Skip to main content
sharethis

ชื่อเดิม มานับนกน้ำ...เพื่อการอนุรักษ์กันเถอะ


โดย ฝ่ายวิชาการ


สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย


 


เคยสงสัยไหมว่าเราจะดูนกเพื่อการอนุรักษ์ได้อย่างไร วิธีหนึ่งที่เคยได้ยินมาตั้งแต่สมัยหัดดูนกใหม่ๆ คือการจดบันทึก และการทำสปีชีส์ลิสต์เวลาออกไปดูนกแต่ละครั้ง การทำอย่างนี้นอกจากเป็นการฝึกตนเองแล้ว ยังเป็นการเก็บข้อมูลอันมีค่าเมื่อเวลาผ่านไปหลายๆ ปี


 


... แต่ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ที่สุดต่อเมื่อนักดูนกได้รายงานข้อมูลเหล่านั้นไปให้หน่วยงานอนุรักษ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับศูนย์ชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการพบนกในประเทศไทยมากว่าสิบปีแล้ว


 


การรายงานข้อมูลนกที่พบทำให้กิจกรรมดูนกมีประโยชน์โดยตรงต่อการอนุรักษ์ได้ เพราะช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับนกและการกระจายพันธุ์ของนกในเมืองไทยมีความสมบูรณ์กว่าเดิมมาก อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมการรายงานการพบนกยังค่อนข้างจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มนกหายาก หรือนกที่น่าสนใจเท่านั้น


 


ทว่าการติดตามตรวจสอบประชากรนก (Bird Population Monitoring) หรือการประเมินประชากรนก (Bird Census) ในระยะยาวยังไม่มีการดำเนินการอย่างแพร่หลายหรือเป็นระบบมากนัก ดังที่ทราบกันดีว่านกหลายชนิดเป็นดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี การบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ จึงเสมือนกุญแจสำคัญในการทำงานดูแลและปกป้องธรรมชาติ ทั้งยังเป็นบทบาทสำคัญที่นักดูนก และผู้สนใจศึกษาธรรมชาติสามารถมีส่วนร่วมได้โดยตรงกับงานอนุรักษ์...


 


ลองมาเรียนรู้เกี่ยวกับกิจกรรมการนับนกน้ำ แล้วร่วมกันเป็นนักสำรวจเพื่อการอนุรักษ์กันตั้งแต่วันนี้


 


ทำไมต้องนับนกน้ำ


 


ความจริงการเก็บข้อมูลแบบสมัครเล่นหรือมืออาชีพ จะบุกป่าฝ่าดง หรือนั่งมองนกกางเขนบ้าน นกอีวาบตั๊กแตนในสวนหลังบ้าน ก็ล้วนเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น


 


แต่ข้อมูลที่เราพบเห็นจะสามารถนำมาใช้ในเรื่องของการอนุรักษ์ได้นั้น จำเป็นต้องมีการจดบันทึกอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ภายหลังได้ ข้อมูลดิบจึงจะกลายมาเป็นข้อมูลพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ


 


ที่ผ่านมาการติดตามการเปลี่ยนแปลงประชากรสัตว์ป่านั้น ค่อนข้างจำกัดอยู่ในแวดวงนักวิจัย โครงการสำรวจติดตามสัตว์ป่าต่างๆ จึงทำได้ไม่ต่อเนื่องยาวนาน เพราะข้อจำกัดเรื่องของบุคลากร เท่าที่คุ้นหูกันในเรื่องของ Long-term Monitoring จึงได้ยินกันน้อย ยกเว้น โครงการศึกษานกเงือก ของ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ และโครงการศึกษาชะนี ของดร.วรเรณ บลอคเคิลแมน ที่เขาใหญ่


 


แต่อีกโครงการหนึ่งที่ทำมาต่อเนื่องและยาวนานกว่า 15 ปีแล้วก็คือ กิจกรรมนับนกน้ำในช่วงฤดูหนาว ( Waterbird Mid-winter count) ที่อาจยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางนัก


 


กิจกรรมการนับนกน้ำในเอเชีย พยายามดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1987 ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญว่านกน้ำเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำได้เป็นอย่างดี เพราะความหลากชนิดและความชุกชุมของนกน้ำเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ของพืชน้ำและสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ในพื้นที่ชุ่มน้ำนั้นๆ ได้


 


สิ่งที่แตกต่างจากโครงการสำรวจสัตว์ป่าอื่นๆ คือเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาที่สนใจธรรมชาติ และมีทักษะการจำแนกชนิดนกเข้าร่วมได้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้กิจกรรมที่ทำในประเทศไทยยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการประเมินประชากรนกน้ำนานาชาติ (International Waterbird Census - IWC) จึงทำให้ข้อมูลที่เรารวบรวมนั้น ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในระดับโลก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษานกน้ำย้ายถิ่นระหว่างภูมิภาคต่างๆ


 


โครงการ IWC เป็นการสำรวจระยะยาวโดยใช้ข้อมูลจากนักวิจัยและนักดูนกจาก 4 ทวีป ที่ผ่านมาข้อมูลจากโครงการดังกล่าวกลายเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการดำเนินงานอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก เป้าหมายหลักของการนับนกน้ำมี 4 ประการคือ



  • เพื่อติดตามจำนวนของประชากรนกน้ำ

  • เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านจำนวนและเขตการกระจายพันธุ์ของนกน้ำเหล่านี้

  • เพื่อบ่งชี้พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติสำหรับนกน้ำ

  • เพื่อรายงานข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการคุ้มครองและการจัดการประชากรนกน้ำ ผ่านทางอนุสัญญานานาชาติ กฎหมายในประเทศ และการรณรงค์รูปแบบอื่นๆ

 


ว่าไปแล้ว จุดประสงค์หลักจริงๆ ของการติดตามประชากรนกน้ำคือ การสร้างระบบเตือนภัยให้กับพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อให้วงการอนุรักษ์ได้ทราบว่า อะไรคือภัยคุกคาม หรือปัญหาสำคัญในการอนุรักษ์นกน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำ และปัญหามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด มีวิธีการป้องกันหรือแก้ไขได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีระบบการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาที่ค่อยๆ กัดกร่อนความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติอาจกลายเป็นหายนะที่คุกคามความอยู่รอดของระบบนิเวศโดยรวมทั้งหมด


 


วิธีการจัดลำดับความสำคัญของนกน้ำวิธีหนึ่ง รู้จักกันในชื่อ เกณฑ์ 1 เปอร์เซ็นต์ (1% Criterion) หมายความว่าพื้นที่ชุ่มน้ำใดก็ตามที่เป็นแหล่งอาศัย หรือ แหล่งพักพิงของนกน้ำชนิดใดชนิดหนึ่งมากกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรนกชนิดนั้นทั่วโลก พื้นที่ชุ่มน้ำนั้นถือว่า มีความสำคัญในระดับนานาชาติ


 


แนวทางนี้ได้ถูกนำมาใช้โดยสหภาพยุโรป เพื่อกำหนดพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ (Special Protection Areas) เพื่ออนุรักษ์นกน้ำ* นอกจากนี้ Birdlife International ยังได้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันในการกำหนดพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญสำหรับนก (Important Bird Areas - IBAs) ทั่วโลก  


 


 


อะไรคือการสำรวจนกน้ำนานาชาติ ( International Waterbird Census)


โครงการสำรวจประชากรนกน้ำนานาชาติ เกิดขึ้นเพื่อติดตามประชากรนกน้ำ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1967 โดย Wetlands International (เดิมรู้จักกันในนาม International Waterfowl and Wetlands Research Bureau - IWRB) เป็นการสำรวจในระดับโลก โดยอาศัยเครือข่ายในภูมิภาคต่างๆ โดยในเอเชีย โครงการ The Asian Waterbird Census (AWC) เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1987 ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ 22 ประเทศทั่วเอเชียและบางหมู่เกาะในแปซิฟิก


 


กิจกรรมนับนกน้ำในเอเชียดำเนินการต่อเนื่องมาทุกปี จนถึงปัจจุบันมีการนับนกน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำกว่า 5,700 แห่ง โดยนักดูนกและนักสำรวจหลายพันชีวิต แต่อุปสรรคสำคัญคือขาดความต่อเนื่อง และข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียดได้ นอกจากนี้ก็ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญทั้งหมดได้


อย่างไรก็ตามการมีส่วนร่วมของนักดูนกทั่วโลก (โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาเหนือ) ได้ทำให้การสำรวจประชากรนกน้ำนานาชาติ เป็นการสำรวจติดตามความหลากหลายทางชีวภาพที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลก


 


ใครช่วยนับนกน้ำได้บ้าง


ใครก็ตามที่มีความสามารถในการจำแนกชนิดนกได้ สามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมนับนกน้ำได้ทันที ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีขนาดไม่ใหญ่เกินไป นักดูนกที่มีประสบการณ์เพียงสองสามคนสามารถทำการนับได้เอง ส่วนพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่นั้น จำเป็นต้องแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ รวมถึงวางมาตรฐานสำหรับวิธีการสำรวจ เพื่อช่วยให้การนับมีความถูกต้องแม่นยำที่สุด


 


หลักสำคัญของการนับนกน้ำ คือพยายามทำการนับพร้อมกันทั้งหมดทั่วภูมิภาค ซึ่งทั่วโลกได้กำหนดให้สัปดาห์ที่สองและสามของเดือนมกราคมเป็นช่วงเวลาแห่งการนับนกน้ำ โดยในปี 2547 ได้กำหนดระหว่างวันที่ 10 - 25 มกราคม


 


อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถสำรวจในช่วงดังกล่าวได้ ข้อมูลนกน้ำที่น่าสนใจก่อนหน้า หรือหลังจากช่วงดังกล่าวก็เป็นข้อมูลที่สำคัญเช่นกัน การนับนกน้ำให้มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องอาศัยการประสานงานและแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้ความพยายามของนักดูนกครอบคลุมพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญมากที่สุด


 


ทำได้อย่างไร


อุปกรณ์ที่จำเป็น


อุปกรณ์ที่ใช้ในการนับนกน้ำ ไม่มีอะไรพิเศษมากไปกว่าอุปกรณ์พื้นฐานในการดูนกตามปกติ ได้แก่ อุปกรณ์ขยายภาพเพื่อช่วยให้ผู้สำรวจสามารถมองเห็นนกได้อย่างชัดเจนและนับจำนวนได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ผู้นับนกน้ำควรมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำที่ต้องการทำการนับนกน้ำพอสมควร เพื่อช่วยให้การเดินทาง และการเตรียมพร้อมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย


 


กล้องส่องทางไกลและเทเลสโคป  


กล้องส่องทางไกล ซึ่งจำเป็นมาก นักดูนกส่วนใหญ่นิยมใช้กล้องส่องทางไกลกำลังขยายประมาณ 8 -10 เท่า และหน้ากล้องระหว่าง 30-50 มิลลิเมตร กำลังขยายที่สูงกว่าสิบเท่าจะทำให้ผู้ใช้ปวดตาหากต้องใช้เป็นเวลานานๆ ส่วนหน้ากล้องที่มีขนาดเล็กกว่า 30 มิลลิเมตร อาจจะมีปัญหาในการมองเห็นในสภาพแสงน้อย


 


สำหรับเทเลสโคปและขาตั้งกล้องจัดว่าเป็นอุปกรณ์ที่ควรจะมีอย่างน้อย 1 ตัวสำหรับทีมสำรวจ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่การนับนกน้ำส่วนใหญ่ต้องทำในระยะไกลตั้งแต่ 500 - 1,000 เมตร ถ้าเป็นไปได้เลนส์ขยายคงที่ขนาด 20x หรือ 30x มีความเหมาะสมมากกว่าเลนส์ซูม 20x - 60x เพราะเป็นเลนส์มุมกว้างและมีความสว่างมากกว่า อย่างไรก็ตามเลนส์ขยายกำลังสูงเช่นที่ 60x ก็มีประโยชน์มากสำหรับการอ่านหมายเลขห่วงขานก หรือนกอพยพที่มีการทำสัญลักษณ์ไว้ และยังช่วยในเรื่องของการจำแนกชนิดนกที่ยากต่อการจำแนกในระยะไกลด้วย ขาตั้งกล้องควรมีความมั่นคงและมีหัวแพนที่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเรียบลื่น เพื่อสามารถแพนนับจำนวนฝูงนกได้อย่างสะดวก  


 


คู่มือจำแนกชนิด


            เช่นเดียวกับการดูนกชนิดอื่นๆ วิธีที่ดีที่สุดในการฝึกจำแนกชนิดนกน้ำ คือทำความคุ้นเคยกับนกน้ำชนิดต่างๆ ในคู่มือดูนก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีคู่มือดูนกที่ได้มาตรฐานอย่างน้อยสองฉบับ ส่วนคู่มือจำแนกนกเฉพาะกลุ่มเช่น Shorebirds หาซื้อได้ไม่ยาก ผู้สำรวจควรมีคู่มือจำแนกชนิดติดตัวไว้เสมอเพื่อลดความผิดพลาดในการจำแนกชนิดระหว่างทำการนับ


 


สมุดบันทึก


            ข้อมูลเกี่ยวกับการนับนกน้ำ และข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ชุ่มน้ำที่ทำการสำรวจนั้น ควรได้รับการบันทึกไว้ในสมุดบันทึกภาคสนาม หรือใช้ตารางบันทึกข้อมูล (Data sheet) ซึ่งจะช่วยให้การบันทึกข้อมูลสมบูรณ์มากขึ้นเพราะมีหัวข้อกำหนดชัดเจน การใช้ดินสอแทนปากกาเป็นที่นิยมในหมู่นักวิจัยภาคสนาม เพราะไม่เลือนหายเมื่อถูกน้ำ หรือในสภาพที่มีความชื้นสูง


 


กล้องถ่ายภาพและกล้องดิจิตัล


            การถ่ายภาพเป็นการบันทึกข้อมูลที่ดีที่สุดโดยเฉพาะเกี่ยวกับนกอพยพหายาก หรือนกที่มีข้อมูลค่อนข้างน้อย นอกจากนี้กล้องถ่ายภาพ ยังเป็นอุปกรณ์สำคัญในการช่วยบันทึกข้อมูลนกที่จำแนกชนิดได้ยาก และสามารถใช้ช่วยในการนับฝูงนกขนาดใหญ่ได้ ในปัจจุบันเทคนิคการใช้กล้องดิจิตัลมาประกอบกับกล้องเทเลสโคป หรือที่รู้จักกันดีว่า ดิจิสโคปเป็นเทคนิคที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้น ข้อดีคือการประหยัดต้นทุนในเรื่องฟิล์ม ค่าล้าง ผู้ถ่ายสามารถตรวจสอบผลได้ทันที และสะดวกในเรื่องการส่งภาพเพื่อประกอบข้อมูลอื่นๆ ด้วย ดิจิสโคปยังเหมาะสำหรับบันทึกภาพนกในระยะไกล ดังนั้นการใช้ดิจิสโคปจึงน่าจะเป็นอุปกรณ์ช่วยที่มีประสิทธิภาพอีกชิ้นหนึ่ง


 


อุปกรณ์อื่นๆ


            อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ที่ช่วยให้การนับมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้แก่ เครื่องกดนับจำนวน (Tally counter) โดยเฉพาะเมื่อต้องนับจำนวนฝูงนกขนาดใหญ่ ส่วนแผนที่ และเครื่องบอกพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GPS) อาจดูเป็นอุปกรณ์สำหรับนักวิจัยมืออาชีพ แต่ความจริงนักดูนกสามารถหาซื้อเครื่อง GPS ขนาดเล็กได้ในราคาไม่แพงนัก และยังจะช่วยทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งของพื้นที่ชุ่มน้ำ และการพบเห็นนกถูกต้องแม่นยำมากขึ้น


             


 


เทคนิคการนับนกน้ำ


 


นักดูนกที่มีประสบการณ์พอสมควรสามารถนับจำนวนนกน้ำในพื้นที่ขนาดเล็กถึงขนาดกลางได้ไม่ยากนัก แต่มีปัจจัยหลายประการที่มีผลต่อวิธีการนับภาคสนาม ตัวอย่างเช่น



  • ชนิดของนกน้ำที่เราต้องการติดตามตรวจสอบ

  • ขนาดของพื้นที่

  • ความยากง่ายในการเข้าถึง

  • จุดสังเกตที่สามารถใช้เป็นหลักในการนับจำนวนได้ (Vantage point)

  • จำนวนผู้นับ เวลา และอุปกรณ์

 


วิธีการที่สำคัญที่สุดในกระบวนการติดตามประชากรนกน้ำ หรือทรัพยากรธรรมชาติใดๆ ก็ตาม คือ ทำอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน (Standardisation) หากเป็นไปได้นักดูนกควรใช้วิธีการเดียวกันในการนับพื้นที่เดิมทุกครั้ง ที่ดำเนินการนับ และทำซ้ำๆ กันทุกปี หรืออาจมากกว่า ถ้าทำได้เช่นนั้นการนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบหรือวิเคราะห์จะทำได้ง่ายและถูกต้องมากขึ้น


 


ความสำคัญของการทำแผนที่


อาสาสมัครควรทำแผนที่ประกอบให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งขนาดของพื้นที่โดยประมาณ เพราะจะทำให้ข้อมูลนั้นสามารถนำมาวิเคราะห์ภายหลังได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการสำรวจซ้ำในปีต่อๆ ไปได้ด้วย ถ้าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดเล็กการกำหนดขอบเขตอาจทำได้ไม่ยากนัก แต่การสำรวจพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ มีความจำเป็นต้องแบ่งพื้นที่ออกเป็นพื้นที่ย่อยๆ เพื่อที่จะได้แบ่งทีมออกสำรวจได้อย่างทั่วถึง


 


สำรวจทางเท้าทำได้อย่างไร?


 


การนับจำนวนนกโดยใช้การสำรวจทางเท้า หรือที่เรียกกันว่า Ground Count เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และใช้มากที่สุดในการสำรวจประชากรนกน้ำทั่วโลก วิธีการนี้เป็นการนับจำนวนโดยผู้สังเกตจากทางพื้นดินไม่ว่าจะเป็นการเดิน จักรยาน หรือยานพาหนะประเภทอื่น ผู้สำรวจควรสำรวจพื้นที่อย่างเป็นระบบ เช่นกำหนดเส้นทางและทิศทางการเดินสำหรับการสำรวจทุกครั้งล่วงหน้า หยุดเดินทุกสองสามร้อยเมตร และใช้กล้องส่องทางไกลค้นหานกโดยรอบ การเลือกเส้นทางควรคำนึงถึงทิศทางของแสงด้วย พยายามหลีกเลี่ยงการเดินย้อนแสง เพราะจะทำให้การจำแนกชนิดทำได้ยาก นอกจากนี้การเดินย้อนแสงยังมีโอกาสทำให้นกตื่นตกใจได้ง่ายกว่า


 


สำหรับพื้นที่บริเวณน้ำขึ้นน้ำลงนั้นควรเลือกสำรวจในช่วงน้ำขึ้นเพราะจะทำให้การนับและการจำแนกชนิดทำได้ง่ายกว่า ถ้านับในช่วงน้ำลงจะนับจำนวนรวมได้ยากเพราะนกหากินกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณหาดเลน


 


วิธีการนับที่ได้ผลที่สุดคือการส่องฝูงนกน้ำ (ซึ่งมักจะอยู่รวมกันหลายชนิด) โดยใช้เทเลสโคป หรือกล้องส่องทางไกล แล้วแต่ความเหมาะสม แล้วนับนกแต่ละชนิดทีละตัว หรือแบ่งฝูงนกออกเป็นกลุ่มๆ แล้วทำการนับนกทีละตัวในกลุ่มย่อย


 


ขั้นแรกควรใช้กล้องส่องทางไกลส่องดูภาพรวมทั้งหมดก่อน ว่ามีนกกี่ชนิดอยู่ในฝูงส่วนใหญ่เป็นนกอะไร และนกอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนเท่าใดเมื่อเทียบกับทั้งฝูง การใช้กล้องส่องทางไกลส่องดูในขั้นต้นยังช่วยให้ข้อมูลคร่าวๆ กรณีที่ฝูงนกบินหนีไป หรือย้ายตำแหน่งไปก่อนที่การนับจะสมบูรณ์


 


หากเป็นนกฝูงใหญ่และอยู่กระจายกัน ควรอาศัยจุดสังเกตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพุ่มไม้ ทุ่น หรืออะไรก็ตามที่สามารถใช้เป็นจุดสังเกตในการแบ่งนกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้ การทำเช่นนี้จะช่วยไม่ให้มีการนับซ้ำ หรือลืมนับนกในบางบริเวณ เวลานับควรจะนับทีละหนึ่ง หรือสองชนิดเท่านั้น และต้องคอยสอดส่ายสายตากับฝูงนกด้วยกล้องส่องทางไกลอยู่ตลอด จะได้ไม่พลาดชนิดที่อาจสังเกตได้ยาก ถ้ามีเวลาควรมีการนับซ้ำเพื่อให้ผู้นับประมาณจำนวนนกได้ใกล้เคียง และมีความสม่ำเสมอที่สุด


 


การบันทึกข้อมูลในสมุดบันทึก


 


เริ่มแรกควรมีการจดข้อมูลเกี่ยวกับชื่อพื้นที่ชุ่มน้ำ วันที่ เวลา และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่นสภาพอากาศ ลักษณะพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือช่วงน้ำขึ้นน้ำลงก่อนทำการสำรวจทุกครั้ง ในส่วนของข้อมูลการนับนั้น ผู้จดควรแยกนกแต่ละชนิดในบรรทัดใหม่ และจดจำนวนเท่าที่เห็นในแต่ละกลุ่มย่อย เช่น นกทะเลขาแดง 104, 11, 29, 6, 1, 5, 36 = 192 เราจะรวมจำนวนนกเข้าด้วยกันสำหรับเมื่อการสำรวจในพื้นที่นั้นๆ เสร็จสิ้น ผู้นับจำนวนไม่น้อยเลือกใช้ตัวย่อสำหรับนก เพื่อให้การจดข้อมูลเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และอีกไม่น้อยก็อาศัยเพื่อน หรือคนรู้จักมาช่วยเป็นคนจดข้อมูลต่างหาก  


 


วิธีการนับนกน้ำที่เป็นที่นิยมในหมู่นักนับนกมืออาชีพอีกวิธีคือการใช้เครื่องกดนับจำนวนหรือที่เรียกว่า Tally counter กดลงไปหนึ่งครั้งเท่ากับนับจำนวนหนึ่งตัว วิธีการนี้นำมาใช้คู่กับการแบ่งฝูงนกออกเป็นกลุ่มๆ ได้เป็นอย่างดี นักนับนกที่มีประสบการณ์สามารถจัดนกเป็นกลุ่มทีละ 10 ตัว 20 ตัว 50 ตัว หรือ 100 ตัวได้อย่างรวดเร็ว


 


หลังจากนั้นก็ประเมินจำนวนโดยการประมาณว่าในฝูงหนึ่งๆ มีนกที่ถูกจัดเป็นกลุ่มนี้อยู่กี่กลุ่ม กลุ่มแรก หรือวงกลมแรกที่นับมักจะนับทีละตัวเพื่อความแม่นยำ แล้วจึงใช้การประมาณจำนวนสำหรับกลุ่มนกที่เหลือ นักนับนกที่มีความชำนาญสามารถใช้เครื่องกดนับจำนวนสองเครื่องเพื่อนับจำนวนนกสองชนิดได้ในเวลาเดียวกัน แต่วิธีนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนและมีผลต่อความถูกต้องแม่นยำ


 


การนับพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีลักษณะซับซ้อน


 


การนับพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ หรือพื้นที่ที่มีลักษณะซับซ้อนจำเป็นที่จะต้องแบ่งออกเป็นพื้นที่ย่อย โดยให้ถือแต่ละพื้นที่ย่อยเป็นหนึ่งหน่วย แล้วทำการนับเฉพาะหน่วยนั้นอาจใช้คนนับ 1-2 คนต่อหน่วย สำหรับพื้นที่ที่ไม่เคยมีการนับมาก่อนควรมีการสำรวจเส้นทางที่ดีที่สุด และสังเกตจุดอ้างอิงต่างๆ ที่ช่วยในการนับ


 


การสำรวจดังกล่าวอาจหมายถึงการต้องลงพื้นที่หลายครั้ง ในช่วงเวลาที่ต่างกัน เพื่อให้ผู้นับมีความคุ้นเคยกับพื้นที่นั้นๆ และสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด สัดส่วนของนกที่ได้รับการบันทึกในแต่ละพื้นที่ย่อย จะช่วยทำให้เราปรับปรุงข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่นั้นๆ ในเรื่องการขึ้นลงของน้ำ ทิศทางและสภาพแสงที่เหมาะสมสำหรับจุดนับแต่ละแห่ง ช่วงเวลาที่มีการรบกวนสูงสุด หรือปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อความแม่นยำของการนับ


 


ถ้าเป็นไปได้ควรทำการนับนกให้เสร็จสิ้นทีละหน่วยพื้นที่ โดยเฉพาะทำการนับในพื้นที่ขนาดเล็กหลายๆ แห่ง อย่างไรก็ตามควรนับด้วยความรวดเร็วเพื่อป้องกันปัญหาฝูงนกที่ย้ายหากินไปมาตามสภาพน้ำขึ้นน้ำลง การนับฝูงนกที่หากินอยู่ร่วมกันเป็นฝูงบนพื้นฝั่ง หรือในน้ำนั้นง่ายที่สุด แต่ถ้าจำเป็นต้องนับจำนวนนกขณะบิน ควรใช้กล้องส่องทางไกล หรือ เทเลสโคป ส่องตามฝูงนกจากด้านท้ายฝูงแล้วค่อยๆ ไล่ไปในทิศทางเดียวกับฝูงนก


 


การนับฝูงนกขนาดใหญ่มักจะมีข้อผิดพลาดโดยธรรมชาติ การนับจำนวนนกในพื้นที่หลายๆ แห่ง ที่มีนกไม่มากนัก มักจะให้ผลที่ถูกต้องแม่นยำกว่าการนับพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีนกอยู่เป็นจำนวนมาก


 


ความสำคัญของการบันทึกข้อมูลในพื้นที่ที่ไม่พบนก


 


ถ้าพื้นที่ที่เราเดินทางไปถึงไม่มีนก อาจเป็นเพราะแห้งแล้ง หรือมีการเปลี่ยนแปลงสภาพไปแล้ว ขอให้จำไว้ว่าควรทำการบันทึกข้อมูลเช่นนี้ด้วย และจัดส่งข้อมูลดังกล่าวพร้อมกับข้อมูลการนับพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้มีการรวบรวมและประเมินผลในเชิงภาพรวมต่อไป


 


ถ้าข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้รับการบันทึก หรือจัดส่งให้กับผู้รวบรวม จะมีผลต่อการคำนวณจำนวนนกโดยเฉลี่ยต่อพื้นที่ นอกจากนี้ยังไม่สามารถคำนวณแนวโน้มของประชากรนกในพื้นที่นั้นๆ ได้ (โปรแกรมการวิเคราะห์ข้อมูลจะสมมติว่าพื้นที่ดังกล่าวยังไม่ได้นับ และจะบวกรวมประชากรที่น่าจะมี หรือปกติเคยนับได้ในพื้นที่นั้นเข้าไปโดยอัตโนมัติ) ถ้าพื้นที่นั้นๆ ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ก็ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องรายงานให้ผู้รวบรวมข้อมูลได้ทราบ


 


ในการวิเคราะห์ข้อมูลระดับประเทศ หรือข้อมูลที่ใช้ร่วมกันนานาชาติ จะถือว่าพื้นที่ที่ได้มีการนับนั้น ทำการนับนกน้ำทุกชนิด ซึ่งการคำนวณแนวโน้มของประชากรนกแต่ละชนิดจะใช้ข้อมูลนี้เป็นหลัก ถ้าไม่มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับนกชนิดที่น่าจะพบได้บริเวณนั้น นกชนิดนั้นก็จะถูกใส่จำนวนเป็นศูนย์


 


ดังนั้นผู้นับจึงต้องระบุให้ละเอียดว่ามีนกน้ำชนิดใดบ้างที่เจอแต่ไม่ได้ทำการนับ (เช่นอาจมีจำนวนมากเกินไป หรือไม่ใช่ชนิดที่เป็นเป้าหมายหลัก เช่นในประเทศอังกฤษ ปกติจะไม่นับจำนวนนกนางนวล ข้อมูลที่นับจะถือเป็นข้อมูลเสริม) อย่างไรก็ตามวิธีที่ดีที่สุด และง่ายที่สุด คือการนับนกน้ำทุกชนิดที่เจอทุกครั้งที่มีการลงพื้นที่


 


วิธีการนับแบบพิเศษ


 


วิธีการและคำแนะนำข้างต้นน่าจะช่วยให้นักดูนกที่สนใจร่วมเป็นอาสาสมัครเข้าใจถึงหลักการและวิธีการที่ถูกต้องในการนับจำนวนนกน้ำได้พอสมควร การนับโดยวิธีมาตรฐานนอกฤดูผสมพันธุ์ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์คำนวณแนวโน้มประชากรนกน้ำได้ค่อนข้างน่าพอใจในหลายกลุ่มอาทิ นกเป็ดน้ำ ห่าน และหงส์ นกคู๊ท นกเป็ดผี นกกาน้ำ และพวกนกชายเลนต่างๆ เพราะประชากรนกเหล่านี้มักอยู่รวมกันเป็นฝูงในพื้นที่ที่ไม่กระจัดกระจายมากเกินไป


 


อย่างไรก็ตามนอกจากวิธีการนับแบบปกติเหล่านี้แล้ว ยังมีวิธีการนับแบบพิเศษที่มักจะใช้เพื่อเป็นตัวเสริมข้อมูลให้กับวิธีการแบบมาตรฐาน วิธีการนับแบบพิเศษที่นิยมดำเนินการ และจะกล่าวถึงโดยสรุปในที่นี้มี 6 วิธี


 


การนับในช่วงเวลาเกาะพัก (Roost counts)


นกหลายชนิดเช่นนกชายเลน นกยาง และนกนางนวล มักเกาะนอนรวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่นอกฤดูผสมพันธุ์ การนับจำนวนนกในช่วงนี้สามารถนำมาใช้เสริมกับวิธีการนับแบบปกติได้ เช่น การนับจำนวนฝูงนกชายเลนยืนเกาะพักในช่วงน้ำขึ้น แต่สำหรับการนับนกกลุ่มอื่นๆ เช่นนกเป็ดน้ำ หรือห่าน ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีนับซ้ำกับนกที่ปรากฏในพื้นที่หากิน


 


การนับฝูงนกที่ทำรัง (Counts of colonially nesting species)


นกบางชนิดรวมฝูงกันเป็นกลุ่มในช่วงผสมพันธุ์ และทำรังวางไข่ การนับจำนวนนกกลุ่มนี้ในช่วงดังกล่าวจึงเป็นช่วงเวลาที่ได้ผลดี นกหลายชนิดในวงศ์นกกระทุง นกกาน้ำ นกยาง นกกระสา นกช้อนหอยและนกปากช้อน นกนางนวล เป็นกลุ่มที่เราสามารถนับจำนวนตอนสร้างรังวางไข่ได้ดี


 


การนับจำนวนที่รังในพื้นที่โล่งสามารถทำได้ง่ายและถูกต้องกว่านกที่ทำรังบนต้นไม้ หรือพุ่มไม้ ซึ่งจะทำให้การนับยากลำบากขึ้น สิ่งที่สำคัญมากคือจะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อนกที่กำลังสร้างรัง เช่นการพยายามเข้าใกล้รังมากเกินไป หรือยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง เช่นเดียวกับการติดตามประชากรนกแบบอื่นๆ การนับจำนวนนกและรังอย่างเป็นระบบและได้มาตรฐานจะช่วยให้ข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการติดตามความเปลี่ยนแปลงของประชากรนกและพื้นที่ชุ่มน้ำนั้นๆ ได้ในระยะยาว


 


การนับจำนวนโดยการแยกเพศและอายุ (Separate counts of different age and sex classes)


นกหลายชนิดสามารถจำแนกเพศและอายุได้จากลักษณะภายนอก การนับจำนวนโดยการแยกเพศ และระบุชุดขนแต่ละปีของนก จะช่วยให้เราเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงประชากรนกน้ำได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นหากเป็นไปได้จึงควรจดบันทึกข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยให้เรามีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการอนุรักษ์นกน้ำที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น


 


การสำรวจทางเรือ (Boat survey)


แม้การนับและจำแนกชนิดนกจากเรือจะทำได้ยากกว่า แต่พื้นที่หลายแห่งโดยเฉพาะบึงน้ำ ทะเลสาบขนาดใหญ่ หรือพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง เช่นบริเวณป่าชายเลน อาจจำเป็นต้องใช้เรือในการสำรวจ เพราะสามารถครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางได้อย่างทั่วถึง ผู้สำรวจควรระมัดระวังการนับฝูงนกที่บินหนีจากการมาถึงของเรือ เพราะนกอาจบินวนและทำให้เกิดการนับซ้ำได้ การวางแผนเส้นทางการเดินเรือที่ชัดเจนก่อนออกเดินทาง จะช่วยให้ครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความผิดพลาดที่เกิดจากการนับซ้ำได้  


 


การสำรวจทางอากาศ (Aerial survey)


การสำรวจทางอากาศเหมาะสำหรับพื้นที่กว้างใหญ่ที่เข้าถึงได้ยาก เช่น ที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ หรือพื้นที่นอกชายฝั่ง วิธีนี้จะช่วยให้การสำรวจพื้นที่ขนาดใหญ่ทำได้อย่างรวดเร็ว แม้จะไม่สามารถให้ข้อมูลที่ละเอียดได้ แต่อย่างน้อยจะเป็นการบ่งชี้พื้นที่ที่มีความสำคัญต่อนกน้ำ ซึ่งจะช่วยให้สามารถวางแผนการสำรวจในภาคพื้นดินอย่างละเอียดได้ต่อไป


 


อย่างไรก็ตามการสำรวจทางอากาศเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูง และจำเป็นต้องวางแผนอย่างละเอียดรัดกุมที่สุด เพื่อให้การบินแต่ละครั้งคุ้มค่า นักบินและผู้สำรวจต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเทคนิคที่ใช้ในการสำรวจ เช่นการบินต่ำ เทคนิคการสำรวจทางอากาศเป็นเทคนิคเฉพาะและมีคู่มือเฉพาะต่างหากสำหรับผู้สนใจ และนักวิจัย


 


การสำรวจระยะไกล (Expeditions)


การสำรวจนกน้ำในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ที่ไม่เคยมีการสำรวจมาก่อนมักจะดำเนินการในรูปของการสำรวจระยะไกล โดยอาศัยความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญและอาสาสมัครที่มีความชำนาญ การสำรวจในรูปแบบนี้จะช่วยบ่งชี้พื้นที่ที่มีความสำคัญ และสมควรที่จะต้องทำการสำรวจติดตามทางภาคพื้นดินในระยะยาวต่อไป ปัจจุบันประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำค่อนข้างครอบคลุมทั่วประเทศ การสำรวจในรูปแบบนี้จึงอาจไม่มีความจำเป็นมากนัก


 


 


 


ขอบเขตของพื้นที่ในการนับนกน้ำ


พื้นที่อาศัยของนกน้ำหลายแห่งมักมีขอบเขตโดยธรรมชาติที่ชัดเจนเช่น บึงน้ำ ทะเลสาบ หรืออ่าว แต่พื้นที่ขนาดใหญ่หลายแห่งมีขอบเขตที่ซับซ้อนและยากที่จะกำหนดอย่างชัดเจนได้ เช่น แม่น้ำ หรือ ชายฝั่ง (ยาวทั้งหมดเท่าไหร่) หรือ บึงน้ำขนาดเล็กหลายแห่ง (มีทั้งหมดกี่แห่ง) ในพื้นที่เหล่านี้ผู้สำรวจจำเป็นต้องตัดสินใจกำหนดขอบเขตของการสำรวจให้ชัดเจน เพื่อวัตถุประสงค์ในการสำรวจตรวจนับจำนวนที่แน่นอน แต่ละกรณีควรคำนึงถึงสภาพภูมิศาสตร์ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ของนกน้ำเป็นหลัก ซึ่งนักดูนกท้องถิ่นที่มีความคุ้นเคยกับพื้นที่จะสามารถตัดสินใจได้ดีที่สุดว่า การสำรวจควรครอบคลุมพื้นที่ขนาดไหน


 


ในประเทศที่มีเครือข่ายในการนับนกน้ำที่เข้มแข็ง มักจะมีขอบเขตพื้นที่ที่เป็นที่รับรู้ร่วมกันของผู้สำรวจ และอาสาสมัครที่ช่วยนับจำนวน ขอบเขตพื้นที่ที่ทำการนับดังกล่าวเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะโดยหลักการแล้วไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงขอบเขตในการสำรวจในแต่ละปี ไม่ว่าจะเปลี่ยนชุดคณะสำรวจหรือไม่ก็ตาม เพื่อให้ข้อมูลที่ได้มีความสม่ำเสมอ และสามารถนำมาเปรียบเทียบวิเคราะห์ได้


 


ในพื้นที่ขนาดใหญ่และซับซ้อนนั้น จำเป็นที่จะต้องแบ่งพื้นที่และบันทึกข้อมูลแยกเป็นส่วนๆ การแบ่งพื้นที่ขนาดใหญ่ออกเป็นส่วนย่อยเพื่อการบันทึกข้อมูล ยังจะช่วยให้เรามีข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า พื้นที่บริเวณไหนที่มีความสำคัญมากที่สุด เมื่อเทียบกับพื้นที่ส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ยังช่วยให้เรามีข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น ในการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยของนก อันอาจเกิดจากภัยคุกคามเช่นการล่า หรือการพัฒนาพื้นที่บางส่วน


 


พื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการนับนกน้ำ  


ความที่เราไม่สามารถนับจำนวนนกน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำทุกๆ แห่งได้ เราจึงควรมุ่งความพยายามในการนับจำนวนนกน้ำในพื้นที่ที่มีความสำคัญสำหรับนกน้ำในระดับประเทศก่อน ในประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญอยู่เป็นจำนวนมาก หลายพื้นที่เป็นพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย แต่บางพื้นที่ยังไม่มีสถานภาพเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ข้อมูลที่ได้จากการนับจำนวนนกน้ำจะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการวางแผนจัดการอนุรักษ์พื้นที่อย่างเหมาะสมต่อไป รายชื่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีศักยภาพในการสำรวจประชากรนกน้ำอยู่ในตารางที่ 1 อย่างไรก็ตามข้อมูลการนับจำนวนจากพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากพื้นที่ดังกล่าว ล้วนเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการบ่งชี้ความสำคัญของพื้นที่นั้นๆ ในระดับประเทศต่อไป


 


ความสำคัญของการนับที่มีมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ


หลักการสำคัญที่สุดของกิจกรรมการนับนกน้ำคือการติดตามความเปลี่ยนแปลงของจำนวนนกน้ำในแต่ละปี แม้ว่าการนับโดยวิธีนี้จะไม่สามารถให้ข้อมูลที่แม่นยำในเรื่องของประชากรที่แน่นอนได้ แต่ถ้าข้อมูลที่ได้จากการสำรวจที่มีมาตรฐานเหล่านี้สามารถบอกถึงแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงประชากรของนกในแต่ละปีได้ ซึ่งการคำนวณแนวโน้มดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่ามีกิจกรรมการนับนกน้ำเกิดขึ้นในพื้นที่เดิมต่อเนื่องกันทุกปี โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการคำนวณสามารถชดเชยให้กับปีที่ไม่มีการนับได้ แต่จะเป็นเรื่องยากและซับซ้อนมาก ถ้าแต่ละปีมีการครอบคลุมพื้นที่ในการนับไม่เท่ากัน การนับนกน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำที่เดิมโดยใช้วิธีการแบบเดิมทุกๆ ปี จึงเป็นหลักสำคัญที่สุดข้อหนึ่งของโครงการติดตามประชากรนกน้ำโดยรวม


 


นับนกน้ำกันได้เมื่อไหร่


การนับนกน้ำในช่วงกลางฤดูหนาว หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "Midwinter census" เป็นช่วงเวลาที่กำหนดให้มีการนับนกน้ำมาแล้วกว่า 35 ปี และจนถึงปัจจุบันการนับนกน้ำในช่วงสัปดาห์ที่สอง และสามของเดือนมกราคม ยังคงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของกิจกรรมการนับนกน้ำทั่วโลก ในอาฟริกาได้มีความพยายามทำการนับนกน้ำในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมของทุกปีเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งครั้งตั้งแต่ปี 1990 ส่วนในยุโรปการดูนกได้รับความนิยมมาก


 


กิจกรรมการนับนกน้ำเกิดขึ้นแทบจะทุกเดือนตลอดปี จึงทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงประชากรของนกน้ำในรอบปีอย่างละเอียด สำหรับประเทศในเอเชีย การนับนกน้ำช่วงกลางฤดูหนาวในช่วงเดือนมกราคม นับเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญที่สุด เพราะสามารถประมวลผลรวมกันการนับของประเทศอื่นๆ ได้ทั่วโลก อย่างไรก็ตามการเก็บข้อมูลในช่วงอื่นๆ ของปีก็จะช่วยทำให้ข้อมูลเกี่ยวกันนกน้ำภายในประเทศมีความสมบูรณ์มากขึ้น


 


คำแนะนำในการเตรียมตัวเพื่อสำรวจตรวจนับนกน้ำ



  1. ต้องมีความรู้ในการจำแนกชนิดนกน้ำ ซึ่งแบบฝึกหัดที่ดีที่สุด คือการออกไปดูนกภาคสนาม พร้อมกับคู่มือจำแนกชนิดนกที่ดี หรือไปกับนักดูนกที่มีความเชี่ยวชาญ

 



  1. ทำความคุ้นเคยกับพฤติกรรมต่างๆ เช่น พฤติกรรมการบิน การหาอาหาร จะช่วยให้เราแยกนกกลุ่มต่างๆ ออกจากกันได้อย่างรวดเร็วขึ้น นกบางชนิดเช่น นกชายเลนปากช้อน มีพฤติกรรมการหากินที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราจำแนกชนิดนกได้ แม้จะไม่เห็นลักษณะต่างๆ อย่างครบถ้วนชัดเจน

 



  1. ศึกษารูปร่างจากลักษณะเงาดำ (Silhouette) จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจำแนกชนิด เช่น ลักษณะท่าบินของนกเป็ดแดง นกเป็ดลาย นกกาน้ำ แต่ละชนิดจะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน

 



  1. ควรมีความรู้ทั่วไปของพื้นที่ที่จะทำการนับนก เช่นลักษณะพื้นที่ เส้นทางการสำรวจ และช่วงเวลาน้ำขึ้น น้ำลง สำหรับพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง

 



  1. แบ่งกลุ่มให้พอเหมาะกับพื้นที่ และแบ่งพื้นที่รับผิดชอบให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ

 



  1. ต้องมีความอดทน และพยายามนับให้เสร็จภายในหนึ่งวันต่อพื้นที่

 



  1. พยายามรบกวนนกให้น้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยให้การนับมีความถูกต้องมากขึ้น

 



  1. ใช้กล้องส่องทางไกล หรือกล้องเทเลสโคป ส่องแพนแล้วทำการนับทีละตัว หรือทีละคู่ โดยนับเป็นกลุ่มเล็กๆ แล้วนำมารวมกันตอนหลังได้

 



  1. การนับฝูงนกขนาดใหญ่โดยแบ่งเป็นกลุ่ม (Block count) นับอย่างละเอียดในหนึ่งกลุ่มแล้วนำมาคูณจำนวนกลุ่มที่อยู่ในฝูง วิธีนี้เหมาะสำหรับนกกลุ่มใหญ่ๆ ที่อยู่กันหนาแน่น ทั้งที่กำลังบิน และอยู่ตามพื้น วิธีนี้ต้องอาศัยประสบการณ์พอสมควร

 



  1. การนับจำนวนฝูงนกขนาดใหญ่มากกว่า 500 ตัว ควรมีการตรวจสอบโดยการนับซ้ำเพื่อหาค่าเฉลี่ย แต่ควรดำเนินการโดยคนเดิม ถ้าเปลี่ยนคนจะทำให้มีค่าเบี่ยงเบนมาก

 



  1. การนับจำนวนโดยการนับจุดจากภาพถ่ายสามารถทำได้เช่นกัน แต่วิธีนี้ไม่สามารถแยกชนิดนกที่บินปนกันอยู่ในฝูงเดียวได้

 



  1. การจดบันทึกข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญที่จะเป็นข้อมูลที่ใช้อ้างอิงได้ คำแนะนำในการบันทึกข้อมูลมีดังนี้

12.1ควรบันทึกจำนวนนกที่ได้ให้ชัดเจน ไม่ควรใช้ว่า เกือบ หรือประมาณ เช่น 95 ไม่ใช่ เกือบหนึ่งร้อย


12.2ไม่ควรเขียนการคาดคะเน เช่น 100-200 ควรประมาณเป็น 150 หรือ 180 ตามความเหมาะสมและใกล้เคียงที่สุด


12.3ในกรณีที่ไปถึงพื้นที่แล้ว ไม่พบนกเลย หรือมีจำนวนน้อยผิดปกติ ควรจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ด้วยเช่นกัน พร้อมกับหมายเหตุสภาพพื้นที่ในปัจจุบันว่า มีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร มีการคุกคามพื้นที่ หรือนกน้ำปรากฏให้เห็นหรือไม่


12.4การกรอกแบบฟอร์มเกี่ยวกับสถานที่ ควรใช้ชื่อที่เป็นมาตรฐาน และควรมีขอบเขตในการนับที่ชัดเจน หากต้องการนับจำนวนนกที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง นอกขอบเขตของพื้นที่ ควรทำการแยกนับต่างหาก และระบุขอบเขตของสถานที่ให้ชัดเจน


12.5ตรวจสอบข้อมูลที่ทำการบันทึกในแบบฟอร์ม ระวังอย่าให้สับสนระหว่างชนิดกับจำนวนที่ต่างชนิดกัน


12.6ถ้าพบนกที่ไม่สามารถจำแนกชนิดได้ ให้เขียนรายละเอียดไว้ในชนิดเพิ่มเติม หรือบรรยายลักษณะของนกเพื่อการจำแนกชนิดไว้ต่างหาก และจัดส่งมาด้วยกันกับแบบฟอร์ม


12.7ผู้ทำการสำรวจควรระบุชื่อ และที่อยู่ ให้ชัดเจน เพื่อระบุที่มาของข้อมูลได้ ในกรณีที่มีการจัดพิมพ์รายงานการสำรวจประจำปี หรือเพื่อการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมในอนาคต


12.8ถ้าพบพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งใด กำลังประสบปัญหา หรือถูกคุกคาม กรุณาแจ้งโดยตรงต่อสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยทันที


 


กิจกรรมการนับนกน้ำเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักดูนกทุกคน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ได้โดยตรง ผ่านการติดตามความเปลี่ยนแปลงของจำนวนนก และสภาพธรรมชาติอันเป็นที่อยู่อาศัยของนก ข้อมูลที่ได้รับการบันทึก จะถูกรวบรวม วิเคราะห์ และนำเสนอสู่องค์กรระดับนโยบายเพื่อผลักดันให้เกิดการจัดการอนุรักษ์พื้นที่อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป ข้อมูลพื้นฐานที่ได้รับการรวบรวมยังสามารถนำมาใช้ในการเผยแพร่ สร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องให้สาธารณะได้ตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และที่รวมของความอุดมสมบูรณ์อันยังประโยชน์ต่อสรรพชีวิตทั้งมวล


 


  


 


* นกน้ำคืออะไร


 


นกน้ำในที่นี้หมายถึงนกที่มีความเป็นอยู่หรือความต้องการทางนิเวศวิทยาขึ้นกับพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ecologically dependent on wetlands) นกน้ำที่เป็นเป้าหมายในการสำรวจได้แก่ วงศ์นกเป็ดผี วงศ์นกกระทุง วงศ์นกกาน้ำ วงศ์นกอ้ายงั่ว วงศ์นกยาง วงศ์นกกระสา (นกกระสา นกกาบบัว นกตะกรุม นกตะกราม) วงศ์นกช้อนหอย/นกปากช้อน วงศ์นกเป็ด (เป็ด ห่าน) วงศ์นกกระเรียน วงศ์นกอัญชัน (นกอัญชัน นกหนูแดง นกอีลุ้ม อีล้ำ อีโก้ง นกคู้ต) วงศ์นกฟินฟุต วงศ์นกอีแจว วงศ์นกโป่งวิด วงศ์นกหัวโตกินปู วงศ์นกตีนเทียน (นกตีนเทียน นกชายเลนปากงอน) วงศ์นกกระแตผี วงศ์นกแอ่นทุ่ง วงศ์นกหัวโต/นกกระแต วงศ์นกปากซ่อม (นกปากซ่อม นกปากแอ่น นกอีก๋อย นกทะเลขาแดง นกทะเลขาแดง นกทะเลขาเขียว นกชายเลนบึง นกเด้าดิน นกตีนเหลือง นกพลิกหิน นกซ่อมทะเล นกน็อต นกคอสั้นตีนไว นกสติ้นท์ นกชายเลน นกรัฟ นกลอยทะเลคอแดง) วงศ์นกนางนวล (นกนางนวล นกนางนวลแกลบ นกกรีดน้ำ) รวม 176 ชนิด


 


 

เอกสารประกอบ

รายละเอียดพื้นที่การนับนก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net