Skip to main content
sharethis


                         


                                


 


วันที่ 26 ธ.ค.50   ที่บริเวณลานกาดสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ "เครือข่ายคุ้มครองป่าไม้และสัตว์ป่าไทย" ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาการลดจำนวนลงของสัตว์ป่าเนื่องในวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ โดยชี้สังคมไทยควรหยุดการล่าและค้าสัตว์ป่า โดยพบว่าสัตว์ป่ามีส่วนช่วยให้บรรเทาและชะลอภาวะโลกร้อนได้


 


นายนิคม พุทธา ประธานเครือข่ายคุ้มครองป่าไม้และสัตว์ป่าไทย ได้กล่าวถึง สถานการณ์ของสัตว์ป่าของประเทศไทย ว่า ปัจจุบัน ชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าในธรรมชาติลดน้อยลงอย่างมาก เพราะช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมามีการขยายตัวของการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าในเชิงธุรกิจการค้า เห็นได้จากค่านิยมในการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า การเลี้ยงกักขังสัตว์ป่า ประกอบกับกิจการสวนสัตว์ทั้งภาครัฐและเอกชนก็มีการขยายตัวไปยังพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีสวนสัตว์ไม่น้อยกว่า 40 แห่ง ทำให้จำนวนสัตว์ที่อยู่ในกรงมีจำนวนนับล้านๆ ตัว ในขณะที่ป่ากลับเกิดภาวะป่าว่างเปล่า คือ มีต้นไม้แต่ไม่มีสัตว์ป่า


 


"เมื่อเรารู้และเข้าใจถึงบทบาท หน้าที่ของสัตว์ป่าที่มีตามธรรมชาติ เราก็จะเห็นได้ว่าสัตว์ป่าแต่ละชนิดนั้นมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการแพร่กระจายพืชพันธุ์ไม้ในป่า ทำให้เกิดป่าเพิ่มขึ้น แล้วป่านี้เองก็จะเป็นต้นน้ำให้แก่คนเรา เราก็จะได้ประโยชน์จากต้นไม้และสัตว์ป่า สิ่งเหล่านี้เองที่เชื่อมโยงเราให้เห็นว่าสัตว์ป่า สามารถบรรเทา และชะลอภาวะโลกร้อนได้" นายนิคม กล่าว


 


นอกจากนี้ นายนิคม ยังได้พูดถึงปัญหาธุรกิจการค้าสัตว์ป่าในประเทศไทยอีกว่า ในปัจจุบันการสื่อสาร การคมนาคมขนส่งก็เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้มีการหมุนเวียนสัตว์ป่าได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น ทำให้สัตว์ป่ากระจายไปยังพื้นที่ต่างๆโดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยวได้มากขึ้น เช่น สวนสัตว์เชียงใหม่ที่มีทั้งสวนสัตว์กลางวันและกลางคืน มีการนำเข้าสัตว์ป่าจากต่างประเทศจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นสิงโต ยีราฟ ม้าลาย หมีแพนด้า หมีโคล่า หรือที่กรุงเทพฯ หาดใหญ่ สงขลา ภูเก็ต ชลบุรี ก็มีการจัดปลาทะเลหายาก ปลาการ์ตูนชนิดต่างๆมาจัดแสดง เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ


 


"กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ทางธุรกิจหรือที่เรียกว่า "พ่อค้าสัตว์" เขาก็จะทำทุกอย่างเพื่อให้ค้าสัตว์ได้ แม้กระทั่งพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี 2535 ใหม่ เพื่อดึงเอาสัตว์ป่าคุ้มครองอย่างน้อย 70 ชนิด ออกจากบัญชีอนุรักษ์ เพื่อที่จะนำมาเพาะเลี้ยงเพื่อประโยชน์ทางการค้าต่อไป"


           


โดยกิจกรรมดังกล่าว ทางเครือข่ายคุ้มครองป่าไม้และสัตว์ป่าไทย ได้รณรงค์ใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1.เรียกร้องให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญของสัตว์ป่า ว่าสัตว์ป่าควรอยู่ในป่า เพื่อทำหน้าที่รักษาระบบนิเวศน์ สัตว์ป่าไม่ควรถูกนำออกมาจากป่า และ 2.ไม่ควรให้มีการจับสัตว์ป่ามาเลี้ยง เพื่อซื้อขายทางธุรกิจ เพื่อทำสวนสัตว์ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ใช่การเพาะเลี้ยง เช่น เพื่อการศึกษา เพื่อการแพทย์ เพื่อวิทยาศาสตร์ แต่หลายครั้งที่มีการติดตามแล้วก็พบว่า เหตุผลดังกล่าวถูกนำมาเป็นข้ออ้างแอบแฝงเพื่อการค้า เช่น สวนสัตว์ วัตถุประสงค์ จุดหมายหลักของสวนสัตว์เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อการศึกษาทางนิเวศวิทยา ชีววิทยาสัตว์ป่า เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ


 


"แต่สวนสัตว์ประเทศไทย ส่วนมากไม่ว่าจะของรัฐหรือเอกชนกลับไม่ได้จัดกิจกรรมเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์กิจการสวนสัตว์แต่อย่างใด แต่กลับพบว่า สัตว์ป่าหลายชนิดถูกกักขัง ทรมาน ให้อยู่ในกรงแคบๆ น้ำ สภาพแวดล้อมต่างๆไม่ดีพอ มีการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อ ปอดบวม การได้รับสารพิษจากอาหารที่กิน เช่น แตงกวา กะหล่ำ ถั่วฝักยาว เพราะสามารถจัดซื้อได้ในราคาที่ถูก ในขณะที่สัตว์ป่าตามธรรมชาติจะได้รับธาตุอาหารที่สับเปลี่ยน หมุนเวียนไปเรื่อยๆ ทำให้เราเห็นได้ว่าคุณภาพชีวิตของสัตว์ที่ถูกเอามาเลี้ยงกับสัตว์ที่อยู่ในป่านั้นมีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะกับสัตว์ป่าที่ถูกนำมาเลี้ยงมันก็จะเกิดแรงกดดัน ทำให้เกิดภาวะความเครียดได้ ทางเครือข่ายคาดหวังว่าอย่างน้อยประชาชนก็จะได้รับรู้ ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่า และที่สำคัญเราก็คาดหวังอีกว่าไม่อยากให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมที่มันจะทรมานสัตว์ หรือการค้าสัตว์ป่า ควรให้สัตว์ป่ามันอยู่ตามธรรมชาติในที่ของมันเสียมากกว่าที่จะจับมันมาขังไว้ในกรงอย่างเช่น ในสวนสัตว์ เป็นต้น" ประธานเครือข่ายคุ้มครองป่าไม้และสัตว์ป่าไทย กล่าว


 


ปัจจุบัน ประเทศไทย มี พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายที่ควบคุมในเรื่องของการครอบครอง การค้าสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่า ควบคุมการส่งออกและนำเข้าสัตว์ป่านอกราชอาณาจักร การปฏิบัติตามอนุสัญญานานาชาติไซเตส ที่ว่าด้วยการควบคุมการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธ์ เป็นต้น


 


อย่างไรก็ตาม ประธานเครือข่ายคุ้มครองป่าไม้และสัตว์ป่าไทย ได้เปิดเผยถึงกฎหมายฉบับนี้ว่า ในขณะนี้มีกลุ่มพ่อค้า กลุ่มข้าราชการบางกลุ่มพยายามที่จะเสนอต่อรัฐบาลให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อผลประโยชน์บางอย่างเช่น เสนอให้มีการเปิดพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เช่น ที่ทุ่งใหญ่ห้วยขาแข่งซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกและเพาะพันธุ์สัตว์ป่า ดอยเชียงดาวซึ่งเป็นเขตสงวนสัตว์ป่า เป็นต้น และเพื่อต้องการให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อที่จะสามารถนำสัตว์ป่าที่ได้รับความคุ้มครองมาเพาะพันธุ์เลี้ยงเพื่อธุรกิจทางการค้าได้ เช่น กวาง นกยูง ไก่ฟ้าและนกอีกหลาย เป็นต้นชนิด ซึ่งทุกวันนี้สัตว์ป่าพวกนี้ก็ถือเป็นสัตว์ป่าที่ได้รับความคุ้มครองอยู่แล้วจะนำมาเพาะพันธุ์หรือซื้อขายกันไม่ได้ กลุ่มพ่อค้าพวกนี้มีความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายเพื่อที่จะดึงสัตว์พวกนี้ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง


           


"ทางเครือข่ายก็เคยยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ เรื่องที่ว่าหากมีการปรับหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อการค้าทางธุรกิจมันก็จะไม่ส่งผลดีอย่างแน่นอน มันจะเป็นการเปิดทางให้มีการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าในเชิงธุรกิจได้ ต่อไปนี้เวลาคนกินเนื้อสัตว์ เช่น กินเนื้อกวางจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นเนื้อกวางที่มาจากฟาร์มหรือมาจากป่ากันแน่ ซึ่งกลไกในการควบคุมหรือบังคับใช้กฎหมายมันยังไม่เข้มงวดเท่าที่ควรที่จะสามารถคุ้มครองสัตว์ป่าสงวนได้อย่างแท้จริงและเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ดังนั้น ทางเครือข่ายฯ จึงอยากขอความร่วมมือจากท่านทั้งหลาย โปรดสนับสนุนกิจกรรมทุกรูปแบบที่จะทำให้สัตว์ป่าดำรงชีวิตต่อไปได้ตามธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อความสมดุลของระบบนิเวศและเพื่อสภาพแวดล้อมที่ดีต่อคุณภาพชีวิตเราและลูกหลานของเราในอนาคตต่อไป" ประธานเครือข่ายคุ้มครองป่าไม้และสัตว์ป่าไทย กล่าวทิ้งท้าย


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net