รัฐศาสตร์ มช.แถลงผลวิจัย Exit poll เขต 1 เชียงใหม่ พร้อมบทวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง

รศ.ไพรัช ตระการศิรินันท์ และ ดร.จันทนา สุทธิจารี คณะรัฐศาสตร์ มช.

 

เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. วันที่ 23 ธ.ค.ที่คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการแถลงผลการหยั่งเสียงลงคะแนนเลือกตั้งนอกคูหา หรือ Exit poll ซึ่งมีการเก็บข้อมูลในเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.เชียงใหม่ ได้แก่ อ.เมือง อ.หางดง อ.สารภี และ อ.สันกำแพง รวมตัวอย่างประชากร 2,096 คน

 

โดยการหยั่งเสียงประชามติในเขต 1 พบว่า ประชากรส่วนใหญ่จะเลือกพรรคพลังประชาชน คิดเป็นร้อยละ 45.7 ใน อ.เมือง ร้อยละ 55.8 ใน อ.สันกำแพง ร้อยละ 50.8 ใน อ.สารภี และ อ.หางดง ร้อยละ 66.6 รองลงไปคือพรรคประชาธิปัตย์ โดยเหตุผลในการตัดสินใจเลือก ส.ส. ทั้งระบบเขตและสัดส่วน เป็นเพราะ ตัวพรรค และนโยบายพรรค มากกว่าเรื่องของตัวผู้สมัครและหัวหน้าพรรค นอกจากนี้กลุ่มประชากรตัวอย่างใน อ.เมือง ร้อยละ 41.3 ยังเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งการเมืองจะเกิดเสถียรภาพ ขณะที่ร้อยละ 33 เชื่อว่าจะเกิดความวุ่นวาย

 

ดร.จันทนา สุทธิจารี ประธานสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่าการเสนอ Exit poll เป็นส่วนหนึ่งของการทำวิจัยพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชน ทั้งในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งของคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. โดยต้องการนำเสนอนัยยะทางการเมือง และสังคม มากกว่าจะพูดถึงแต่จำนวนตัวเลข โดยการนำเสนอวันนี้เป็นเพียงการทำสำรวจนอกคูหาเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งจะมีการนำเสนอผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์ในโอกาสต่อไป

 

รศ.ไพรัช ตระการศิรินันท์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. กล่าวว่า และที่เลือกทำเขตเลือกตั้งที่ 1 เพราะเขตนี้มีลักษณะตัวแทนทุกอย่างของเชียงใหม่ ส่วน 3 เขตเลือกตั้งที่เหลือไม่มีตัวแทนที่ตั้งเขตจังหวัด เราต้องการทำพื้นที่ตัวเมืองซึ่งสะดวกกว่าพื้นที่อื่น เพราะคิดว่ามีตัวแทนครบทุกอย่าง

 

อ.ดร.จันทนา กล่าวว่า ประชาชนในเขต 1 จ.เชียงใหม่ เลือกพรรคพลังประชาชนด้วยความคาดหวังว่าการกลับมามีอำนาจของพรรคพลังประชาชนด้วย ส.ส.จำนวนมาก จะมีเสถียรภาพในการทำงาน แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาแบบรัฐบาลผสมอาจไม่มีเสถียรภาพและนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้ง

 

ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ 3 อำเภอนอกจากเขตอำเภอเมืองมีการลงคะแนนให้ผู้สมัคร ส.ส.แบบเขตแบบกระจาย ไม่เรียงพรรค ซึ่งเป็นเพราะปัจจัยเรื่องวัฒนธรรมยึดบุคคล เรื่องความชอบพอส่วนตัว ความเป็นผู้นำเก่า ความสัมพันธ์เชิงอุปภัมภ์ แต่การเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบสัดส่วนส่วนใหญ่จะเลือกพรรคพลังประชาชน ถือเป็นการตั้งใจเลือกตั้งแบบกระจาย

 

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดให้ ส.ส.สัดส่วน 80 ที่นั่ง และ ส.ส.แบ่งเขต 400 ตัวเลข 400 ต่อ 80 นี้ จึงส่งผลต่อวิธีคิดกับทั้งผู้สมัครและคนเลือกตั้ง และเห็นพฤติกรรมหาเสียงทำให้ผู้สมัครละเลยไม่นำเสนอนโยบายพรรค แต่เน้นหาเสียงให้ตัวเองด้วยบารมีส่วนตัวมากกว่า ทำให้พรรคการเมืองไม่เป็นสถาบัน และมีแนวโน้มที่ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งจะหาเสียงแบบลูกโดด ข้ามาคนเดียว ไม่เอาส่วนพ่วงเบอร์ติดๆ กันไปหาเสียงด้วยเลย พูดถึงผลงานตัวเอง พ่อแม่ตัวเอง และมีการพูดถึงพรรคน้อย

 

นอกจากนี้ใน อ.เมือง ที่มีหน่วยราชการมาก และมีที่ตั้งทางทหาร ดังนั้นจะพบว่ายังมี Guided democracy (ประชาธิปไตยแบบชี้นำ) แทรกอยู่ในระบบราชการ ซึ่งน่าจะเป็นตัวแปรหนึ่งที่น่าสนใจ ในเขตเลือกตั้งที่ 1 ของ จ.เชียงใหม่

 

รศ.ไพรัช ยังกล่าวว่า หากหลังเลือกตั้ง ขั้วอำนาจมีการเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแค่ พ.ร.บ.ความมั่นคงเท่านั้น แต่กฎหมายหลายฉบับที่ผ่าน สนช. คงมีการทบทวนใหม่แน่นอน ผมเชื่อว่าการเมืองหลังจากนี้จะเปลี่ยนขั้ว ซึ่งการเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนขั้วจะมีผลต่อการรื้อ หรือไม่รื้อกฎหมายที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รศ.ไพรัชสรุป

 

000

 





"จันทนา สุทธิจารี": การเมืองยุครัฐบาลผสม และมรดก "ทักษิณ"

 

ดร.จันทนา สุทธิจารี ประธานสาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ "ประชาไท" วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง หลังสิ้นสุดการนับคะแนนการเลือกตั้ง วันที่ 23 ธันวาคม 2550 ไปได้ไม่นาน โดย อ.จันทนา เห็นว่าว่า การเมืองหลังการเลือกตั้งจะเป็นเรื่องของขั้วสองขั้วคือ พลังประชาชนกับประชาธิปัตย์ช่วงชิงการจัดตั้งรัฐบาล ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีความสามารถเชิญพรรคการเมืองเข้าร่วมกับตนได้ดีกว่ากัน โดยที่พรรคขนาดกลาง เช่น มัชฌิมาธิปไตย, ชาติไทย, รวมใจไทยชาติพัฒนา, ประชาราช หรือ เพื่อแผ่นดิน จะมีอำนาจต่อรองในการที่จะไปจับกับขั้วไหนก็ได้

 

โดย อ.จันทนา วิเคราะห์ต่อว่า พรรคประชาธิปัตย์จะต้องเหนื่อยหน่อยในการช่วงชิงฐานการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ แต่ก็อาจจะช่วงชิงการจัดวางกำลังทางการเมืองได้ โดยอาจจะดึงพรรคเพื่อแผ่นดินที่มีแนวโน้มเอียงข้างประชาธิปัตย์ อยู่แล้ว ขณะที่พรรคมัชฌิมาธิปไตยมีแนวโน้มจะเอียงข้างพลังประชาชนมากกว่า เพราะแม้จะมีคนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ก็มี สมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งเป็นสายไทยรักไทยเก่าร่วมก่อตั้งอยู่

 

ในเรื่องของการได้รัฐบาลผสมหลังการเลือกตั้งนั้น อ.จันทนา มองว่านอกจากจะเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว อีกสาเหตุหนึ่งคือการเสียหลักของพรรคไทยรักไทย ซึ่งเคยเป็นพรรคเดี่ยวที่เข้มแข็งมาก่อน พอหลังจากที่รัฐบาลทักษิณเสียหลักหลังการรัฐประหาร คนที่เคยอยู่ในไทยรักไทยเก่าก็แตกออกเป็นพรรคเล็กพรรคน้อยห้าพรรค เจ็ดพรรค แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อมองจากธรรมชาติของนักการเมืองไทยที่ผ่านมา มีแนวโน้มว่าพรรคเหล่านี้ก็จะย้อนกลับไปสู่กระแสเดิม คือจะกลับไปเป็นขั้วอำนาจร่วมกับพรรคไทยรักไทยเดิม หรือ พรรคพลังประชาชน

 

ต่อคำถามที่ว่า หลังการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการยุติหรือลดบทบาทของ คมช. หรือไม่นั้น อ.จันทนา มองว่า คมช. คงถอยไม่ได้ เพราะมองจากสิ่งที่พวกเขาพยายามทำกับขั้วอำนาจเก่าในช่วงที่ผ่านมา เขาต้องหาทางจัดการกับขั้วอำนาจเก่าที่คาดว่าจะกลับมาอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็จะปรับตัวปลี่ยนรูปแปลงร่างเพื่อที่จะได้อยู่ในขั้วอำนาจปัจจุบันต่อไป หาสถาบันขึ้นมารองรับอำนาจตัวเอง และหาตัวตายตัวแทนที่ตั้งขึ้นมาปกป้องผู้มีอำนาจตัวจริง ดูอย่างการเปลี่ยนบทบาทจากประธาน คมช. มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และการเกิดขึ้นของพรรคเพื่อแผ่นดินที่เหมือนกับพรรคสามัคคีธรรมในสมัย รสช.

 

นอกจากนี้ อ.จันทนา ยังได้กล่าวอีกว่า "ทักษิณ" จะไม่มีทางหายไปจากสังคมไทยได้ เพราะ ประการที่หนึ่ง เขาเองจะต้องดิ้นรนกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ซึ่งต้องดูว่าถ้าพรรคพลังประชาชนเข้ามาเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วเขาจะจัดการกับองค์กรอิสระต่างๆ ยังไง ประการที่สอง อีกส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาใช้นโยบายประชานิยม นอกจากนี้ขอให้สังเกตดูเกี่ยวกับข่าวซื้อสิทธิ์ขายเสียงในช่วงที่ผ่านมาก็ได้ว่าแทบไม่ได้ยินข่าวซื้อสิทธิขายเสียงจากพรรคพลังประชาชนเลย เขาไม่จำเป็นต้องทำ เพราะพรรคพลังประชาชนมีต้นทุนเป็นเรื่องผลงานนโยบายประชานิยมและการชูเรื่อง "ทักษิณคัมแบ็ค" ให้ชาวบ้านมีความหวังอยู่แล้ว

 

"สิ่งที่ประชาชนน่าจะต้องจับตาดูก็คือ นโยบายที่เขาแถลงก่อนเลือกตั้ง ว่ามันจะปรากฏเป็นรูปธรรมได้อย่างไร อย่างประชาธิปัตย์เอง 99 วันทำได้ อะไรทั้งหลายคงจะต้องติดตามดู แต่ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์หรือพลังประชาชน ก็คงจะต้องเน้นนโยบายประชาชานิยม เพื่อสร้างศรัทธาให้กับสังคมให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเศรษฐกิจ การสร้างความเชื่อมั่น การสร้างความศรัทธา เป็นสิ่งที่ทั้งสองขั้วจะต้องทำอย่างแน่นอนในรูปของนโยบาย ซึ่งเราก็กลัวว่าจะกลายเป็นนโยบายลดแลกแจกแถมในเชิงของตัวบุคคลมากกว่า ซึ่งมันหมายถึงต้นทุนของประเทศชาติในระยะยาวที่จะต้องแบกรับกันต่อไป"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท