Skip to main content
sharethis




พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา


ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย


 


สืบเนื่องจากบทความเรื่อง สิทธิผู้ป่วยกับศักดิ์ศรีขององค์กรของชำนาญ จันทร์เรืองในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวันที่ 19 ธ.ค. 2550 นั้น ดิฉันเห็นว่ายังมีข้อความคลาดเคลื่อนอยู่เป็นอันมาก น่าจะเกิดจากการที่ผู้เขียนบทความนั้น ได้รับทราบข้อมูลเพียงข้างเดียว และไม่เคยได้ทราบความจริงในกรณีนี้ ในฐานะที่ดิฉันเคยเป็นกรรมการแพทยสภาในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์นี้ จึงอยากจะทำความเข้าใจกับประชาชนในเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่กล่าวถึงสิทธิผู้ป่วยตามประกาศแพทยสภาและสภาวิชาชีพอื่นๆ นั้น ในกรณีนี้ ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ทางโรงพยาบาลชุมชน (อำเภอ) นั้น ไม่มีแพทย์และพยาบาลดมยา แต่แพทย์ทั้งสองท่านก็มีประสบการณ์ในการผ่าตัดไส้ติ่งโดยการบล็อคหลัง (ฉีดยาระงับความรู้สึกทางประสาทสันหลัง) จึงได้ตกลงที่จะทำการผ่าตัดไส้ติ่งให้ผู้ป่วย โดยได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยแล้ว


แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยหยุดหายใจกะทันหันจากปฏิกิริยาหลังการบล็อคหลัง แพทย์ทั้งสองท่านก็ได้พยายามช่วยฟื้นคืนชีพอย่างเต็มกำลังความสามารถ จนอาการดีขึ้นแล้วจึงได้ส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลศูนย์ (การแพทย์) และแพทย์ได้เดินทางไปกับรถพยาบาลเพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยตลอดการเดินทาง และผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างเต็มที่แต่ก็ไม่สามารถที่จะยื้อแย่งชีวิตผู้ป่วยกลับคืนมาได้


เมื่อผู้ป่วยถึงแก่กรรม แพทย์ก็เสียใจอยู่แล้ว และได้พยายามอธิบายให้ญาติผู้ป่วยทราบ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ญาติอาจจะไม่เข้าใจการอธิบายเพราะในอารมณ์ที่มีการสูญเสียเกิดขึ้น ตามปกติก็จะทำใจลำบากในการยอมรับเหตุการณ์อันไม่คาดคิดนี้ การอธิบายของแพทย์จึงดูเหมือนจะเป็นการแก้ตัวไป ในกรณีนี้ ญาติผู้ป่วยจะได้รับการชดเชยตาม ม.41แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ


อย่างไรก็ตาม ญาติได้นำเรื่องไปฟ้องศาลแพ่ง และศาลอาญา ซึ่งในกรณีฟ้องศาลแพ่งนั้น กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงจะเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงิน 600,000 บาท ตามคำสั่งศาล แต่กระทรวงสาธารณสุขได้ยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่าการปฏิบัของแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยรายนี้ เป็นไปตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขที่ถือปฏิบัติกันมาตามปกติวิสัยอยู่แล้ว คือแพทย์ทั่วไปที่ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตทุกคน ย่อมมีความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นการบล็อคหลัง การผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน เช่นการผ่าตัดไส้ติ่ง การผ่าตัดคลอด (cesarian section) เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทั้งแพทย์ทั่วไป แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาต่างๆ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ แพทยสภาไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น


แต่ญาติผู้ป่วยก็ได้ร้องเรียนมายังแพทยสภาให้ดำเนินการสอบสวนกรณีนี้ และแพทยสภาก็ได้ตัดสินโดยอ้างอิงความเห็นของราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์นั้น ในกรณีนี้ก็คือองค์คณะผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิสัญญี (ราชวิทยาลัยหมายความถึงองค์กรวิชาชีพแพทย์ที่เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่สุดในสาขานั้นๆ ) และคณะผู้เชี่ยวชาญนี้ถือว่าเป็นที่สุดของแพทย์สาขาวิสัญญี ( (เชี่ยวชาญในการให้ยาระงับความรู้สึก)


โดยในกรณีนี้ราชวิทยาลัยวิสัญญีได้ให้ความเห็นว่า "สำหรับกรณีนี้ เป็นโรงพยาบาลชุมชน แพทย์ซึ่งเป็นผู้ผ่าตัดได้ทำการบล็อคหลัง และให้พยาบาลมาดูแลต่อ เมื่อพบว่าผู้ป่วยไม่หายใจจึงได้ใส่ท่อช่วยหายใจ และทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardio Pulmonary Resuscitation) จนผู้ป่วยกลับมาหายใจเองได้ และสัญญาณชีพ (vital signs) ดีแล้ว (สัญญาณชีพ หมายถึงสัญญาณแห่งการมีชีวิต คือ การหายใจ การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และอุณหภูมิของร่างกาย) จึงได้ส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลใหญ่ (ในที่นี้คือโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่มากจึงเรียกว่าโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช) โดยหมอได้ดูแลรักษาผู้ป่วยไปตลอดทางบนรถพยาบาลที่ส่งต่อ และนำส่งจนถึงห้องผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) แล้วจึงได้เดินทางกลับ ซึ่งการปฏิบัติงานครั้งนี้ ราชวิทยาลัยเห็นว่าเป็นการปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังความสามารถภายใต้สภาวการณ์ของโรงพยาบาลประจำอำเภอที่เรียกว่าโรงพยาบาลชุมชนนี้"


ฉะนั้นแพทยสภาจึงได้แจ้งผลการตัดสินให้ผู้ร้องเรียนทราบ ว่าในกรณีนี้ ถือว่าแพทย์ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ ตามมาตรฐานของโรงพยาบาลชุมชนแล้ว จึงถือว่าเป็นกรณี "คดีไม่มีมูล"


แต่อย่างไรก็ตาม แพทยสภามิได้ก้าวล่วงไปจนถึงห้ามมิให้หมอขอโทษญาติผู้ป่วย (ตามที่ผู้เขียนบทความนี้กล่าวอ้างแต่อย่างใด) และในขณะที่รอการตัดสินอุทธรณ์ของศาลแพ่ง ญาติได้นำเรื่องไปร้องตำรวจและตำรวจได้ทำสำเนาสอบสวนส่งอัยการจังหวัด แต่อัยการจังหวัดสั่งไม่ฟ้อง แต่ทางญาติได้ดำเนินการต่อโดยไปร้องเรียนถึงอัยการเขต จนอัยการเขตสั่งฟ้องหมอเป็นคดีอาญา และผลการตัดสินโดยศาลจังหวัดทุ่งสงได้ตัดสินให้จำคุกหมอ 3 ปีโดยไม่รอลงอาญา ตามที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว


เหตุการณ์นี้จึงเป็นอุทาหรณ์ว่า การที่แพทย์มีความตั้งใจดีที่จะดูแลรักษาผู้ป่วย แล้วเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "อาการแทรกซ้อน หรือเหตุสุดวิสัย หรืออาการอันไม่พึงประสงค์" เกิดขึ้น จนมีผลให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยจนถึงแก่ความตาย แพทย์ผู้ "พยายามจะดูแลรักษาผู้ป่วยให้พ้นความเจ็บปวดทรมานจากการเป็นไส้ติ่งอักเสบ " กลับต้องตกเป็นอาชญากรฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ทำให้แพทย์ทั้งหลายเกิดความไม่สบายใจในการประกอบวิชาชีพแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ในโรงพยาบาลอำเภอที่ยังอ่อนวัย "อ่อนหัด" ด้อยประสบการณ์ กลับถูกกระทรวงสาธารณสุขจัดสรรให้ไปทำงานเป็นด่านหน้าในโรงพยาบาลอำเภอ (ที่ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ ขาดบุคลากรและขาดเครื่องมือเครื่องใช้)


โดยการ "บังคับให้ชดใช้ทุน" ในการที่รัฐบาลลงทุนตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นมา (อันนี้ก็เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมอีกอันหนึ่งที่จะต้องขอแก้ไขกันต่อไป) ทำให้แพทย์รุ่นใหม่วัยใสๆ ที่จะเป็นอนาคตของวงการแพทย์พากันลาออกจากกระทรวงมากขึ้นทุกปี เพราะนอกจากจะต้องทำงานหนัก เงินเดือนน้อย แล้วยังเสี่ยงต่อการ "เป็นอาชญากรฆ่าคนตายโดยประมาท" อีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้วงการแพทย์ไทยขาดแพทย์รุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้พัฒนาวงการแพทย์ไทยในอนาคต เป็นที่น่าวิตกว่าวงการแพทย์ไทยคงจะตกต่ำกว่าการแพทย์ในประเทศแถบอาเซียนอย่างแน่นอน มิพักต้องไปเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาทั้งหลาย


ผลของเหตุการณ์นี้ ต่อไปโรงพยาบาลอำเภอที่ไม่มีหมอศัลยกรรม หมอวิสัญญี ก็คงไม่กล้าผ่าตัด ไม่กล้าทำคลอด เพราะการคลอดนั้นถ้าเกิดปัญหาก็จะต้องผ่าตัดคลอด ถ้าถือเอาบรรทัดฐานจากคำพิพากษานี้เป็นตัวอย่างแล้ว การผ่าตัดและการให้ยาสลบโดยไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะถือว่า "ไม่ได้มาตรฐาน" และถ้าเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้น แพทย์ก็จะกลายเป็นอาชญากรฐานฆ่าคนตายโดยประมาทอีก ฉะนั้น เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นจำเลยศาลอาญา ต่อไปแพทย์ก็คงเลือกที่จะส่งผู้ป่วยต่อไปโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย มากกว่าที่จะ "พยายามช่วยเหลือรักษาผ่าตัด" ผู้ป่วยจนสุดความสามารถเหมือนเดิม ผู้ป่วยก็อาจไป "ตายกลางทางจากมดลูกแตก ไส้ติ่งแตก ฯลฯ" และแพทย์ก็อาจตกเป็นจำเลยอีกในฐานที่ส่งผู้ป่วยช้าเกินไป ฉะนั้นแพทย์ก็คงอยากลาออกจากกระทรวงสาธารณสุขอีกต่อไป ถ้ายังไม่แก้ไขระบบการ


บริการทางการแพทย์และการคุ้มครองแพทย์ที่พยายามปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มกำลังความสามารถเช่นนี้ และผลเสียหายร้ายแรงย่อมตกแก่ประชาชนตาดำๆ ในท้องที่ห่างไกลเป็นกลุ่มแรกๆ และเป็นผู้ด้อยโอกาสทางการดูแลรักษาสุขภาพอีกต่อไป


..............................
อ่านประกอบ
:


ชำนาญ จันทร์เรือง : สิทธิของผู้ป่วยกับศักดิ์ศรีขององค์กร


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net