Skip to main content
sharethis


ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อเร็วๆ นี้ นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มีมติให้หยิบยกประเด็นผลกระทบด้านสุขภาพจากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชขึ้นมาพิจารณา เพื่อผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะโดยใช้ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ขับเคลื่อนทั้งนโยบาย การสร้างความรู้ และขับเคลื่อนพลังสังคม เชื่อมโยงกับสมัชชาสุขภาพ เพื่อให้เกิดพลังผลักดันนโยบายให้เกิดผลปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ โดยบูรณาการการทำงานของหน่วยงานในระดับพื้นที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


 


"ครม. เคยมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอ 6 ข้อของคณะกรรมกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (คปรส.) ที่ได้มาจากสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศแล้ว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 มอบให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการแล้ว แต่ในทางปฏิบัติไม่เกิดผลที่เป็นรูปธรรม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้หยิบยกประเด็นนี้เสนอให้ คสช. พิจารณาว่าควรดำเนินการอย่างไรหรือไม่เพื่อให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติ" นายแพทย์อำพลกล่าว


 


ในที่ประชุมกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้อภิปรายถึงปัญหาของการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชกันอย่างกว้างขวาง โดยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญ และเป็นเรื่องใหญ่ มีความสลับซับซ้อนที่ต้องแก้ ทั้งระบบ ซึ่ง คสช.ที่เป็นผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่สะท้อนปัญหาทั้งเรื่องการใช้สารเคมีจำนวนมากเพื่อเร่งผลผลิตในการปลูกข้าวให้ได้ 3 ครั้งในแต่ละปี การใช้สารเคมีในอาหารทะเลหรือในการทำไร่กะหล่ำปลี ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าอาหารและพืชผักแต่ละชนิดส่วนใหญ่อาบไปด้วยสารเคมีที่เป็นอันตราย นอกจากนี้ยังตกค้างและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอีกจำนวนมาก


 


ด้าน คสช.จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่าปัญหาการใช้สารเคมีของเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง ทั้งด้านปริมาณที่มากกว่ากำหนดและใช้ผิดประเภท โดยรัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ


 


ทั้งนี้มี คสช. หลายท่านเห็นว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากการขาดความรู้และไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง อีกทั้งเกษตรกรไม่ได้รับการสนับสนุนให้มีทางเลือกอื่นๆ แทนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ดังนั้นที่ประชุม คสช. จึงเห็นร่วมกันว่าต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยต้องใช้ข้อมูล ความรู้ และพัฒนาประเด็นข้อเสนอให้ชัดเจน เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง โดยเน้นเป้าหมาย 3 เรื่อง คือ เรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เรื่องอาหารปลอดภัย และเรื่องเกษตรปลอดภัย และเมื่อ คสช.เสนอแนะการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว มีหน้าที่ต้องติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550


 


จากรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2549 ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าปริมาณการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยระหว่างปี 2537-2547 ประเทศไทยนำเข้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า และไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเผยว่าผลผลิตพืชเศรษฐกิจต่อไร่ที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.5 ต่อปี แต่อัตราการใช้สารเคมีกลับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13.2 ต่อปี


 


"การใช้สารเคมีที่มากมายเกินความจำเป็น นอกจากเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจของชาติแล้ว ความสูญเสียที่สำคัญคือผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมทั้งผู้บริโภค ซึ่งเป็นต้นทุนสุขภาพที่สังคมต้องจ่ายอย่างที่ไม่สมควร และพึงหลีกเลี่ยงได้ด้วยการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ" นายแพทย์อำพลเปิดเผย


 


ทั้งนี้สถิติผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีป้องกันจำกัดศัตรูพืชทั่วประเทศ จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของกระทรวงสาธารณสุขในระยะ 10 ปีที่ผ่านอยู่ระหว่าง 3-4 พันคนต่อปี โดยผู้ป่วยร้อยละ 80 เป็นเกษตรกรและภาคเหนือครองแชมป์ตัวเลขผู้ป่วยสูงสุดติดต่อกันหลายปี อย่างไรก็ตามเชื่อว่าตัวเลขผู้ป่วยจริงจะสูงกว่านี้มาก เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เมื่อป่วยแล้วจะมาพบแพทย์ และหากคิดเป็นต้นทุนสุขภาพของเกษตรกรรวมทั้งต้นทุนอื่นๆที่รัฐต้องสูญเสียไปเพื่อควบคุมและติดตามผลจากการใช้สารเคมีฯ คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี ใกล้เคียงกับมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีรวมกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในแต่ละปีของประเทศไทย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net