกรูด-บ่อนอก ต่อสู้โดยใช้รัฐธรรมนูญ ใช้สิทธิเสรีภาพ จนวันหนึ่งเราชนะ แต่พี่น้องที่อื่นแพ้ เพราะพี่น้องที่อื่นกำลังไม่พอ แล้ววันหนึ่งรัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกไปโดยเงื่อนไขทางการเมือง ซึ่งชาวบ้านไม่สนตรงนั้น ชาวบ้านกินไม่ได้ แล้วก็มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ขึ้นมาแทน ซึ่งก็มีบางมาตราที่ยังให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพของชุมชนอยู่เหมือนกัน มีหมวดของชุมชนเหมือนกัน ซึ่งคนทำการร่างรัฐธรรมนูญคงมองไปที่ประจวบคีรีขันธ์ มองหลายๆ ที่ซึ่งมีการต่อสู้ของประชาชนเป็นหลัก จึงนำไปสู่การให้ชุมชนมีสิทธิตามมาตรา 67 "สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม" อันนี้ย่อๆ นะ ซึ่งก็มีท้ายๆ ว่า หากทำโครงการที่ส่งผลกระทบต้องมีการรับฟังความคิดเห็น [1]

 

นี่คืออีกมุมหนึ่งที่อยากจะสะท้อนของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ามีความหวังดีที่ยังเห็นความสำคัญของชุมชนที่ให้ชุมชนดูแลรักษาชุมชนของตนเองได้ แต่ก็มีการเอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องของตนเอง เช่น โรงถุลงเหล็กที่บางสะพาน โรงไฟฟ้าที่ทับสะแก (ประจวบคีรีขันธ์)

 

เราจบโรงไฟฟ้าที่บ้านกรูด-บ่อนอกสองโรง แต่ไปโผล่อีกโรงที่ทับสะแก 4,000 เมกะวัตต์ และโรงถลุงเหล็กที่บางสะพาน กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการทำ EIA (ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) แต่ก็มีการลักไก่จัดตั้งกลุ่มขึ้นมา เช่น เอากลุ่มพนักงานเดียวกันเข้ามารับฟังความคิดเห็น จ้างนักเลงอันธพาลเข้ามาสลายการชุมนุมของชาวบ้าน ในวันรับฟังความคิดเห็นเชื่อไหมว่ามีชาวบ้าน 200 คนคลุมไอ้โม่งเข้ามาในที่ประชุมนะ นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คลุมไอ้โม่งเข้ามา เอาไม้ติดธงชาติตอกตะปูเข้ามา เอาขวดเป๊บซี่เปล่าๆ เข้ามา แล้วดักรอตีชาวบ้านที่ร่วมเวที นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น

 

ถามว่ามีเวทีรับฟังความคิดเห็นตามสิทธิในรัฐธรรมนูญมีไหม? มีค่ะ แต่ชาวบ้านเข้าไม่ได้ เข้าไปชาวบ้านถูกตี แล้วตำรวจทำอย่างไรฮะ ตำรวจก็ทำได้แค่เอารถมาจอดไว้ ยึดไม้ธงไปบางส่วน ยึดขวด ยึดมีดสปาตาร์ไปบางส่วน แล้วก็เฝ้าประกบคนต่อคน เพราะเขายังไม่ทำผิด ตำรวจบอกว่าผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะเขายังไม่ได้ทำผิด ผมก็ยึดอาวุธมาแล้ว ยึดไม้มาแล้ว ยึดของทุกอย่างมาแล้ว และก็เฝ้าไว้ นี่คือสิ่งที่ทำได้แค่นี้ นี่คือการบังคับไม่ให้เราใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยไม่ผิดกฎหมายนะ กฎหมายบอกให้รับฟังความคิดเห็นเขาก็รับฟังความคิดเห็น แต่เราไม่มีสิทธิเข้าไป พอเราเข้าไปก็อาจจะถูกตี นี่คือเงื่อนไขหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่พี่น้องที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพเขาถูกกระทำแบบนี้นะ

 

การเอาโรงถลุงเหล็กลงไปในพื้นที่ วันนี้พี่น้องหลายคนก็คงไม่ทราบว่า อดีตนายกฯ แก่ๆ ซึ่งเป็นนายทหารเก่าๆ แก่ๆ คงทราบนะคะ นายกฯ แก่ ๆ ที่เป็นทหารลงไปเปิดสะพานท่าเทียบเรือของโรงถลุงเหล็ก เมื่อปี 2549 เสร็จแล้วหลังจากท่านกลับ มีทหารกลุ่มหนึ่งลงพื้นที่เต็มไปหมด ไปอยู่ใกล้โรงเรียนในพื้นที่สร้างโรงงาน แล้วก็จับแกนนำชาวบ้านไปบอกว่าอย่าค้านเลยโครงการนี้เป็นของท่าน อย่างไรเขาก็สร้างแล้ว แล้วไปบอกจินตนาด้วยอย่าไปยุ่งเลยโครงการตรงนี้ ห้ามชาวบ้านคัดค้านโครงการบ้านเราด้วยน่ะ ห้ามคัดค้านโดยบอกว่า จินตนาเป็นคน อ.บ้านกรูด ซึ่งชาวบ้านคนในพื้นที่รู้ว่า อ.บ้านกรูด มันไม่มี บ้านกรูดเป็นเขตเทศบาลอยู่ใน ต.ธงชัย ซึ่ง ต.ธงชัย เป็นตำบลหนึ่งที่อยู่รายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นี่คือห้ามสิทธิเสรีภาพในการห้ามเข้าพื้นที่ที่เราได้รับผลกระทบนั้นด้วย

 

สิ่งที่เราเจอต่อไปก็คือ มีหน่วยงานด้านความมั่นคงมากมายพยายามจะบอกว่า พื้นที่ของจังหวัดนี้เป็นพื้นที่ต้องขยายตัวของการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 5 โรงงาน ไม่ว่าเราจะเคลื่อนไหวตามสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญอย่างไร ที่เขียนเอาไว้ เราจะถูกหน่วยงานความมั่นคงหรือทหารมาถาม เช่น วันนี้จะไปกรุงเทพกี่คัน เราก็ถามกลับไปว่าถามทำไมหรือ ก็ผมอยากทราบว่าไปเยอะไหม เราว่าไปเยอะ เขาถามไปกี่คันล่ะ เราว่าไม่บอก เขาถามแล้วไปทำไม ก็มันเรื่องของเราน่ะ เขาว่าคุณรู้ไหมว่ากรุงเทพเขาวุ่นไปหมด อ้าว ก็เราไม่ได้ทำนี่ นี่คือเรื่องจริงนะที่เขาก็ถามว่าการเคลื่อนไหวของชาวบ้านทำไมไม่ไปกัน 2-3 คน ตั้งคณะกรรมการมาคุย ก็ชาวบ้านมีคณะกรรมการที่ไหน การที่เราถูกตั้งคำถามว่า ไปทำไม คุณรู้ไหมข้างในวุ่นไปหมด ทำไมต้องไปเยอะ ทำไมคุณไม่ตั้งกรรมการ เราก็มาตั้งคำถามว่า เราผิดหรือ เรากลายเป็นเราผิดน่ะ กลายเป็นเราก่อความวุ่นวาย ซ้ำเติมที่เขาวุ่นกันอยู่น่ะ ห้ามเราก่อความวุ่นวาย แล้วถามว่าทำไมเขามาก่อความวุ่นวายกับชีวิตของเรา

 

เขาบอกว่าวันนี้ประเทศชาติเกิดความไม่มั่นคง แล้วชีวิตของพวกเราล่ะมันมั่นคงแล้วเหรอ? นี่คือสิ่งที่เราถามว่าเราได้อะไรจากสิทธิเสรีภาพอะไรในวันนี้ และที่ยิ่งน่าอดสูใจที่สุดคือการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ประกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้เอง สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ [2] เข้า ครม. แล้ว กฤษฎีกาตีความเรียบร้อยแล้ว รอขั้นตอนทูลเกล้า

 

ซึ่งตรงนี้เรารู้สึกกังวลนะ ถามว่ากลัวไหม เราวิตกกังวลมากกว่า ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น มันเกิดอะไรขึ้นกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนจริงๆ วันนี้พื้นที่ที่ประกาศกฎอัยการศึกเพิ่มมานี้นะ เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทั้งหมด เป็นพื้นที่ติดชายทะเลทั้งหมด และเป็นพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เช่น ประกาศ ต.ธงชัย ติดทะเลนะบ้านกรูด ประกาศตำบลแม่รำพึง ติดทะเลเลยนะ ประกาศ ต.กำเนิดนพคุณ ประกาศตำบลพงศ์ประกาศน์ ติดทะเลทั้งหมด ติดตลาด แต่ยกเลิกพื้นที่แนวชายแดน เช่น ต.ชัยเกษม ต.ร่อนทอง ทองกมล ยกเลิกหมดแล้ว ยกเลิกวันเดียวกัน ประกาศเพิ่มวันเดียวกัน นี่คือข้อสังเกตที่หนึ่งจากชาวบ้านที่ค้านโรงถลุงเหล็ก

 

ข้อสังเกตที่สองคือ ประกาศเพิ่มที่ ต.แสงอรุณ ต.ทับสะแก แต่ยกเลิกพื้นที่เขาล้าน ยกเลิกพื้นที่ติดแนวชายแดนเหมือนกัน ข้อสงสัยที่สามคือ ประกาศเพิ่มที่ ต.บ่อนอก แต่ยกเลิกพื้นที่ติดชายแดนตำบลสามกระทาย ด่านสิงขร

 

ถามว่าเกิดอะไรขึ้นในโลกนี้ บ่อนอกคือที่ต่อสู้ของเจริญ วัดอักษร ที่เสียชีวิต แล้ววันนี้พี่น้องบ่อนอกยังสู้อยู่ ธงชัยคือพื้นที่ต่อสู้ของชาวบ้านบ้านกรูด ทับสะแก คือพื้นที่ต่อสู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน แม่รำพึง คือ พื้นที่ต่อสู้โรงถลุงเหล็ก ถามว่าครอบคลุมพื้นที่ๆ ต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ในขณะที่เปิดจุดแนวชายแดนเพื่ออะไร วันนี้ไม่มีใครพูดตรงๆ ได้เลยว่าประกาศเพราะอะไร ต้องการที่จะสกัดกั้นสิทธิเสรีภาพหรือเปล่า สิ่งที่เราวิตกกังวลก็คือว่าวันที่ไม่ประกาศคุณก็ยังลุกลามสิทธิเสรีภาพ บังคับไม่ให้เรามีสิทธิ แล้ววันที่คุณประกาศคุณจะยิ่งบังคับสิทธิของเรามากเกินไปหรือเปล่า

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเราเจ็บปวดมากที่สุดก็คือการต่อสู้เพื่อทรัพยากร วันนี้ในพื้นที่เรา สถานการณ์ล่าสุดคือพวกเราก็ถูกกล่าวว่า การรักษาสิ่งแวดล้อม การลุกขึ้นสู้เพื่อชุมชนตามตามรัฐธรรมนูญ ถูกหาว่ากลายเป็นผู้ไม่มีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน มีการใช้เครื่องเสียงด่าเราประมาณ 20 นาที วิ่งรอบตลาดในตัวเมือง ทิ้งใบปลิว กล่าวหาให้ร่วมกันทำลายล้าง กลุ่มที่ขึ้นธงเขียวแล้วออกไปยื่นหนังสือตามที่ต่างๆ ให้พวกเราใช้ไม้ตอกตะปู ติดธงชาติ ทำลายกลุ่มนี้ให้หมด เพราะกลุ่มนี้มีพฤติกรรมอันเป็นคอมมิวนิสต์ วันนี้เราเจอเมื่อวันที่ 29 ที่ผ่านมา มีลักษณะของการจะปะทะกันตลอดเวลา เมื่อวันที่ 30 มีการจัดตั้งกลุ่มอันธพาลขึ้นมา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มียาเสพย์ติดเดิน มีผู้นำอิทธิพลหนุนหลัง มีการเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี แล้วบอกว่ามีสิทธิในการสนับสนุน ไปโผล่ทุกที่ๆ เราไป ถามว่าเราจะใช้สิทธิได้หรือไม่ ในขณะที่เขาก็มีสิทธิ เราก็มีสิทธิ แต่เขามีอำนาจหนุนหลัง แต่เราไม่มีเลย

 

เพราะฉะนั้นคราวนี้ถามว่าชาวบ้านได้อะไรจากการเมือง วันนี้มีพรรคการเมืองบางพรรครับเงินสนับสนุนจากโครงการขนาดใหญ่ไปแล้วอย่างเปิดเผย 20 ล้าน รับไปแล้ว ลงหนังสือพิมพ์ไปแล้ว ถามว่ารับไปแล้วต้องตอบสนองหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่เป็นคำถาม

 

แล้วสิ่งที่เรากังวลคือ วันนี้การเมืองทุกวันนี้ สองขั้ว สามขั้ว สี่ขั้ว คือการเมืองที่เป็นผลประโยชน์ของกลุ่มรับเหมาถมดิน กลุ่มผู้มีรถสิบล้อวงจรอุบาทว์ของนักการเมืองที่มีผลประโยชน์ตอบแทนโครงการขนาดใหญ่

 

ชาวบ้านจะได้อะไรจากการเลือกตั้ง เรายังมองไม่ออกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เข้าไปชาวบ้านจะได้อะไร ตรงไหน ถามว่าปฏิเสธการเลือกตั้งไหม เราไม่ปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่เราใช้สิทธิการเลือกตั้งอย่างรอบคอบ ฟังทุกอย่างอย่างรอบด้าน เช่น เราต้องรู้วันนี้หัวพรรคเป็นอย่างนี้ หางพรรคเป็นอย่างไร นี้คือสิ่งจำเป็นมากที่สุดของชาวบ้าน ชาวบ้านวันนี้ไม่ได้โง่ และจะตามดูต่อไปด้วยว่าวันนี้พรรคการเมืองไหนมีทุนกลุ่มไหนสนับสนุน แล้วพรรคการเมืองไหนมีธุรกิจอะไร นี่คือสิ่งที่เราต่อสู้มาตลอด 6 ปี ของชาวบ้านประจวบฯ และเราก็จะรอดูต่อไปพร้อมกับความไม่คาดหวังกับพรรคใดๆ เลยกับนักการเมืองทุกพรรค

 

นี่คือสิ่งที่เราอยากจะบอกเล่า อยากจะบอกเล่าสถานการณ์การเมืองในใจของประชาชน และอยากจะบอกว่าความเจ็บปวดที่ผ่านมาของประชาชนทุกกลุ่ม วันนี้มีรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไม่มีแรงผลักดัน พี่น้องที่ต่อสู้ทุกที่ก็ยังแพ้ ค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

 

000

 

 

เชิงอรรถ

[1] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2550

มาตรา ๖๗ สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อม ที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม

 

การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

 

สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง

 

 

[2] มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 เรื่อง การยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก ที่เคยประกาศเมื่อ 26 มกราคม พ.ศ. 2550 โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ และให้ใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

 

โดยที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการยกเลิกกฎอัยการศึก เฉพาะตำบลสามกระทาย และตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี ตำบลเขาล้าน ตำบลนาหูกวาง ตำบลห้วยยาง และตำบลอ่างทอง อำเภอทับสะแก ตำบลชัยเกษม ตำบลทองมงคล และตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน ตำบลช้างแรก และตำบลไชยราช อำเภอบางสะพานน้อย ตำบลเขาจ้าว อำเภอปราณบุรี ตำบลไร่เก่า ตำบลศาลาลัย และตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน ตำบลเกาะหลัก ตำบลคลองวาฬ ตำบลห้วยทราย และตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

 

และมีการประกาศเพิ่มกฎอัยการศึกที่ ตำบลกุยบุรี ตำบลกุยเหนือ ตำบลเขาแดง และตำบลดอนยายหนู อำเภอกุยบุรี ตำบลทับสะแก และตำบลแสงอรุณ อำเภอทับสะแก ตำบลกำเนิดนพคุณ ตำบลธงชัย ตำบล พงศ์ประศาสน์ และตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน ตำบลทรายทอง ตำบลบางสะพาน และตำบลปากแพรก อำเภอสะพานน้อย ตำบลเขาน้อย ตำบลปราณบุรี ตำบลปากน้ำปราณ ตำบลวังก์พง และตำบลหนองตาแต้ม อำเภอปราณบุรี ตำบลไร่ใหม่ และตำบลสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด ตำบลทับใต้ ตำบลบึงนคร ตำบลหนองพลับ และตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน และตำบลบ่อนอก และตำบลประจวบ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

 

ดูรายละเอียดที่ บ่อนอก-บางสะพาน-ทับสะแก เจอใบแดง ถูกประกาศเขตอัยการศึก ข้องใจ ฤๅอุ้มโรงถลุงเหล็ก ประจวบฯ, ประชาไท,  3 ธ.ค. 2550 http://www.prachatai.com/05web/th/home/10434

 

 

 

ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง

เสวนาที่ ม.เชียงใหม่ "เลือกตั้งในสถานการณ์รัฐประหาร", ประชาไท, 8 ธ.ค. 2550

จาตุรนต์ ฉายแสง: คนบ้านเลขที่ 111 มอง "การเลือกตั้ง" ในสถานการณ์ "รัฐประหาร", ประชาไท, 18 ธ.ค. 2550

ปณิธาน วัฒนายากร : "พ.ร.บ. ความมั่นคง" ไม่ถูกใจ 100 % แต่เป็นบันไดยกระดับงานความมั่นคง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท