บทความ: สื่อสาธารณะสร้างสังคมคุณภาพ

สมชัย สุวรรณบรรณ
อดีตเจ้าหน้าที่ของบีบีซีภาคบริการโลกที่ลอนดอน

สื่อสาธารณะแบบบีบีซีมีประวัติที่ยาวนานและประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง ทุกวันนี้บีบีซีมิใช่เป็นแค่สถานีข่าว แต่เป็นสถาบันทางวัฒนธรรม เป็นแหล่งเพาะนักเขียนศิลปินรุ่นใหม่ เป็นห้องเรียนทางอากาศ เป็นพิพิธภัณต์เก็บสมบัติของชาติ เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนเวลาเกิดวิกฤติคับขันเมื่อเกิดภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของสาธารณะ เป็นเวทีกลางของการถกเถียงโต้แย้งทางความคิดที่หลากหลาย ป้อนข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริงสมดุลให้แก่ประชาชน เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าทางปัญญา-วัฒนธรรม กระตุ้นให้ตื่นตัวต่อสภาวะแวดล้อม และบทบาทล่าสุดเป็นหัวรถจักรฉุดลากสังคมอังกฤษให้เข้าสู่ยุคเทคโนโยยี่ดิจิทัล ที่กำลัง ปฎิวัติระบบการสื่อสารไปทั่วโลกขณะนี้

มีการชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคมไทยที่ว่าสื่อสาธารณะเป็นสิ่งล้าสมัยไม่เหมาะสมกับสังคมไทยและในต่างประเทศกำลังจะเลิกกันไป แท้ที่จริงแล้ว หลายๆ ประเทศพยายามที่จะหาวิธีก่อตั้งสื่อสาธารณะในรูปแบบต่างๆกัน แต่สื่อสาธารณะที่ประสบความสำเร็จมีพลังสร้างความเปลี่ยนแปลง (Impact) เป็นที่ยอมรับกันไปทั่วโลกคือบีบีซีของอังกฤษ ขนาดรัฐบาลอังกฤษเองซึ่งบางครั้งบางคราวมีเรื่องขัดแย้งกับบีบีซีก็ยังยอมรับว่าบีบีซีเป็น the best of British brand เป็นความภูมิใจของประเทศ รัฐบาลอังกฤษชุดไหนประกาศว่าจะล้มเลิกบีบีซี หรือขายให้เอกชน มีหวังแพ้เลือกตั้ง

ผู้ที่คัดค้านความพยายามที่จะก่อตั้งสื่อสาธารณะในประเทศไทย ก็คงค้านไปด้วยความไม่รู้จริง เพราะแนวคิดสื่อสาธารณะเป็นสิ่งแปลกใหม่ในสังคมไทย "ทีวีอะไรหรือไม่มีโฆษณาไม่หากำไร" แต่ก็มีผู้คนจำนวนมากในสังคมไทยขณะนี้ที่ได้เคยลิ้มรสได้รับประโยชน์จากสื่อสาธารณะแบบบีบีซี หรือบางท่านที่เคยใช้ชีวิตในอังกฤษต่างก็โหยหาอยากให้สังคมไทยได้มีสถาบันสื่อที่ซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบประชาธิปไตย เป็นสถาบันวัฒนธรรมเพาะเลี้ยงพลังสร้างสรรค์และป้อนอาหารสมองคุณภาพให้แก่ประชาชน

ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงของบีบีซีในยุคแรกเริ่มมีความเชี่อมั่นว่ากิจการสื่อวิทยุและโทรทัศน์มีพลังสร้างสรรค์ที่จะทำให้โลกเราน่าอยู่มากขึ้น การมีส่วนร่วมสนับ สนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมของสาธารณะชน จะทำให้สื่อวิทยุและโทรทัศน์นั้นต้องยึดถือผลประโยชน์ของสาธารณะเป็นธงนำ ซึ่งจะแตกต่างไปจากแนวคิดและวัตถุประสงค์ของสื่อที่เป็นของรัฐ(บาล) อันมีหน้าที่ต้องสนองนโยบายรัฐ(บาล) ซึ่งประวัติที่ผ่านๆ มาก็เห็นอยู่ว่ามักจะตกเป็นเครื่องมือนักการเมืองฉกฉวยใช้ประโยชน์ส่วนตน หรือสื่อเอกชนที่บางท่านเรียกว่าสื่อเสรีคือไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้อำนาจของนักการเมือง แต่ก็มีภาระหน้าที่ต้องหากำไรให้แก่เจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้น (ซึ่งประวัติที่ผ่านมานักการเมืองก็เข้าไปถือหุ้น) สื่อเสรีแบบนี้ บางครั้งก็หาประโยชน์จากผู้บริโภค ไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ โดยเฉพาะสื่อเอกชนขนาดใหญ่มีอิทธิพลมากๆ ก็ใช้อิทธิพลของตนกดดันนโยบายรัฐบาลให้ประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเอง ยกตัวอย่างเช่นสื่อยักษ์ใหญ่ของนาย รูเปิร์ต เมอร์ด็อกเป็นต้น

            ทำอย่างไรหรือจึงจะเรียกว่าเป็นสื่อสาธารณะแบบบีบีซี

            สื่อสาธารณะที่ดีจะต้องมุ่งรับใช้ผู้ชมผู้ฟังโดยไม่มองพวกเขาว่าเป็นลูกค้าหรือผู้บริโภค แต่มองว่าเป็นสมาชิกของสังคมที่ควรได้รับบริการที่มีคุณภาพ บริการดังกล่าวมีอยู่สามอย่างเป็นหลักใหญ่ๆ คือหนึ่งให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแท้จริงและเป็นธรรม สองให้ความรู้การศึกษา และสามให้สาระบันเทิงที่มีคุณภาพและมีรสนิยม (taste and decency)

             เป็นสิ่งที่น่ายินดีที่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธิ์กำหนดเป็นนโยบายชัดเจนและพยายามผลักดันสื่อสาธารณะให้เกิดขึ้นก่อนก้าวลงจากอำนาจ องค์การสื่อสาธารณะที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ หากประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ก็จะกลายเป็นมรดกในทางบวกที่เกิดขึ้นจากการยึดอำนาจด้วยการใช้กำลังเมื่อปลายปีที่แล้ว และมรดกชิ้นนี้จะกลายเป็นหัวจักรรถไฟที่นำพาสังคมไทยไปสู่ความไพบูลย์ สร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตยรู้เท่าเทียมกัน(an informed democracy)

            เมื่อปลายปีที่แล้ว คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายก รัฐมนตรี และนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกระประชาสัมพันธ์ ได้เป็นแขกรับเชิญของ บีบีซี ที่ลอนดอน เข้ารับฟังการบรรยายสรุปจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของบีบีซี หลักการคุ้มครองทางกฎหมาย วิธีการแสวงหาเงินทุน วิธีการคัดเลือกผู้บริหาร การกำกับดูและการตรวจสอบ มีการสอบถามไล่เลียงกับเจ้าหน้าที่ของบีบีซีขนาดลงรายละเอียดกันถึงขั้นปฎิบัติในบางประเด็นด้วย เพื่อเปรียบเทียบความเป็นไปได้ที่สร้างสถาบันแบบบีบีซืในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับกันว่าบางเรื่องบางประเด็นก็อยู่ในบริบทและวัฒนธรรมแบบอังกฤษซึ่งแตกต่างจากบริบทและความรู้สึกนึกคิดในประเทศไทย แต่หลักการใหญ่ๆของสื่อสาธารณะ ถ้าหากเข้าใจถ่องแท้ ก็ไม่ยากนักที่จะดัดแปลงตกแต่งเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งทางบีบีซีก็ไม่เคยหวงห้าม

            หลักการที่สื่อสาธารณะต้องถือเป็นภาระหน้าที่สร้างสรรค์เป็นค่านิยมทางบวกให้เกิดขึ้นในสังคมได้แก่

 


  • ค่านิยมประชาธิปไตย - สื่อสาธารณะจะต้องสนับสนุนพัฒนาสังคมให้เป็นประชาธิปไตย ให้บริการข่าวสารการบ้านการเมืองที่เที่ยงตรง ลุ่มลึกรอบด้าน หลากหลาย สมดุล กระตุ้นให้มีการโต้เถียงอย่างมีวุฒิภาวะในหมู่กลุ่มความคิดที่แตกต่างกัน เพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลมากเพียงพอที่จะประเมินและสรุปตัดสิน ใจอย่างสมเหตุสมผล เพราะการตัดสินใจหรือบทสรุปของเขานั้นอาจจะมีผล กระทบต่อส่วนรวมหรือชุมชนรอบตัวด้วย

  • ค่านิยมทางวัฒนธรรมและพลังสร้างสรรค์ - สื่อสาธารณะจะต้องเสริมสร้างและกระตุ้นให้ประชาชนชื่นชอบรักษามรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ยกระดับความรู้สึกที่ดีๆ (uplifting) ให้กับผู้ชมผู้ฟัง กล้าเสี่ยงที่จะสร้างสรรค์รายการที่แหวกแนวคิดใหม่ (ground breaking) เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงศิลปินรุ่นใหม่ๆทดแทนรุ่นเก่าที่ถดถอยไป เก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสชี่นชม และภาคภูมิใจ

  • ค่านิยมทางปัญญาและการศึกษา - สื่อสาธารณะจะต้องสนับสนุนให้บริการด้านการศึกษาทั้งในระบบ(ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับอายุ) และนอกระบบสำหรับผู้พ้นวัยเรียน หรือผู้ด้อยโอกาส หรือผู้พิการ สื่อสาธารณะจะต้องเสริมสร้างสังคมที่ตื่นตัวในการเรียนรู้ และเปิดโอกาสฝึกฝนให้ผู้ที่ต้องการสร้างทักษะให้แก่ตนเอง เพื่อความก้าวหน้าในชีวิตการงาน

  • ค่านิยมทางสังคมรอบตัวและชุมชน - สื่อสาธารณะจะต้องสร้างความเข้าใจในหมู่คนต่างๆของสังคมที่อาจจะมีทั้งจุดร่วมและความแตกต่างหลากหลาย โดยใช้พื้นฐานความเข้าใจ ความอดกลั้น ผูกโยงความคิดที่แตกต่างให้หันหน้าเข้าหากันเพื่อสร้างความกลมเกลียว สื่อสาธารณะจะต้องเสริมสร้างสปิริตชุมชนให้ตระหนักถึงภาวะแวดล้อมและภัยที่อาจจะสร้างความเสียหายต่อชุมชนรอบตัว

 

การที่จะสร้างค่านิยมเหล่านี้ให้สำเร็จองค์กรสื่อสาธารณะที่จะก่อตั้งขึ้นจะต้องมีความเข้มแข็ง มีระบบการบริหารที่เป็นเอกภาพและเป็นอิสระปลอดจากอิทธิพลทางการเมืองและธุรกิจ มีแหล่งเงินทุนจากสาธารณะทำให้เกิดความสำนึกที่จะรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ มีการกำหนดกรอบจรรยาบรรณของตนเอง มีทีมงานที่มีฝีมือและจินตนาการสูงและชี่อตรงต่อวิชาชีพ

การออกกฎหมายตราพระราชบัญญัติก่อตั้งแม้จะตั้งเป้าหมายไว้สูงส่งอย่างไร แต่หากว่าผู้บริหารและทีมงานไม่มีจิตวิญญาณรับใช้สาธารณะ (public service spirit) ภาระกิจการสร้างสังคมคุณภาพก็จะล้มเหลว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท