สัมภาษณ์ จอม เพชรประดับ: ทีวีสาธารณะ VS จริยธรรมสื่อ "ผลประโยชน์ของประชาชนต้องมาก่อน"

เรื่อง: ตติกานต์ เดชชพงศ

ภาพ: ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์

 

 

ก่อนที่ TITV จะเปลี่ยนเป็น "ทีวีสาธารณะ" หรือ TPBS: Thai Public Broadcasting Service ตามนโยบายใหม่ภายใต้การควบคุมของกรมประชาสัมพันธ์ กลับมีคำสั่งงดออกอากาศรายการ "ตัวจริงชัดเจน" ซึ่งมีเทปสัมภาษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จนกลายเป็นกรณีที่ประชาชนและคนทำข่าวตั้งข้อสงสัยว่า "ทีวีสาธารณะ" จะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากยังมีการแทรกแซงจากฝ่ายต่างๆ อย่างที่เป็นอยู่

 

ประชาไทนำเสนอบทสัมภาษณ์ "จอม เพชรประดับ" นักข่าวผู้รับผิดชอบและดำเนินรายการตัวจริงชัดเจน เพื่อไล่เรียงลำดับเหตุการณ์เทป (ไม่) ลับกับทักษิณ รวมถึงกรณีพนักงานทีไอทีวีลาออกจากสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ยกทีม 44 คน พร้อมตั้งคำถามว่า "สื่อเคยตรวจสอบเรื่องจริยธรรมของตัวเองบ้างหรือเปล่า" และการเปิดพื้นที่ข่าวเพื่อ "ความเป็นธรรม" บางทีอาจจำเป็นมากกว่าการถามหา "ความเป็นกลาง"

 

 

0 0 0

0 0 0

 

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเรื่องการเปลี่ยนสถานี TITV ให้เป็นทีวีสาธารณะไปถึงไหนแล้ว

ถ้าูพูดถึงนโยบาย คงพูดได้แค่สามเดือนแรกของปี 2551 ก่อน เนื่องจากว่าเราจะมีอนาคตอยู่แค่สามเดือนนี้ ก็คือมกราคมถึงมีนาคม สิ้นมีนาฯ เราไม่รู้ แต่ตอนนี้มันมีความต้องการ 2 วัตถุประสงค์ ซึ่งวัตถุประสงค์แรก คือ กรมประชาสัมพันธ์ส่งคุณสนธิญาณ (ชื่นฤทัยในธรรม) เข้ามาดู เพื่อที่จะให้สามเดือนนี้มีการปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อที่จะเป็นทีวีสาธารณะ ตั้งแต่เรื่องของรายการ ก็ต้องลดรายการที่มันไม่มีสาระออกไป เน้นเรื่องบริการเชิงสังคมให้มากขึ้น ดูเรื่องความทุกข์ร้อนของประชาชนมากขึ้น ทำหน้าที่ในการตรวจสอบความไม่เป็นธรรม ความไม่โปร่งใสในสังคมทั้งหลายมากขึ้น ประชาชนเดือดร้อนตรงไหนเราต้องช่วย นี่เป็นความต้องการในส่วนของกรมประชาสัมพันธ์ที่เข้ามาวางนโยบาย วางยุทธศาสตร์

 

ในส่วนของพนักงานเอง เราคิดว่า ในเมื่อสามเดือนนี้เป็นสามเดือนที่ไม่มีกฎหมายอะไรมารองรับเลย กฎหมายทีวีสาธารณะก็รอลงพระปรมาภิไธยและโปรดเกล้าลงมาเร็วๆ นี้ เรายังรอตรงนั้นอยู่ ทีนี้ระหว่างการรอนี่ ทำไมเราจะต้องปรับเปลี่ยนในทันที ทำไมต้องเปลี่ยนผู้คน โยกย้ายคนขึ้นไปลอยอยู่ เราก็ห่วงว่า ถ้าเกิดทำไปในขณะที่กำลังรอให้กฎหมายออกมา คณะกรรมการตัวจริงก็จะไม่ได้เป็นคนวางรากฐาน วางแนวโครงนี้ไว้ มันก็อาจจะนำไปสู่การปรับรื้อกันใหม่ จะเป็นภาระของการจัดการและปรับแนวคิดอีกในอนาคต เพราะฉะนั้น เวลาสามเดือนมันไม่นานเลย อีกอย่างหนึ่ง ในเรื่องของตัวบุคคล เรามองว่า ในเมื่อคนของเรามีศักยภาพที่จะดูแลได้อยู่แล้ว และก็ดูมาแล้วตลอดเวลา ทำไมไม่ให้คนกลุ่มนี้ขึ้นมาดูตรงนั้นแทน อันนี้ก็เป็นความคิดของฝ่ายข่าว เพราะฉะนั้น มันก็จะเป็นสองแนวทางที่พูดกัน สามเดือนนี้ก็จะเป็นลักษณะว่า ดูก่อนว่าสองขั้วนี้มันจะเป็นยังไง และจุดจบของมันจะเป็นยังไง คือกลุ่มหนึ่งเป็นพนักงานทีไอทีวีที่บอกว่าอย่าเพิ่งเปลี่ยนอะไรเลย อีกกลุ่มหนึ่งก็คือรัฐบาลและกรมประชาสัมพันธ์ที่บอกว่าต้องเปลี่ยน เพื่อรองรับความเป็นทีวีสาธารณะ

 

แต่ทีนี้คือว่า การที่คิดจะเปลี่ยนมันมาจากแนวคิดของกรมประชาสัมพันธ์ เราก็ห่วงว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อรองรับเรื่องทีวีสาธารณะ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มาจากกรมประชาฯ ล้วนๆ นี่มันจะเป็นที่ไว้วางใจได้แค่ไหน ว่าจะสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องทีวีสาธารณะ เพราะแนวคิดของกรมประชาฯ ก็จะเป็นอีกกรอบหนึ่ง ในเรื่องการที่จะทำให้เป็นทีไอทีวีมีทำนองที่คล้ายๆ กับช่อง 11 ซึ่งเราก็คิดว่าภารกิจของทีไอทีวีกับช่อง 11 ต่างกันอย่างสิ้นเชิง และความคาดหวังของสังคมที่มีต่อช่องนี้กับทีวีช่อง 11 ก็ต่างกันด้วย คือไม่ได้หมายความว่าช่อง 11 ไม่ดี ช่อง 11 ไม่มีคุณภาพ แต่ภารกิจของการตั้งสถานีมันต่างกันโดยสิ้นเชิง เราจะเอาภารกิจนี้ไปเทียบเท่ากับภารกิจเดิม มันจะมีประโยชน์อะไร เสียเงิน เสียทอง เสียคนไปเปล่าๆ สู้ให้พันธกิจหรือภารกิจของ 2 สถานีมันมีความแตกต่างกันเลยดีกว่า แล้วชัดเจนไปเลยในแต่ละด้าน ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เรากังวล และเราก็บอกเขาอย่างนี้ไป

 

ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรให้พันธกิจหรือภารกิจของ TITV แตกต่างจากช่อง 11

โดยหลักการของกฎหมายทีวีสาธารณะ ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องของการตรวจสอบ จะมีสภาผู้ชมมานั่งดูว่า ปีนี้ เดือนนี้ หรือสามเดือน ห้าเดือน สิบเดือนผ่านไปแล้ว ทีวีช่องนี้ทำหน้าที่เหมือนที่ควรจะเป็นหรือเปล่า หรือคุณมัวแต่เล่นเรื่องการเมือง แต่เรื่องสังคมหรือเด็ก คุณไม่ไปดูเลย เล่นไปตามกระแสมากเลยนะ ทำข่าวบนเตียงของดารามากไปแล้วนะ มันไม่มีประโยชน์ต่อสังคม กลับมาเล่นเรื่องนี้บ้าง คือมันจะมีคนคอยติงเราน่ะ ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะได้กลับมา นี่คือสิ่งที่ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ไม่ใช่ว่าทุกเรื่อง เราก็ต้องมีหลักในการพิจารณา เพราะว่าความต้องการของประชาชนก็มีความหลากหลายเหลือเกิน มีความต้องการสูงมาก ถ้าเราวิ่งไล่ตามความต้องการทั้งหมดก็ไม่ได้ ด้วยกรอบของการทำงาน ด้วยอะไรก็แล้วแต่ที่มันจะทำให้ไม่สามารถสนองความต้องการของคนได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยๆ ก็พยายามที่จะทำให้ทุกกลุ่มรับเราได้ นี่คือการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มาตรวจสอบ แล้วก็ยังคงมีคณะกรรมการระดับนโยบายที่มาจากการสรรหาของผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ 4-5 คน ก็จะเป็นคนคอยดูนโยบายอีกทีว่าตอนนี้ทิศทาง มันดี มันเป็นทีวีสาธารณะจริงๆ หรือยัง หรือว่าถูกคุมอยู่ใต้ความหวาดกลัว นักข่าวก็กลัว อะไรอย่างนี้

 

ถ้ามีโครงสร้างใหม่เรื่องทีวีสาธารณะ บรรยากาศเปิด ผมเชื่อว่าคนที่เข้าไปอยู่ตรงนั้นก็ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ปรับพฤติกรรม ความกลัวความกังวลที่เคยติดมาเป็นนิสัยในตัวคนข่าวก็ต้องลดลงไปให้เยอะ ต้องกล้าพูด กล้าลุย ตอนนี้ประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ การเมืองภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น เขาจะไปประท้วงหรือออกไปแสดงความคิดเห็นบนท้องถนนกันมากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ อย่าไปพูดว่าคนส่วนใหญ่ชอบอย่างนี้ ทำเรื่องที่มีสาระหนักๆ เดี๋ยวคนต่างจังหวัดตามไม่ทัน ผมคิดว่าทุกวันนี้ประชาชนในต่างจังหวัดเขารู้ทันและเข้าใจปัญหาบ้านเมืองดีมากกว่าคนในเมืองเสียอีก เพราะเขามีเวลาที่จะดูข่าวมากขึ้น ตอนนี้บอกได้้เลยว่าข่าวมันมีหลายด้าน ทางเว็บไซต์ก็มี ทางวิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์นี่ก็เยอะ มีหลายสื่อให้เลือก และคนที่มีโอกาสได้ดูข่าวช่วงเช้ากับช่วงเย็น ส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดนะ ในขณะที่คนในเมืองยังอยู่บนท้องถนน ติดอยู่บนถนน อาจจะได้ฟังข่าวจากวิทยุบ้างอะไรบ้าง แต่กว่าจะถึงบ้านก็ถึงเวลาที่ละครออกอากาศพอดี ก็นอนดูละครผ่อนคลายกันไป อะไรอย่างนี้ อย่าพูดเลยครับว่าคนต่างจังหวัดไม่รู้เรื่อง หรือคนต่างจังหวัดถูกหลอกได้ง่าย ผมมองว่า ถ้าคนต่างจังหวัดจะยอมรับเงื่อนไขอะไรจากใคร เขาได้ผ่านการคิดมาแล้วว่าเขาจะจัดการกับมันยังไง

 

แล้วจะเชื่อมต่อกับประชาชนได้ยังไง ในเมื่อที่ผ่านมาทีไอทีวีไม่ค่อยได้ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเขาคือเจ้าของสถานี หรือมีความผูกพันกับสถานีสักเท่าไหร่

ตอนนี้ประชาชนไม่รู้สึก เพราะประชาชนไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องรักษาทีวีช่องนี้เอาไว้ ไม่เห็นมันจะต่างอะไรกับช่องอื่นๆ ถ้าดูทีวีช่องนั้นก็เป็นของตระกูลนั้น ช่องนี้ก็เป็นของตระกูลนี้ ช่องอีกช่องก็เป็นของสถาบันนี้ ไม่มีอะไรเกี่ยวกับประชาชน เพราะงั้นถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ มันเป็นเรื่องของคุณ แต่ถ้าพูดว่าทีวีสาธารณะเป็นของทุกคน จะเริ่มมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนร่วม ก็จะยอมไม่ได้ เพราะฉะนั้น เรามีอะไรก็ต้องบอก ถ้าคิดว่าประชาชนคือนาย เราก็ต้องฟ้องนายใช่ไหมว่า มาแล้ว มีการแทรกแซงแล้ว เข้ามาช่วยกันหน่อย ผมว่านี่แหละ ถ้าโครงสร้างแบบนี้มันมีก็จะดี

 

แต่ทุกวันนี้ทีวีในประเทศไทยไม่เคยสร้างองค์กรหรือสร้างบรรยากาศภายในองค์กรให้คิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาิติเป็นตัวตั้ง ส่วนใหญ่คิดว่าโฆษณาจะมาหรือไม่มา ทุนจะได้หรือไม่ได้ ถ้าทำอย่างนี้แล้วทางราชการจะว่าอย่างไร คิดอย่างนี้มาตลอด เนื่องจากเราไม่เคยสร้างกลไกหรือโครงสร้างของสถานีให้คิดถึงประชาชนเป็นหลัก ไม่มีบรรยากาศไหนที่ทำให้คนข่าวมีความรู้สึกว่า ผลประโยชน์ของประชาชนมาก่อน..นี่ไม่ได้เอาสโลแกนของพรรคการเมืองมาพูด แต่มันเป็นหลักที่ง่ายและเป็นคำพูดที่น่าจะชัดเจนที่สุด คือคำนึงถึงการรับรู้ของประชาชน ข้อมูลข่าวสารของประชาชนมาก่อน แล้วอย่าไปกังวลว่าคนรู้แล้วจะไม่ดี และที่สำคัญคืออย่าไปดูถูกความคิดของประชาชน อย่าคิดว่า ประชาชนยังไม่รู้หรอก ประชาชนยังโง่อยู่ ประชาชนไม่ทันหรอก อย่างนั้นอย่างนี้ คุณให้ข้อมูลเขาไปให้มากๆ แล้วประชาชนจะคิดเอง

 

ผมเห็นด้วยกับทีวีสาธารณะ ผมทำงานในแวดวงสื่อมาประมาณ 20 กว่าปี และตอนที่ผมมาอยู่กับโทรทัศน์ก็ประมาณ 5-10 ปีมานี้ ผมมองว่าโทรทัศน์เป็นสื่อซึ่งทรงพลังและมีผลกับประชาชนมาก แต่คนทำงานโทรทัศน์ถูกกระทำมาโดยตลอด โดยเฉพาะโทรทัศน์ทีไอทีวี เพราะมันเป็นแหล่งผลประโยชน์มหาศาล เมื่อเป็นแหล่งผลประโยชน์มหาศาล อำนาจทุนก็อยากจะเข้ามา อำนาจการเมืองก็อยากจะเข้ามา แม้แต่อำนาจข้าราชการก็อยากจะเข้ามา เมื่อเป็นอย่างนั้น ทีไอทีวีเป็นช่องเดียวที่เอกชนมีโอกาสเข้ามาง่าย ก็เข้ามากันใหญ่ พวกเราก็ถูกกระทำกันใหญ่ พวกเราไม่สามารถยืนขึ้นได้ในบางครั้ง เพื่อจะเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องอุดมการณ์ซึ่งคนสื่อควรจะมี แต่มันก็ถูกตี ถูกกระทืบ ถูกกระทำโดยทุน ต่างๆ นานามาตลอด เพราะฉะนั้น ถ้าผมจะยังอยู่ในวิชาชีพนี้ ผมขอเกราะคุ้มครองว่า คนที่จะทำสื่อ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ต้องมีกฎหมายคุ้มครองในเรื่องของการที่จะไม่ถูกแทรกแซง การเป็นอิสระในการจัดการหรือการคิดการทำงาน อันนี้ผมอยากได้

 

มั่นใจได้อย่างไรว่าทีวีสาธารณะจะปลอดจากการถูกแทรกแซงจากรัฐหรืออำนาจทุนอย่างแท้จริง

เมื่อผมเห็นโครงสร้างของการเป็นทีวีสาธารณะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวกฎหมายที่ออกมาว่า ห้ามถูกแทรกแซง ถ้าแทรกแซงก็มีความผิด พนักงานเองก็สามารถที่จะร้องเรียนได้ ร้องเรียนไปยังสภาผู้ชม ไปยังบอร์ด ไปยังคนดู หรืออะไรต่างๆ ทางประชาชนเองก็มีสิทธิ์ตรวจสอบและท้วงติงได้ ผมว่ามันมีความโปร่งใส มีการ check & balance กันตลอด ผมว่าอันนี้แหละที่มันจะสร้างสมดุลในโครงสร้างขึ้นมา แต่ผมไม่สามารถการันตีได้ว่าพนักงานทีไอทีวีจะเห็นด้วยกับเรื่องนี้ทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ผมก็ยังไม่มั่นใจในกระบวนการจัดการของคนที่ต้องการที่จะเปลี่ยนทีวีช่องนี้เป็นสาธารณะ เพราะผมยังเห็นเรื่องของความพยายาม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทุน ที่เข้ามาวางกลไก พยายามที่จะแทรกเข้ามาในระบบราชการบ้าง ผ่านทางคณะกรรมการบ้าง อันนี้ก็คือความพยายามที่เห็น ในเรื่องของรัฐบาลว่าจะจริงใจแค่ไหน คือจะเรียกว่าใจกว้างหรือยอมรับได้ไหม ผมไม่เห็นว่ารัฐบาลไทยจะมีความแฟร์อยู่เลย แล้วยิ่งทีวีช่องนี้จะต้องเอาเงินมาจากรัฐบาลปีละ 1,800 ล้าน หรือ 2 พันล้านต่อปี ถ้าเกิดเราวิจารณ์เขา แต่เราต้องเอาเงินเขา เขาจะให้เงินเราได้อย่างบริสุทธิ์ใจเท่าไหร่ ผมไม่สามารถที่จะแน่ใจได้ว่านักการเมืองเขาใจกว้างพอถึงขนาดนั้น มันก็ยังเป็นข้อกังวลของผมอยู่

 

ความพยายามของข้าราชการก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา เพราะถ้าเกิดเราทำให้สถาบันราชการกระทบกระเทือน เขาก็อาจจะพยายามเข้ามา คือมันมีอำนาจที่เรามองไม่เห็นมากมายในสังคมไทย เพราะงั้น ถึงแม้ว่ากฎหมายตัวนี้จะดีสวยหรูแค่ไหน แต่การเปลี่ยนผ่านแต่ละช่วง มันจะมีอำนาจที่เราไม่เห็นสอดแทรกอยู่ ยังมีความพยายามของมือที่เรามองไม่เห็นอยู่ เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งที่ผมกังวลว่า สุดท้ายมันจะออกมาอย่างสวยงามอย่างที่นักวิชาการพูดเค้าร่างเรื่องทีวีสาธารณะไว้หรือเปล่า แต่ที่ผมยังอยู่ที่ทีไอทีวี ก็เพราะผมรอเพื่อจะได้ทำทีวีสาธารณะ และถ้าผมถูกตรวจสอบอย่างชนิดที่ว่า หรือมันมีเรื่องที่ทำให้การรับรู้ข้อมูลของประชาชนถูกละเมิดหรือถูกปิดกั้นขึ้นมา ผมก็มีช่องทางในการที่จะร้องเรียนขึ้นมาได้ตลอดว่าถูกแทรกแซง ถูกห้ามไม่ให้คิดไม่ให้เขียนในเรื่องบางเรื่อง แม้กระทั่งบรรยากาศอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เิกิดความกดดันขึ้นในกอง บก.ก็ต้องแจ้ง ก็ต้องเตือนต่อประชาชนว่า พวกเรารู้สึกว่ามีการพยายามที่จะเข้ามาแทรกแซงทีวีช่องนี้ อะไรอย่างนี้ คือถ้าประชาชนมีความรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของ เขาจะเข้ามามีส่วนร่วมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ผมก็รอทีวีช่องนี้ว่าถ้าออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร

 

การสั่งเลื่อนออกอากาศเทปสัมภาษณ์ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2550 ไม่ได้ถือว่าเป็นการแทรกแซงจากฝ่ายผู้บริหารระดับสูงของทางสถานีหรือ

เรื่องถอดเทปสัมภาษณ์ทักษิณ ไม่ได้มาจากคุณสนธิญาณ (ชื่นฤทัยในธรรม) หรือทางกรมประชาสัมพันธ์ เข้ามาโดยตรง แต่เป็นการวินิจฉัยของฝ่ายผู้อำนวยการสถานีในตอนนั้น ซึ่งก็คือคุณอัชฌา (สุวรรณปากแพรก) คุณอัชฌา้เป็นคนได้รับโทรศัพท์ แล้วก็แจ้งผมมาว่าอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์โทรมาหา แล้วถามว่าจะออกเทปสัมภาษณ์คุณทักษิณหรือ ผมก็บอกคุณอัชฌาว่าจะออก เขาบอกว่า ถ้าอย่างนั้นขอให้ระงับไว้ก่อน เพราะสถานการณ์และเวลามันไม่เหมาะสมที่จะออก เรากำลังต่อสู้อยู่กับการที่มีอะไรเข้ามาแทรกแซง มีการต่อสู้ที่จะต้องถูกเปลี่ยนผ่านเป็น "ทีวีสาธารณะ" เราจะต้องต่อสู้กับกรมประชาฯ อะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นสถานะตอนนี้ยังไม่น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสม พนักงานส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่กำลังต่อสู้อยู่ และเขาบอกด้วยว่ามันยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ อาจจะมีใบเหลืองใบแดง สุดท้ายแล้วพรรคนี้จะได้ตั้งรัฐบาลหรือเปล่าก็ไม่รู้ รอให้เรื่องหลังเลือกตั้งเสร็จก่อนได้ไหม ผมบอกก็แล้วแต่...

 

ทุกคนได้ดูเทปสัมภาษณ์กันหมดแล้ว?

ยังไม่ได้ดู แต่เขาเชื่อมั่นว่าทำออกมาดีแน่ๆ คนดูแน่ๆ คือเรื่องเนื้อหาไม่มีใครปฏิเสธเลย เป็นเรื่องที่น่าสนใจในสายตาของประชาชนซึ่งคนไทยควรจะรู้ แต่เนื่องจากว่าช่วงเวลามันยังไม่ได้ เขาบอกว่ารอให้เรื่องหลังเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยก่อนได้ไหม รัฐบาลเป็นฝ่ายไหน ผมก็บอกว่ามันก็ตีความได้หมด ถ้าสมมติว่ารอให้จัดตั้งรัฐบาลได้เสร็จ พรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล ก็อาจจะนำไปสู่การตีความในอีกมิติหนึ่งก็ได้ว่า สุดท้ายเราก็หันมาทางอำนาจใหม่ ซึ่งก็คืออำนาจเก่าที่กลับมาใหม่ สื่อก็เริ่มเข้าไปหาอีกแล้ว หรือถ้าสุดท้าย พลังประชาชนเกิดไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ พรรคประชาธิปัตย์เกิดฟอร์มเป็นรัฐบาลได้ พอเราออกเทปทักษิณไป ก็อาจจะมีเสียงค้านที่ดังกว่าด้วยซ้ำว่า ไม่ได้ อำนาจเก่ามันถูกสลายไปแล้ว มันไม่ใช่เวลาของกลุ่มอำนาจเก่า มันเป็นเรื่องของอำนาจใหม่ เพราะฉะนั้นเราต้องติดตามอำนาจใหม่ ผมว่าคนสามารถตีความไปได้

 

แต่ผมมองว่า การออกก่อน มันก็ทันกระแสในแง่ของประเด็นข่าว อีกอย่างหนึ่ง บุคคลที่ผมไปสัมภาษณ์ก็คือบุคคลที่เป็นเงาของพรรคๆ หนึ่งซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาด้วยเสียงค่อนข้างมาก ในเมื่อพรรคๆ นี้มีเงาคนหนึ่งคนทาบอยู่ และเป็นคนที่ดูเหมือนจะมีบทบาทสำคัญทางการเมืองในอนาคตในวิถีทางประชาธิปไตยที่กลับเข้ามาใหม่ ก็ควรที่จะให้ประชาชนได้รับฟังว่า คนๆ นี้คิดยังไง มองการเมืองยังไง จะดำเนินการอย่างไรกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ปัญหาที่เราผ่านมา 1 ปี เป็นอย่างไร บทเรียนที่เขาได้รับ ความล้มเหลว ความสำเร็จอะไรต่างๆ ที่เขาเป็นอยู่ รวมทั้งชีวิตของการที่เขาต้องไปอยู่ต่างประเทศ มันควรจะถึงเวลาแล้วที่คนไทยควรจะได้รู้อะไรจากปากของเขาบ้าง ผมก็เลยไป

 

ลำดับเหตุการณ์เรื่องการเลื่อนออกอากาศเทปสัมภาษณ์ทักษิณเป็นอย่างไร

หลังจากเลือกตั้งเสร็จวันที่ 23 ธันวาคม ทำรายงานผลเสร็จ ผมเดินทางเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2550 ตอนเช้าไปตั้งแต่หกโมงเช้าเลย ผมไปด้วยทุนส่วนตัว แ่ต่อย่างไรก็ตาม ในเบื้องแรก ผมคิดว่าเงินตัวเองที่ผมออกไป เมื่อเทปสามารถที่จะออกอากาศได้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ผมไม่คิดว่าตัวเองจะต้องเสียเงินฟรีนะครับตอนนั้น  เพราะผมเื่ชื่อมั่นในข่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คนน่าจะต้องคิดเหมือนที่ผมคิด ซึ่งโอเคผมอาจจะคาดการณ์ผิด ไปคาดหวังว่าคนอื่นจะคิดเหมือนเรา ซึ่งไม่ถูก แต่ผมก็คิดว่าคนทำข่าวมานานๆ น่าจะมองออก แล้วก็รู้ว่ามันควรจะได้เวลาแล้วที่จะออกอากาศ เพราะประชาชนไ้ด้ตัดสินและก็เลือกตั้งไปแล้ว วิถีทางประชาธิปไตยกลับมาแล้ว สื่อเองก็ต้องดำเนินไปตามวิถีทางประชาธิปไตย

 

หนึ่งปีของการที่อยู่ภายใต้ คมช.หรือรัฐบาลของ คมช.นั้นก็เป็นหนึ่งปีที่เราให้ความร่วมมือกับ คมช.มาโดยตลอด ในการที่จะให้วัตถุประสงค์ของการปฏิรูปการเมือง วัตถุประสงค์ของการสมานฉันท์อะไรต่างๆ เราก็ให้เวลาเขาพูด ทั้งในรายการผมและในส่วนของสถานีทีไอทีวีด้วย เราคิดว่าหนึ่งปีเราก็ให้ความร่วมมือกับฝ่ายนั้นได้มาก เพราะฉะนั้นเมื่อสังคมกลับสู่วิถีทางที่เป็นประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง แล้วประชาชนก็เลือกและก็ัตัดสินไปแล้วด้วยในทางการเมือง ว่าการเมืองที่เขาอยากเห็นคืออะไร เพราะฉะนั้นผมคิดว่าสื่อเองก็จะต้องทำหน้าที่ให้มติที่ผ่านการลงคะแนนจากคนส่วนใหญ่ หรือผ่านการโหวต ผ่านการเลือกตั้ง มันมีผลอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น เสรีภาพของสื่อก็น่าจะกลับมาในระดับหนึ่งแ้ล้ว ผมก็เลยไปสัมภาษณ์

 

หลังจากนั้น พอผมเสนอมาที่กอง บก.แล้ว กอง บก.ไม่อนุญาต และก็มีท่าทีที่ไม่เห็นด้วยในหลายๆ เรื่อง ถูกวิจารณ์ แล้วก็ถูกตำหนิว่าไม่ปรึกษา ไม่หารือ แล้วก็ไม่คุย ไม่ได้รับฉันทามติออกไป เหมือนกับทำไปโดยไม่คิดว่า ผลที่จะเกิดกับพนักงาน 800 กว่าคนคืออะไร แต่ก็ไม่รู้นะ ผมก็ไม่กล้าไปอ่านใจเขา เดี๋ยวจะผิดใจกัน เอาเป็นว่า ผมทำโดยผิดกฎของบริษัท คือไม่ได้หารือ ไม่ปรึกษา ไม่บอกกอง บก.เพราะฉะนั้น ผมว่าอันนี้คือความผิด แต่ผมก็มีคำอธิบายไป ซึ่งตรงนี้แหละที่ผมบอกว่า เมื่อมีความผิดตรงนี้ ความรับผิดชอบของผมมีทางเดียว คือต้องลาออก ถูกไหมครับ ส่วนเนื้อหาข่าวเขาไม่ได้มีถกเถียงกันครับ เขาคิดว่าโอเค มันดีนั่นแหละ แต่มันออกไม่ได้ และที่สำคัญคือผมไม่ได้ตัดสินใจร่วมกับทางกอง บก.ซึ่งผมก็ผิด ผมก็ลาออกไป

 

ตามปกติการสัมภาษณ์คนมาออกรายการต้องปรึกษาหรือขออนุญาตฝ่ายข่าวก่อนทุกครั้งหรือ

ไม่ต้อง ตามปกติแล้วโดยวินิจฉัย โดยการตัดสินใจของทีมงาน และของตัวผมเอง โดยปกติแล้วเขาก็ให้การยอมรับ เพราะรู้ว่าก็ผ่านอะไรมาเยอะ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่เนื่องจากว่าเคสนี้เป็นเคสที่ใหญ่ แล้วเป็นเคสที่จะได้รับผลกระทบ บุคคลที่เราสัมภาษณ์เป็นบุคคลที่ไม่มีใครสัมภาษณ์ได้ คือไม่มีช่องไหนกล้าเลย โดยเฉพาะสื่อทีวี ไม่มีใึครกล้าเอามาออก และเป็นคนที่ถูกห้าม ถูกเตือนจากรัฐมาโดยตลอด แล้วสื่อคนไหนที่เคยทำเรื่องนี้ก็มีอันเป็นไปหลายต่อหลายคนแล้วเหมือนกัน อย่างกรณีของนักข่าวช่อง 5 หรือแม้แต่เรื่องวิทยุก็เหมือนกัน คือถ้าเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ก็ไม่มีปัญหา แต่การออกทีวีมันเป็นสื่อที่สร้าง impact กับสาธารณะ ซึ่งอย่างโทรทัศน์วิทยุนี่ก็มีผลกับคนในระดับสูง พอสัมภาษณ์คุณทักษิณปั๊บ ก็สะเทือนถึงองค์กรหรือหน่วยงานนั้นทันที เราเองก็รู้ แต่ต้องย้อนไปดูที่เหตุผลของผมอันดับแรกที่บอกว่ามันผ่านมาแล้วนี่ เราไม่ได้ทำเพื่อความสะใจ เราไม่ได้ทำเพราะว่าเราชอบ แต่เราทำเพราะว่าสังคมต้องการน่ะ

 

ถามว่ารู้ได้ยังไงว่าสังคมต้องการ ก็ูดูผลการเลือกตั้งสิ มันชัดแล้ว อีกอย่างหนึ่ง เราทำตามกระแสความต้องการของสังคมที่ควรจะได้รับรู้ข่าวของสิ่งที่เขาตัดสินใจเลือก นั่นคือบรรทัดฐานที่ผมต้องทำ และแน่นอนว่านี่คือเรื่องของอิสรภาพ เป็นเรื่องของความท้าทายของการเป็นทีวีสาธารณะด้วย ผมก็เลยตัดสินใจไปโดยไม่ปรึกษากับทางฝ่ายข่าว ทีนี้พอมีการคุยกัน พนักงานข่าวมารวมตัวกัน ก็บอกว่า ถึงแม้จะเป็นความผิด แต่เป็นความผิดที่มีเจตนาจากการตัดสินใจของสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อองค์กรด้วย ก็คือต้องการให้องค์กรนั้นยอมรับในเรื่องของความเชื่อมั่นในความที่ประชาชนคาดหวัง เป็นการตัดสินใจเพื่อที่จะให้ประชาชนยอมรับเราในความกล้าหาญในวิชาชีพ เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า เราไม่เคยละเลยในสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน นั่นคือสิ่งที่ควรให้อภัย น้องๆ พนักงานในบริษัทก็เลยคุยกับทางฝ่ายบริหารอีกครั้งหนึ่งว่าขอให้พี่จอมกลับมาได้ไหม เพราะเจตนาดี แต่โอเค ยอมรับในข้อผิดพลาด ซึ่งผมก็ยอมรับแล้ว แล้วก็แสดงการรับผิดชอบด้วยการลาออก ก็จบ ก็ถือว่าไม่ได้อะไร จากนั้นที่ประชุมก็คุยกัน ทางคุณอัชฌา ผู้อำนวยการสถานี เขาก็เรียกผมเข้าไป บอกว่าโอเค เอาเป็นว่าจบกัน สิ่งที่คุณผิด คุณแสดงความรับผิดชอบไปแล้ว ถือว่าจบ ทีนี้มาเริ่มต้นกันใหม่ ขอให้กลับมาทำงานเหมือนเดิม

 

ทางฝ่ายบริหารของสถานีมีมติหรือมีเงื่อนไขอะไรหรือไม่ในการกลับเข้าไปทำงานครั้งนี้

การกลับมาทำงานเหมือนเดิมนี่ มติของเขาคือให้ไปสัมภาษณ์คุณทักษิณใหม่ โดยเหตุผลที่กลับไปก็เพราะว่ามันมีประเด็นทางการเมืองที่มันมีพัฒนาการไป มีประเด็นใหม่ๆ ที่หลายคนอยากฟังว่าคุณทักษิณจะคิดอย่างไรหรือจะตอบอย่างไร ซึ่งก็คือเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลของสองพรรคคือ "เพื่อแผ่นดิน" กับ "ชาติไทย"  เงื่อนไขนั้น คุณทักษิณรับได้หรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นผมก็คิดว่าต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผล และต่างฝ่ายก็เข้าใจแล้วว่าสิ่งที่ผมทำมันก็ไม่ใช่ความผิดที่จะเรียกได้ว่ามันสร้างความเสียหายให้กับบริษัท มันจะีดีด้วยซ้ำที่บริษัทจะได้รับการยอมรับ เขาก็เลยเสนอเงื่อนไขมาอย่างนั้น ผมก็ตอบตกลง ผมก็เลยกลับมาเพื่อจะทำงานต่อ แล้วที่ให้ผมไปสัมภาษณ์ใหม่ ผมก็โทรหาคุณทักษิณ แล้วก็ไปสัมภาษณ์ใหม่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 (ธันวาคม) ก็เป็นครั้งที่ 2 เรียบร้อย Process ทั้งหมด ตอนนี้ก็รอออกอากาศ แต่บังเอิญมีช่วงที่สมเด็จพระพี่นางฯ สิ้นพระชนม์ ก็เลยต้องรอ เพื่อถวายความอาลัย

 

ถามว่าจะออกเมื่อไหร่ ก็คงจะออกหลังจากที่ฝ่ายการเมืองเริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่ง นั่นก็หมายถึงว่าจะออก ณ วันที่ "เพื่อแผ่นดิน" กับ "ชาติไทย" ประกาศตัวว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล บรรยากาศหลังจากนี้อาจจะไม่ถึง 15 วัน เพราะผมไม่เื่ชื่อว่าการเมืองจะอยู่นิ่งได้โดยไม่เคลื่อนไหวเลย ผมว่าภายในสัก 5-6 วัน หรือ 7 วันต่อจากนี้ ก็คงจะต้องกลับมาสู่วิถีชีวิตปกติ ถ้าในส่วนของการเมืองออกมาเคลื่อนไหวและบอกว่าจะฟอร์มรัฐบาลกันอย่างไร อันนั้นผมคิดว่าเทปก็จะได้ออกอีกครั้ง

 

แต่มันก็ยังมีความพยายามของอธิบดี (อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์) ในการที่จะบอกว่ามันไม่เหมาะสม คือก่อนที่พระพี่นางฯ จะสิ้นพระชนม์ เขาก็บอกว่าไม่เหมาะสมในสถานการณ์ตอนนี้ มันจะทำให้ถูกมองว่าไม่เป็นกลาง อะไรต่างๆ เป็นข้อกังวลของเขาอยู่ แล้วตอนที่บอกว่าจะออกอากาศเทปม้วนนี้ อธิบดีขอดูก่อน ซึ่งเราก็อัดไปให้ดู แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงของการถวายความอาลัย ก็ยังไม่รู้ว่าท่าทีจะเป็นยังไง แต่โดยฝ่ายข่าวก็คิดกันแล้วว่า หลังจากที่การถวายความอาลัยเสร็จสิ้น ความเคลื่อนไหวทางการเมืองกลับมาอีกที เราก็คงต้องพิจารณาออกอากาศ ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ทางกอง บก.เห็นชอบร่วมกันว่าควรจะต้องออกแล้ว ตอนนี้ไม่มีการเซ็นเซอร์ตัวเองแล้ว คือถ้าถามทางกรมประชาฯ เขาก็บอกว่าไม่อยากให้ออกอยู่แล้ว เหมือนเดิม คุณจะไปสัมภาษณ์มาเอง ต่อให้ไปกี่ครั้งโดยทุนส่วนตัว หรือจะเป็นมติของกอง บก.แต่กรมประชาฯ ก็ไม่เห็นว่าควรจะออก นั่นเป็นความคิดของเขาอยู่ ก็ไม่เป็นไร ก็ดูกันไป แต่ในการสัมภาษณ์ครั้งที่สองนี่ อย่างน้อยๆ ฝ่ายข่าวเองก็จะได้ลุกขึ้นมาบอกว่า เรากล้าพอแล้วล่ะ และเราจะออกอากาศเทปอันนี้

 

ระหว่างการแทรกแซงสื่อโดยอำนาจทุน-อำนาจรัฐ กับการเซ็นเซอร์ตัวเอง อย่างไหนมีผลกระทบต่อการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนมากกว่ากัน

ผมอยากจะบอกว่า องค์กรแต่ละองค์กรที่นักข่าวอยู่ มันยังคงเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ ต้องทำอะไรก็ตามที่ไม่ทำให้บริษัทถูกปิด ทำข่าวอะไรก็ตามที่จะไม่ทำให้อำนาจทางการเมืองหรืออำนาจอะไรเข้ามาแทรกแซงทำลาย มันเป็นความกังวลของผู้บริหาร มันก็เลยทำให้พวกนักข่าวเองรู้สึกกลัว ทำอะไรที่แหลมไปหน่อยก็ไม่ได้ หรือแหลมไปก็จะถูกกระแสตีกลับ เพราะฉะนั้นเขาก็เลยไม่กล้าคิดไม่กล้าทำ เพราะงั้นก็ทำ Routine ซะดีกว่า เซฟตัวเอง ได้ทำงานปลอดภัย เงินเดือนก็ได้เท่าเดิม อะไรอย่างนี้ คือพูดง่ายๆ ก็ยังคงมีวิธีคิดแบบผลประโยชน์ ตัวเองต้องเป็นที่หนึ่ง ผลประโยชน์การรับรู้ของประชาชนก็เป็นสองรองลงไป ถ้าเราเดือดร้อน เราตกงาน ก็อย่าทำ ทำอะไรก็ได้ที่เซฟ ไม่ต้องไปขัดแย้งกับกลุ่มอำนาจ ซึ่งความรู้สึกนี้ การที่คนเราต้องคิดถึงชีวิตตัวเองก่อน นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ แต่อย่าลืมว่าสังคมเราขาดอะไร สังคมเราโหยหาอะไร ความกล้าหาญ ถูกไหมครับ ความกล้าหาญและจริยธรรม

 

พนักงานข่าวทุกคนในประเทศไทย-เราเรียกร้องจริยธรรมจากนักการเมือง เราเรียกร้องจริยธรรมจากสังคม แต่ถามว่า "จริยธรรมของคนข่าว" นี่ เราเคยเรียกร้องตัวเองไหม ผมยังเคยคิดอยู่เหมือนกันว่า ถ้าเรามองว่าทีวีเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพล เป็นสื่อที่มีพลังอย่างมหาศาล แล้วทีวีส่วนใหญ่ในเมืองไทยก็ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล แต่เอกชนใดก็ตามที่เข้ามาทำสัญญาผูกพันอยู่กับทีวี ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้บริหารของสถานีนั้นๆ ควรจะมีการชี้แจงบัญชีทรัพย์สินในแต่ละปี เพราะผมถือว่าสถานีโทรทัศน์มีผลประโยชน์มหาศาลที่ไม่มีการเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ ในเมื่อคุณเองก็ไม่ได้โปร่งใสพอในการที่จะบอกว่าคุณเข้ามาเพื่อทำประโยชน์ให้กับสาธารณะ คุณไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างที่คนอื่นถูกตรวจสอบ ในขณะเดียวกัน รัฐเขาก็มีกฎหมายแล้ว ข้าราชการเขาถูกตรวจสอบอยู่แล้ว ในระดับสูงขึ้นไปจะต้องถูกตรวจสอบทรัพย์สิน แต่ถามว่าผู้บริหารสถานี ในลักษณะที่เอกชนเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการนี่ ผมว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องแสดงความโปร่งใส แสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่ละปี รายงานออกไป ทรัพย์สินเป็นยังไง เพราะบางอย่างบางเรื่อง มันมาโดยลักษณะที่มีคำถามตามมาเยอะเหมือนกัน

 

กรณีที่พนักงาน 44 คนของทีไอทีวีลาออกจากการเป็นสมาชิกของสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์จะอธิบายว่าอย่างไร

ผมคิดว่าประเด็นเรื่องการลาออกจากการเป็นสมาชิกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ของพนักงานทีไอทีวี 44 คนนั้น..เป็นการตัดสินใจที่เร็วไปนิดหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือพนักงานทีไอทีวีมองสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ว่า เขาอาจจะไม่ได้มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งพอ ความเข้าใจในความเป็นสื่อโทรทัศน์แต่ละช่องนี้ มีเรื่องของที่มา จุดกำเนิด แต่เนื่องจากว่าสถานีทีไอทีวีเป็นสื่อที่สัมผัสได้ง่าย จับต้องได้ง่าย มันมีความเป็นสื่อของประชาชนมากกว่าสื่อทีวีช่องอื่น เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหมือนกับว่า เราถูกโฟกัสโดยสมาคมฯ อยู่ตลอดในหลายๆ เรื่อง ในบางครั้งก็อาจจะไม่ได้เข้าใจการทำงาน หรืออาจจะมองอย่างค่อนข้างมีอคติ หรือต่างฝ่ายต่างก็มองกันว่าต่างฝ่ายต่างก็มีอคติ อันนี้ผมมองในแง่ของคนที่มองอย่างกลางๆ นะฮะ มองว่าการทำข่าว อย่างการรายงานข่าวผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผลสำรวจของมีเดียมอนิเตอร์บอกว่า "เรามีอคติกับพรรคการเมือง" หมายถึงว่าทีไอทีวีมีการแสดงออกถึงความเป็น "กลุ่มอำนาจเก่า" อยู่ ซึ่งผมเองก็ไม่รู้ว่าเขามองยังไง แต่สิ่งที่ผมทำในรายการที่รับผิดชอบอยู่นี่ ผมยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าผมให้พื้นที่ให้กับทุกส่วน ทุกขั้ว ทุกฝ่าย เราเองพยายามที่จะสลายขั้วด้วยซ้ำ ในการที่จะเชิญใครมาในรายการ

 

ผมเชิญ คมช.มาตั้งแต่ตอนเปิดรายการของผม เชิญ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน แล้วก็สัมภาษณ์ย้ำอยู่ตั้ง 4 เทป 5 เทปนะครับ คุณอภิสิทธิ์ผมก็ออกตั้งหลายครั้ง ขณะเดียวกันก็มีเรื่องเี่กี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์อีกตั้งหลายครั้ง รวมเป็นสิบครั้ง เรื่องของรัฐบาลก็มีหลายเรื่องอยู่แล้ว ผมว่าโดยเนื้อหา ถ้ามองจากตัวอย่างรายการของผมเองนี่ ผมให้พื้นที่กับรัฐบาล หรือถ้าพูดง่ายๆ ชัดๆ ก็ึืคือ "ฝ่ายอำนาจใหม่" นี่นะครับ มากกว่าฝ่ายอำนาจเก่าไม่รู้ตั้งกี่เท่าไหร่ ถ้าจำนวน 100 ครั้ง ผมมีประมาณ 4 ครั้ง 5 ครั้งเท่านั้นเองที่พยายามแตะขั้วอำนาจเก่า ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ซิตี้, คุณจาตุรนต์ ฉายแสง, คุณนพดลก็เข้าสายแค่นิดเดียว รวมแล้ว 3-4 ครั้งเท่านั้นเอง แต่นับร้อยๆ ครั้งนอกเหนือจากนี้ก็คือกลุ่มอำนาจใหม่เองทั้งหมด

 

ทีนี้ถ้ามาดูในส่วนของช่วงเวลาในวันเลือกตั้งทั้งหมด ผมเชิญทุกคน เชิญทุกกลุ่ม แล้วก็ให้เวลาในการพูดคุย ถ้าจะมองว่าคำถามมันเป็นการเอื้ออะไรต่างๆ อันนั้นผมยืนยันว่า ถ้ามันต้องมีบ้าง มันไม่ได้มาจากความตั้งใจที่จะอิงแอบกับอำนาจเหล่านั้น แต่มันอาจจะมาจากความไม่ลึกซึ้งพอ หรือความไม่เข้าใจกันก็เป็นได้ และมันก็อาจจะทำให้คนอื่นมองว่า เราเอื้อให้คนนี้พูด เอื้อให้คนนี้ได้แสดงออกมากกว่าอีกคน แต่ถ้าถามถึงสิ่งที่เราคุยกันในรายการตัวจริงชัดเจน ในส่วนที่ผมรับผิดชอบ เราพยายามจะให้เวลากับคนที่มาเท่าๆ กัน คำถามก็จะ้ต้องใกล้เคียงกัน ไม่มีอะไรที่เป็นลักษณะของการเลือกปฏิบัติ ไม่ใช่ฝั่งนี้มา จี้ รุก อีกฝั่งนี้มาโอนอ่อน อันนี้ไม่ใช่

 

แต่ด้วยลักษณะบุคลิกของแขกที่มาในรายการ บางครั้งเราก็ไม่สามารควบคุมให้เขาอยู่ในมือเราได้ตลอด นักการเมืองที่ผ่านเวทีทางการเมืองมานาน อย่างคุณสมัครอย่างนี้ คุณจะไปคุมให้เขาอยู่ในมือคุณ ทุกอย่า่งต้องว่าตามนี้ จากคำถามหนึ่งไปคำถามสอง บางทีผมถามอย่างนี้ เขาไปอีกโลกหนึ่ง ผมถามคำถามนี้แล้วเขาก็ไปอีกโลกหนึ่ง เราพยายามจะไล่มา เขาก็ไปอีกอันหนึ่ง แต่ถ้าผมสัมภาษณ์คุณอภิสิทธิ์ เขาจะตอบไปตามแนวทาง 1-2-3-4 ซึ่งมันก็อาจจะทำให้ดูว่าเป็นการตั้งคำถามในเชิงสะท้อนให้เห็นว่ามีอคติ เพราะฉะนั้น ถ้าหากมองด้วยวิธีการแบบนี้ แล้วบอกว่านี่คือความไม่เป็นกลางหรือว่าคืออคติของคนที่เป็นพิธีกร มันเป็นการมองที่ไม่เข้าใจเหตุและผลมากกว่า เพราะมันเป็นการยากที่จะคุม เพราะฉะนั้น อันนี้ผมคิดว่าเป็นการมองที่ไม่ค่อยแฟร์กับทางทีไอทีวี

 

แต่การตรวจสอบและถ่วงดุลสื่อโทรทัศน์ก็คือสิ่งที่ "จำเป็น" ต้องมีไม่ใช่หรือ

ถ้าดูจากข่าวของเรา เราทำข่าวเจาะ เสนอรายงาน ชนิดที่ว่ามาก สดตั้งแต่ในพื้นที่ แล้วในห้องส่งก็เชิญแขกมา ผมก็คุยกับนักวิชาการ คุยกับอะไรต่างๆ เพื่อให้เขาวิเคราะห์ทั้งสองฝ่าย แล้วบุคคลที่ผมเชิญมา ผมก็เชื่อว่าเขาเป็นกลางพอ ไม่ได้เป็นคนที่เอนไปขั้วไหนมาก ขั้วไหนน้อย เราพยายามจะเคลียร์ตรงนั้นตลอด แต่ผลมันก็ออกมาในลักษณะนั้น ทำให้คนในทีไอทีวีรู้สึกว่าสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์นี่เป็นอย่างไรกันแน่ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ในช่วงที่อำนาจเก่ายังอยู่ สมาคมฯ มีบทบาทมากในการตรวจสอบที่เข้มแข็ง ท้วงติง จัดตั้งขบวน เคลื่อนขบวน มีการเคลื่อนไหว จัดสัมมนา มีการเสนอข้อเรียกร้องอะไรต่างๆ มากมายในช่วงรัฐบาลคุณทักษิณ แต่พอ คมช.เข้ามา สมาคมฯ วิทยุโทรทัศน์กลับดูเป็นคนทำงานแบบ Routine ไม่ได้เร่งรัดตรวจสอบท้วงติงทวงถามค้นหาหรือว่าจี้นักข่าวให้ืำทำโน่นทำนี่ ไม่ค่อยมีมาก อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เรามองเขาเหมือนกันว่า...อย่างนี้แสดงว่าคุณมีสองมาตรฐาน

 

หรือการที่สมาคมฯ วิทยุโทรทัศน์บอกว่า "นี่คือสถานการณ์ไม่ปกติ" เพราะฉะนั้นต้องเอื้ออำนวยหรือเห็นใจเข้าใจอะไรต่างๆ แต่อีกประเ็ด็นที่ผมมองก็คือว่า ความมีผลประโยชน์ทับซ้อนของสมาชิกในสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์นี่ มันก็ยังมีอยู่ ครั้งหนึ่ง คนบางคน หรือคนบางกลุ่ม ก็มีธุรกิจที่จะสามารถทำสื่อด้วยอะไรด้วย แน่นอนว่าคนมันก็หนีธุรกิจไปไม่ได้ เพราะว่าคนก็ต้องมีสังกัด แล้วบางคนก็แสดงตนชัดเจนว่าคัดค้านฝ่ายไหน สนับสนุนฝ่ายไหน เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้เรารู้สึกว่า บทบาทของสมาคมฯ วิทยุโทรทัศน์นี่มันก็แปรเปลี่ยนไปตามอำนาจด้วยหรือเปล่า อำนาจไหนที่เราชื่นชม ชอบ เราก็อาจจะเบาๆ เพลาๆ ลง อำนาจไหนที่เราไม่ชอบ รู้สึกอคติอยู่ในใจ เราก็ไม่เพลาๆ ให้ เราก็มองเขาในเรื่องของการมีสองมาตรฐาน และอีกเรื่องคือการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของคนในสมาคม มันก็ทำให้พนักงานทีไอทีวีมองว่ามันไม่ได้ช่วยเราสักเท่าไหร่ ก็ไม่ได้เข้าใจ เขาก็เลยถอนตัวเองออกไป

 

ถ้า "ความเป็นกลาง" มันชี้วัดกันลำบาก สื่อต้องเลือกข้าง เราควรจะทำให้มันชัดเจนไปเลยได้ไหม

ผมคิดว่าเราเอง สื่อเอง พยายามเรียกร้องแต่กับคนอื่นเกินไป ต้องมีจริยธรรมทางการเมือง ต้องมีจริยธรรมในวิชาชีพ ต้องมีธรรมาภิบาล เราจะต้องตรวจสอบชี้แจงทรัพย์สินนักการเมือง แล้วตัวเราเองล่ะ ทำอะไรบ้างให้ประชาชนศรัทธาและยอมรับในวิชาชีพของเรา ถ้าจะโดนก็โดนไปสิ ไม่อย่างนั้นมันก็คือสองมาตรฐาน ผมแตะคนอื่นได้ แต่คนอื่นอย่ามาแตะผม อะไรอย่างนี้ ผมว่ามันไม่แฟร์ ความคิดเรื่องประโยชน์ทับซ้อน ผมว่ามันมีอยู่ เพราะงั้นผมคิดว่าถ้าจะให้เกิดความโปร่งใสและคนยอมรับในวิชาชีพนี้ ให้คนไทยมีความรู้สึกว่าที่พึ่งสุดท้ายของเราในยามที่มีวิกฤตอะไรขึ้นมา ก็คือ "สถาบันสื่อ" รับรองเลย ผมคิดว่านี่แหละ คนไทยจะยอมรับได้แล้วถามว่าทุกวันนี้ ความวิกฤตทางด้านความสามัคคี การแตกแยก ขาดความสมานฉันท์ เราไม่เคยมานั่งทบทวนตัวเองกันเลยด้วยซ้ำว่า สื่อเองก็เป็นต้นเหตุอยู่ด้วย สื่อเองเป็นสาเหตุอันสำคัญด้วยกับการทำให้สังคมมันแตกเป็นขั้วเป็นค่าย

 

สื่อเองก็มีความคิดที่ต่างกัน ก็แบ่งฝ่ายกัน แล้วก็กลายเป็นว่า แต่ละคนก็ปลุกในแต่ละสายของตัวเองขึ้นมา ซึ่งเขาจะอาจไม่ได้คิดอะไร แต่กลายเป็นว่า สังคมมีความคิดแยกเป็นสองขั้ว เพราะสื่อเองก็แบ่งออกเป็นสองฝ่าย สามฝ่าย หรือสี่ฝ่าย เราก็ไม่รู้ ผมคิดว่า คนในวิชาชีพนี้มีความเห็นแตกต่างกันอยู่แล้ว ไม่เป็นไร แต่เราจะต้องมีเป้าหมายเหมือนกัน เป้าหมายอันดับแรกคือ ความสามัคคี ความสมานฉันท์ ความมั่นคง แต่ความสามัคคีไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องเห็นตรงกัน อันนี้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ว่าความสามัคคีเกิดจากอะไร ความสมานฉันท์เกิดจากอะไรบ้าง มันเกิดมาจาก "ความเป็นธรรม" ทุกคนต้องได้รับความเป็นธรรมที่เสมอกัน สื่อต้องให้พื้นที่กับทุกคนเสมอกัน สื่อต้องไม่กีดกันคนอีกกลุ่มหนึ่งหรืออีกฝ่ายหนึ่ง แต่ถ้าสื่อไม่เป็นธรรม คือไม่มีความกล้าหาญ สื่อยังคงตัดสินเองและสรุปเองโดยไม่เปิดพื้นที่ให้กับประชาชนทุกกลุ่มทุกคนมาได้แสดงความคิดเห็น แสดงความเป็นเจ้าของประเทศร่วมกันในทุกกลุ่มของประชาชนแล้วนี่ ความแตกแยกขัดแย้งมันก็เกิด คืออย่าว่าแต่ประเด็นทางความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเลย วิธีการปฏิบัติงานของสื่อเองมันก็นำไปสู่การแบ่งแยกด้วยเหมือนกัน เรามักจะให้ความสำัคัญกับคนมีชื่อเสียง สังเกตไหม ถ้าดาราที่มีชื่อเสียงโด่งดังเสียชีวิตนี่ โอ้โห..ทำข่าวกันละเอียดมากเลยนะ แต่คนที่ทำงานให้กับสังคมเสียชีวิตลงนี่ สื่อหลายแห่งเงียบมาก

 

กำลังเปรียบเทียบกรณีคุณมด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ กับบิ๊ก-ดีทูบีหรือเปล่า

ก็แล้วแต่ใครจะมอง คือผมมองว่าชีวิตของทุกคนมีคุณค่า แต่สื่อเองต้องประเมินให้ชัดว่า คุณค่าอันไหนที่มันจะทำให้สังคมนี้แข็งแรง เข้มแข็ง เสียสละ และมันเป็นต้นแบบอะไรบางอย่างของสังคมในอนาคตที่ลูกหลานเราจะอยู่ได้อย่างมีความสุข คือไม่ได้คิดเฉพาะวันนี้ว่า "อะไรแรงก็เอาเข้าว่า อะไรมาเราก็ไป" เราอาจจะคิดว่าวันนี้เรื่องนี้มาแรง แต่ถ้าแรงแล้วมันจะทำให้สังคมเสียหายในอนาคต เราก็ทำแบบน้อยๆ หน่อยได้ไหม แต่ถ้ามีเรื่องที่เป็นอุดมการณ์ เป็นหลักการ เป็นสัญลักษณ์แห่งอุดมการณ์ของคนในสังคม อุดมการณ์แห่งการดำรงอยู่ในสังคมไทยที่่มีความเข้มแข็งและมีความหมายต่อไปในอนาคต..ทำเลย ผมว่านี่ต่างหาก เพราะฉะนั้น อย่าว่าแต่เรื่องของความคิดที่ไม่ตรงกันเลย แม้แต่วิธีการปฏิบัติ วิธีเลือกข่าว วิธีให้พื้นที่ข่าวของสื่อเอง มันก็นำมาซึ่งความไม่เป็นธรรม นำมาซึ่งความแตกต่าง นำมาซึ่งความแตกแยกด้วยเหมือนกัน สื่อต้องคิดให้ดีในรายละเอียดพวกนี้ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ผมเห็นในประสบการณ์การทำงานของตัวเอง และเราต้องตรวจสอบกันมากกว่านี้

 

องค์กรสื่อที่อยู่กันมานานเกือบร้อยปีในต่างประเทศ ก็มีการเลือกข้างว่า เป็นสื่อฝ่ายซ้าย สื่อฝ่ายขวา หรือว่าสื่อสายกรีน แล้วเอาข้อมูลแต่ละข้างมาเปิดเผยให้คนดูข่าวได้พิจารณากันเอาเอง อย่างนั้นไม่ดีกว่าหรือ

ถ้าเราคิดว่าคนอื่นเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น อีกสามช่องมันเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำในสิ่งที่สามช่องนี้ไม่ทำ อันนี้แสดงว่าเราเลือกข้าง แต่เราต้องไม่คิดว่าฝ่ายโน้นคืออีกข้าง เราต้องคิดว่าไม่มีข้าง ความคิดของพวกเราต้องไม่มีข้าง เพราะฉะนั้นเราก็ทำของเราไปตามปกติว่าเราไม่มีข้าง แต่เราจะต้องทำพื้นที่ให้มันครอบคลุม ให้โอกาส ให้ความเป็นธรรมกับทุกกลุ่มคนให้มาก ผมไม่คิดว่าหนังสืิอพิมพ์ผู้จัดการอยู่ตรงข้ามกับผม และผมก็ไม่คิดว่าทีวีช่องอื่นอยู่ตรงข้ามกับผม เขาไม่ได้ทำเรื่องนี้เลย เพราะงั้นผมต้องทำ ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าผมก็เลือกข้าง หรือถ้าผมคิดว่าฝ่ายอำนาจใหม่ออกช่องอื่นไปแล้ว ผมต้องทำเรื่องอำนาจเก่า อันนี้ก็แสดงว่าผมเลือกข้าง ซึ่งมันไม่ได้

 

ผมเพียงแต่คิดอยู่ตลอดเวลาว่า "ไม่มีข้าง" คือถึงแม้ว่าจะมี ก็ต้องทำให้มันไม่มีข้าง ทุกอย่าง การรับรู้ของประชาชนเป็นหลัก เมื่อการรับรู้ของประชาชนเป็นหลัก คุณให้ข้อมูลเขามากพอหรือยัง คิดเพียงแค่นั้น คิดเพียงว่าเรื่องนี้พอหรือยัง กลุ่มนี้พอไม่พอ นี่คือไม่มีข้าง แต่แน่นอน ความรู้สึกของคนมันอาจจะมี ไม่ชอบคนนั้น เกลียดขี้หน้าคนนี้ มันมีอยู่แล้วความรู้สึกนั้น แต่คุณต้องล้างมันให้ออก เพราะคุณเป็นสื่อ

 

หลังเลือกตั้ง ผมคิดว่าหลังจากออกเทปคุณทักษิณแล้ว ผมจะชวนแฟนๆ นปก.กับพันธมิตรมาร่วมรายการ ผมก็ทำหมายเชิญ แต่สิ่งที่ตอบกลับมาคือ นปก.ตกลงว่าจะมา แต่พันธมิตรไม่มา ด้วยเหตุผลว่า "ไม่อยากอยู่ในเวทีเดียวกัน"

 

เหมือนจะยังข้ามไม่พ้น?

ใช่ ก็คือยังข้ามไม่พ้น ถ้าอย่างนั้นจะให้ผมทำยังไง ที่จะให้เห็นว่า "มิติใหม่ของประชาธิปไตยเกิดแล้ว" คุณจะบอกว่า ไอ้ประชาธิปไตยนี้มันอาจจะอยู่กับเราไม่กี่วัน ก็ไม่เป็นไร คุณอย่าไปทำนายก่อนว่ามันจะอยู่ไม่ได้นาน เอาเป็นว่าวันนี้เรามีสิ่งนี้แล้ว เราจะทำกันยังไง จะคุยกันได้ไหม จะสมานฉันท์กันได้ไหม อะไรที่ยังคงเคืองกัน บทบาททางการเมืองของ นปก.กับพันธมิตรจะเป็นยังไง เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วจะเป็นยังไง อะไรพวกนี้ เราต้องการจะให้ประชาชนได้รับรู้ว่า เออ..แล้วมันจะประท้วงกันอีกไหม ถ้าพลังประชาชนมา พันธมิตรก็คงต้องเคลื่อนไหวกันใหญ่โตอีก หรือถ้าเกิดประชาธิปัตย์มา พวก นปก.ก็จะต้องออกกันมาอีก เราก็ต้องเอากลุ่มสองกลุ่มนี้มาคุย เขาก็ไม่มา เราพยายามไกล่เกลี่ย พยายามหาทาง เอาเป็นว่า..ถ้าไม่มาพร้อมกัน เพราะสังคมไทยไม่ชอบการเผชิญหน้าใช่ไหม ถ้างั้นวันนี้เอาคนนี้มา พรุ่งนี้เราก็ค่อยเอาอีกกลุ่มหนึ่งมา ก็ต้องเป็นทางออกแบบนั้น เพราะในส่วนของคนทำงานข่าว การที่จะให้แต่ละคนมาออก มันต้องมีความเป็นธรรมที่พอกัน-เท่ากัน

 

ผมถึงว่า ถ้าพูดเรื่อง "ความเป็นกลาง" เราคงต้องเถียงกันนาน แต่ถ้า "ความเป็นธรรม" นี่มันดูกันง่าย ถามว่าถ้าคนนั้นมา แต่คุณไม่ได้มา อันนั้นมันก็เห็นชัดแล้ว แต่ถ้ามีคนถามว่าคุณเป็นกลางหรือเปล่า ผมเองก็ไม่กล้ายืนยันว่าผมเป็นกลางหรือไม่เป็นกลาง แต่สิ่งที่ผมทำอยู่ตอนนี้ก็คือ ผมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายแล้วหรือยัง ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ทั้งในแง่ของพื้นที่การออกอากาศ คำถามที่ถาม ท่าทีที่ปรากฎ ไม่ใช่ว่าคนนี้มาก็แสดงความเอาอกเอาใจ แต่อีกคนหนึ่งมาเฉยเมย พออีกคนมาไม่ได้เร่งรัดอะไรเลย ซึ่งมันอาจจะมีบ้าง แต่บางทีความเหนื่อยล้าก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง อย่างตอนนี้ ผมบอกตัวเองว่า ความเป็นธรรมที่ผมให้ในฐานะคนทำสื่อ ก็ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงเลย ผมยังไม่เคยมีโอกาสที่จะทำอะไรอย่างจริงจังให้กับคนแก่ ผมไม่มีโอกาสที่จะทำเรื่องเกี่ยวกับเด็กอย่างต่อเนื่อง ผมไม่มีโอกาสเสนอข่าวให้กับคนพิการหรือคนติดเชื้อเอดส์เลย คนที่อยู่ตามตะเข็บแนวชายแดน ผมก็ยังไม่มีโอกาส ผมยังรู้สึกผิดอยู่เลยด้วยซ้ำ

 

ถ้าอย่างนั้น ในปี 2551 มีโครงการผลักดันให้ทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะเต็มรูปแบบอย่างไรบ้าง

ในตอนนี้ยังไม่ได้ทำอะไรมาก เพราะต้องรอเรื่องนโยบายของทางสถานีด้วย ผมก็ใช้หลักแนวทางการทำงานอย่างที่ผมคิด แนวทางนั้นก็คือว่า ต้องพยายามอย่างเต็มที่ มันอาจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ความเป็นธรรมที่ประชาชนทุกส่วนจะสามารถสะท้อนความรู้สึก ความต้องการ และเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้ สังคมนี้ได้ นี่คือสิ่งที่สื่อจะต้องคิด แต่สถานการณ์ในตอนนี้ต้องบอกว่าคนทีไอทีวีก็น่าสงสาร เขาก็ล้ากับการต้องถูกกระทำมาปีแล้วปีเล่า คือไม่ได้จะขอความเห็นใจ แต่อย่างน้อยขอความเป็นธรรมในความรู้สึกว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาเขาอยู่กับความไม่แน่นอน สวัสดิการไม่มีเลย ตอนนี้ก็เป็นพนัักงานหรือเป็นลูกจ้างชั่วคราว ได้เฉพาะเงินเดือน อย่างเรื่องการรักษาพยาบาล เราก็พยายามหาทางซื้ออะไรเอาเอง แล้วอนาคตก็เป็นแค่รายเดือน คือจะมีการจ้างพวกเราแบบ 3 เดือนต่อสัญญาที เพราะฉะนั้น ความหวั่นไหวมีตลอดเวลา ใครเข้ามาทำอะไรนิดอะไรหน่อยมันยิ่งกลัวไปใหญ่ การจะคุยกันเรื่องว่าคุณต้องฟื้นฟูอุดมการณ์ คุณต้องฟื้นฟูจุดยืน มันก็ทำได้ยากในภาวะที่ทุกคนอ่อนล้า แต่ผมมองว่า จุดยืนที่จะทำให้คุณได้รับการยอมรับจากประชาชน คุณต้องสู้ แม้ว่าคุณจะอยู่ในภาวะที่อ่อนเปลี้ยเพลียแรงแค่ไหนก็ตาม คุณต้องประกาศจุดยืน แสดงจุดยืนนี้ให้ชัดขึ้นมาพอๆ กับการที่คุณเรียกร้องให้สังคมเห็นใจคุณกับการต่อสู้ที่ผ่านมา

 

แต่การทำให้ประชาชนเข้าใจว่า "เรากำลังต่อสู้อยู่กับอะไร" ก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน การที่จะให้พนักงานไอทีวี ซึ่งมีความรักในองค์กรนี้ได้มีโอกาสทำงานอยู่ในองค์กรต่อไป มันก็เป็นการต่อสู้ที่ชอบธรรม เพราะว่าเราก็ทำงานอยู่กับมันมาตลอด ทั้งเรื่องของระบบการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร เรื่องของความเ้ข้าใจ การสื่อสารซึ่งกันและกัน ที่เราต่อสู้ตรงนั้นมันเป็นความชอบธรรมอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่คุณต้องพิสูจน์ไปด้วยเหมือนกัน ก็คือ "ความคาดหวัง" ที่ประชาชนมีต่อทีไอทีวี ซึ่งเป็นทีวีที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านเป็นทีวีสาธารณะ คนคาดหวังว่าเราจะต้องมีความกล้าหาญในกาีรเสนอข้อเท็จจริง ต้องเป็นคนกล้าในการที่จะให้สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนอย่างเต็มเปี่ยม นอกเหนือจากการต่อสู้ให้ได้ทำงานและอยู่ในองค์กรนี้ต่อไป การต่อสู้เพื่อให้สังคมเชื่อมั่นและยอมรับเราก็เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ด้วยเหมือนกัน

 

ผมว่านี่แหละเป็นการพิสูจน์ที่ท้าทายว่า อิสรภาพที่นักกฎหมายหรือผู้่ร่างกฎหมายให้ทีวีช่องนี้เป็นทีวีสาธารณะ มันเป็นอิสรภาพจอมปลอมหรือว่าแท้จริง การที่เราพิสูจน์ว่าเราจะเดินไปสู่เป้าหมายอันนั้นได้ ก็ต้องแสดงตนให้เห็นถึงความเป็นคนที่กล้า เป็นคนที่จะไม่ยอมเซ็นเซอร์ตัวเอง ผมว่าการเซ็นเซอร์ตัวเองนั่นมันต้องเลิกได้แล้ว นักข่าวทีไอทีวี คนทำงานทีไอทีวีทุกคน ส่วนหนึ่งต่อสู้เพื่อให้ได้อยู่กับองค์กรที่ตัวเองรัก แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสระของการทำงานที่สังคมคาดหวังอยากจะรู้อยากจะเห็นด้วย

 

 

 

----------------------------------

สัมภาษณ์เมื่อ 3 มกราคม 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท