Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 51 เวลาประมาณ 08.45 . เจ้าหน้าที่ ทหารเฉพาะกิจ 11 (ฉก. 11) เข้าตรวจค้น และจับกุมนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และสถาบันพลศึกษา วิทยาเขตยะลา จำนวน 7 คน นักศึกษาทั้งหมดประกอบด้วย นายกุยิ อีแต คณะกรรมการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา (สยล.) นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา นายอามีซี มานาก อายุ 22 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา นายอับดุลเลาะ ดอเลาะ อายุ 23 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา นายฮัสมาดี ประดู่ อายุ 23 ปี ปัจจุบันกำลังทำงาน นายฮัซมัน เจ๊ะยอ  ปัจจุบันกำลังทำงาน นายอิสมาแอล เตะ อายุ 22 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และนายอาหามะ บาดง 22ปี นักศึกษาสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตยะลา


 


ทั้งนี้ นักศึกษาทั้งหมดพักอยู่ร่วมกันในหอพักนักศึกษาย่านถนนฝั่งธนวิธี ขณะที่นักศึกษากลุ่มดังกล่าวกำลังเตรียมตัวไปเล่นฟุตบอลต้านยาเสพติด พงยาวีคัพ ในช่วงเช้า มีเจ้าหน้าที่ทหาร ฉก.11 ซึ่งตั้งค่ายอยู่ใกล้โรงเรียนพาณิชยการยะลา แต่งกายด้วยชุดนอกเครื่องแบบ เข้าไปตรวจค้นและจับกุมนักศึกษาทั้ง 7 คนในหอพัก โดยอ้างอำนาจตามกฏอัยการศึก


 


จากการเข้าจับกุมในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำการยึดคอมพิวเตอร์ 1ตัว  คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง โทรศัพมือถีอ 7 เครื่อง และกล้องถ่ายรูป 1 ตัว จากนั้นเจ้าที่ทหารได้พาไปสอบสวน ณ ฐานที่ตั้งฉก.11 ใกล้โรงเรียนเทคนิคพาณิชยการยะลา โดยนักศึกษาทั้งหมดถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับขบวนการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน นักศึกษาทั้ง 7 คน ถูกนำตัวส่งไปที่ ค่าย อิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี แล้ว


และ กำลังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไป


 


นักศึกษากลุ่มดังกล่าว ยังเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)ซึ่งทาง สนนท. ตั้งข้อสังเกตุประการหนึ่งว่า ข้ออ้างของการเข้าตรวจค้นไม่มีน้ำหนักพอ เพราะเนื่องจากเมื่อมีการตรวจค้นแล้วไม่พบหลักฐานใดๆในการกระทำความผิดดังข้ออกล่าวหา จึงน่าที่จะแสดงถึงความบริสุทธิ์ของนักศึกษากลุ่มดังกล่าวและไม่ควรมีการจับกุมใดๆเกิดขึ้น


 


ทาง สนนท. คาดว่าเหตุผลของการจับกุมในครั้งนี้น่าจะมาจากการที่นักศึกษากลุ่มดังกล่าวทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มายาวนานมากว่า 4ปี โดยนักศึกษากลุ่มดังกล่าวได้เคยลงพื้นที่เพื่อทำการจัดอบรมกฏหมายให้กับชาวบ้านในเรื่องของกฏหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ครั้งสุดท้ายคือวันที่ 8-21 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะป็นชนวนเหตุให้ทางภาครัฐไม่พอใจและตั้งข้อสงสัยต่อการทำงานของนักศึกษากลุ่มนี้ก็เป็นได้


 


ด้านนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ คณะทำงานศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดยะลา กล่าวว่า นักศึกษาจาก สนนท. และ สยล. ที่ทำกิจกรรมร่วมกับนักศึกษากลุ่มที่ถูกจับได้มาปรึกษาเมื่อวันที่ 27 ม.ค. โดยระบุว่ามีนักศึกษา 7 คน  ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวโดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ซึ่งทางญาติต้องการรู้ว่าควบคุมตัวไว้ที่ไหน และมีความกังวลเรื่องอาจมีการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัว


 


ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ออกมาโดย พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่า ไม่สามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้ใน 3 วันแรก และเนื่องจากยังไม่ใช่ผู้ต้องหาจึงไม่สามารถพบทนายได้ รวมไปถึงการห้ามนำขังในเรือนจำหรือโรงพัก หลังถูกจับทั้ง 7 คน ถูกควบคุมตัวที่ ฉก. 11 ซึ่งมีการเกรงกันว่าระหว่างนั้นอาจจะควบคุมอารมณ์กันไม่ได้ เพราะห่างตาของผู้บังคับบัญชา จึงแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชา ฉก.11 เพื่อทำให้รู้ว่ามีการติดตามอยู่ และผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้อยู่โดยลำพัง


 


"ได้คุยกับผู้บังคับบัญชา ฉก. 11 เพื่อสอบถามว่าผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน ท่านบอกว่าใช้อำนาจตามกฎหมาย และได้ส่งตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหารแล้ว ท่านบอกว่ามั่นใจได้ว่าจะไม่ทำอะไร" นายอาดิลันกล่าว


 


นายอาดิลัน ยังเล่าเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวทั้ง 7 คนให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้มีผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นรุ่นพี่ของนักศึกษากลุ่มดังกล่าวและไปมาหาสู่กันเสมอที่หอพักของทั้ง 7 คนได้หายตัวไป แต่ก่อนการบุกค้นหอกลับมีโทรศัพท์จากรุ่นพี่คนดังกล่าวโทรเข้ามาถามว่าทุกคนอยู่ไหน นักศึกษาคนที่รับโทรศัพท์เดินออกมาคุยข้างนอกและบอกว่าทุกคนอยู่ในหอ จากนั้นไม่นานจึงถูกเข้าควบคุมตัว ส่วนคนที่ออกมาโทรศัพท์เนื่องจากออกมาข้างนอกจึงไม่ถูกคุมตัวไปด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อให้ติดต่อไปยังชายรุ่นพี่คนเดิมอีกครั้งกลับติดต่อไม่ได้ เนื่องจากที่ชายรุ่นพี่หายตัวไปก่อนหน้านั้นถูกควบคุมตัวอยู่ก่อนแล้ว และคงเป็นการขยายผลต่อมา


 


นักศึกษากลุ่มที่ถูกจับกุมเป็นที่ทำงานร่วมกับศูนย์ทนายความมุสลิมด้วย โดยออกไปให้ความรู้กับชาวบ้านบางครั้งก็ขอให้ทนายความจากทางศูนย์ทนายความมุสลิมไปเป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับกฎหมายเฉพาะใน 3 จังหวัดภาคใต้ เช่น กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร


 


ล่าสุดทั้งหมดยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร และทางศูนย์ทนายความมุสลิมได้ติดตามโดยตลอด แต่เวลานี้กระบวนการทางทนายความยังไม่สามารถเข้าไปได้ เว้นแต่มีข้อมูลในการยื่นต่อศาลว่ามีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ เพื่อให้ศาลเรียกหน่วยงานที่ทำการควบคุมตัวมาไต่สวนว่าจับในข้อหาอะไร หรือมีข้อสันนิษฐานในการเข้าควบคุมตัวอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net