Skip to main content
sharethis

ค่ำคืนนี้ มื้อเย็นใต้แสงเทียนของเราจะแวะเวียนไปที่ไหนกันดี? บุฟเฟต์มังสวิรัติเพื่อสุขภาพ หรืออาหารทะเลสดๆ กลั้วคอด้วยไวน์ขาวดับกลิ่นคาวดี?

แต่ช้าก่อนสหาย! มามองดูการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมบนโลกใบเบี้ยวๆ บ้าๆ ใบนี้กันก่อน

ขณะที่ชนชั้นกลางกำลังเห่ออาหารชีวจิต-ชีวจ๊าบเพื่อสุขภาพ คนร่ำรวยกำลังเสาะแสวงหาอาหารแปลกๆ ประดับบารมี แต่คนจนกลับต้องถูกบังคับทางอ้อมให้กินดิน! อันเป็นเทรนด์ใหม่ของคนจนทั่วโลก

คุกกี้ที่ทำจากผงฝุ่น เกลือและผักอีกเล็กน้อย กลายเป็นอาหารหลักของคนยากจนในเฮติไปแล้ว (ที่มาภาพ: AP Photo/Ariana Cubillos)

คนจนไม่ได้กินแกลบ แต่กำลังกินดิน!

ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ทำให้คนยากจนชาวเฮติต้องหันมาบริโภคคุกกี้ที่ทำจากดินและกลายเป็นอาหารหลักไปด้วยซ้ำ

PORT-AU-PRINCE ประเทศเฮติ - เป็นเวลาอาหารกลางวันของคนจนส่วนใหญ่ในสลัมที่ยากจนที่สุดในประเทศ พวกเขาไม่สามารถที่จะหาอาหารได้สักจานมาประทังความหิวได้ และต้องบริโภคสิ่งที่เต็มไปด้วยความอันตราย เพื่อช่วยเติมเต็มความว่างเปล่าในกระเพาะอาหาร

ชาลีน (Charlene) สาวน้อยวัย 16 ขวบ พร้อมด้วยลูกชายวัย 1 เดือนของเธอต้องกินคุกกี้ที่ทำจากผงฝุ่นแห้งจากที่ราบสูงในตอนกลางของประเทศ

โคลนกลายเป็นอาหารที่มีค่ามากสำหรับสตรีมีครรภ์และเด็กๆ ในแถบนี้ เป็นทั้งยาลดกรดในกระเพาะอาหารและแคลเซี่ยม แต่ในหลายๆ แห่ง เช่นเมือง Cite Soleil เมืองสลัมใกล้ทะเล ที่ซึ่งชาลีนและลูกของเธอ รวมถึงครอบครัวซึ่งเป็นคนตกงานสองคนอาศัยอยู่ คุกกี้ที่ทำจากผงฝุ่น เกลือและผักอีกเล็กน้อย กลายเป็นอาหารหลัก

"เมื่อใดที่แม่ของฉันไม่สามารถทำอาหารอะไรได้ ฉันจะกินมันทั้งสามเวลา" ชาลีนกล่าว ส่วนลูกชายของเธอวูดสัน (Woodson) ก็มีน้ำหนักตัวน้อยผิดปกติเช่นเดียวกับเด็กทั่วไปที่นี่ --- แม้ว่าเธอจะชอบรสชาติเค็มๆ คล้ายเนยของมัน แต่บ่อยครั้งเจ้าคุกกี้นี่มันก็ทำให้เธอมีอาการปวดหัว

ปัจจุบัน ราคาอาหารทั่วโลกขยับตัวสูงขึ้น สืบเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การผลิตการขนส่งอาหารมีต้นทุนสูงขึ้นตามลำดับ และประเทศแถบคาริเบียนก็กำลังผจญกับปัญหาใหญ่ เนื่องจากในแถบนี้ต้องนำเข้าอาหารจากที่อื่นมากกว่า 40%

ประเทศแคริบเบียนต้องผจญกับปัญหาอุทกภัยเมื่อปีที่แล้ว อันเป็นช่วงที่มีพายุเฮอริเคนบ่อยครั้ง --- ซึ่งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ล่าสุดในการประชุมผู้นำในประเทศแถบนี้ ได้ตัดสินใจลดกำแพงภาษีอาหาร รวมถึงการขยายพื้นที่การเกษตรทดแทนการนำเข้า

ที่ตลาดในย่านสลัม La Saline ข้าวสองถ้วยมีราคาถึง 60 เซนต์ ขึ้นราคามาถึง 10 เซนต์จากเมื่อเดือนธันวาคม และขึ้นมาถึง 50เซนต์จากปีที่แล้ว ส่วน ถั่ว นม และผลไม้ ก็ขึ้นราคามาด้วย --- เช่นเดียวกันกับคุ้กกี้ผงฝุ่นของเรา เมื่อก่อนเงิน 1.5 ดอลลาร์สามารถอบเจ้าคุ้กกี้นี่ได้ถึง 100 ชิ้น แต่ปัจจุบันราคามันพุ่งสูงขึ้นไปเป็น 5 ดอลลาร์

ที่ราคา 5 เซนต์ต่อชิ้น ทำคุกกี้ผงฝุ่นกลายเป็นอาหารหลักของคนจนเฮติ --- ประมาณการกันว่า 80% ของชาวเฮติ ใช้เงินในการดำรงชีพต่อวันต่ำกว่า 2 ดอลลาร์ และเศรษฐกิจของประเทศก็ถูกครอบงำโดยชนชั้นนำ

แต่คุกกี้ผงฝุ่นนี้โดยส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะในผงฝุ่นนั้นอุดมไปด้วยปรสิต (parasites) และสารพิษ (toxins) ที่สำคัญมันอาจส่งผลต่อเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา จากการศึกษาของศาสตราจารย์ เจอราร์ด กัลลาแฮน (Gerald N. Callahan) ผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาผลกระทบจากคนกินดิน แห่งมหาวิทยาลัย Colorado State

"ถ้าผมเห็นใครก็ตามกินคุกกี้เหล่านั้น มันทำให้ผมท้อแท้กับการมีชีวิตไปเลย" กัลลาแฮนกล่าว --- แต่สำหรับหมอในเฮติ กล่าวว่ามันคือการประทังชีวิตภายใต้ความเสี่ยง ในสถานการณ์ที่อาหารมีไม่พอเพียง

มารี โนเอล (Marie Noel) คุณแม่ลูก 7 วัย 40 ปี ขายคุกกี้นี้อยู่ในตลาด กล่าวว่าครอบครัวของเธอก็ประทังชีวิตด้วยเจ้าคุกกี้นี้เช่นเดียวกัน "ฉันหวังว่าสักวันเราจะมีอาหารกินอย่างพอเพียง เมื่อนั้นฉันคงหยุดกินเจ้าคุกกี้นี้แหละ ฉันรู้ดีว่ามันไม่ใช่อาหารที่ดีเท่าไหร่"

ทั่วโลกราคาอาหารขยับตัวสูงขึ้น

ไม่ใช่แค่เฮติที่กำลังเผชิญปัญหานี้ ...จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) พบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาอาหารทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากภาวะแห้งแล้งในพื้นที่การเกษตรของหลายประเทศที่เป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญ รวมถึงการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกที่ใช้ผลิตผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ 

FAO เปิดเผยว่า ในเวลานี้ประเทศยากจน 67 ชาติประสบปัญหาอาหารขาดแคลนอยู่ในขั้นวิกฤต นายฌ๊าค ดิยุฟ (Jacques Diouf) ผู้อำนวยการของ FAO เปิดเผยว่า หากประเทศร่ำรวยไม่ช่วยเหลือชาวนาในชาติยากจน จะทำให้ชาติยากจนได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่มีเงินงบประมาณในการซื้ออาหารหรือสินค้าการเกษตรราคาแพงจากต่างประเทศ

เงินกว่า 17 ล้านดอลลาร์ถูกนำไปช่วยเหลือประเทศยากจนกว่าห้าสิบประเทศอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ประเทศยากจนส่วนใหญ่มักจะผลิตอาหารเลี้ยงประชาชนไม่ไหว จึงต้องพึ่งการนำเข้าอาหารเป็นหลัก --- โดยเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปตั้งเป็นกองทุนสำหรับการออกคูปองเพื่อโครงการช่วยเหลือเกษตรกร สำหรับนำไปจ่ายเป็นค่าเมล็ดพันธุ์และค่าปุ๋ย

โดย FAO คาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากประเทศต่างๆ ต่อไปในอนาคต รวมถึงสนับสนุนแนวคิดการลงทุนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ในพื้นที่เพาะปลูกอันเป็นชนบทของในแต่ละประเทศ เพื่อให้มีการกระตุ้นครั้งใหญ่ สำหรับการผลิตและการจัดหาอาหารให้ประเทศยากจน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินสำหรับการนำเข้าอาหารได้อีกทางหนึ่ง

ราคาที่สูงขึ้นของอาหารเกิดจากปริมาณสำรองอาหารโลกน้อยลง สืบเนื่องจากสองปัญหาของความไม่สมดุลในระบบธรรมชาติ คือปัญหาแห้งแล้งและอุทกภัยในพื้นที่การเกษตรเมื่อปี ค.ศ. 2007 รวมถึงราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นตาม และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรคนและสัตว์ในทวีปอเมริกาใต้และเอเชีย

รวมถึงการเพิ่มขึ้นของความต้องการผลิตผลทางการเกษตรของอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกทั้งหลาย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาอาหารที่ใช้ในการบริโภคโดยตรง --- เกษตรกรมักจะผลิตผลผลิตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมนี้ เพราะมีราคาดีกว่า

ส่วนการจัดสรรน้ำอย่างเพียงพอสำหรับพื้นที่การเกษตรในเขต sub-Saharan ของทวีปแอฟริกานั้นมีเพียง 4% เท่านั้น เทียบกับทวีปเอเชียที่มีเพียง 38% ทั้งนี้เกิดจากปริมาณน้ำฝนในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

FAO ให้ข้อมูลว่าความไม่พอใจจากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นเริ่มเกิดในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโมรอคโค และ เยเมน ในแถบแอฟริกาเหนือ อุซเบกิซสถาน ในเอเชียกลาง รวมถึง กีนิ มอริเตเนีย และเซเนกัล ในแถบแอฟริกาตะวันตก

 

ที่มา:
Poor Haitians resort to eating dirt (AP - January 30, 2008)
GLOBAL: Fund launched for poor countries struggling with high food prices (AlertNet - January 14,  2008)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net