Skip to main content
sharethis

26 มกราคม 2551 เว็บไซต์ไทยโพสต์ ได้รายงานความเห็นของนักวิชาการที่มีต่อกรณี พิพาทเรื่องเขาพระวิหารที่กัมพูชาชิงเสนอให้เป็นมรดกโลก โดยนายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โดยมารยาททางการทูตแล้ว กระทรวงการต่างประเทศควรเป็นฝ่ายเจรจาด้วยวิธีทางการทูต ดีกว่าให้ทหารออกมาพูด และฝ่ายตัวแทนประเทศไทยในยูเนสโกก็ควรเช็กหาต้นตอและแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้ เพราะหากให้บุคคลในฝ่ายทางการไทยแสดงท่าทีแข็งกร้าว ก็จะส่งผลไม่ดีทั้งต่อเรื่องภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ที่เดิมทีไทยก็ถูกมองว่ามีปัญหากับเพื่อนบ้านอยู่แล้ว



"เรื่องดังกล่าวจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ปลุกกระแสชาตินิยมทั้งสองฝ่าย ไทยและกัมพูชา จนอาจจะเกิดสถานการณ์ความวุ่นวายที่ไม่สามารถควบคุมได้เหมือนการเผาสถานทูตไทยในประเทศกัมพูชาเมื่อปี 2546 อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยควรคำนึงด้วยเรื่องอาจถูกกล่าวหาว่าไม่เคารพต่อคำพิพากษาของศาลโลก ที่เคยพิพากษาให้ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของปราสาทบนเขาพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชา"


"ผมไม่อยากให้คนไทยเข้าใจผิดว่าเรากำลังจะถูกแย่งดินแดน ซึ่งเรื่องนี้ศาลโลกเคยวินิจฉัยและมีมติ 9 ต่อ 3 ให้รัฐบาลกัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน อันเป็นที่ตั้งของปราสาทบนเขาพระวิหาร และมีมติ 7 ต่อ 5 ให้ฝ่ายไทยคืนวัตถุโบราณที่มีการเคลื่อนย้าย จะเห็นได้ว่าทั้งสองเรื่องไม่ได้พิพากษาให้ฝ่ายไทย เพียงแต่ทางขึ้นไปปราสาทอยู่ในเขตไทย" นายประสิทธิ์กล่าว



อาจารย์ผู้นี้กล่าวว่า ประเทศไทยและกัมพูชามีข้อพิพาทเรื่องการปักปันเขตแดนกันอยู่แล้ว เนื่องจากเขตแดนที่มีอยู่นั้นเบลอ ไม่ชัดเจน หากไม่เจรจาด้วยวิธีทางการทูต ก็จะกระทบกระทั่งเรื่องศักดิ์ศรีและผลประโยชน์เป็นเรื่องใหญ่โตต่อไป



ด้านนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงกรณีข่าวความขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหารว่า ท่าทีของฝ่ายไทยต่อกรณีดังกล่าวเป็นท่าทีที่แข็งกร้าวจนเกินไป ทำให้เรื่องซึ่งน่าจะเป็นเรื่องการมีส่วนร่วมจับเข่าคุยกัน จะกลายเป็นเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว เหมือนการก่อเหตุเผาสถานทูตไทยในประเทศกัมพูชาเมื่อปี 2546



"ฝ่ายไทยเป็นประเทศใหญ่และแข็งแรง ต้องสุขุมและใช้สติปัญญามากกว่านี้ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการบริหารจัดการ ไม่ใช่ปัญหาระหว่างประเทศ และเรื่องมรดกโลกก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยว การมีส่วนร่วม ถ้ามีปัญหาอะไรก็ต้องคุยเป็นการภายใน ไม่ใช่ทำให้เป็นเรื่องใหญ่โต รัฐบาลไทยจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก เราไม่ควรไปยุ่งกับเขามาก อย่าลืมว่าทั้งในทางประวัติศาสตร์และในทางนิติศาสตร์ ฝ่ายไทยต้องยอมรับว่าตัวปราสาทเขาพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชา ตามคำพิพากษาของศาลโลกในปี 2505 ด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียงให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ส่วนไทยเรามีสิทธิ์เพียงในส่วนที่เป็นเขตอุทยานซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ติดกัน" นายชาญวิทย์กล่าว



ขณะที่นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ต้องพิจารณาว่าในทางการเมืองระหว่างประเทศ ไทยเราจะเลือกระหว่างไมตรีกับประเทศกัมพูชา หรือจะเลือกเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองของพลังชาตินิยมในกัมพูชา เพราะเขาพระวิหารคือหนึ่งในสัญลักษณ์ความภาคภูมิใจในความเป็นชาติอันเก่าแก่ของกัมพูชา เปรียบเทียบได้กับภาพพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่ปรากฏในเหรียญบาทไทย กับภาพเขาพระวิหารซึ่งปรากฏในธนบัตรของกัมพูชาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ควรตกเป็นเบี้ยในเกมการเมืองของกัมพูชา แต่ควรจะเป็นผู้กำหนดเกมความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรต่อกันมากกว่า



นายธำรงศักดิ์กล่าวต่อว่า หากฝ่ายไทยทำให้คนอื่นคิดว่าเราขัดขวางไม่ให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ก็จะถูกมองว่าไทยดำเนินนโยบายอย่างไม่ฉลาด เพราะหากปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกจริงก็ทำให้ไทยมีปัจจัยเอื้อประโยชน์ทั้งทางด้านการตลาดและทางด้านการท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ



 


…………………………………………………………


ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net