Skip to main content
sharethis


สุเทพ วิไลเลิศ

 


 


 


24.00 น. ของคืนวันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ เป็นเหตุให้สถานีไอทีวีหรือทีไอทีวีต้องยุติการออกอากาศ พร้อมกับการเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หรือ สถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของไทย ภายใต้การดำเนินการขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย  เรียกโดยย่อว่า "ส.ส.ท." และใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "Thai Public Broadcasting Service" (TPBS)


 


การผลักดันให้เกิดทีวีสาธารณะแห่งแรกนี้เกิดจากกลุ่มนักวิชาการและองค์กรประชาชนจำนวนหนึ่งที่เล็งเห็นว่าสังคมไทยควรมีสื่อภาคบริการสาธารณะ โดยที่คนในสังคมไทยในวงกว้างยังขาดความรู้ความเข้าใจต่อบทบาทและการดำเนินการของสื่อสาธารณะ แต่อย่างไรก็ตาม ถือเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันให้มีกฎหมายรองรับ แม้ว่าการผลักดันดังกล่าวท้ายสุดจะไปผูกโยงเข้ากับการยึดคืนสัมปทานของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีก็ตาม


 


ประเด็นสำคัญหลังจากการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวจำนวน 5 ท่าน มาเป็นผู้ดำเนินการในระยะแรก คือการผลักดันให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้เดินไปได้ตามแนวทางของสื่อสาธารณะและตามกรอบของกฎหมาย และสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นควบคู่กัน คือกระบวนการสรรหาคณะกรรมการนโยบาย จำนวน 9 คน


 


เมื่อเกิดสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกขึ้นท่ามกลางสภาวการณ์ที่ต้องการการส่งเสริมและประคับประคองไปสู่เป้าหมายของการมีสื่อบริการสาธารณะ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือความเข้าใจต่อการมีสื่อสาธารณะของคนทั่วไป เมื่อแนวคิดของสื่อสาธารณะมิได้มองผู้รับสื่อเป็นผู้บริโภค แต่มองในฐานะพลเมืองที่ต้องได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง มีความสมดุลและมีเนื้อหาหลากหลายตอบสนองต่อความเป็นประชาชนพลเมือง


 


ประเด็นแรก สิ่งที่ต้องสร้างคือความเป็นอิสระของห้องข่าวที่ต้องสามารถเลือกสรรประเด็นและนำเสนอเนื้อหาข่าวได้อย่างมีอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงทั้งจากรัฐและทุน นักข่าวสามารถกำหนดวาระข่าวได้โดยอิสระและไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันใดๆ เพื่อสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นผลกระทบที่จะเกิดจากนโยบายของรัฐบาลก็ตาม เพราะประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีเรื่องราวมากมายที่ต้องให้สาธารณะรับรู้และถกเถียงหาจุดร่วม เช่น กรณีแนวคิดการเพิ่มพลังงานในประเทศ ซึ่งทำให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ด้วย


 


ความเป็นอิสระของห้องข่าวจึงเป็นหัวใจสำคัญของการทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบทั้งต่อตนเองและสังคม


 


ประเด็นที่สอง คือการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อสาธารณะในทุกระดับ ซึ่งจะนำมาสู่ความรู้สึกที่เป็นเจ้าของ เพราะหากประชาชนหรือคนในสังคมขาดความรู้สึกดังกล่าว จะเป็นผลให้เมื่อเกิดการแทรกแซงการดำเนินงานประชาชนก็ย่อมต้องออกมาปกป้อง ซึ่งในกรณีดังกล่าวเป็นสิ่งที่สถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งนี้ต้องเผชิญเป็นแน่ บทบาทของประชาชนต่อสื่อสาธารณะจึงต้องกว้างไกลกว่าการเป็นแค่สภาผู้ชมที่มีหน้าที่เสนอแนะความคิดเห็นและกำหนดทิศทางเนื้อหารายการ


 


แต่ยังต้องรวมไปถึงบทบาทที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตรายการเพื่อสื่อสารเรื่องราวของตนเอง ในแง่นี้จึงเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ในฐานะเจ้าของโดยตรง ซึ่งต้องนับว่าเป็นสิ่งที่แตกต่างจากสถานีโทรทัศน์ของรัฐและสถานีโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ที่มีอยู่ในสังคมไทยขณะนี้เป็นอันมาก หากมีหลักประกันที่จะกำหนดว่าประชาชนมีช่วงเวลาในการเผยแพร่ข่าวสารหรือรายการของตนเองอย่างแน่นอนและชัดเจน คงทำให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ได้เดินไปถึงเป้าหมายของสื่อสาธารณะได้เร็ววันขึ้น


 


ประเด็นที่สาม คือการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในเชิงโครงสร้าง ทั้งการกำหนดทิศทาง การจัดการ การบริหารงาน ซึ่งเป็นหัวใจของการบริการสาธารณะที่มีประชาชนเป็นเจ้าของ ซึ่งหากเปิดโอกาสและช่องทางให้ประชาชนเข้าไปกำหนดทิศทางและการบริหารได้โดยตรง ย่อมพัฒนาไปสู่รูปแบบสื่อสาธารณะเต็มขั้นโดยที่ประชาชนสามารถจ่ายเงินทางตรงให้กับบริการสาธารณะแห่งนี้ได้เช่นเดียวกับสาธารณูปโภคอื่นๆ ตัวอย่างเช่นสถานีโทรทัศน์บีบีซี (British Broadcasting Corporation - BBC) ในประเทศอังกฤษ หรือ แปรตามตัวว่า บรรษัทการกระจายเสียงของอังกฤษ ที่มีประชาชนเป็นสมาชิกและจ่ายเงินรายปีให้แก่บีบีซี ทำให้สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโฆษณาหรือเงินของรัฐ กรณีดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกนี้ขึ้นตรงต่อประชาชน


 


แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ท้าทายในขณะนี้ซึ่งถือเป็นระยะเปลี่ยนผ่าน ถูกจับจ้องอยู่ที่การบริหารของคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวทั้ง 5 คน ที่จะนำพาสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งใหม่นี้ไปปลอดจากการแทรกแซงของรัฐบาลใหม่ รวมถึงนำพาความเข้าใจในความเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่ใช่สื่อของรัฐไปสู่ประชาชนในวงกว้าง


 


ส่วนกระบวนการสรรหาคณะกรรมการนโยบายต้องดำเนินไปควบคู่กับการตั้งหลักในก้าวแรกของสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ภายใต้กระบวนการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา จำนวน 15 คน ที่มาทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และองค์กรพัฒนาเอกชน โดยมีสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานธุรการในการสรรหา ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นภายใน 180 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด


 


ก้าวแรกสำหรับการตั้งหลักทีวีสาธารณะให้ถูกทาง และกระบวนการสรรหากรรมการนโยบายที่โปร่งใสและเป็นธรรม


 


ท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นฟูความเป็นประชาธิปไตยและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน จับตาดูว่าประชาชนจะอยู่ในบทบาทใดในเจตนารมณ์ของสื่อสาธารณะที่บังเกิดขึ้น .


 


 


 


 


 


 


หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ (แทบลอยด์) วันที่ 27 มกราคม 2551


http://www.thaipost.net/index.asp?bk=tabloid&post_date=27/Jan/2551&news_id=153684&cat_id=220400


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net