Skip to main content
sharethis

 


 


ไพรินทร์ เสาะสาย


โครงการทามมูล


 


สองฟากฝั่งของแม่น้ำมูน สายน้ำที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวการต่อสู้ของผู้คนตั้งแต่อดีตจวบปัจจุบัน ในความทรงจำของผู้คน หากเอ่ยถึง "แม่น้ำมูน" คล้ายปรากฏภาพของชาวนา ผู้ทุกข์ยากจากผลกระทบของเขื่อนขนาดใหญ่ ต้องหอบข้าวของ ออกมาเดินขบวน ถือธง ป้ายผ้า เรียกร้องให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เปิดเขื่อนและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนผุดขึ้นมาทันที


 


หากแท้จริงแล้ว แม่น้ำมูน คือ แม่น้ำที่ไหลหล่อเลี้ยงผู้คนนับล้านใน 6 จังหวัดภาคอีสาน ระยะทาง 640 กิโลเมตรของแม่น้ำมูนจากเทือกเขาภูละมั่ง นครราชสีมาถึงปากแม่น้ำมูนก่อนบรรจบกับแม่น้ำโขงนั้น เต็มไปด้วยผู้คน วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญของประเทศ และสองฟากฝั่งแม่น้ำนั้นยังเป็นพื้นที่อันอุดมไปด้วยตะกอนแม่น้ำ เกิดสังคมพืชสัตว์อันหลากหลาย ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า "บุ่งทาม" หรือ "ป่าทาม"


 


พวกเขาใช้มันในการทำไร่ ทำนา จับปลา เก็บเกี่ยวผลิตผลจากป่า แค่เฉพาะในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูนตอนกลาง สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เคยขึ้นทะเบียนเป็น "พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ" ไว้ถึง 1 ล้านไร่ อันเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่ชุ่มน้ำในภาคอีสาน


 


อย่างไรก็ตาม ในลุ่มน้ำมูนตอนกลางแห่งนี้ ชุมชนมีความพยายามในรักษาทรัพยากรของท้องถิ่นไว้อย่างเข้มแข็ง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่ชุมชน ทั้งแหล่งสมุนไพร เชื้อเพลิง และทำเลเลี้ยงสัตว์ ตัวอย่างหนึ่งก็คือ การอนุรักษ์ป่าทามชุมชนกุดเป่งแห่งตำบลยางคำ อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด


 


 


 


"ป่าทามชุมชนกุดเป่ง" เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือป่าทามริมฝั่งแม่น้ำมูน มีพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ เป็นเขตติดต่อระหว่างอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์, อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด ชาวบ้านเรียกชื่อว่า "กุดเป่ง "เพราะมีกุดธรรมชาติขนาดใหญ่อยู่กลางพื้นที่ป่าทามและสามารถระบายน้ำเข้า-ออกสู่แม่น้ำมูนได้ (เป่ง แปลว่า ระบาย) เดิมป่าทามกุดเป่งเป็นที่ทำเลพักสัตว์ช่วงฤดูน้ำหลากของชาวบ้านใน 4 หมู่บ้านคือ บ้านเหล่าข้าว ท่างาม ดอนจิก ดอนสำราญ โดยขึ้นทะเบียนเป็นที่พักสัตว์ของอำเภอสุวรรณภูมิเมื่อปี 2519 จำนวน 1,500 ไร่ ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันแต่ก็มีชาวบ้านเหล่าข้าว 4 ครอบครัวทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ชุมชนทั้ง 4 หมู่บ้านก็ยังเข้าไปใช้ประโยชน์ได้


 


ในยุคส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ พื้นที่ป่าทามสองฝั่งของแม่น้ำมูนถูกบุกเบิกเพื่อปลูกปอมากขึ้น เหลือเพียงป่ากุดเป่งแห่งเดียวที่ยังอุดมสมบูรณ์  จึงมีคนหมู่บ้านอื่นเข้ามาใช้ประโยชน์แบบล้างผลาญกว่าคนในท้องถิ่นเอง


 


แม่ผา กองธรรม ประธานคณะกรรมการป่าทามชุมชนกุดเป่ง เล่าว่า ด้วยสายตาอันยาวไกลของผู้นำชุมชนและชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน ที่คำนึงถึงลูกหลานในอนาคต จึงเห็นพ้องต้องกันที่จะดูแลรักษาป่าทามผืนนี้ไว้ และชาวบ้านเหล่าข้าว 4ครอบครัวยินดีเสียสละที่มีที่ทำกินในป่าทามแห่งนั้น เพื่อให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ร่วมกันของ 4 หมู่บ้าน พวกเราจึงได้จัดตั้งเป็น "ป่าอนุรักษ์ของ 4 หมู่บ้าน" เมื่อปี 2532 เป็นต้นมา


 


ชุมชนทั้ง 4 หมู่บ้านได้ร่วมกันสร้างกติกาในการใช้ประโยชน์ของชุมชนร่วมกัน เช่น ห้ามตัดไม้ถางป่าด้วยรถไถเพื่อทำไร่ทำนาโดยเด็ดขาด, ห้ามตัดไม้เผาถ่านทำฟืนโดยเด็ดขาดยกเว้นไม้ตาย และห้ามล่าสัตว์ป่า เช่น ไก่ป่า หรือกระต่าย เป็นต้น 


 


ด้าน พุฒ บุญเต็ม คณะกรรมการ แห่งบ้านดอนจิก ให้ข้อมูลว่า "ในพื้นที่เรามีการแบ่งเขตป่าออกเป็น พื้นที่อนุรักษ์จำนวน 1,900 ไร่ และเขตพื้นที่ใช้สอย 1,100 ไร่ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนมาแล้ว 2 ชุด ชุดแรกคือ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้าน 4 หมู่บ้าน" พร้อมทั้งเชิญตัวแทนครอบครัวที่ยินยอมออกมาจากป่าทามกุดเป่งมาเป็นกรรมการร่วมด้วย ชุดที่สองเป็นแกนนำชาวบ้านรุ่นใหม่และตัวแทนสมาชิก อบต.เป็นกรรมการร่วมด้วย


 


ขณะที่ พ่อเสงี่ยม วิสัชนาม คณะกรรมการป่าทามชุมชนกุดเป่ง แห่งบ้านเหล่าข้าว เล่าถึงการอนุรักษ์ป่าว่า การรวมตัวครั้งสำคัญของชุมชนทั้ง 4 หมู่บ้าน คือ การเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับการสัมปทานทรายของนายทุนที่ต้องการมาดูดทรายในเขตพื้นที่ป่าของชุมชนมาแล้ว 2 ครั้งเมื่อปี 2535 และ 2547 จนนายทุนไม่สามารถขอสัมปทานได้ อีกทั้งชาวบ้านในแถบนี้ยังได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล ทำให้ชาวบ้านเข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิ์กรณีเขื่อนราษีไศลมาตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราภูมิใจและสร้างความเชื่อมั่นของคนในชุมชนต่อการปกป้องฐานทรัพยากรท้องถิ่นแห่งนี้


 


ด้วยเหตุนี้ป่าทามชุมชนกุดเป่ง จึงยังถูกคุ้มครองรักษาไว้เป็นพื้นที่ส่วนรวมของชาวบ้าน 4 หมู่บ้านที่เข้าไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น เก็บผัก เก็บเห็ด ฟืน ปลา เลี้ยงสัตว์ หาไม้ใช้สอย แหล่งสมุนไพร เป็นต้น


 



 


เมื่อปี 2542-2545 ป่าทามกุดเป่งก็ได้พัฒนาให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การจัดการป่าทามโดยชุมชน โดยการสนับสนุนของหน่วยงานองค์กรพัฒนาเอกชน คือ มูลนิธิเพื่อการประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ (กริด) และโครงการทามมูล จ.สุรินทร์ ส่วนราชการคือ กองทุนสิ่งแวดล้อม, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกันเข้ามาสนับสนุนและเสริมสร้างศักยภาพของคณะกรรมการป่า เช่น จัดศึกษาดูงาน ฝึกอบรม ประเมินทรัพยากร จัดทำแผนที่ เป็นต้น


 


ป่าทามชุมชนกุดเป่งในวันนี้จึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่มีผู้คน นักวิชาการ องค์กรชาวบ้าน สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเรียนรู้ กระบวนการจัดการป่าทามชุมชนของชาวบ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ เป็นจุดศึกษาที่สำคัญของนักวิชาการ ในเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำของภาคอีสานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ จนถึงปัจจุบัน


 


นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาด้านการศึกษาวิจัยโดยชาวบ้าน ซึ่งมีสำนักงานสนับสนุนการวิจัยท้องถิ่น (ทุ่งกุลาร้องไห้) เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านได้ทำวิจัยในพื้นที่เรื่อง องค์ความรู้การจัดการป่าทามชุมชนลุ่มน้ำมูนตอนกลางและโครงการผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง เมื่อปี 2547-2548 และโครงการหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง ผักพื้นบ้าน -อาหารพื้นเมือง ของคณะครูโรงเรียนบ้านเหล่าข้าว กำลังอยู่ในช่วงดำเนินโครงการในขณะนี้


 


กว่า 17 ปีแล้ว ที่ชุมชนลุ่มน้ำมูนตอนกลางแห่งนี้ได้ร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่นมา ท่ามกลางการเผชิญหน้าและผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบทเรียนสำคัญของการจัดการป่าทามชุมชนกุดเป่ง คือ สร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรภายนอกพื้นที่ให้เข้ามาหนุนเสริมเพื่อให้ชุมชนเกิดศักยภาพและสร้างการยอมรับได้ทั้งในท้องถิ่นและสังคม   


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net