Skip to main content
sharethis

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 8 ม.ค.51 สำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดแถลงข่าวโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยมีนายธาดา มาร์ติน ผู้จัดการเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, น.ส.จิตตรา กาญธนะประเสริฐ ผู้พิพากษาศาลอุธรณ์ ประจำสำนักประธานศาลฎีกา, นายปรีชา ภูขำ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานธุรกิจ บมจ.ธนาคารกรุงไทย และนายวิธูร คลองมีคุณ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ร่วมกันแถลงข่าว


 


ใจความสุรปว่า หลังจากที่ (กยศ.) ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลผู้กู้ยืมเงินที่ครบกำหนดชำระหนี้รุ่นปี 2542-2546 พบว่ามีผู้กู้ยืมค้างชำระหนี้ตั่งแต่ 5 งวดขึ้นไป จึงได้บอกเลิกสัญญากับผู้กู้ยืมกลุ่มดังกล่าวจำนวนกว่า 90,000 ราย ที่จะถูกดำเนินคดีในปี 2551 นี้ ดังนั้น กยศ.จึงได้หารือกับสำนักระงับข้อพิพาทสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นลูกหนี้ของ กยศ.


 


โดยการนัดเจรจากับกองทุนฯ ใน 3 กรณี คือ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือ ทำคำรับรองขอชำระหนี้ที่ค้างชำระให้เป็นปกติ หรือขอชำระหนี้ปิดบัญชีทั้งนี้ยังเป็นการลดคดีที่จะฟ้องในศาลและลดภาวะค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี โดยจัดให้มีคนกลางคือ ผู้ประนีประนอมและอาสาสมัครไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน (อ.ก.ช.) เป็นผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับ คือ การไม่ถูกดำเนินคดีและจะได้รับโอกาสมากขึ้นในการผ่อนผันการชำระหนี้ทั้งมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกวิธีการชำระหนี้ที่เหมาะสมรวมทั้งไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้ผู้กู้ยืมจะได้รับทราบผลการไกล่เกลี่ยทันที่ไกล่เกลี่ยเสร็จโดยไม่ต้องเสียเวลามาศาลเพื่อฟังการพิจารณาคดี


 


โครงการดังกล่าวจะจัดขึ้นใน 9 จังหวัด ระหว่างวันที่ 8 ม.ค.- 8 มี.ค.51 ซึ่งถือเอาจังหวัดที่มีจำนวนผู้ถูกบอกเลิกสัญญามากที่สุดเป็นจุดศูนย์กลาง ผู้กู้ยืมใน 76 จังหวัด สามารถเลือกมาดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ย ณ ศาลแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ที่สะดวกแก่การเดินทาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช และ สงขลา โดยจะจัดที่กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดแรกที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ระหว่างวันที่ 8-13 มกราคม นี้


 


นายธาดา มาร์ติน ผู้จัดการเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า กยศ.ไม่ได้ต้องการยื่นฟ้องหรือเอาเรื่องเอาความกับนักศึกษาแต่อย่างใดจึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น จากการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุที่ผู้กู้ยืมไม่ส่งชำระเงินกองทุน มีสาเหตุหลัก คือ ผู้กู้ยืมยังว่างงาน และอีกสาเหตุเป็นความเข้าใจผิดตั่งแต่เบื้องต้นว่าเป็นเงินที่รัฐให้ฟรี โดยไม่ต้องชำระคืนแต่อย่างใด ปีนี้เป็นที่ 3 แล้วที่คำเนินโครงการนี้ ถ้าคิดเป็น 100% มีเพียง 25% ที่ติดต่อกลับและเข้ามาเจรจาทำการไกล่เกลี่ย แต่ใน 25% นี้ทาง กยศ.ก็สามารถทำการไกล่เกลี่ยได้เกือบทุกราย จึงขอเชิญชวนผู้กู้ยืมกลุ่มดังกล่าวเข้าร่วมโครงการไกล่เกลี่ยฯ ตามวันเวลาและสถานที่ที่กำหนด


 


"สำหรับผู้กู้ที่ถึงกำหนดชำระหนี้แต่ไม่มาติดต่อชำระหนี้นั้น ในวันที่ 8 ธ.ค. ทาง กยศ. ได้นัดผู้กู้จำนวนหนึ่งมาเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินที่ศาลอาญา ซึ่งจริง ๆ แล้วทางกยศ.ไม่ต้องการฟ้องร้องให้เป็นคดี เพราะต้องใช้เงินกว่า 400 ล้านบาท แต่ก็จำเป็นต้องทำตามขั้นตอน ไม่เช่นนั้นจะหมดอายุความ ผมจึงอยากเตือนให้นักเรียน นักศึกษาที่เรียนจบแล้ว ได้ตระหนักว่าเงินที่ใช้เรียนเป็นเงินภาษีของประชาชน ไม่ใช่ให้ฟรี และถ้าหากมาชำระหนี้คืน ทางกยศ.ก็จะมีเงินหมุนเวียนให้รุ่นน้องได้มากู้ยืม เรียนต่อไป" นายธาดา กล่าว


 


ผู้จัดการ กยศ.กล่าวถึงการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้แก่ผู้กู้เงินทั้ง 90,000 รายว่า เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้มาติดต่อประนอมหนี้ รวมทั้งไม่ให้คดีหมดอายุความ โดยจะให้เวลาจนถึงเดือนมีนาคมนี้ หากพ้นจากนี้ไปแล้วไม่มาไกล่เกลี่ยก็ยื่นฟ้องศาล ซึ่งการฟ้องร้องต้องใช้เงินประมาณ 400 ล้านบาท จึงขอให้นักเรียน นักศึกษาที่เรียนจบแล้วคิดว่าเงินที่ให้เรียนนั้นเป็นเงินภาษีของประชาชนไม่ใช่ให้ฟรี หากมาชำระหนี้คืนจะได้มีเงินหมุนเวียนให้รุ่นน้องได้มากู้ยืมเพื่อศึกษาต่อ


 


นายธาดากล่าวอีกว่า กองทุน กยศ.ได้พัฒนาระบบงาน "อี-สติวเดนท์โลน" ขึ้น เพื่อใช้ทดแทนระบบเดิม ซึ่งจะเริ่มเปิดใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 ให้ยื่นคำขอกู้ การพิจารณาอนุมัตเงินกู้ยืม การทำสัญญา รวมไปถึงการชำระเงินคืนและการติดตามหนี้ผ่านเว็บไซต์ กยศ. www.studentloan.or.th และสถานศึกษาใช้ระบบ อี-สติวเดนท์โลนเพื่อตรวจสอบรายชื่อนักเรียน นักศึกษาที่สมัครขอกู้ได้ และจะให้ผู้กู้รายเก่าที่ไม่ย้ายสถานศึกษาได้ลงทะเบียนกรอกแบบฟอร์มคำขอกู้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ผู้กู้รายใหม่จะให้เริ่มลงทะเบียนวันที่ 16 มีนาคม คาดว่าระบบ อี-สติวเดทน์โลนรองรับการเข้าสมัครขอกู้ยืมมากกว่า 8 หมื่นราย และเงินจะถึงมือเด็กและสถานศึกษาไม่เกิน 30 วัน


 


"ที่นำระบบออนไลน์มาใช้นั้น เพราะต้องการให้เงินถึงมือนักเรียน นักศึกษาและสถานศึกษาโดยเร็ว ที่ผ่านมาเด็กกว่าจะได้เงินเปิดเทอมไปแล้ว 3-4 เดือนหากนำระบบออนไลน์มาใช้ มั่นใจว่าเงินถึงมือเด็กไม่เกิน 1 เดือน หลังจากที่สถานศึกษาส่งรายชื่อมาให้กองทุนคาดว่าปีนี้จะมีผู้มาขอกู้สูงถึง 8 แสนรายแยกเป็นผู้กู้รายใหม่ 3.5 แสนราย ผู้กู้รายเก่า 4.5 แสนราย และรัฐบาลได้จัดสรรเงินมากว่า 3 หมื่นล้านบาท" รศ.นพ.ธาดา กล่าว


 


 


ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ, เว็บไซต์เดลินิวส์, เว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net