Skip to main content
sharethis

หลังจากที่พนักงาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง 13 ข้อ พร้อมลงลายมือชื่อกว่า 3,286 รายชื่อ ยื่นกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน และชุมนุมหน้าโรงงาน 6 ครั้ง พร้อมกับเจรจาทวิภาคีกับนายจ้างกว่า 4 ครั้งนับตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 50 และมีการประกาศตั้งสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) และมีการประชุมสามัญเมื่อวันที่ 17 ม.ค. นั้น


 



 



 


 


พนักงานชุมนุมรอบล่าสุดรอฟังผลเจรจา - โอดโดนตัดโอที-รถรับส่ง


ล่าสุด เมื่อวานนี้ (21 ม.ค.) ซึ่งเป็นการเจรจาระหว่างตัวแทนพนักงานและผู้บริหารเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งเริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น. พนักงาน บจก.โฮยา ได้นัดชุมนุมรอฟังผลเจรจาอีกครั้งในช่วงเลิกงาน


 


อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขสภาพการจ้างงาน โดยตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 50 ผู้บริหารได้มีการออกมาตราการควบคุมแผนการผลิตครั้งที่ 1 ยุบช่วงทำงานล่วงเวลา (โอที) ของพนักงานหากมีแผนกที่พนักงานเข้าทำงานไม่ถึง 75% จะยกเลิกการทำโอที และนอกจากนี้ในวันที่มีการชุมนุม หรือวันที่บริษัทยกเลิกการทำงานล่วงเวลา ทางบริษัทจะยกเลิกการเดินรถรับส่งพนักงานช่วง 20.45 น. และเปลี่ยนมารับพนักงานในเวลา 17.45 น. แทน ซึ่งตรงกับช่วงที่มีการชุมนุม ทำให้พนักงานที่มาชุมนุมจำนวนหนึ่งไม่มีรถโดยสารเพื่อกลับที่พัก


 


พนักงาน บจก.โฮยา โดยนายศรีทน เปรื่องวิชาธร ประธานสหภาพแรงงาน สอฟส. จึงได้ทำหนังสือ ที่ สอฟส. 002 / 2551 ลงวันที่ 18 ม.ค. 2550 เรื่อง ขอร้องเรียนต่อการกระทำอันเป็นธรรม ร้องเรียนต่อ นายนายโทโมโกะ คาโตะ ประธาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานดังกล่าวทางสหภาพแรงงานถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม มาตรา 121 ของ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จึงขอให้ประธานบริษัทยกเลิกมาตรการดังกล่าว ระหว่างที่กำลังมีการเจรจาต่อรอง เพื่อให้กระบวนการเจรจาต่อรองมีความเรียบร้อยและความสมานฉันท์


 


 


แกนนำแจงผลเจรจาไม่คืบ ขอพนักงานลงมติยื่นพิพาท


สำหรับการเจรจาซึ่งเริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น. นั้น พอถึงเวลาประมาณ 18.00 น. นายอัครเดช ชอบดี กรรมการสหภาพแรงงาน สอฟส. และตัวแทนเจรจาฝ่ายพนักงาน ออกมาชี้แจงกับพนักงานบนเวทีว่า วันนี้ผู้บริหารตำหนิว่าพนักงานทำงานไม่ทัน แต่เขาเห็นว่าที่ทำงานไม่ทันนั้น เกิดจากนโยบายออกคำสั่งยกเลิกการทำงานล่วงเวลาของบริษัทเอง นายอัครเดช ยังกล่าวว่าบริษัทที่เจริญแล้วล้วนแต่ลงมาพูดคุยตกลงกับสหภาพแรงงานทั้งนั้น เช่น บริษัทผลิตรถยนต์ในภาคตะวันออก ที่คนงานของบริษัทถึงจะทำงานหนักแต่ก็ทำงานอย่างมีความสุข ทำงานให้ด้วยความเต็มอกเต็มใจ ทำให้ได้ผลผลิตดี เพราะนายจ้างลงมาตกลงกับลูกจ้างว่าจะร่วมมือกันอย่างไร


 


ต่อมาในเวลาประมาณ 19.00 น. แกนนำเจรจาทั้งหมดได้ออกมาจากบริษัท เพื่อชี้แจงกับพนักงาน บจก.โฮยา ว่าวันนี้การเจรจาไม่มีความคืบหน้า จึงขอมติจากพนักงานว่าควรยื่นพิพาทแรงงานต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน เพื่อเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแบบไตรภาคีระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง โดยมีเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานร่วมด้วยหรือไม่ โดยพนักงานต่างยกมือสนับสนุนให้ยื่นข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการพิพาทแรงงาน แทนการเจรจาสองฝ่ายอย่างที่ผ่านมา


 


โดยช่วงที่มีการชุมนุมวันนี้ได้มีการสลับให้ตัวแทนพนักงานขึ้นเล่นดนตรีสลับการปราศรัย เพื่อรอให้ เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน เดินทางมาไกล่เกลี่ยกับผู้บริหารเรื่องให้จัดหารถรับส่งพนักงานที่ถูกผู้บริหารมีคำสั่งยกเลิก


 



 



 



 


ระทึก! ตำรวจเคลียร์ทางกลับให้คณะผู้บริหาร


ต่อมาในช่วงเวลาประมาณ 19.40 น. พ.ต.ท.ดนัย ใจกล่ำ สวป.สภ.อ.เมืองลำพูน เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารสนธิกำลังประมาณ 10 นายพร้อมปืนพกและกระบอง เข้ามายังบริเวณที่มีการชุมนุม เพื่อเปิดทางให้นายคูนิฮิโร คาโต้ ประธาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) และคณะผู้บริหารขับรถออกจากโรงงาน เนื่องจากนายคาโตะแจ้งว่าถูกกักตัวอยู่ในโรงงาน โดย พ.ต.ท.ดนัย ขอให้พนักงานเปิดทางมิเช่นนั้นอาจถูกแจ้งข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว


 


แกนนำพนักงานชี้แจงว่าไม่มีการกักตัว เพราะพนักงานชุมนุมอยู่ภายนอกโรงงาน และทางพนักงานรอเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน เดินทางมาไกล่เกลี่ยกับผู้บริหารเรื่องให้จัดหารถรับส่งพนักงานที่ถูกผู้บริหารมีคำสั่งยกเลิก ทั้งๆ ที่อยู่ระหว่างการเจรจาปรับปรุงสภาพการจ้าง


 


โดยทาง พ.ต.ท.ดนัย ขอนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดทางให้รถยนต์นายคาโตะออกจากโรงงาน โดยรถยนต์ของคณะผู้บริหารทยอยกันออกไป ไม่มีการกีดขวางแต่อย่างใด แม้มีเสียงโห่ไล่หลัง แต่ก็เป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งเกิดขึ้น


 



 



 



นางสุจินตนา ศรีตะระโส นักวิชาการแรงงาน 7 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน
เดินทางมาถึงที่ชุมนุม เพื่อเจรจาเรื่องรถรับส่งให้กับพนักงาน


 


 



จุดเทียนให้กำลังใจ - จนท.แรงงานรุดไกล่เกลี่ยเรื่องรถรับส่ง


จนถึงเวลาประมาณ 20.00 น. พนักงานได้จุดเทียนร่วมกันเพื่อเป็นกำลังใจให้กับการต่อสู้เรียกร้องของสหภาพแรงงานต่อไป และทางแกนนำพนักงานได้ประกาศให้พนักงานที่ต้องทำงานกะกลางคืนทยอยเข้าทำงานตามปกติ ทำให้เหลือพนักงานกะกลางวันชุมนุมรอเจ้าหน้ากระทรวงแรงงานจำนวนหนึ่ง


 


เวลาประมาณ 20.30 น. นางสุจินตนา ศรีตะระโส นักวิชาการแรงงาน 7 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน ได้เดินทางมาถึงที่ชุมนุม และตัวแทนพนักงานได้ร้องขอให้นางจินตนาช่วยเจรจากับทางบริษัทให้จัดรถรับส่งพนักงานที่ไม่สามารถเดินทางกลับที่พักได้ โดยนางจินตนาได้รับปากจะประสานให้ ทำให้ทางบริษัทจัดรถตู้ไว้ 6 คัน สำหรับพนักงานที่ไม่สามารถกลับที่พักได้


 


ต่อมาในเวลา ประมาณ 21.00 น. พนักงานได้เชิญนางสุจินตนา ขึ้นเวทีชี้แจง โดยนางสุจินตนากล่าวว่า หน้าที่ของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานต้องช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานอยู่แล้ว อย่าได้มองเจ้าหน้าที่ว่าเข้าข้างฝ่ายนายจ้างเลย หากคิดว่านายจ้างกลั่นแกล้ง เมื่อคิดว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็มี พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์เพื่อฟ้องศาลแรงงานได้ ต่อจากนี้จะเรื่องของข้อพิพาทแรงงานแล้ว และเป็นกระบวนการไตรภาคีแล้ว


 


ผู้ชุมนุมคนหนึ่งได้ยกมือถามนักวิชาการแรงงานว่า หากวันพรุ่งนี้มีการชุมนุม จะมีรถมารับหรือไม่ ซึ่งการชุมนุมในแต่ละครั้งพนักงานจะหยุดงานช่วงล่วงเวลา


 


นางสุจินตนาตอบว่า มีเงื่อนไขตามข้อกฎหมายอยู่คือ การจัดสวัสดิการรถรับส่ง เป็นสภาพการจ้างอย่างหนึ่งก็จริง แต่เป็นสภาพการจ้างที่เกี่ยวพันกับเวลาทำงาน คือนายจ้างอำนวยความสะดวกในรถรับส่ง ในวันที่ลูกจ้างมาทำงาน ถ้ามีโอทีก็มีรถรับส่ง แต่พอยกเลิกจากโอทีแล้ว มันก็เลยเข้าเงื่อนไขที่ว่า เมื่อไม่ได้ทำงานช่วงล่วงเวลา นายจ้างก็จะจัดรถตอนห้าโมงเย็นให้แทน


 


เมื่อตอบคำถามถึงช่วงนี้ พนักงานในที่ชุมนุมได้ชี้แจงว่า รถโดยสารดังกล่าวพนักงานเป็นคนจ่ายค่าน้ำมันรถ มาจากการหักเงินค่าจ้างช่วงปกติของพนักงาน


 


นางสุจินตนา ตอบว่า หากเป็นกรณีที่ เงินค่าน้ำมันรถ มาจากการหักเงินค่าจ้างพนักงาน เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานจะต้องชี้แจงเรื่องนี้ต่อนายจ้าง ว่าหากนายจ้างหักเงินพนักงานไปเป็นค่าน้ำมันรถ นายจ้างก็ต้องจัดรถให้พนักงาน เพราะไปเอาค่าน้ำมันมาจากพนักงาน


 


สำหรับสวัสดิการรถรับส่งที่บริษัทจัดให้มีสองรูปแบบ คือหนึ่ง จ่ายเป็นค่าน้ำมันรถ สอง มีจัดรถบริการรับส่ง ถ้าไม่เอาค่าน้ำมัน แต่จะต้องใช้เงินจากค่าจ้าง ต้องมาดูว่าสวัสดิการส่วนนี้ผูกอยู่กับวัน-เวลาทำงาน ที่เงื่อนไขว่าจะให้ในวันที่มีการทำงาน มันเลยจะมาติดเงื่อนไขตรงที่พนักงานไม่ได้ทำงานช่วงล่วงเวลา แต่เราก็สามารถเจรจากับบริษัทได้ว่าต่อให้เราไม่ทำล่วงเวลาบริษัทก็ต้องจัดรถให้เราอยู่แล้วในช่วง 17.45 น. พนักงานก็ควรเจรจาขอให้เปลี่ยนเวลารับ-ส่ง เป็น 20.45 น. เพราะว่าช่วงเย็นพนักงานยังชุมนุมอยู่ที่นี่


 


 


นัดยื่นพิพาทแรงงาน 22 ม.ค. นี้


จากนั้นแกนนำพนักงานได้นัดหมายว่าจะไปยื่นพิพาทแรงงานในวันรุ่งขึ้น โดยเวลาประมาณ 22.00 น. เศษ พนักงานที่เหลืออยู่จึงเลิกการชุมนุม


 


สำหรับความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (22 ม.ค.) ตัวแทนพนักงาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) โดยสหภาพแรงงาน สอฟส. ได้เดินทางไปยื่นหนังสือพิพาทแรงงาน ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน โดยนายศรีทน เปรื่องวิชาธร ประธานสหภาพ สอฟส. กล่าวว่า หลังจากยื่นพิพาทแล้วคาดว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานจะให้คำตอบ และนัดหมายเพื่อเจรจาไตรภาคีภายใน 5 วันนี้ ส่วนในวันนี้ช่วงเย็นจะมีการชุมนุมเพื่อชี้แจงกับพนักงานเรื่องการยื่นพิพาทแรงงานต่อไป


 


 


ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง


พนักงานโรงงานโฮยานิคมลำพูนยื่นข้อเรียกร้อง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ, ประชาไท, 11/12/2550


คนงานนิคมจ.ลำพูนรวมใจสู้-ร้องนายจ้างปรับปรุงสวัสดิการ-สภาพการทำงาน, ประชาไท, 12/12/2550


บทความ: เมื่อคนงานโฮย่ากลาสดิสก์ลำพูนรวมใจสู้: ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้, ประชาไท, 13/12/2550


คนงานโฮยาชุมนุมรอฟังการเจรจานัดแรก แต่ผลยังไม่คืบหน้า, ประชาไท, 14/12/2550


มุมมองทางเศรษฐกิจ จากกรณีการต่อสู้ของแรงงานโฮย่า กลาสดิสค์ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน, ประชาไท, 18/12/2550


คนงานโฮยาชุมนุมหนที่ 3 - ทำพิธีสู่ขวัญเสริมกำลังใจ - รอฟังผลเจรจา, ประชาไท, 20/12/255


จดหมายจากพนักงานโฮย่า: บันทึกหนึ่งของการชุมนุม, ประชาไท, 20/12/2550


เครือข่ายปชช.เหนือ จม.เปิดผนึกสนับสนุนข้อเรียกร้องคนงานโฮยา กลาสดิสด์(ประเทศไทย) - ประชาไท, 25/12/2550


คนงานลำพูนชุมนุม รอบ 4 ร้องนายจ้างปรับปรุงสภาพการจ้างงาน, ประชาไท, 26/12/2550


คนงานโฮย่าชุมนุมครั้งที่ 5 เจรจายืดเยื้อถึงเที่ยงคืน, ประชาไท, 11/12/2551


คนงานโฮยา จ.ลำพูน ประกาศตั้งสหภาพแรงงานแห่งที่สองในภาคเหนือ, ประชาไท, 18/12/2551


กำลังใจเพื่อสหภาพแรงงานแห่งที่สองของภาคเหนือ: "เราเป็นคน ไม่ใช่แค่ปัจจัยการผลิต", ประชาไท , 21/1/2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net