Skip to main content
sharethis

ปาริฉัตร มังคละและศิริลักษณ์ สายบัว: เรียบเรียง


 



 


เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมบริการวิชาการ (Uniserv) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดเวทีภาคประชาชนเหนือ โดยกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มนักศึกษาปริญญาโทเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ องค์กรประชาชนภาคเหนือ และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยในช่วงบ่าย มีการอภิปรายถึงประเด็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับการพิจารณากฎหมายสำคัญๆ หลายฉบับอย่างเร่งด่วน จนถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งองค์กรภาคประชาชนได้รวมตัวกันชุมนุมกดดันเพื่อให้ สนช.ยุติการร่าง พ.ร.บ.และให้ยุติบทบาทดังกล่าว


 


และนี่คือเหตุผลของเครือข่ายภาคประชาชน ภาคเหนือ ว่าทำไมถึงต้องออกมาคัดค้าน สนช.และต่อต้าน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับคณะรัฐประหาร โดยเฉพาะกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเกี่ยวข้องกับภาคประชาชนโดยตรง อาทิ ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ, ร่าง พ.ร.บ.สภาการเกษตรแห่งชาติ, ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน, ร่างพ.ร.บ.สัญชาติ, ร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ เป็นต้น


 


                                                                        o o o o


 


นายอินทอง ไชยลังกา ตัวแทนเครือข่ายน้ำ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.น้ำที่ออกมาโดย สนช. นั้น จะทำให้น้ำกลายเป็นของรัฐ ซึ่งจัดการโดยกลไกตลาด ใครสามารถซื้อน้ำได้มากก็จะมีสิทธิในการได้ใช้น้ำนั้นมากตามไปด้วย เป็นการสร้างตลาดน้ำขึ้นมาเหมือนกับตลาดที่ดิน ซื้อขายไม่ต่างอะไรกันเลย ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมืองหรือชนบท ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยวก็มีความต้องการที่จะใช้น้ำ ทีนี้มันก็จะเกิดความขัดแย้ง จึงต้องมีสถาบันหรือกลไกต่างๆเข้ามาเพื่อที่จะทำการแก้ไขปัญหา เกิดการต่อรองกัน อย่างเช่น  การใช้กฎหมายน้ำในการแก้ไขปัญหาหรือการทำการใดๆ ซึ่งรัฐเข้าไปจัดการกลไกตลาดใหม่ สนช.เองก็พยายามผลักดันกฎหมายน้ำนี้ออกมา


 


"ถ้าหากกฎหมายนี้ออกมา น้ำทุกหยด ก็จะถูกตีมูลค่าเป็นตัวเงินทั้งหมด ชาวบ้านก็จะลำบาก น้ำก็จะถูกขึ้นราคา เหมือนราคาน้ำมัน" ตัวแทนเครือข่ายน้ำ กล่าว


 


นายจอนิ โอโดเชา ตัวแทนชนเผ่าและเครือข่ายป่าชุมชน ภาคเหนือ กล่าวว่า ถ้าพูดถึงการสร้างกฎหมายหรือกลไกขึ้นมาจัดการทรัพยากรที่ต้องใช้ร่วมกัน เช่น ดิน น้ำ ป่า หัวใจสำคัญเราต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรไม่ใช่เป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดการ ถึงแม้ว่าคนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในป่าก็สามารถมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรได้ในการออกกฎหมายหรือออกกลไกต่างๆต้องคำนึงถึงความยุติธรรม ถ้าไม่มีหลักการนี้แล้วมันก็จะเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ


 


"ซึ่งดูแล้ว สนช.เองก็คงจะไม่มีความเข้าใจในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตหรือทรัพยากรของชุมชนได้อย่างถ่องแท้สักเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งต่อไปอีกแน่นอน"


 


ด้านนายมนตรี อิ่มเอก จากเครือข่ายสื่อภาคประชาชน ภาคเหนือ กล่าวว่า การสื่อสารผ่านคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์ เป็นสิ่งที่เราเคลื่อนไหวมาโดยตลอด เราต้องการใช้คลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์เป็นของส่วนรวม ใช้เพื่อการแสดงความคิดเห็นในเรื่องราวต่างๆ ให้มีลักษณะเป็นอิสระ เสรี ปราศจากการครอบงำ หรือมีผลประโยชน์เข้ามาแทรกแซง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหลักพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้านี้ก็ได้มีความพยายามทำลายสื่อวิทยุชุมชนเป็นอย่างมาก


 


"และมาถึงตอนนี้ สนช.ก็ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลชุดก่อนเลย มีความต้องการที่จะทำลายสื่อวิทยุ พยายามเอาวิทยุหรือสื่อโทรทัศน์เข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของทหารและราชการ ซึ่งล้วนแต่หวังผลประโยชน์ทั้งสิ้น วิทยุชุมชนจึงกลายเป็นเป้าที่ขัดผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุนหรือราชการ กลุ่มเหล่านี้จึงมีความพยายามให้วิทยุชุมชนต้องมีการโฆษณาคั่นรายการด้วย เพราะนี้เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ได้ผลประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงแล้ววิทยุชุมชนไม่มีโฆษณาก็สามารถอยู่ได้เช่นกัน เพราะ คลื่นความถี่เป็นของส่วนรวม เราควรที่จะมีการจัดระดับในการใช้คลื่นความถี่ เราจึงไม่เห็นด้วยกับการที่ สนช.เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ และต้องหยุด พ.ร.บ.นี้ไว้ก่อน และ สนช.ต้องยุติบทบาทหน้าที่ทันที เมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 แล้วก็ค่อยๆเริ่มต้นพิจารณากฎหมายตัวนี้เสียใหม่ในรัฐบาลชุดต่อไป" ตัวแทนเครือข่ายสื่อภาคประชาชน ภาคเหนือ กล่าวย้ำ


 


ในขณะที่ นางสาวหทัยรัตน์ บ่อโพธิ์ ตัวแทนจากเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ก็กล่าวถึงประเด็นแรงงานข้ามชาติ ว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน รัฐพยายามที่จะออกกฎหมายควบคุมแรงงานข้ามชาติ ควบคุมการกระทำทุกอย่าง เช่น ห้ามเผยแพร่วัฒนธรรมของแรงงานในประเทศไทย เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกินพอดี ทำให้เราคิดได้ว่า ในความเป็นจริง ภาครัฐบาลเป็นฝ่ายยุยงให้เกิดความแตกแยกในสังคมหรือไม่ ซึ่งกฎหมายตัวนี้มีหลายจังหวัดที่ออกมาแล้ว


 


"ทางกลุ่มเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ จึงมีความพยายามที่อยากให้ยกเลิกประกาศกฎหมายตัวนี้ เพราะอย่าลืมว่า ประเทศไทยก็ยังมีความต้องการแรงงานกลุ่มนี้อยู่เป็นจำนวนมาก ทำอย่างไรถึงจะช่วยลดปัญหาและอยู่ร่วมกันในสังคมไทยได้ ดังนั้น การจะออกกฎหมายจะต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของความเป็นคนให้มากยิ่งขึ้น ถ้าไม่อย่างนั้นแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างแดนก็อาจจะถูกกระทำไม่ต่างอะไรกับแรงงานข้ามชาติในไทย ที่ถูกภาครัฐกระทำโดยใช้กฎหมายเป็นตัวทำลาย"


 


นายธนา ยะโสภา ตัวแทนจากเครือข่ายที่ดิน ก็ได้ออกมาวิพากษ์ปัญหาการจัดการที่ดินที่ผ่านมาว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน ของรัฐบาลชุดคณะปฏิวัติ รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ การปฏิวัติรัฐประหารนั้น ไม่ได้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความจริงใจในการบริหาร ในการแก้ไขปัญหา มองไม่เห็นปัญหาของเกษตร ชาวไร่ ชาวนา คนระดับล่าง พยายามออกกฎหมายความมั่นคงให้ตัวเองได้อยู่ต่อ เสวยสุขถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ส่วนชาวบ้านก็ทุกข์ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ความจริงใจของชนชั้นปกครองมีน้อย มีการโกหก หลอกลวงชาวบ้าน ไม่ว่าจะสมัยทักษิณหรือสมัย คมช. ก็ไม่ต่างกันเลย


 


นายธนา กล่าวต่อว่า กฎหมายที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรที่ไม่ต่างกับกฎหมายความมั่นคง คือ กฎหมายการปฏิรูปที่ดิน เพราะไม่ได้พูดถึงเกษตรกรเลย ปกป้องแต่สถาบันของตนเอง ผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองเท่านั้น เช่น มีการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ แต่กลับมีความพยายามเตะถ่วงไม่ออกกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน หรือปฏิเสธการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไรถึงจะขยายเครือข่าย ขยายความคิดและเกาะกลุ่ม เพื่อสร้างพลังให้แข็งแกร่ง เพื่อต่อรองกับอำนาจรัฐที่ไม่สนใจดูแลทุกข์สุขของประชาชน


 


"พวกเราต้องขยายความคิดเผยแพร่สื่อต่างๆ เช่น สื่อวิทยุชุมชน หรือมีการจัดเวที สร้างพลังให้มันใหญ่ขึ้นมาให้ได้ เพราะตราบใดที่กฎหมายที่รัฐบาลยุค คมช.ไม่ได้รับการแก้ไข การอยู่ดีมีสุขคงเป็นไปได้ยาก เราต้องฟันฝ่าและรวมตัวเพื่อผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยกว่านี้ให้เกิดขึ้นในอนาคตโดยเร็วที่สุด มิเช่นนั้นสุดท้ายแล้วอำนาจการตัดสินใจก็จะไม่ได้อยู่ในมือประชาชนอย่างแท้จริงสักที" ตัวแทนเครือข่ายที่ดิน กล่าวทิ้งท้าย


 


ในขณะที่นายอานัต แสงจู นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงที่ สนช.ได้เสนอให้มีการ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า เรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เป็นการแปรรูปของรัฐบาล เหมือนกับความพยายามที่จะเอาการไฟฟ้าออกนอกระบบ ให้เป็นเอกชน โดยอ้างว่าที่ต้องให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน มหาวิทยาลัยมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ในการดำเนินงานต่างๆ มากขึ้น เป็นการลดรายจ่ายของรัฐบาล รัฐไม่ต้องแบกรับภาระ


 


"แต่นี่เป็นการผลักภาระให้กับประชาชน เพราะเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว แม้จะมีการออกมาบอกว่าจะไม่ขึ้นค่าเทอมแน่นอน แต่ค่าสาธารณูปโภคก็คงต้องสูงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพของนักศึกษาต้องเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เป็นการตัดโอกาสผู้ที่มีรายได้น้อย เนื่องจากต้นทุนทางการศึกษานั้นสูงขึ้น เป็นการปิดโอกาสลูกหลาน แรงงาน เกษตกร ประชาชนที่เป็นชนชั้นล่างของสังคม ในการเข้ารับการศึกษา รวมถึงหลักสูตรบางหลักสูตรอาจจะต้องถูกปิดตัวลง เพราะไม่ได้ทำรายได้ให้กับมหาวิทยาลัย เช่น ศิลปวัฒนธรรม ปรัชญา  จากการที่มหาวิทยาลัยผลิตนักศึกษาเพื่อรับใช้ชุมชน สังคม ก็จะกลายเป็นผลิตนักศึกษาเพื่อบริษัทใดบริษัทหนึ่ง อาจจะทำให้นักศึกษาขาดจิตสำนึกในการรับใช้ชุมชน สังคม" ตัวแทนนักศึกษา มช. กล่าว


 


ตัวแทนนักศึกษา มช. กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา การที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น มหาวิทยาลัยก็ปิดเงียบ นักศึกษา 90% ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่รู้เรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเลย


 


ด้าน ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวในเวทีดังกล่าวว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่จัดความสัมพันธ์ทางอำนาจไม่ลงตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รัฐมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงหรือรัฐคิดว่าความเปลี่ยนแปลงต่างๆเป็นอันตรายต่อความมั่งคงของรัฐ เช่น กรณีน้ำ รัฐมองเห็นว่าการขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาใหญ่ แต่รัฐไม่ได้มองเห็นว่าการจัดการที่ดีควรจะเป็นอย่างไร กรณีที่ดิน ที่ดินส่วนใหญ่ที่มีโฉนด ประมาณ 70 % กระจุกตัวอยู่เฉพาะในกลุ่มคน 300 ตระกูลเท่านั้น ซึ่งรัฐไม่เคยคิดว่า การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินเป็นอันตรายต่อความมั่นคง โดยความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับความสัมพันธ์ทางอำนาจที่รัฐกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 40


 


ดร.อรรถจักร์ กล่าวต่อว่า การเมืองในวันนี้ มันขัดแย้งกับความสัมพันธ์ทางอำนาจ และถูกทำให้เลวร้ายลงหลังรัฐประหาร เกิดภาวะซ้ำเติมโดยรัฐประหาร ทำให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจบิดเบี้ยวมากขึ้น การออกกฎหมายต่างๆเกิดขึ้นบนความไม่เข้าใจ ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเลย แต่กลับซ้ำเติมให้หนักขึ้น พ.ร.บ.ความมั่นคงก็มีแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น เช่น การเกิดอคติเกี่ยวกับแรงงานชาติพันธุ์ แรงงานต่างด้าว ชนเผ่าต่างๆ แรงงานนอกระบบที่เป็นแรงงงานที่หล่อเลี้ยงประเทศไทย ซึ่งจริงๆ แล้วจะต้องได้รับการดูแลจากประเทศไทยเท่าเทียม ควรได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองของประเทศอย่างเต็มเปี่ยม รวมทั้งแรงงานในระบบก็ต้องได้รับการพิทักษ์ เพื่อให้พลเมืองไทยอยู่รอดภายใต้เงื่อนไขของเสรีนิยมให้ได้


 


"แต่ว่าการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ สนช. ทำอยู่นี้ จะผลักประเทศตกเหวในทุกรูปแบบ รวมทั้งการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจที่มีเทวดา 8 คนกำกับ ยิ่งจะทำให้พังพินาศ การเปลี่ยนแปลงทั้งหมด เราจำเป็นต้องชี้ให้สังคมไทยเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ เราต้องมีการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจกันใหม่


 


ดร.อรรถจักร์ ยังได้พูดถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ด้วยว่า จะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเครื่องมือของประชาชน จะต้องสร้างญัตติสาธารณะให้มีพลัง เพื่อให้พรรคการเมืองเห็น เพราะทุกวันนี้การเลือกตั้งเป็นเพียงเครื่องมือของการต่อสู้ของชนชั้นนำเท่านั้น


 


"ดังนั้น พรรคใดอยากได้เสียงเราต้องประกาศว่า จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 เพื่อพวกเราจะได้มีส่วนในการกำกับความสัมพันธ์ทางอำนาจ ต้องยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคงทั้งหมด ต้องเรียกร้องให้พรรคการเมืองเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ซึ่งการรวมกลุ่มจะทำให้เรามองเห็นซึ่งกันและกัน สามารถกดดันพรรคการเมือง กดดันราชการได้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net