Skip to main content
sharethis

วันนี้ (24 ธ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงผลจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ไม่มีพรรคการเมืองใดชนะเป็นเอกฉันท์หรือได้เสียงข้างมากพรรคเดียวเด็ดขาด ทำให้สถานการณ์การเมืองไทย ยังต้องจับตากันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และแนวนโยบาย ที่ควรจะเป็นยังเป็นประเด็นปัญหา ที่ทุกฝ่ายต้องจับตาเพื่อให้การเมืองไทย เดินไปข้างหน้าเข้าสู่วิถีทางปกติในระบอบประชาธิปไตยและลดเงื่อนไขของการเผชิญหน้า ครป.จึงมีความเห็นและข้อเรียกร้องดังนี้


 


1.ครป.พร้อมยอมรับและเคารพผลการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจของประชาชนและเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญและวิถีทางอารยะประชาธิปไตย หลังจากนี้ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลหรือจะได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ตาม ก็ถือเป็นความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายต้องเคารพ


 


2.ครป.ยืนยันที่จะผลักดันและเดินหน้าสรรสร้างการเมืองภาคประชาชน การเมืองใหม่ที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางและมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ครป.ก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบนอกสภา โดยใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้รัฐบาลใหม่ทำงานเพื่อคนทั้งประเทศและคน 63 ล้านคนอย่างแท้จริง


 


3.สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ถือเป็นความชอบธรรมของพรรคพลังประชาชนที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อนพรรคอื่น แต่เนื่องจากไม่สามารถชนะอย่างเอกฉันท์ได้ จึงส่งผลให้พรรคขนาดเล็ก กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล ครป.ขอเรียกร้องพรรคการเมืองขนาดเล็กตัดสินใจ เข้าร่วมรัฐบาลอย่างมีเงื่อนไข โดยยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ทำเพื่อคนคนเดียว หรือคำนึงถึงประโยชน์ของพรรคเท่านั้น


 


4.ครป.ยืนยันคัดค้านรัฐบาลใหม่ หากดำเนินนโยบายฟอกผิด และนิรโทษกรรม พตท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีต 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย หรือการยุบ คตส. เพราะจะทำให้กระบวรการยุติธรรมขาดความน่าเชื่อถือและกลายเป็นชนวนความแตกแยกในสังคม ในขณะเดียวกัน ครป.ก็พร้อมสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ หากรัฐบาลจริงใจเอาปัญหาของประเทศเป็นตัวตั้งและมุ่งมั่นแก้ปัญหาของส่วนรวมเป็นหลัก


 


5.สำหรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีที่ฐานมวลชนของอดีตพันธมิตรประชาธิปไตยในหลายจังหวัดไม่ว่าจะเป็น กทม. ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกและภาคใต้ ได้โหวตแสดงจุดยืนต่อต้านระบอบทักษิณอย่างเหนียวแน่น ซึ่งหากนับรวมคะแนนทั้งประเทศจากฐานกลุ่มการเมือง 3 กลุ่มที่มีปัญหากับระบอบทักษิณ คือกลุ่มพรรคฝ่ายค้านเดิมพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย กลุ่มพรรคที่แตกตัวมาจากพรรคไทยรักไทยเดิมคือพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และกลุ่มพรรคที่ขึ้นเวทีกับพันธมิตรฯ คือพรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคประชาราช เมื่อรวมกันแล้วจะเห็นชัดเจนว่าเป็นจำนวนเสียงข้างมาก ฉะนั้น พตท.ทักษิณ ชินวัตร จึงควรระมัดระวังลดการแทรกแซงพรรคการเมืองและเคารพกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าและก้าวพ้นความแตกแยก


 


ที่มา: เรียบเรียงจากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net