WTO Watch : เหตุใดการเจรจาสินค้าเกษตรจึงเป็นหัวใจของรอบโดฮา?

สุนทร ตันมันทอง

เอกสารข่าวจับกระแสองค์การการค้าโลก ฉบับที่ 2 มกราคม 2551

 

การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา (Doha Round) เริ่มต้นขึ้นในเดือนพ.ย.2544 ตามชื่อกรุงโดฮา เมืองหลวงของประเทศกาตาร์ อันเป็นสถานที่จัดการประชุมรัฐมนตรี (Ministerial Conference) ครั้งที่สี่ขององค์การการค้าโลก ประเทศสมาชิกเห็นพ้องกันให้เปิดการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบใหม่หลังจากรอบอุรุกวัยเสร็จสิ้นลงในปี ..2537 โดยกำหนดหลักการและเป้าหมายของการเจรจาเพื่อตอบสนองต่อ "ความจำเป็นและผลประโยชน์" ของประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก จนมีการขนานนามการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบปัจจุบันว่า "รอบแห่งการพัฒนา" (Doha Development Round)

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่ารอบโดฮาจะเดินทางเข้าสู่ปีที่หก แต่การเจรจาระหว่างประเทศสมาชิกยังคงไม่คืบหน้าตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตอนเปิดรอบเจรจา ประเด็นสำคัญที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ก็คือ การจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตร

 

การเจรจาเรื่องสินค้าเกษตรเป็นหัวใจของการเจรจาการค้ารอบโดฮา หากองค์การการค้าโลกวางหลักการและเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนา ประเด็นสำคัญที่จะต้องเจรจาเป็นลำดับแรกๆ ก็คือ สินค้าเกษตร ทั้งนี้เนื่องจากภาคเกษตรกรรมเป็นกลไกหลักในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและลดความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา ที่ผ่านมาภาคเกษตรกรรมในประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างร้ายกาจจากนโยบายการทุ่มตลาดสินค้าเกษตรของประเทศมหาอำนาจ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การอุดหนุนฝ้ายของสหรัฐฯที่ส่งผลต่อชาวไร่ฝ้ายในหลายๆประเทศโดยเฉพาะในอัฟริกา

 

ในการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัย (Uruguay Round) การเจรจาการค้าสินค้าเกษตรเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเคียงข้างการเจรจาการค้าสินค้าอุตสาหกรรม หลังจากประเทศกำลังพัฒนาจากซีกโลกใต้จำนวนมากรวมกลุ่มกันเพื่อต่อรองเรื่องสินค้าเกษตรกับประเทศพัฒนา จนกระทั่งบรรลุเป็นความตกลงว่าด้วยการเกษตร (Agreement on Agriculture) เมื่อมาถึง 'รอบแห่งการพัฒนา' ประเทศกำลังพัฒนาต่างคาดหวังให้มีการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรผ่านการจัดระเบียบการค้าพหุภาคีจากรอบโดฮา ในปฏิญญารัฐมนตรีโดฮา (Doha Ministerial Declaration) ก็ระบุถึงเป้าหมายในการสร้างระบบการค้าสินค้าเกษตรที่เสรีและเป็นธรรม อาทิ การกำหนดกฎกติกาที่เข้มแข็ง พันธกรณีในเรื่องการอุดหนุนเพื่อแก้ไขและป้องกันไม่ให้มีการจำกัดและบิดเบือนการค้าสินค้าเกษตรโลก รวมทั้งการให้ 'แต้มต่อ' แก่ประเทศกำลังพัฒนาไว้ในทุกประเด็นที่จะเจรจา กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่าง G-20 ยืนยันอย่างหนักแน่นมาตลอดว่า ความสำเร็จของรอบโดฮาขึ้นอยู่กับการเจรจาการค้าสินค้าเกษตรเป็นหลัก

 

บทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในการเจรจารอบโดฮาทำให้เรื่องสินค้าเกษตรกลายเป็นหัวข้อใหญ่บนโต๊ะเจรจา ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่อย่าง จีน บราซิล และอินเดีย รวมกลุ่มกันเป็นแกนหลักในกลุ่ม G-20 เพื่อเจรจาต่อรองเรื่องสินค้าเกษตรโดยเฉพาะ กลุ่ม G-20 พยายามยึดเอาเป้าหมายของการเจรจาสินค้าเกษตรในรอบโดฮามาเจรจาต่อรองกับประเทศมหาอำนาจอย่างชอบธรรม ในการเจรจาการค้าพหุภาคีนับตั้งแต่แกตต์ การเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรเป็นไปอย่างล่าช้า แตกต่างจากการเปิดเสรีสินค้าอุตสาหกรรม เหตุผลประการหนึ่งมาจากการครอบงำการเจรจาของประเทศมหาอำนาจที่ไม่ต้องการแข่งขันในสินค้าที่ตนไม่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบอย่างเสรีและเป็นธรรม

 

แต่ในการเจรจาการค้ารอบโดฮา ประเทศแกนกลางในกลุ่ม G-20 ทั้งสามประเทศต่างเป็นอำนาจใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นมาในโครงสร้างอำนาจในสังคมเศรษฐกิจโลก การสร้างระเบียบเศรษฐกิจในอนาคตจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศเหล่านี้มากกว่าในอดีต นั่นหมายถึงประเทศพัฒนาจำต้องต่อรองแลกเปลี่ยนกับข้อเรียกร้องร่วมกันจากประเทศเหล่านี้มากขึ้น ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ก็เริ่มเรียนรู้บทเรียนจากการเจรจาในอดีตและรวมกลุ่มกันตั้งข้อต่อรองกับประเทศมหาอำนาจมากขึ้น แม้ว่าบางกลุ่มจะยุบตัวลงไปหลังจากประเทศมหาอำนาจพยายามสลายกลุ่มและรักษาฐานะศูนย์กลางของตนในการเจรจาไว้

 

หากการเจรจาการค้ารอบโดฮาจะมีลมหายใจต่อไปกระทั่งคาดหวังไปสู่ความสำเร็จในอนาคต ประเด็นชี้ขาดจะอยู่ที่การเจรจาการค้าสินค้าเกษตร การเจรจาการค้ารอบโดฮาหยุดชะงักลงหลังจากประเทศสมาชิกชั้นนำจำนวนหนึ่งไม่สามารถตกลงกันในเรื่องการจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตรได้ ประเทศมหาอำนาจต้องการเจรจาเรื่องสินค้าเกษตรแบบธุรกิจทั่วไปที่คู่เจรจาจะต้องมีผลประโยชน์มาแลกเปลี่ยนกัน (Concession) โดยไม่มีหลักประกันที่แน่นอนว่า ผลประโยชน์จะเป็นของใครดังที่เป้าหมายของรอบโดฮากำหนดไว้ บรรยากาศในการเจรจาของประเทศสมาชิกชั้นนำไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป บราซิล อินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อาร์เจนตินา และแคนาดา ล้วนเป็นการโยนกลองให้แต่ละประเทศเสียสละในเรื่องสินค้าเกษตรเพื่อต่ออายุรอบโดฮาออกไป โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นประเทศที่จ่ายเงินอุดหนุนสินค้าเกษตรมากที่สุด ข้อเรียกร้องจากประเทศสมาชิกให้ทั้งสองประเทศลดการอุดหนุนการผลิตสินค้าเกษตรลงถูกต่อต้านจากการเมืองภายในอย่างหนัก นั่นทำให้อุปสรรคของการเจรจาการค้ารอบโดฮามาจากทั้งการเจรจาต่อรองในองค์การการค้าโลกและในรัฐสภาของทั้งสองประเทศ

 

การเจราการค้าสินค้าเกษตรควรเป็นหัวใจของการเจรจาการค้ารอบโดฮา การจัดระเบียบการค้าพหุภาคีควรผ่องถ่ายผลประโยชน์ไปสู่ประชากรที่กำลังประสบปัญหาความยากจนและหิวโหย แต่การคาดหวังในลักษณะนี้ดูท่าจะเป็นไปได้ยากในเมื่อประเทศที่ประชากรประสบปัญหาเหล่านี้ไม่มีอำนาจต่อรองในเวทีการค้าเจรจา ทั้งนี้อาจมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศยากจนเหล่านี้ไม่มีข้อเสนอมากพอที่จะไปแลกเปลี่ยนบนโต๊ะเจรจา.

 

 

             

--------------------------------------------------------

หมายเหตุ :


เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch) ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

เอกสารข่าว WTO Watch นำเสนอข่าวและบทวิเคราะห์เผยแพร่แก่สาธารณชนในหัวข้อดังต่อไปนี้ (1) องค์การการค้าโลก และการเจรจารอบโดฮา (2) ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (3) ข้อตกลงการค้าเสรี (4) การค้าโลก และ (5) ข้อพิพาทการค้า

เอกสารประกอบ

WTO Watch: ฉบับที่ 2 มกราคม 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท