Skip to main content
sharethis


วัส ติงสมิตร

น.บ., น.บ.ท., LL.M. (S.M.U.)


           


 


การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช ในครั้งนี้ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในปัญหาข้อกฎหมายตามมาว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่จะมีสิทธิได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นนายกรัฐมนตรีอะไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อห้ามเกี่ยวกับการถูกดำเนินคดีความ อีกทั้งมีปัญหาว่าจะมีมาตรการใดในการตรวจสอบการเข้าสู่ตำแหน่งสูงสุดในองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐฝ่ายบริหาร


 


ลักษณะต้องห้ามก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี


รัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ซึ่งรวมทั้งนายกรัฐมนตรีด้วยไว้หลายประการ ในส่วนที่เกี่ยวกับการถูกดำเนินคดีนั้น มีอยู่ 2 ข้อ คือ


 


(1) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล คำพิพากษาดังกล่าวย่อม หมายถึง คำพิพากษาของศาลไม่ว่าคดีจะถึงที่สุดแล้ว หรือศาลจะให้รอการลงโทษที่เราเรียกกันว่ารอลงอาญาหรือไม่ก็ตาม หากในขณะที่บุคคลผู้ถูกเสนอชื่อเพื่อขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล บุคคลนั้นจะต้องห้ามโดยรัฐธรรมนูญในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


 


(2) เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี ก่อนได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในกรณีนี้ โดยเนื้อความของข้อห้าม น่าจะหมายถึงคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วให้ลงโทษจำคุก เพราะถ้าเป็นคำพิพากษาที่ยังไม่ถึงที่สุด ก็จะไม่มีจุดเริ่มต้นในการนับการพ้นโทษตามจำนวนปีที่กำหนด และน่าจะหมายถึงคดีที่ศาลรอลงอาญาให้ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติแต่เพียงว่า บุคคลนั้นเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติว่า เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ซึ่งหมายถึงเข้าคุกจริงๆ ในกรณีเช่นนี้กำหนดเวลา 5 ปี น่าจะเริ่มนับตั้งแต่วันพ้นจากการรอลงอาญา


 


ในกรณีที่ (2) นี้ มีข้อยกเว้นอยู่ 2 ประการ ที่ไม่เข้าข่ายต้องห้าม คือ


ประการแรก ความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำไป เป็นความผิดที่กระทำโดยประมาท ไม่มีเจตนาในการกระทำความผิด


ประการหลัง ความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำไป เป็นความผิดลหุโทษ ซึ่งเป็นโทษเล็ก ๆ น้อย ๆ กล่าวคือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำคุกและปรับ


 


ลักษณะต้องห้ามเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว


เมื่อ ส.ส. คนใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ในระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี หากมีกรณีเกี่ยวกับคดีความ 2 ข้อ ดังต่อไปนี้ นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไป (ซึ่งทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย)


(1) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก หมายความว่า ระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก การพ้นจากตำแหน่งในกรณีนี้ไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด และแม้ศาลจะรอลงอาญาให้ นายกรัฐมนตรีก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไป


 


แต่กรณีนี้มีข้อยกเว้นที่นายกรัฐมนตรีไม่ต้องพ้นจากตำแหน่ง คือ กรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุด หรือรอลงอาญานั้น เป็นความผิดที่ได้กระทำไปโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งมีความหมาย 2 ประการ คือ


 


ประการแรก หากคดีความผิด 3 ประเภทดังกล่าว ( คือ ประมาท ลหุโทษ หรือฐานหมิ่นประมาท ) ถึงที่สุด ศาลให้ลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไป ( กล่าวโดยเฉพาะก็คือ แม้เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหากคดีถึงที่สุด ศาลลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา นายกรัฐมนตรีก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไป )


 


ประการหลัง หากเป็นคดีความผิดอื่นนอกจากความผิด 3 ประเภทดังกล่าว เช่น ทุจริตต่อหน้าที่ ทำร้ายร่างกาย หากศาลพิพากษาลงโทษจำคุกนายกรัฐมนตรีในระหว่างดำรงตำแหน่ง แม้คดียังไม่ถึงที่สุด และศาลรอลงอาญาให้ นายกรัฐมนตรีก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไป


 


(2) เคยต้องคดีอาญามาก่อน แม้ในระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรีจะไม่มีคำพิพากษาของศาลให้จำคุกนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า ขณะถูกแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ส.ส.คนนั้นต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก (แม้จะรอลงอาญา)โดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี ก่อนได้รับแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรีก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไป


 


ผู้มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอหรือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไป มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ


(1) ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา ( กรณี ส.ส. จะต้องไม่น้อยกว่า 48 คน ) มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธาน ส.ส. หรือ ประธาน ส.ว. แล้วแต่กรณี และประธาน ส.ส. หรือประธาน ส.ว. ที่ได้รับคำร้องต้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย


 


(2) คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( ก.ก.ต. ) มีสิทธิส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net