Skip to main content
sharethis

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย


คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ


 


 


ความเบื้องต้น


หลังจากการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของ 5 พรรคพันธมิตรทางการเมืองในวันเสาร์ที่ 19 ที่ผ่านมา คำถามที่ว่าใครจะเป็นนายกฯ คนต่อไปก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยและถกเถียงกันอย่างหนาหูจนกระทั่งทำให้เกิดวิวาทะกันขึ้น


 


อย่างไรก็ดี ท่ามกลางข้อถกเถียงดังกล่าวนั้น ก็รวมถึงข้อกล่าวหาที่ถูกเสนอโดยกลุ่มสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนักวิชาการบางกลุ่มว่า นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนไม่สามารถถูกเสนอชื่อเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทยได้ เนื่องจากว่า นายสมัคร ถูกฟ้องในคดีหมิ่นประมาทซึ่งกระทำต่อ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันที่ 12 เมษายน ให้จำคุก นายสมัคร เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา จากข้อเท็จจริงนี้ส่งผลให้ นายสมัคร ขาดคุณสมบัติของการเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 174 (5)


 


ในขณะที่บางกลุ่มบุคคลนั้นกลับมีแนวคิดที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ มีความเห็นว่า แม้ว่านายสมัครจะถูกพิพากษาในคดีดังกล่าว แต่คำพิพากษาของศาลยังไม่ถึงที่สุด หากแต่เป็นเพียงแค่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเท่านั้น อีกทั้ง ณ ขณะนี้นายสมัครก็ได้ดำเนินการประกันตัวและยื่นอุทธรณ์เพื่อต่อสู้คดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น นายสมัครจึงยังไม่ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 174 (5) แต่อย่างใด


 


อย่างไรก็ตาม กรณีจะสรุปว่านายสมัครจะขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามข้อกล่าวอ้างข้างต้นหรือไม่นั้น จำต้องมีการพิจารณา 2 ประเด็นหลักๆ ด้วยกันคือ บุคคลนั้นๆ มีคุณสมบัติก่อนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ประเด็นหนึ่ง และมีคุณสมบัติในระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญได้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากรณีข้างต้นไว้ในมาตรา 102, 106, 174 และ 182


 


 


ประเด็นที่ 1 สถานภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร


รัฐธรรมนูญบัญญัติโดยชัดแจ้งในมาตรา 171 ว่า บุคคลใดจะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเบื้องต้นนั้นจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตามข้อเท็จจริงไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ว่านายสมัครนั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ดังนั้น จึงจำต้องมีการพิจารณาในประเด็นที่ว่า นายสมัคร ถือได้ว่าขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ เมื่อปรากฏว่ามีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยพิจารณาจากมาตรา 102 (5) อันกล่าวถึงคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมาตรา 106 (11) ซึ่งส่งผลให้สถานภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง


 


ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 (5) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า หากผู้ใด "เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง" ผู้นั้นถือได้ว่าเป็นบุคคลต้องห้ามในการลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่อย่างไรก็ตาม หากความผิดดังกล่าวเป็น "ความผิดอันได้กระทำโดยหมิ่นประมาทหรือความผิดลหุโทษ" ถือเป็นข้อยกเว้น กล่าวคือ แม้ปรากฏว่าบุคคลนั้นๆ เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกและพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้งก็ตาม บุคคลดังกล่าวก็ไม่ถือว่ามีลักษณะต้องห้ามตามมาตรานี้แต่อย่างใด


 


วลีที่ว่า "เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง" ในมาตรา 102 (5) นี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดด้วยตัวเองอยู่แล้วว่า มิอาจที่จะตีความเป็นอย่างอื่นได้เลยนอกจากหมายถึง "การจำคุกจริง" กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การตีความกรณีดังกล่าว ต้องเป็นการตีความกฎหมายโดยใช้หลัก Plain Meaning Rule หรือที่เรียกว่า "หลักการตีความตามตัวอักษรที่ปรากฏ" เนื่องจากว่าตัวกฎหมายซึ่ง ณ ที่นี้คือ รัฐธรรมนูญนั้น มีการบัญญัติไว้โดยชัดเจนในตัวอยู่แล้ว สิ่งที่ยืนยันว่าวลีที่ว่า "เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก" หมายถึง การจำคุกจริงโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุดจึงจะทำให้บุคคลนั้นๆ ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 102 (5) คือ บริบทแวดล้อมที่ว่า "โดยพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง" อันแสดงให้เห็นว่าหากไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกจริงแล้ว จะนับระยะเวลาการพ้นโทษอย่างไร และบอกได้ว่าเป็นการพ้นโทษที่ยังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้งอันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากจะตีความคำว่า "เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก" ให้หมายความเพียงแต่มีคำพิพากษาให้จำคุก โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการจำคุกจริงและไม่จำเป็นต้องถึงที่สุดนั้น จึงเป็นการตีความที่ก่อให้เกิดผลที่แปลกประหลาด เป็นการตีความที่ไม่อยู่บนหลักเหตุและผลหรือตรรกะ อีกทั้งไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด


 


ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ในกรณีของนายสมัคร ที่ถูกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้จำคุก 2 ปี ในวันที่ 12 เมษายน นั้น จึงไม่ส่งผลให้นายสมัคร ขาดคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนแต่อย่างใด เนื่องด้วยนายสมัครยังมิได้ต้องคำพิพากษาให้ถึงที่สุดให้ต้องจำคุกจริง หากแต่ยังคงอยู่ในระหว่างการต่อสู้ทางคดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกาจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 102 (5)


 


อย่างไรก็ตาม กรณีตามมาตรา 106 (11) อันเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยเรื่องของคุณสมบัติต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างการดำรงตำแหน่งอันส่งผลให้สถานภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดนั้น ในกรณีของนายสมัครไม่จำต้องพิจารณา ณ. ขณะนี้ เนื่องจากคดีของนายสมัครนั้นยังไม่ถึงที่สุดนั่นเอง


 


 


ประเด็นที่ 2 คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี


เมื่อปรากฏว่าบุคคลใดๆ มีคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและได้รับเลือกอีกทั้งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ดำรงตำเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นๆ ย่อมมีสิทธิถูกเสนอชื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบว่าสมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ


 


อย่างไรก็ดี ก็มิได้หมายความว่าบุคคลทุกคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วจะสามารถถูกเสนอชื่อเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หากแต่สมาชิกดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติที่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยหลักเกณฑ์ที่มีการกำหนดไว้นั้นมีกรอบความคิดที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับกรณีของคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ รัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติก่อนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้กรณีหนึ่ง และคุณสมบัติในระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้อีกกรณีหนึ่ง


 


ตามข้อกล่าวหาของกลุ่มสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนักวิชาการบางกลุ่ม อันแม้กระทั่งนักนิติศาสตร์เองบางท่าน ที่ว่านายสมัคร สุนทรเวช นั้นขาดคุณสมบัติในการถูกเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนื่องมาจากสาเหตุที่ว่า นายสมัคร ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอการลงอาญา ถือเป็นกรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 174 (5) ซึ่งวางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต้อง "ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง" โดยมีการตีความบริบทรัฐธรรมนูญนี้ว่าเพียงแค่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกคำพิพากษาให้จำคุก แม้คำพิพากษานั้นจะไม่ถึงที่สุดก็ตาม ก็ถือว่าต้องด้วยมาตรา 174 (5) อันมีผลให้บุคคลดังกล่าวขาดคุณสมบัติในการที่จะถูกเสนอชื่อเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นรัฐมนตรี หรือ นายกรัฐมนตรี (candidate) กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เพียงแค่มีคำพิพากษาให้จำคุกโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าเป็นการจำคุกจริงหรือไม่ ถึงที่สุดหรือไม่ ก็ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นมิอาจดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้แล้วนั่นเอง


 


การตีความในทำนองดังกล่าวมาข้างต้นนี้ ถือได้ว่าเป็นการตีความที่ไม่เป็นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง หากแต่เป็นการตีความที่ผิดพลาด หรือ แม้แต่เป็นการตีความเพื่อขยายซึ่งขอบเขตของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อันมิได้เป็นการกระทำไปเพื่อขยายขอบเขตการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งถือได้ว่าเป็นการผิดพลาดอย่างร้ายแรงสำหรับการตีความรัฐธรรมนูญและการตีความในประเทศที่มีระบบสกุลกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร (Civil Law System) อย่างเห็นได้ชัดเจนจนทำให้เกิดผลอันแปลกประหลาดเกิดขึ้น


 


กล่าวคือ หากสังเกตอย่างถ้วนถี่แล้วจะเห็นได้ว่า ถ้อยคำที่รัฐธรรรมนูญมาตรา 174 (5) ใช้นั้น เป็นถ้อยคำเดียวกันกับที่รัฐธรรรมนูญใช้ในมาตรา 102 (5) ว่าด้วยเรื่องคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น วิธีการตีความจึงเป็นไปตามที่ได้วิเคราะห์ไปแล้วข้างต้นในเรื่องของการพิจารณาคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีเหตุผลกลใด หรือมีบริบทใกล้เคียงใดๆ ที่จะทำให้มีการตีความที่ผิดแผกแตกต่างไปจากการตีความตามมาตรา 102 (5) แต่อย่างใด เมื่อมาตรา 174 (5) บัญญัติคุณสมบัติก่อนเข้ารับตำแหน่งของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าต้อง "ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง" จึงหมายถึง ผู้นั้นต้องไม่เคยถูกคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกจริงเท่านั้น เพื่อที่จะได้สามารถนับเวลาของการพ้นโทษตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้ หาได้มีความหมายเป็นอย่างอื่นไม่


 


กรณีหากท้ายที่สุดแล้วนายสมัครถูกเสนอชื่อต่อสภาผู้แทนราษฎรและได้รับการรับรองโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคสอง และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งอันมีผลทำให้นายสมัครได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การดังกล่าวจึงอาจจะต้องพิจารณาต่อไปว่า นายสมัครนั้นมีลักษณะต้องห้ามตามในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมได้กำหนดไว้ในมาตรา 182 (3) หรือไม่


 


ตามมาตรา 182 (3) กำหนดว่า หากปรากฏข้อเท็จจริงที่ว่าในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี บุคคลนั้น "ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิด" ให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แต่ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้ว่า แม้ว่าจะเป็นคำพิพากษาที่ยังไม่เป็นที่สุดให้จำคุกหรือมีการรอการลงโทษในความผิดนั้น แต่ถ้าเป็นความผิดที่เกิดจาก "กระทำการโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท" คำพิพากษาดังกล่าวไม่ส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง


 


ดังนั้น ในกรณีของนายสมัครซึ่ง ณ ปัจจุบัน ได้ดำเนินการอุทธรณ์เพื่อต่อสู้คดีที่ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ จึงหาได้ส่งผลกระทบต่อสถานภาพความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมัครไม่ กล่าวคือ แม้จะเป็นคำพิพากษาให้จำคุกที่ยังไม่ถึงที่สุดและไม่มีการรอการลงโทษ แต่กรณีเป็นคดีหมิ่นประมาทอันเป็นคดีที่ได้รับการยกเว้นตามรัฐธรรมนูญนั่นเอง


 


 


บทสรุป


จากการวิเคราะห์ตัวบทรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งหลักการตีความที่เหมาะสมแล้ว จะเห็นได้ว่าคดีหมิ่นประมาทของนายสมัคร สุนทรเวช มิได้ส่งผลกระทบในเรื่องของการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนักวิชาการบางกลุ่มกล่าวแต่อย่างใด


 


ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าในอนาคต ปรากฏว่าเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนความในคดีหมิ่นประมาทของนายสมัครดังกล่าวในชั้นศาลฎีกา อันถือว่าคดีเป็นที่สุดแล้วว่า นายสมัครกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทจริงและมีคำพิพากษาให้จำคุกโดยไม่รอการลงโทษก็ตาม นายสมัครก็ยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ เนื่องจากกรณีนี้เข้าข้อยกเว้นมาตรามาตรา 182 (3) เพราะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายสมัครอาจไม่ค่อยราบรื่นนัก ทั้งนี้ เนื่องมาจากคดีความอื่นของนายสมัครที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ขณะนี้ และจะถูกส่งต่อไปยังคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. เมื่อ คตส. สิ้นสภาพลง คดีดังกล่าวคือ คดีทุจริตการจัดซื้อเรือและรถดับเพลิงของกรุงเทพมหานครฯ ซึ่งนายสมัครถูกกล่าวหาว่าเข้าไปมีส่วนร่วมในกรณีดังกล่าวด้วย โดยคดีนี้ หาได้เป็นคดีจำพวกที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นข้อยกเว้นอย่างคดีที่กระทำโดยประมาท เป็นความผิดลหุโทษ หรือเป็นคดีหมิ่นประมาทไม่ ดังนั้น หากศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกเมื่อใด นายสมัครก็จะสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีไปตามมาตรา 182 (3) ของรัฐธรรมนูญ โดยมิพักต้องพิจารณาถึงเรื่องความเป็นที่สุดของคดีหรือไม่ หรือมีการรอการลงโทษหรือไม่ก็ตามนั่นเอง


 


 


 


บทความที่เกี่ยวข้อง :


บทความ : ทำไมคุณสมัคร สุนทรเวช จะเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ?


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net