Skip to main content
sharethis

"วิวัฒน์ ตามี่" ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) ให้สัมภาษณ์กับ "ประชาไท" ถึงสถานการณ์ของชนเผ่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์ หลังการเลือกตั้ง โดยเขาชี้ชัดว่า ไม่ว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ชนเผ่ากลุ่มชาติพันธุ์ก็ถูกละเมิดสิทธิอยู่ดี ยิ่งล่าสุด สนช.ได้ออกกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งคาดว่าชนเผ่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์จะถูกละเมิดสิทธิอย่างหนักชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งการออกกฎหมายนี้สะท้อนให้เห็นถึงจริยธรรมอันต่ำมากของ สนช. ที่มุ่งแต่รับใช้เผด็จการอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนลืมผลประโยชน์ส่วนรวม ผลประโยชน์ของประชาชน! 



 


มองการเมืองหลังเลือกตั้งว่าจะส่งผลต่อพี่น้องชนเผ่ากลุ่มชาติพันธุ์อย่างไรบ้าง ?


ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่มีการเลือกตั้ง ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี ชนเผ่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังถูกละเมิดสิทธิอยู่ดี ยิ่งก่อนเลือกตั้ง สนช.(สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ออกกฎหมายหลายฉบับที่ละเมิดสิทธิประชาชนคนชายขอบ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งเราคาดว่าพี่น้องชนเผ่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์จะถูกละเมิดสิทธิสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะกฎหมายนี้ได้เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจ ใช้ความรุนแรงกับชนเผ่าได้อย่างถูกกฎหมาย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนเผ่าที่กำลังมีปัญหาความขัดแย้งอยู่แล้ว เช่น หมู่บ้านห้วยเกิด อ.แม่อาย หมู่บ้านห้วยโก๋น อ.พร้าว หรือหมู่บ้านนาอ่อน อ.เวียงแหง ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ก็อาจจะถูกแก้แค้นเอาคืนได้โดยง่าย  


 


สถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้ง จึงคาดว่าสังคมไทยจะมีความขัดแย้งกันสูงระหว่างฝ่ายที่เอาทักษิณกับฝ่ายที่ไม่เอา ตั้งแต่ชนชั้นปกครองไปจนถึงระดับรากหญ้า แม้กระทั่งในชุมชนชนเผ่าเองก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกันหรืออาจรุนแรงกว่า เพราะผู้นำจำนวนมากถูกกลุ่มคนสองกลุ่มครอบงำและใช้เป็นเครื่องมือในการแก้แค้นฝ่ายตรงกันข้ามไปแล้วในขณะนี้


 


แล้วที่ผ่านมา มองความจริงใจของนักการเมือง รัฐบาล ต่อพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไร ?


เรื่องความจริงใจของนักการเมือง หรือรัฐบาลที่มีต่อชนเผ่านั้นเลิกพูดได้เลย เพราะที่ผ่านมาพวกเขามองชนเผ่าในแง่ลบมาโดยตลอด มีจิตสำนึกอคติทางชาติพันธุ์สูงมาก มักมองในสองด้านเสมอ ด้านหนึ่งมองว่าเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ เช่น ตัดไม้ทำลายป่า ค้ายาเสพติด หรือต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง หรือไม่ก็กลุ่มที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านเศรษฐกิจให้แก่ตนและประเทศชาติ เช่น มองเป็นสินค้าขายได้ตั้งแต่วัฒนธรรมประเพณี ความเป็นชนเผ่าที่ขายได้


 


ซึ่งการเลือกตั้ง ส.ส.ทุกครั้งที่ผ่านมา ชนเผ่าก็ไม่ได้อยู่ในสายตาพวกเขาอยู่แล้ว เพราะคิดว่าชนเผ่านั้นรวมกลุ่มไม่ค่อยได้ อยู่กันกระจัดกระจายใน 20 จังหวัดตามนโยบายแบ่งแยกเพื่อควบคุมของรัฐ จึงไม่ค่อยมีผลต่อการเลือกตั้งมากนัก นักการเมืองจึงไม่ค่อยแคร์ ยิ่งเป็นคนไร้สัญชาติด้วยแล้ว ยิ่งถูกมองว่าเป็นภาระและสุ่มเสี่ยงต่อตนเองมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับด้วยซ้ำ


 


ยิ่งความจริงใจของรัฐบาลด้วยแล้วไม่ต้องพูดถึงเลย เห็นได้จากนโยบายของรัฐบาลนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา รัฐไทยต่างมุ่งเน้นนโยบายการควบคุม ปราบปรามและจำกัดสิทธิชนเผ่ามาโดยตลอด โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร กรณีตัวอย่าง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2515 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ถอนสัญชาติชนกลุ่มน้อยและชนเผ่า รัฐบาลของบิ๊กจ๊อด (พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์) ตรากฎหมายมาตรา 7 ทวิ พ.ร.บ.สัญชาติ 2508 (แก้ไขฉบับ) 2 2535 จำกัดสิทธิการได้สัญชาติไทยของเด็กที่เกิดในแผ่นดินไทย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2535  หรือคณะรัฐมนตรี สมัยนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ก็มีมติ ครม.ออกมาหลายฉบับที่ละเมิดสิทธิชนเผ่า เช่น มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 หรือมติ ครม.29 สิงหาคม 2543 ที่มีการแบ่งแยกชนเผ่าออกเป็น 3 กลุ่ม ด้วยเหตุผลเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม


 


พอมาในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็มีการจำกัดสิทธิชนเผ่ามากทีเดียว เช่น ไม่ให้บัตรทอง หลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคแก่คนที่ไม่มีสัญชาติ  คนไร้สัญชาติถูกควบคุมไม่ให้เดินทางออกนอกเขตหมู่บ้านหรืออำเภอ และในช่วงประกาศนโยบายปราบปรามยาเสพติด ชนเผ่าก็ตกเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการปราบปราม ซึ่งทำให้คนบริสุทธิ์เป็นจำนวนมากถูกยัดยาบ้า ถูกฆ่าตัดตอน 


 


มีความเห็นอย่างไรกับกรณีที่ สนช. ออก พ.ร.บ.ป่าชุมชน และพ.ร.บ.ความมั่นคง อย่างเร่งด่วนแบบนี้ ?


ความจริงแล้ว สนช. นั้นมาจากการปฏิวัติรัฐประหารของ คมช. ไม่ใช่ได้มาเพราะประชาชนคัดเลือกหรือเลือกตั้งเข้ามา ดังนั้น มองว่าไม่มีความชอบธรรมในการออกกฎหมายอยู่แล้ว ยิ่งใกล้เลือกตั้ง สนช.ก็เร่งออกกฎหมาย มีข่าวว่าใช้เวลา 8 ช.ม.ออกกฎหมาย 22 ฉบับ กฎหมายบางฉบับที่ผ่านรัฐสภา มี สนช.เข้าร่วมไม่ถึง 60 คน หากนับองค์ประชุมก็ไม่ครบองค์ประชุม แต่ไม่รู้ว่าออกมาได้อย่างไร


 


พ.ร.บ.ป่าชุมชน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง ถือว่าเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิประชาชนค่อนข้างมาก แต่เอาออกมาได้อย่างไร ไม่มีความจำเป็นอะไรเลย แค่กฎหมายป่าไม้ 5 ฉบับ กฎอัยการศึก กฎหมายประกาศสภาวะฉุกเฉิน กฎหมายคนเข้าเมือง กฎหมายสัญชาติที่ออกมาใหม่ ก็กระทบพี่น้องชนเผ่ามากพออยู่แล้ว แทบตายและแทบไม่มีแผ่นดินจะซุกหัวนอนอยู่แล้ว นี่กลับมาประกาศกฎหมายความมั่นคงอีก พูดได้เลยว่า ต่อไปชนเผ่าอาจจะสูญพันธุ์ไปจากแผ่นดินไทยแน่ เพราะทำอะไรก็ผิดกฎหมายหมด ขยับนิดหน่อยเป็นติดคุก  นี่สะท้อนให้เห็นถึงจริยธรรมที่ต่ำมากของ สนช. ที่มุ่งแต่รับใช้เผด็จการอย่างไม่ลืมหูลืมตาและลืมผลประโยชน์ส่วนรวม หรือประชาชนว่าจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรก็ไม่สนใจ


 


รู้สึกอย่างไรกับที่หลายคนมองพฤติกรรมของ สนช.บางกลุ่มที่เคยทำงานกับชนเผ่า แต่สุดท้ายกลับมอง พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ว่าดีและจำเป็น ?


หากมีพฤติกรรมเช่นนั้นจริง ก็น่าตำหนิไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ใครจะกล้าตำหนิล่ะ เพราะธรรมเนียมชนเผ่าสอนให้เคารพนอบน้อมผู้อาวุโสอยู่แล้วจึงไม่เห็นมีใครกล้าตำหนิติเตียน ยิ่งเป็นคนมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ชนเผ่าล่ะทั้งกลัวทั้งเกรง   


 


ก็เคยเห็นคนประเภทนี้พอสมควร เลยทำให้เข้าใจได้ว่า หากใครเข้าไปอยู่ในวงการอำนาจ ลาภยศ ชื่อเสียงแล้วยากที่จะถอนตัว ยิ่งถึงขั้นมัวเมาด้วยแล้วยากมากที่จะฟังคนอื่น และยิ่งการเห็นดีเห็นงาม กับพ.ร.บ.ความมั่นคงด้วยแล้ว คิดว่าบุคคลคนนี้สะท้อนตัวตนแล้วล่ะว่าเขาคือใคร ไม่ต้องไปตำหนิเขาหรอก


 


ทางออกหลังตั้งรัฐบาลแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์จะร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กระทบสิทธิของพี่น้องชนเผ่าหรือไม่ อย่างไร ?


ความจริงมองไม่เห็นทางออก ว่าหลังเลือกตั้งรัฐบาลแล้วกลุ่มชาติพันธุ์จะผลักดันอะไรได้  เพราะต้องเผชิญปัญหาที่เกิดจาก พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.บ.ป่าชุมชนและกฎหมายอีกหลายฉบับที่ส่งผลกระทบ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาคิดวิเคราะห์หาทางออก ยิ่งมีผู้รู้ในสังคมไทยวิเคราะห์สถานการณ์ว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยระหว่างชนชั้นปกครองจะรุนแรงมากขึ้นอย่างน้อยครึ่งปี แล้วชนเผ่าจะไปทำอะไรได้ 


 


เลยคิดกันเฉพาะหน้ากันก็พอ ว่าจะต้องตั้งสติ ตั้งหลักให้ดี พูดคุยหารือกันบ่อยๆ ระหว่างคนทำงานชนเผ่า พยายามเชื่อมพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น จังหวะก้าวต้องแน่นอน และไม่ให้สะดุดล้มทับขาตนเอง หรือขาของผู้มีอำนาจ


 


....................................


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ชูพินิจ เกษมณี : จริยธรรมของ สนช.ผู้ออกกฎหมายอย่างบ้าคลั่ง "กรณีกฎหมายป่าชุมชน"


ชนเผ่าต้าน พ.ร.บ.ความมั่นคง ชี้กระทบกลุ่มชาติพันธุ์หนัก เป็นการส่งเสริมจนท.ฆ่าคนอย่างถูกกฎหมาย


สัมภาษณ์ "วิวัฒน์ ตามี่" : ชนพื้นเมืองไทย ในวังวนความมั่นคงแห่งชาติ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net