ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ชนชั้นนำกลุ่มใหม่คือกลุ่มคนที่กำหนดวาระทางการเมือง

"การปฏิรูปการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงหลังปี 2540 เป็นต้นมา รวมถึงในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงมีลักษณะประหลาด เพราะว่ามันทำให้การปฏิรูปทางการเมืองก็ดี การเลือกตั้งก็ดี เป็นกระบวนการที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนกรุงเทพฯ เป็นหลัก ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการครอบงำของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมเป็นหลัก หรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชนชั้นสูงบางกลุ่มเป็นหลัก"

 

เป็นความเห็นส่วนหนึ่งต่อการปฏิรูปการเมืองของศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาย ที่มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นต่อการเมืองไทยตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการขับไล่รัฐบาลทักษิณ ในการอภิปรายหัวข้อ "เลือกตั้งอย่างไรให้ปฏิรูปการเมือง" ที่จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 (คลิกที่นี่เพื่ออ่านข่าวย้อนหลัง)  

 

"ประชาไท" ขอนำเสนอโดยละเอียดอีกครั้งเพื่อเป้นส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ที่บางคนที่ติดป้ายชื่อว่าประชาธิปไตย(ด้วยการรณรงค์ และการรัฐประหาร) ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อผลการเลือกตั้ง 23 ธ.ค. ไปในทำนองว่า"คนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล คนกรุงเทพฯ ล้มรัฐบาล" และ "คนกรุงเทพฯ เลือกพรรคประชาธิปัตย์ จึงสมควรให้พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล" ประชาธิปไตยหรือการปฏิรูปการเมืองของคนจำพวกนี้มีภาพเป็นอย่างไร โปรดอ่าน...

 

000

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาย

 

ผมคิดว่า วิธีการหนึ่งที่จะเข้าใจการปฏิรูปการเมืองสำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ว่าชนชั้นไหนปฏิรูปการเมือง อาจจะต้องเริ่มด้วยการดูก่อนว่า ความสำคัญของการปฏิรูปการเมืองในสังคมไทยคืออะไร และการปฏิรูปการเมืองที่พูดถึงในการเลือกตั้งในครั้งนี้มีความหมายเฉพาะหรือมีความแตกต่างจากการปฏิรูปการเมืองในการเลือกตั้งครั้งอื่นๆ หรือในความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้อย่างไรบ้าง

 

การปฏิรูปการเมืองเป็นคำที่พูดมานานแล้วในสังคมไทย แต่การใช้คำนี้อย่างเฉพาะเจาะจง เกิดขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาปี 35 มีการเคลื่อนไหวเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับธงเขียว หรือบางท่านอาจรู้สึกว่าคำนี้เกิดขึ้นหรือพูดมากขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 แต่ในอีกแง่ ความพยายามในการปฏิรูปการเมืองเกิดมานานแล้ว อาจพูดได้ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมือง

 

ที่น่าสนใจคือ หลัง 24 มิถุนา 2475 ความพยายามปฏิรูปการเมือง หรือสร้างสถาบันทางการเมืองในสังคมไทย มีลักษณะที่สำคัญมากๆ ข้อหนึ่งคือ วางอยู่บนความพยายามสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ตาม วางอยู่บนความพยายามทำให้ระบบตรวจสอบอ่อนแอ สถาบันนิติบัญญัติและศาลอ่อนแอ

 

ถ้าเราคิดถึงตรงนี้ในแง่ประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะเห็นภาพตรงนี้ชัดเจนมากขึ้นว่า นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นต้นมา อาจพูดได้ว่ามีช่วงเวลาสั้นๆ แค่ปี 2477-2490 ที่สังคมไทยยืนอยู่บนทิศทางที่สถาบันนิติบัญญัติมีความสำคัญต่อกระบวนการประชาธิปไตยโดยเปรียบเทียบแล้วมากกว่าฝ่ายบริหาร ในขณะที่ช่วงเวลาที่เหลือ ฝ่ายบริหารจะเป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐ กุมอำนาจการเมืองไว้ การปฏิรูปการเมืองไทยมีลักษณะที่พยายามจะสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง เหนือสถาบันนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตรวจสอบมาโดยตลอด การเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีลักษณะเหมือนกัน คือ เป็นการเลือกตั้งที่พยายามจะไม่ให้ความสำคัญกับบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติมากนัก

 

อย่างไรก็ตาม อาจพูดได้ว่า ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เริ่มเกิดความพยายามทำให้รัฐสภา หรือสถาบันทางการเมืองต่างๆ มีความสำคัญมากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เช่น เกิดการต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการขยายตัวของกองกำลังปฏิวัติมากมายทั่วประเทศ จนกระทั่งทำให้รัฐไทยมีความรู้สึกว่า จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เพราะฉะนั้น ทศวรรษ 2520 จึงมีการเปิดโอกาสให้สถาบันรัฐสภาได้เติบโตขึ้นมาในระดับหนึ่ง พรรคการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชนได้เติบโตขึ้นมาในระดับหนึ่ง เพื่อที่จะถูกดึงให้เข้าไปอยู่ในระบบการเมืองให้มากขึ้น หรือเพื่อที่จะดึงกำลังเหล่านี้ให้มีลักษณะรุนแรงน้อยลง และพยายามต่อสู้ในระบบการเมืองแบบที่เป็นอยู่มากขึ้น

 

สภาพแบบนี้ คือ สภาพแบบที่พยายามจะให้มีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการยอมรับสถาบันรัฐสภา/สถาบันนิติบัญญัติ ให้มีบทบาททางการเมืองมากขึ้น มันคงอยู่ในการเมืองไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2520-2530 ในด้านหนึ่งฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งเป็นพลังหลักของการเมืองไทย จึงมีการมองว่า พล.อ.เปรม ที่เป็นนายกฯ อยู่ 8 ปี เป็นตัวอย่างของนายกฯ ที่เข้มแข็ง เพราะอยู่ได้นาน 8 ปี ขณะเดียวกันก็มีสถาบันรัฐสภา มีการเลือกตั้ง อย่างต่อเนื่อง ผู้นำทางการเมืองในรัฐสภาหลายคนเริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น เช่น คุณบรรหาร (ศิลปอาชา) คุณเสนาะ (เทียนทอง)

 

ในช่วงทศวรรษ 2520-2530 นอกจากการเมืองไทยจะมีการสร้างสถาบันนิติบัญญัติ มีการส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีบทบาทในระดับหนึ่งแล้ว ก็เริ่มเกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่างๆ มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ มีการเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมจำนวนมากเกิดขึ้น และในแง่ของการต่อสู้ทางความคิดทางการเมืองก็มีความก้าวหน้า/แหลมคมมากขึ้น มีการพูดถึงประชาธิปไตยของชนชั้นล่าง มีการพูดถึงประชาธิปไตยระดับรากหญ้า

 

ประเด็นจะเริ่มมีความสำคัญเพราะว่า ในที่สุดการเมืองไทยเดินมาถึงจุดที่ต้องเลือกระหว่างการมีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง กับการมีสถาบันนิติบัญญัติที่เข้มแข็งอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเมืองไทยจริงๆ

 

เมื่อเกิดการปฏิรูปการเมืองในปี 2540 ในด้านหนึ่งวางอยู่บนความเคลื่อนไหวของคนหลายฝ่าย แต่อีกด้านหนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของการพยายามทำให้ฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 คือ มีการร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้มีนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็งที่มีการตรวจสอบจากสภา เพราะฉะนั้น เวลาคนที่วิจารณ์คุณทักษิณว่าเป็นคนที่ไม่ฟังความเห็นของสภา คงลืมไปข้อหนึ่งว่า คุณทักษิณเป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยสร้างมาเอง เวลาที่สังคมไทย โดยเฉพาะคนที่วิจารณ์คุณทักษิณว่าอำนาจนิยม คนเหล่านั้นกำลังว่าตนเองอยู่ด้วย และเป็นความรับผิดชอบของคนเหล่านั้นที่จะต้อง share มาด้วยเหมือนกัน

 

ปี 2540 เป็นช่วงที่สำคัญ เพราะเป็นช่วงที่พลังที่ต้องการให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งในสังคมการเมืองไทย สามารถดูดกลืนพลังของ NGO ดูดกลืนพลังของภาคประชาสังคม/ภาคประชาชน เข้าไปอยู่ในกรอบการปฏิรูปการเมืองอย่างที่ตนเองต้องการได้ ดังนั้น หลังปี 2540 เป็นต้นมา การปฏิรูปการเมืองไทยเริ่มมีความหมายที่เปลี่ยนไปมากขึ้น และเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีลักษณะประหลาดมากขึ้น เช่น มีการพูดถึงการเลือก "คนดี"เข้าไปในสภา เวลาที่สังคมไทยพูดถึงการเลือก "คนดี"เข้าไปในสภา เขามีภาพอย่างไร เช่น คนซึ่งเป็นเทคโนแครต คนซึ่งมีการศึกษาดีจากต่างประเทศ คนซึ่งอาจมาจากตระกูลที่ดีในสังคมไทย หรือ คนซึ่งเคยรับราชการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน

 

เพราะฉะนั้น คำว่า "คนดี" ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิรูปการเมืองปี 2540 จึงมีความหมายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น และการมีความหมายที่เฉพาะเจาะจงของ "คนดี" คือ การพยายามทำให้การเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นนำในสังคมไทย คนเหล่านี้ไม่ใช่คนที่เป็นผู้นำในระบบราชการเหมือนชนชั้นนำในสมัยหลัง พ.ศ.2500 หลายๆ คนไม่เคยอยู่ในระบบราชการมาก่อน บางคนอยู่ในภาคธุรกิจเอกชน บางคนอยู่ในภาคประชาสังคม บางคนก็เป็นคนที่ทำงานกับขบวนการของประชาชนมาก่อน กลุ่มพลังใหม่หรือชนชั้นนำกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2540 นี้ คือคนกลุ่มที่กำหนดวาระทางการเมืองและการปฏิรูปการเมืองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รวมทั้งการปฏิรูปการเมืองในปัจจุบันนี้ด้วย

 

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังปี 2540 และมันส่งผลกระทบต่อวิธีคิดของเรา ส่งผลกระทบกับกระบวนการคิด/กระบวนการเข้าใจของสังคมไทยในช่วงหลังจากนั้น คือ การเลือกตั้งที่ต้องไปเลือก "คนดี" ที่ไม่ได้หมายถึงพระหรือคนดีศีลธรรม แต่อาจคิดถึงคนแบบ หม่อมอุ๋ย, พล.อ.สุรยุทธ์, คุณอานันท์ ปันยารชุน "คนดี" ไม่ได้หมายถึงชนชั้นกลางหรือชนชั้นไพร่ แต่หมายถึงชนชั้นผู้ดีบางกลุ่ม เพราะฉะนั้น การพูดถึง "คนดี"ในช่วงหลังปี 2540 จึงมีความหมายเฉพาะเจาะจงบางอย่าง ไม่ใช่เรื่องของศีลธรรม แต่มีมิติของชนชั้น กับมิติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก

 

ดังนั้น การปฏิรูปการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงหลังปี 2540 เป็นต้นมา รวมถึงในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงมีลักษณะประหลาด เพราะว่ามันทำให้การปฏิรูปทางการเมืองก็ดี การเลือกตั้งก็ดี เป็นกระบวนการที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนกรุงเทพฯ เป็นหลัก ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการครอบงำของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมเป็นหลัก หรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชนชั้นสูงบางกลุ่มเป็นหลัก

 

ตัวอย่างเช่น speech ทางการเมืองของคุณบรรหารเมื่อเร็วๆ นี้ คุณบรรหารพูดว่า ผมจะตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่ให้บุคคลที่ผมนับถือมา 30 ปีเสียใจ ประโยคนี้สะท้อนบรรยากาศทางการเมืองในช่วงหลังปี 2540 รวมถึงการเลือกตั้งในปัจจุบัน เพราะว่าคุณบรรหารกำลังบอกว่า สำหรับชนชั้นนำทางการเมืองจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร เดินไปในทิศทางไหนก็แล้วแต่ มีการตกลงกันทางการเมืองในหมู่ชนชั้นนำแล้วว่าต้องการให้ใครมาเป็นรัฐบาล คุณบรรหารทำให้สังคมไทยเห็นภาพว่า คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด

 

การเลือกตั้งในสถานการณ์อย่างนี้มีปัญหาแน่นอน บางท่านบอกว่าเป็นเรื่องของเผด็จการทหาร แต่ผมคิดว่า เรื่องที่อาจมีความสำคัญมากไปกว่านั้น คือการขึ้นมามีบทบาททางการเมืองของชนชั้นนำที่อยู่เหนือระบบราชการขึ้นไปในช่วงหลังการรัฐประหาร 19 กันยา และมันนำไปสู่ภาวะที่ประหลาด คือ มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่ภายใต้อิทธิพลของพลังที่อยู่เหนือระบบราชการขึ้นไป อยู่ภายใต้อิทธิพลของพลังที่ไม่ได้อยู่ในระบบการเมืองที่ชัดเจน ในที่สุดแล้ว การเลือกตั้งในสถานการณ์การเมืองแบบนี้เป็นประโยชน์ต่อชนชั้นใด

 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญต่อการเมืองมากๆ ในช่วงหลังการเลือกตั้ง ไม่ใช่เรื่อง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องอื่นๆ เช่น กฎหมายที่มีลักษณะละเมิดสิทธิเสรีภาพหลายๆ ฉบับ ที่เปิดโอกาสให้ชนชั้นนำกลุ่มใหม่เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น

 

ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดถึงการเลือกตั้งในครั้งนี้ในความหมายที่จะเป็นการบอกต่อผู้ที่ต้องการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองในอนาคต ใช้พลังที่อยู่เหนือระบบราชการ ใช้พลังที่อยู่เหนือสภาเข้ามาจัดการทางการเมืองว่าต้องคำนึงถึง 10 ล้านคนที่ไม่โหวตรับรัฐธรรมนูญด้วย

 

อีกประการหนึ่ง เวลาเราพูดว่าการเลือกตั้งจะต้องเป็นการเลือกเชิงนโยบาย อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ การพิจารณาแต่นโยบายอย่างเดียวอาจไม่ได้เป็นตัวแปรที่มีน้ำหนักเพียงพอในการจะเลือกพรรคไหน เพราะทุกพรรคมีแนวโน้มจะรับนโยบายประชานิยมมาเหมือนกัน สิ่งสำคัญซึ่งจะเป็นเส้นแบ่งและเป็นตัวแปรในการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ทัศนคติหรือจุดยืนของพรรคการเมืองต่อการสร้างสถาบันทางการเมืองแบบประชาธิปไตย เช่น จะเอายังไงกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่เปิดโอกาสให้ทหารเข้ามาแทรกแซงกิจกรรมทางการเมืองของรัฐบาลได้ หรือว่ากฎหมายคอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายปฏิรูปองค์กรสื่อสารมวลชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท