Skip to main content
sharethis


ในขณะที่มีการชิงไหวชิงพริบในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างพรรคพลังประชาชนกับพรรคประชาธิปัตย์ ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นลง สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 


หากพิจารณานโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของทั้งสองพรรคใหญ่ดังกล่าว ที่บัดนี้พรรคพลังประชาชนมีโอกาสได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลค่อนข้างแน่นอนแล้วนั้น จะพบว่ามีทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน


 


พรรคพลังประชาชนมีนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การสร้างสันติสุขและความปรองดอง โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ส่งเสริมการผลิตอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออก เพิ่มโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรมประเพณี และระบบเศรษฐกิจ


 


นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมบทบาทสตรีในฐานะที่มีส่วนสำคัญในการอบรมสั่งสอนลูกเพื่อให้เป็นคนดีในสังคม รวมทั้งการแก้ปัญหาอุทยานแห่งชาติทับที่ดินของชาวบ้าน เป็นต้น


 


ส่วนพรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายที่จะให้ตั้งรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีรับผิดชอบแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรงและเบ็ดเสร็จลงไปประจำการในพื้นที่ มีอำนาจสั่งการทุกหน่วยงานในพื้นที่เพื่อความเป็นเอกภาพ และเตรียมยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อจัดตั้งองค์กรใหม่ที่มีอำนาจเต็มในการจัดการปัญหา โดยทุกหน่วยงานในพื้นที่ต้องขึ้นตรงกับองค์กรดังกล่าว ที่สำคัญนี่เป็นหนึ่งในนโยบาย 99 วันทำได้จริงของพรรคประชาธิปัตย์


 


รวมทั้งใช้วิถีทางทางการทูตกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสกัดปัญหาความรุนแรงไม่ให้ลุกลาม การสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ จะประกาศให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพัฒนาพิเศษด้านเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยทุกนโยบายจะยึดวิถีอิสลามเป็นธงนำ รวมทั้งการจัดการศึกษาแบบพิเศษด้วย


 


คำถามก็คือว่า แล้วคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มองนโยบายแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของทั้งสองพรคอย่างไร


 


นายนิมุ มะกาเจ อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ในฐานะผู้ทรวงคุณวุฒิทางด้านศาสนาอิสลาในพื้นที่มองว่าไม่ว่าพรรคไหนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นโยบายที่เสนอคนชายแดนภาคใต้มาสามารถรับได้ทั้งหมด


 


เขามองว่า ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว นโยบายเหล่านั้นก็อาจต้องมีการคัดกรองอีกครั้งแน่นอนว่าจะทำอะไรได้ก่อนหลังบ้าง ยิ่งฝ่ายรัฐบาลที่มาจากการเข้าร่วมจากหลายพรรคการเมือง


นิมุ บอกด้วยว่า ที่สำคัญ การดำเนินนโยบายแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน เพราะจากการติดตามนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านๆ มานั้น แม้จะมีนโยบายที่ดีแต่มีปัญหาในระดับผู้ปฏิบัติทุกครั้งที่ไม่เข้าใจนโยบายของรัฐบาล และการมีส่วนร่วมของประชาชนมีน้อย


 


ดังนั้น การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดด้วย เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับนโยบายและส่งผลไปสู่ระดับปฏิบัติในทางที่ดีขึ้นด้วย รวมทั้งให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ ที่สำคัญการดำเนินการในทุกระดับต้องมีความจริงใจเป็นสำคัญ


 


เขามองด้วยว่า หากพรรคพลังประชาชนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจริงๆ ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงหรือไม่ เพราะถึงแม้นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่แน่ว่าจะมีอำนาจสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริง หรือต้องยอมให้ใครบางคนบงการอยู่เบื้องหลังอีกทีหนึ่ง อันหมายรวมถึงจะคุมคนในพรรคเองได้หรือไม่


 


ด้วยเพราะการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องมีเอกภาพ ต้องใช้ความเด็ดขาด ถ้าทำได้ตนจะเอาใจช่วย


 


ที่สำคัญการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องคำนึงถึงประชาชนก่อน เพื่อให้ประชาชนหรือรัฐได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่พรรคหรือพวกพ้องได้รับประโยชน์สูงสุด


 


ขณะเดียวกันถ้าเกิดพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องถามว่าจะสามารถประสานกับพรรคร่วมรัฐบาล ในการแก้ปัญหาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงหรือไม่


 


การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ผลอย่างแท้จริง รัฐบาลต้องมีความชัดเจนและเด็ดขาด สามารถประสานกับพรรคการเมืองต่างๆ ได้ดี หากทำได้เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะถ้าในทีมประสานกันไม่ได้ จะทำให้การแก้ปัญหาขอรัฐบาลขาดความเป็นเอกภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแนวทางการแก้ปัญหาด้วย


 


ส่วนบทบาทการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน ที่ทหารมีบทบาทหลักอยู่นั้น หากได้รัฐบาลใหม่มาแล้ว ทหารก็ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาล และต้องเชื่อฟังรัฐบาล ขณะที่ตัวรัฐบาลเองก็ต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้ได้ด้วย


 


นิมุ บอกด้วยว่า ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น สิ่งแรกที่รัฐต้องเร่งดำเนินการก็คือต้องสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมๆ ไปกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องของปากท้องของประชาชน สำหรับตนแล้ว ต้องการให้เน้นการแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากๆ เพราะจะส่งผลดีในระยะยาว


 


ส่วนในมุมมองของชาวไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างนายเธียรวิทย์ ฤทธิรงค์ เลขาธิการเครือข่ายพลังแผ่นดินขจัดภัยก่อการร้าย ซึ่งมีภูมลำเนาอยู่ในจังหวัดยะลา บอกว่า ส่วนตัวจะไม่ขอวิจารณ์นโยบายของพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งรัฐบาล เพราะอาจเป็นการสบประมาทความสามารถของรัฐบาลชุดใหม่ ไม่ว่านโยบายจะเป็นอย่างไร ตนยังเชื่อว่าปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ยังคงแก้ไม่ได้ ความไม่สงบจะยังมีอยู่


 


เธียรวิทย์ บอกว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องใช้พลังของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ที่ผ่านมานักการเมืองของแต่ละพรรค ยังไม่ได้เกิดขึ้นมาจากพลังของประชาชนอย่างแท้จริง


 


การใช้พลังของประชาชนอย่างแท้จริงนั้น หมายความว่า อยากให้มีการจัดตั้งประชาชนตั้งแต่ระดับหมู่บ้านขึ้นมา เพื่อเลือกตัวแทนพรรคการเมืองระดับตำบล แล้วมาเลือกผู้แทนชาวบ้านระดับอำเภออีกต่อหนึ่ง ประชาชนเหล่านี้ มีหน้าที่ให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะทั้งในเรื่องนโยบายหรือแนวทางการแก้ปัญหา รวมทั้งวิเคราะห์สถานการณ์ความไม่สงบ แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นพรรคการเมืองไหนทำอย่างนั้น


 


"ถ้าทำอย่างนั้นได้ ประชาชนก็จะเป็นคนพิจารณาได้เองว่า นโยบายหรือแนวทางใดดีหรือเหมาะสมที่สุด ไม่ใช่พรรคกรเมืองไปคิดเองแล้วมาหาเสียง แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องให้โอกาสพรรคการเมืองที่จะเป็นรัฐบาลได้ทำงานก่อน เราขอให้กำลังใจและจะไม่วิพากษ์วิจารณ์ก่อน เพราะอาจะทำให้เสียกำลังใจได้"


 


นี่เป็นมุมมองของคนชายแดนภาคใต้ ที่มีต่อนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบ ก่อนที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามาบริหารประเทศ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net