มุมมองนักศึกษา ม.อุบลฯ : เศรษฐกิจพอเพียงในรั้วมหาวิทยาลัย

"พนา ใจตรง" นักศึกษาปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำเสนอบทความ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง กับปัญหาและสภาพการณ์ของมหาวิทยาลัยไทยในยุคโลกาภิวัตน์ (เศรษฐกิจพอเพียงในรั้วมหาวิทยาลัย) ในการประชุมเชิงวิชาการเรื่อง เหลียวหลังแลหน้าการเปลี่ยนแปลงสังคมชนบทอีสานช่วงทศวรรษ 2540-2550 กรณี"เศรษฐกิจพอเพียง: ความรู้และความไม่รู้" ที่จัดโดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2550 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  โดยมี รศ.สุริชัย หวันแก้ว จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ร่วมแสดงความเห็น  "ประชาไท" เรียบเรียงนำเสนอโดยย่อ ดังนี้


 

 

มหาวิทยาลัยกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจะสามารถเชื่อมโยงกันได้เป็นจริง ก็ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่เท่าเทียมและเป็นธรรม  นั่นคือ  รัฐจะต้องเข้ามาดูแลการศึกษา ให้การศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่จัดให้ประชาชนอย่างเสมอภาค

 

 

แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาในการดำรงชีวิตที่ต้องนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันภายใต้ทุนนิยมเสรี โดยเน้นความเพียงพอของชีวิต เป็นคุณค่าทางคุณธรรม จริยธรรม  แต่ไม่ได้เสนอทฤษฎีเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อรื้อถอนหรือแก้ไขระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ดังเช่นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สังคม หรือเศรษฐศาสตร์การเมือง

 

พิจารณาดูระบบการศึกษา ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพทางสังคม ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยไทยยังมีปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำพาสังคมออกจากวิกฤติปัญหาทางสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ และปัญหาทิศทางต่อสถานะของมหาวิทยาลัยเอง  สภาพการณ์เช่นนี้ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจะมีบทบาทเข้าไปทำอะไรได้บ้าง

 

กล่าวถึงสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยไทย ในปัจจุบัน เรามีสถาบันอุดมศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 121 แห่ง กระจายอยู่เกือบทั่วประเทศ ขณะที่ เยาวชนไทยมีโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาน้อยมาก(ข้อมูลปี 2543 มีเยาวชนที่จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเป็นหญิง 9.04% และชาย 8.51% ของประชากรที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป)  เนื่องจากรัฐไทยสนับสนุนน้อยมาก  มหาวิทยาลัยจึงไม่มีที่ยืนสำหรับคนจน  นี่เป็นปัญหาในแง่การกระจายโอกาสทางการศึกษา

 

ข้อมูลของผู้มีงานทำ ชี้ให้เห็นว่าผู้มีงานทำที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้จบการศึกษา แสดงว่ามีคนจำนวนมากต้องตกงาน  ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่มหาวิทยาลัยมุ่งเรื่องเศรษฐกิจ โดยเน้นผลิตนักศึกษาเพื่อป้อนตลาดแรงงานในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีเป็นจำนวนมาก  ไม่ได้มุ่งเรื่องคุณภาพ เป็นสาเหตุของปัญหานักศึกษาตกงาน

 

ขณะเดียวกัน นักศึกษาในอุดมคติที่สังคมต้องการ เป็นคนใฝ่รู้ มีเป้าหมายในชีวิต มีความคิดต่อส่วนรวม มีทักษะในการคิด/การแก้ปัญหา ก็ไม่อาจพบได้  สภาพนักศึกษาที่เป็นจริงในปัจจุบันมีแต่ความเบื่อหน่ายวิชาการ ไม่สนใจเรียน ใช้ชีวิตไปวันๆ กับวัตถุและความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ รักอิสระ สนใจแต่เรื่องตัวเอง คิดไม่เป็นระบบ หนีปัญหา และชอบที่จะประสบความสำเร็จอย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ซึ่งเป็นปัญหาที่ผูกติดมากับกระแสโลกาภิวัตน์ คือ วิถีบริโภคนิยม และระบบการเรียนการสอนที่เน้นเนื้อหาวิชาการในตำราที่ตายตัว

 

แม้แต่อุดมคติของมหาวิทยาลัยที่จะผลิตบัณฑิตออกมารับใช้ประชาชน รับใช้สังคม หรือชี้นำสังคมออกจากวิกฤติบัญหา  ปัจจุบันอุดมคติเหล่านี้ก็ถูกดึงเข้าสู่กระแสทุนนิยมภายใต้นโยบายทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์ของรัฐไทย   มหาวิทยาลัยมุ่งแต่ผลิตบัณฑิตเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน  เปิดหลักสูตรเยอะแยะที่หางานทำได้ง่ายตามกระแสทุนนิยม ทำให้มหาวิทยาลัยได้กำไร  มุ่งทำงานวิจัยที่ตอบสนองผลประโยชน์ต่อทุน/ธุรกิจเป็นสำคัญ เป็นต้น

 

ยิ่งกว่านั้น การผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ  จะยิ่งเป็นการผลักดันมหาวิทยาลัยให้เดินไปตามกระแสทุนนิยมมากขึ้น มหาวิทยาลัยต้องคิดกลยุทธ์ทางการตลาด เข้าสู่ระบบแข่งขันเพื่อดึงลูกค้า คือ นักศึกษา  สร้างหลักสูตรเพื่อรองรับนักศึกษา โดยไม่กำหนดทิศทางที่ชัดเจนว่านักศึกษาที่จบแล้วจะอยู่ตรงไหน ทำอะไรให้สังคมบ้าง  การแปรรูปมหาวิทยาลัยจะนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเชิงธุรกิจการค้าที่ชัดเจน มุ่งหากำไรกับนักศึกษาอย่างเต็มที่ โดยเพิกเฉยต่อบทบาทที่ควรมีต่อสังคม

 

ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ในระบบทุนนิยมโลกและปัญหาสังคมที่สลับซับซ้อน การศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะเป็นเครื่องมือในการฝ่าข้ามวิกฤติ  หากมหาวิทยาลัยสามารถปฏิรูปองค์กรเข้าสู่ภาระหน้าที่ที่มีต่อสังคมแล้ว  มหาวิทยาลัยก็จะยังมีคุณค่าในฐานะปราการความรู้ของสังคม  หาไม่แล้ว มหาวิทยาลัยก็จะเพียงแค่เครื่องมือของกลไกตลาดในระบบทุนนิยมเสรี ในการผลิตบุคลากรที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวและรับใช้ระบบทุน มุ่งแต่การแข่งขัน และกดขี่ขูดรีดคนชั้นล่างต่อไป

 

จากปัญหาและสภาพการณ์ของมหาวิทยาลัยเช่นนี้ ปฏิบัติการตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในรั้วมหาวิทยาลัยจะเป็นคำตอบในการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร   

 

ปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้บรรจุเนื้อหาการเรียนการสอน และการจัดทำตำราทางวิชาการ ที่เชื่อมโยงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปในหลักสูตรสำหรับนักศึกษา แต่การนำไปใช้ขึ้นอยู่กับว่ามหาวิทยาลัยจะนำไปใช้อย่างไร บางแห่งสอดแทรกลงไปในเนื้อหาการบรรยาย, บางแห่งใช้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร เช่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีโครงการบัณฑิตศึกษาในระดับมหาบัณฑิต และปริญญาดุษฎีบัณฑิต พัฒนบูรณาการศาสตร์ เปิดโอกาสให้ทำวิทยานิพนธ์และปริญญานิพนธ์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง,  บางแห่งเปิดสอนเป็นรายวิชา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดสอนรายวิชาพัฒนาชุมชนบนฐานเศรษฐกิจพอเพียง,  บางแห่งเปิดเป็นหลักสูตร เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร เปิดหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง(พร้อมกับหลักสูตรอัญมณีและเครื่องประดับ) ทุกมหาวิทยาลัยถือเป็นภาระหลักของผู้รับผิดชอบ มีโครงการอบรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเยอะแยะ ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง

 

ในส่วนของกิจกรรมนักศึกษา แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้สอดแทรกเข้าไป มหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดกิจกรรมออกค่ายพาน้องดำนา ศึกษาปัญหาชุมชน, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีโครงการชวนน้องดำนา ใช้งบประมาณ 290,000บาท เพื่อให้นักศึกษาได้รู้คุณค่าของชาวนาและความยากลำบาก

 

แต่ในขณะที่มหาวิทยาลัยต่างกระตือรือร้นที่จะนำเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน จัดอบรม/สัมมนา ทำโครงการมากมาย ข้อสังเกตคือสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขอะไร กษัตริย์นิยม หรือตามกระแส หรือเป็นเพียงเครื่องมือในการหางบประมาณ

 

ถ้าเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจพอเพียงในรั้วมหาวิทยาลัยก็เป็นเพียงแค่การรับรู้ในเชิงคุณค่า และความหมายในเชิงนามธรรมเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำพามหาวิทยาลัยให้หลุดพ้นจากวังวนของปัญหาภายใต้ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้ 

 

มหาวิทยาลัยกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจะสามารถเชื่อมโยงกันได้เป็นจริง ก็ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่เท่าเทียมและเป็นธรรม  นั่นคือ แทนที่จะคิดอย่างทอดทิ้งว่ามหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยคนชั้นกลางและคนร่ำรวย สมควรจ่ายค่าเล่าเรียนเอง แล้วลอยแพการศึกษาและมหาวิทยาลัยไทยให้เป็น"สถานเลี้ยงเด็กของชนชั้นกลาง"   รัฐจะต้องเข้ามาดูแลการศึกษา ให้การศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่จัดให้ประชาชนอย่างเสมอภาค   ปฏิรูปการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมและประชาชนเป็นหลัก  และสร้างอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยให้เข้มแข็ง จนสามารถรองรับปัญหา/ชี้นำอนาคตของชาติ ควบคู่ไปกับการผลิตบัณฑิตที่ตอบสนอง/สอดคล้องกับปัญหา และมีคำตอบสำหรับทางออกของสังคม

 

 

 

"เศรษฐกิจพอเพียง"ในโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำต่ำสูง/ไม่เป็นธรรม เป็นเครื่องมือการศึกษาที่ไปช่วยให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือไปดำรงรักษาระบบโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำให้ดำรงอยู่ต่อไปหรือเปล่า

 

 

รศ.สุริชัย หวันแก้ว :       สิ่งที่คุณพนานำเสนอทำให้เห็นว่า สังคมไทยแย่ มหาวิทยาลัยแย่ นักศึกษาแย่  แต่เราก็ต้องคิดด้วยว่ามหาวิทยาลัยเป็นอย่างไรเราก็ต้องมีส่วนในการแบกรับด้วย การที่จะถกเรื่องมหาวิทยาลัยว่าจะคาดหวังได้แค่ไหน  เราต้องถกว่า บนพื้นฐานของความยากลำบากและปัญหาของมหาวิทยาลัย เราทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่เพียงแค่คิดหลักสูตรแล้วมีคำว่า"เศรษฐกิจพอเพียง" แล้วก็จบ ปัจจุบันมีสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงในระดับมหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า 5 แห่ง

           

ประเด็นต่อมา สังคมไทยปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก เราจะมองด้วยเกณฑ์ที่คุ้นเคยอาจจะไม่ถนัด มีคนหลายกลุ่มหลายประเภทจนเราต้องมองว่าเขาคิดอย่างไร การที่นักศึกษาไม่เข้าเรียน แปลว่าเขาไม่รับผิดชอบ คงเป็นการด่วนสรุปเกินไป  การเรียนรู้ไม่ได้เรียนรู้จากอาจารย์ได้อย่างเดียว เขาเรียนรู้จากสิ่งอื่น  การที่อยากเห็นนักศึกษาเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงไม่ค่อยสอดคล้องนักกับสิ่งที่นักศึกษาปัจจุบันกำลังนึกคิด  ความสามารถในการทำงานเชิงสังคมก็มีหลากหลายมาก สังคมที่เราอยากให้ดีขึ้นก็มีหลากหลาย ไม่ใช่ต้องไปทำในรูปแบบที่เราคุ้นเคย  

 

ดังนั้นการจะถกเรื่องสังคมมหาวิทยาลัยว่ามีความหวังหรือไม่  เราจะถกด้วยอุดมคติของเราคงไม่พอ ต้องถกกับคนรุ่นใหม่ว่ามีความหวังอย่างไร เขาสู้กับอะไร เขาสู้กับความเบื่อหน่ายในการนั่งฟังเลคเชอร์ว่าไม่ทันโลก  แล้วเราจะมาส่งเสริมให้เขาเบื่อหน่ายต่อๆ ไปหรือ  พลังนักศึกษาอาจไม่มีความสำคัญในการเมืองเชิงอำนาจ แต่เป็นการเมืองของการรู้ทัน เราไม่อาจตัดสินโดยไม่แลกเปลี่ยนกันได้

 

ประเด็นสุดท้าย  เศรษฐกิจพอเพียงในสังคมที่ไม่เป็นธรรม/โครงสร้างที่เหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นบริบทที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ข้อมูลล่าสุดในรายงานวิจัยของ อ.อัมมาร์ ที่เสนอในการสัมมนาประจำปีของ TDRI ชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้แย่กว่าเดิมไปขนาดไหน  เราจะพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หรือพอเพียงนิยมเหมือนอยู่ในโลกความฝันไม่ได้   "เศรษฐกิจพอเพียง"ในโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำต่ำสูง/ไม่เป็นธรรม เป็นเครื่องมือการศึกษาที่ไปช่วยให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือไปดำรงรักษาระบบโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำให้ดำรงอยู่ต่อไปหรือเปล่า โดยใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแค่ยาหอมชโลมใจ  

 

มันมีการใช้เศรษฐกิจพอเพียงไปในเรื่องอะไรก็ได้โดยไม่มีการตรวจสอบด้วยสติปัญญาร่วมกันของสังคมไทย เป็นเครื่องมือในการหางบประมาณ, ตั้งชื่อวิชาใหม่ๆ เพื่อได้รับอนุมัติงบประมาณง่ายๆ หรือรายการโฆษณาที่หางบง่าย  ถ้าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอะไรที่มากกว่านี้ ก็ต้องปฏิบัติให้ได้จริงด้วย ต้องช่วยกันให้เรื่องนี้มีบทบาทในทางวิชาการที่สร้างสรรค์ขึ้นกว่านี้

 

ในระดับโลก เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ใช้พลังงานสิ้นเปลือง/โลกร้อน  ยิ่งรวมกับพฤติกรรมมนุษย์ในระบบสังคมที่ไม่เพียงพอ  ประเทศไทยไม่พอ ก็ไปสร้างเขื่อนในพม่า เบียดเบียนทรัพยากรของพม่า, ลาว  ถ้าเศรษฐกิจพอเพียงพูดอยู่เฉพาะคนไทย ผลประโยชน์ของประเทศไทยอย่างเดียว ก็จะเป็นเครื่องมือทำให้ลืมไปว่า เราเป็นต้นตอของปัญหาในภูมิภาค

 

ทำอย่างไร เศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นมากกว่าเครื่องมือของคนเหล่านั้น/เหล่านี้ ทำอย่างไรจะเป็นฝ่ายรุกในการถกเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงว่าไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของคนที่มีสติที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน สร้างพื้นที่ร่วมกันในสังคมให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท