Silence of the Lamp : จรรยาบรรณที่หายไป กรณีมีเดียมอนิเตอร์ - ทีไอทีวี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สุภัตรา ภูมิประภาส


ชื่อบทความเดิม:  จรรยาบรรณที่หายไป

 

 

 


ใครได้อ่านแถลงการณ์ของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2550 เรื่อง "เรียกร้องความชัดเจน กรณีโยกย้ายตำแหน่งฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ ไอทีวี" คงจะต้องมึนงงกับบทบาทและข้อเรียกร้องของสมาคมฯ ต่อทีมข่าวของสถานี TITV ที่เรียกร้องต่อการทำหน้าที่สื่อของทีมข่าว TITV ให้ "เปิดใจกว้างและรับฟังข้อมูลเพื่อนำไปประกอบการรายงานข่าวให้เป็นกลาง"

 

เป็นข้อเรียกร้องที่สะท้อนชัดถึงอคติทางการเมืองที่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่จรรยาบรรณและเจตนคติขององค์กรตัวแทนวิชาชีพสื่อ

 

ทั้งๆ ที่กรมประชาสัมพันธ์ยังมิได้แถลงถึงเหตุผลในการโยกย้ายว่ายึดโยงกับความเป็นกลางหรือไม่เป็นกลางในการนำเสนอข่าวของ TITV แต่ทางสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กลับหยิบยกผลการศึกษาของกลุ่มมีเดียมอนิเตอร์ มาประกอบคำแถลงการณ์ ดังนี้

 

"สำหรับการปฏิบัติงานในฐานะสื่อมวลชนโดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง จากผลการศึกษาทางวิชาการเรื่อง "สื่อมวลชนกับบทบทในการนำเสนอเนื้อหาการเลือกตั้ง" ในฟรีทีวี ๖ ช่อง ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ โดยกลุ่มมีเดีย มอนิเตอร์ ซึ่งระบุว่า แม้ทีไอทีวีจะเป็นสถานีที่ให้พื้นที่เนื้อหาการเลือกตั้งมากที่สุด แต่ก็มีข้อสังเกตว่า วิธีนำเสนอเนื้อหา และการคัดเลือกข้อเท็จจริงมานำเสนอยังไม่รอบด้านเพียงพอ การใช้ภาษาในลักษณะเหน็บแนมแหล่งข่าว และมีการรายงานในลักษณะ "ปกป้องและแก้ตัวให้นักการเมือง" อย่างชัดเจน จนอาจเข้าข่ายมีอคติในการรายงานข่าวได้ แม้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีจะมั่นใจในความเป็นกลางในการทำหน้าที่สื่อสารมวลชนที่ผ่านมา แต่สมาคมฯ เห็นว่าข้อสังเกตดังกล่าวก็ไม่ควรถูกละเลยหรือมองข้ามไป หากทีไอทีวีจะเปิดใจกว้างและรับฟังข้อมูลเพื่อนำไปประกอบการรายงานข่าวให้เป็นกลาง สมดุลและเปิดโอกาสให้กับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม ก็จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร และประโยชน์ก็จะตกเป็นของประชาชนผู้รับข่าวสารอย่างแท้จริง"

 

อคติทางการเมืองที่ปรากฏชัดประการแรกคือ ในแถลงการณ์ดังกล่าวที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนนั้น สมาคมวิทยุและโทรทัศน์ไทยได้ใช้สีแดงเน้นข้อความที่เรียกร้องต่อ TITV ราวกับว่าต้องการให้ผู้รับสารเข้าใจว่า ข้อความที่ถูกเน้นด้วยสีแดงนี้เป็นประเด็นหลักที่สมาคมฯ กังวล

 

ที่ปรากฏชัดประการที่สอง คือ การอ้างอิงข้อมูลของกลุ่มมีเดียมอนิเตอร์ ซึ่งเมื่อย้อนไปดูรายละเอียดของการแถลงข่าวของกลุ่มมีเดียมอนิเตอร์เรื่อง "สื่อมวลชนกับบทบาทในการนำเสนอเนื้อหาการเลือกตั้ง" เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา จะเห็นอคติทางการเมืองที่รุกล้ำเข้าไปในองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสื่อ

 

โดยในรายงานข่าวของสำนักข่าวไทย ระบุว่า รายงานการศึกษาของกลุ่มมีเดีย มอนิเตอร์ "พบว่า ช่อง 5, 7, 9 และ 11 ไม่พบเนื้อหาข่าวที่ให้คุณให้โทษกับพรรค หรือนักการเมืองใด ขณะที่ ช่อง 3 เน้นรายงานข่าว และผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อสันติบาลโพล โดยผลของข่าวนี้น่าจะส่งผลในทางบวกต่อพรรคการเมืองที่ได้คะแนนสูง ด้าน ทีไอทีวี มีการเสนอข่าวให้คุณให้โทษต่อพรรคการเมือง โดยใช้วิธีการคัดเลือกข้อมูล เนื้อหานโยบายบางด้านของพรรคการเมืองหนึ่งเปรียบเทียบกับหลายๆ จากนั้น คัดเลือกคำบางตอนของนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยมากล่าววิพากษ์ต่อนโยบายดังกล่าว แต่ไม่มีการวิพากษ์ว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคพลังประชาชนดีหรือไม่ดีอย่างไร"

 

เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเลย ที่ทีมข่าว TITV และผู้ติดตามบริโภคข่าวสารการเมืองจะมีข้อสงสัยต่อ "อคติทางการเมือง" ในแถลงการณ์ของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และในรายงาน (ที่อ้างว่าเป็น) ผลการศึกษาทางวิชาการของกลุ่มมีเดีย มอนิเตอร์ โดยเฉพาะที่ระบุว่า "พบว่า ช่อง 5, 7, 9 และ 11 ไม่พบเนื้อหาข่าวที่ให้คุณให้โทษกับพรรค หรือนักการเมืองใด"

 

ข้อสงสัยต่อผลการศึกษางานชิ้นนี้ของกลุ่มมีเดีย มอนิเตอร์ คือ ไม่ว่าจะใช้กรอบความคิดใดอ้างอิงก็ตามเป็นไปได้อย่างไรหรือ ที่ "ไม่พบเนื้อหาข่าวที่ให้คุณให้โทษกับพรรค หรือนักการเมืองใด"ในรายงานข่าวการเมืองช่องอื่นๆ เลย

 

ทั้งๆ ที่สาธารณชน ผู้ติดตามบริโภคข่าวการเมืองต่างได้วิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็น ต่อความไม่เป็นกลางของสื่อช่องต่างๆ อยู่ในพื้นที่สื่อทางเลือกอื่นๆ อยู่แทบทุกวัน

 

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงนโยบายของแต่ละช่องในการไม่นำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของนักการเมืองบางกลุ่มและบางพรรค ด้วยเหตุผลที่เป็นที่เปิดเผยกันว่า "เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกในสังคม" ซึ่งเป็นนโยบายปิดกั้นทั้งเสรีภาพสื่อ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ที่สื่อต่างๆ น้อมรับมาจากคณะรัฐประหาร

 

เป็นนโยบายที่กระทบต่อการนำเสนอข่าวทั้งเชิงเนื้อหาและปริมาณของสถานีโทรทัศน์ทุกช่องอย่างปรากฏหลักฐานชัดเจน

 

แล้วกรอบคิดใดหรือที่ใช้อ้างอิงในการศึกษาที่ทำให้กลุ่มมีเดีย มอนิเตอร์ "พบว่า ช่อง 5, 7, 9 และ 11 ไม่พบเนื้อหาข่าวที่ให้คุณให้โทษกับพรรค หรือนักการเมืองใด"

 

กรอบคิดใดหรือที่ใช้อ้างอิงในการศึกษา ที่ทำให้กลุ่มมีเดีย มอนิเตอร์พบว่า "ทีไอทีวี มีการเสนอข่าวให้คุณให้โทษต่อพรรคการเมือง โดยใช้วิธีการคัดเลือกข้อมูล เนื้อหานโยบายบางด้านของพรรคการเมืองหนึ่งเปรียบเทียบกับหลายๆ จากนั้น คัดเลือกคำบางตอนของนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยมากล่าววิพากษ์ต่อนโยบายดังกล่าว แต่ไม่มีการวิพากษ์ว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคพลังประชาชนดีหรือไม่ดีอย่างไร"

 

แม้ว่าทางกลุ่มมีเดีย มอนิเตอร์ จะออกมาชี้แจงว่า "ผลการศึกษาของโครงการฯที่นำเสนอต่อสาธารณะ ถือเป็นข้อมูล ความรู้ของสังคมที่ผู้นำไปอ้างอิงถึง ต้องเป็นผู้พิจารณาเอง ด้วยความรับผิดชอบ"

 

คำชี้แจงดังกล่าวนี้มิได้ช่วยคลี่คลายข้อสงสัยต่อกรอบคิดทางวิชาการในผลรายงานการศึกษาชิ้นนี้ของกลุ่มแต่อย่างใด

 

ผู้เขียน ทั้งในฐานะสื่อมวลชน และเป็นผู้ติดตามบริโภคข่าวสารทางการเมืองด้วย อยากเรียกร้องให้กลุ่มมีเดีย มอนิเตอร์ตรวจสอบเจตนคติในการทำงานที่มุ่งตรวจสอบสื่อบางสื่อในประเด็นทางการเมืองโดยเฉพาะ

 

และหากจะมีการใช้กรอบคิดที่ยึดโยงความสัมพันธ์ TITV กับกลุ่มอำนาจทางการเมืองก่อนรัฐประหารแล้ว กลุ่มมีเดีย มอนิเตอร์ ต้องนำกรอบคิดนี้กลับไปตรวจสอบความสัมพันธ์ของกลุ่มมีเดีย มอนิเตอร์เองกับกลุ่มอำนาจทางการเมืองหลังรัฐประหารด้วยเช่นกัน

 

เพราะการที่หนึ่งในผู้ก่อตั้งและกรรมการวิชาการของกลุ่มมีเดีย มอนิเตอร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหาร อสมท. ภายหลังการรัฐประหารนั้น อาจนับได้ว่าเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับจากกลุ่มอำนาจทางการเมืองหลังรัฐประหาร

 

ผลประโยชน์และความสัมพันธ์แบบนี้กระทบต่อจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบสื่อหรือไม่

 

ขณะเดียวกันในการทำหน้าที่จับจ้องมองสื่อนั้น กลุ่มมีเดีย มอนิเตอร์ต้องใช้กรอบคิด หลักการและมาตรฐานเดียวกันกับทุกสื่อด้วย เพราะบุคลากรและองค์กรวิชาชีพสื่อหลายๆ องค์กร โดยเฉพาะสมาชิกของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจหลังรัฐประหาร หลายคน หลายองค์กรสื่อได้ดอกผลจากการรัฐประหารและกลุ่มอำนาจทางการเมืองหลังรัฐประหารไปไม่น้อย  ผ่านการได้เวลาจัดรายการตามสถานีวิทยุ และโทรทัศน์ช่องต่างๆ และหลายรายการที่ได้มาหลังรัฐประหารนี้ก็สนองตอบนโยบายของคณะรัฐประหารที่เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มการเมืองต่างๆ อย่างมิได้ปิดบังเลย

 

การใช้บทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อและภาคประชาสังคมในการตรวจสอบต่างๆ เพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นเรื่องที่ควรได้รับการสนับสนุนจากสังคม หากการตรวจสอบนั้นได้ดำเนินไปอย่างปราศจากอคติใดๆ

 

กลุ่มมีเดีย มอนิเตอร์ควรได้ทบทวนตรวจสอบการทำงานของกลุ่มด้วย ว่ายังยึดมั่นอยู่กับ "จุดยืนสำคัญของโครงการฯ คือ การปฏิบัติตามภารกิจ อย่างให้ความสำคัญกับคุณภาพงาน และประโยชน์ต่อสาธารณะ" และ "โครงการฯ ไม่ทำงานเพื่อสนองตอบต่อประโยชน์เฉพาะของกลุ่มใด" ตามที่ประกาศไว้หรือไม่

 

 


 

 ..........................


อ่านบทความย้อนหลัง ที่นี่ -- Silence of the Lamp


 

 

เอกสารประกอบ

แถลงการณ์สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท