นิสิตนักศึกษา ย้อนรัฐ เลิกทรมานผู้ต้องหา เลิกกฎอัยการศึก เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรื่อง การซ้อมทรมานนักศึกษาจังหวัดยะลาเพื่อให้รับสารภาพ ด้าน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) ก็ออกแถลงการณ์เรื่องการจับกุมนักศึกษาจังหวัดยะลา จุดยืนร่วมกัน ต่อต้านการทรมานผู้ต้องหา ยกเลิกกฎอัยการศึก และพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน

 

แถลงการณ์ของสนนท์ ระบุว่า จากกรณีที่นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา 6 คน นักศึกษาสถาบันการพลศึกษา 1 คน และพลเรือน 2 คน ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27-28 ม.ค.51 พร้อมทั้งมีรายงานการถูกซ้อมทรมานผู้ถูกคุมขังทั้งหมดเพื่อให้รับสารภาพนั้น ทาง สนนท. และองค์กรภาคี ได้รับแจ้งจากเพื่อนนักศึกษาในพื้นที่ว่า เวลา 24.00 น. โดยประมาณ ของคืนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา 4 คน และนักศึกษาสถาบันพละศึกษา 1 คน ได้รับการปล่อยตัวแล้ว

 

อย่างไรก็ดี สนนท.ยังคงยืนยันให้ภาครัฐและภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงการถูกซ้อมทรมานในระหว่างการถูกควบคุมตัวว่าหากมีการกระทำดังกล่าวจริง ก็ขอให้มีการดำเนินการทางกฎหมายอย่างยุติธรรม และไม่เพียงเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นเท่านั้น เพราะยังมีรายงานว่า มีการซ้อมทรมานประชาชนที่ถูกจับกุมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งพื้นที่ภาคอื่นๆ ของประเทศ อีกเป็นจำนวนมาก โดยที่กรณีเหล่านี้ไม่เคยปรากฏเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะแต่อย่างใด และยังไม่ได้รับคำชี้แจงใดๆ จากองค์กรของรัฐทุกส่วนที่มีหน้าที่รับผิดชอบ

 

สนนท. จึงเรียกร้องต่อภาครัฐและภาคประชาสังคม ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ จากบุคคลหลายฝ่าย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการซ้อมทรมาน นักศึกษา 7 คนและพลเรือน 2 คน ในจังหวัดยะลา หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกระทำเช่นนั้นจริง ภาครัฐต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ถูกซ้อมทรมานทั้งหมด และดำเนินคดีทางอาญาแก่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมาน รวมถึงผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นด้วย แล้วรายงานผลต่อสาธารณะ

 

ประการถัดมาคือ เรียกร้องขอความเป็นธรรมและตรวจสอบการดำเนินคดีกับผู้ถูกคุมขังอีก 4 คน ได้แก่ นายซอบรี กาซอ นายอับดุลอาซิส อารง นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา นายอัสมาดี ประดู่ และนายอัสมัน เจ๊ะยอ ซึ่งเป็นพลเรือน เนื่องจากได้รับแจ้งจากญาติว่าบุคคลทั้ง 4 ถูกซ้อมทรมานอย่างหนักเพื่อให้รับสารภาพ

 

นอกจากนี้ ขอให้ภาครัฐยกเลิกการประกาศใช้กฏหมายพิเศษฉบับต่างๆ เช่น กฏอัยการศึก พระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2250 ที่ผ่านโดยสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นกฏหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นอกจากนี้ให้มีการทบทวนนโยบายและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเร่งด่วน

 

สำหรับภาคประชาชน เรียกร้องให้ตระหนักถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่วมกันตรวจสอบ แก้ไข เพื่อให้อย่างน้อยเป็นแสงสว่างนำทางไปสู่สันติภาพ

 

แถลงการณ์ดังกล่าว ออกโดย สนนท. และองค์การภาคี ได้แก่ เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน(คพช.), กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสังคมมหาวิทยาลัยรามคำแหง, เครือข่ายนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม(คนท.), เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสันติภาพ,

สมาพันธ์นิสิตนักศึกษา จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา และจ.สงขลา, ศูนย์ประสานงานนักศึกษาและประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้, สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณท์หนัง แห่งประเทศไทย, กลุ่มสหภาพแรงงานย่างรังสิตและใกล้เคียง, พรรคแนวร่วมภาคประชาชน, สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย(สนมท.), สภาองค์กรมุสลิมแห่งประเทศไทย

 

ด้าน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) ก็ออกแถลงการณ์เรื่องการจับกุมนักศึกษาจังหวัดยะลาเรียกร้องต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต่อการกำหนดนโยบายการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อกรณีทรมานผู้ต้องหา ว่ากระทำมิได้ และขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน

 

 

 

แถลงการณ์

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

เรื่อง การซ้อมทรมานนักศึกษาจังหวัดยะลาเพื่อให้รับสารภาพ ฉบับที่ 2

 

จากกรณีที่นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา 6 คน นักศึกษาสถาบันการพลศึกษา 1 คน และพลเรือน 2 คน ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27-28 มกราคม 2551 พร้อมทั้งมีรายงานการถูกซ้อมทรมานผู้ถูกคุมขังทั้งหมดเพื่อให้รับสารภาพนั้น ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) และองค์กรภาคี ได้รับแจ้งจากเพื่อนนักศึกษาในพื้นที่ว่า เวลา 24.00 น. โดยประมาณ ของคืนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา 4 คน และนักศึกษาสถาบันพละศึกษา 1 คน ได้รับการปล่อยตัวแล้ว แม้จะนับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ทางสนนท.ยังคงยืนยันในการเรียกร้องให้ภาครัฐและภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงการถูกซ้อมทรมาน ในระหว่างการถูกควบคุมตัวดังที่ได้รับรายงานมา และหากมีการกระทำดังกล่าวจริงก็ขอให้มีการดำเนินการทางกฎหมายอย่างยุติธรรม

 

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) และองค์กรภาคี ขอแสดงความยินดีต่อนักศึกษาและญาติของนักศึกษาทั้ง 5 คนที่ได้รับการปล่อยตัว ได้แก่

 

1.         นายกูยิ อีแต อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการการจัดการ วิชาเอกเทคโนโลยีนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา(สนย.)

2.         นายอามีซี มานาก อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการการจัดการ วิชาเอกการบัญชี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

3.         นายอับดุลเลาะ ดอเลาะ อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

4.         นายอิสมาแอ เตะ อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ วิชาเอกเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

5.         นายอาหมะ บาดง อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกพละศึกษา สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตยะลา

 

การได้รับการปล่อยตัว ย่อมมิใช่เครื่องยืนยันให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของนักศึกษาเหล่านี้ จนกว่าข้อเท็จจริงจะได้รับการตรวจสอบถึงความถูกต้องของการเข้าจับกุมนักศึกษาและเยาวชนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ดี รายงานการถูกซ้อมทรมานระหว่างการถูกควบคุมตัว ยังคงเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของภาคประชาชน และเพื่อนนักศึกษามากมายว่ามีความจริงเท็จเพียงใด และยังมีรายงานว่ามีการซ้อมทรมานประชาชนที่ถูกจับกุมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งพื้นที่ภาคอื่นๆของประเทศ อีกเป็นจำนวนมาก โดยที่กรณีเหล่านี้ไม่เคยปรากฏเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะแต่อย่างใด และยังไม่ได้รับคำชี้แจงใดๆ จากองค์กรของรัฐทุกส่วนที่มีหน้าที่รับผิดชอบ

 

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และองค์กรภาคี ดังปรากฏรายชื่อข้างท้าย ขอเรียกร้องต่อภาครัฐและภาคประชาสังคมดังต่อไปนี้

 

1.         ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ จากบุคคลหลายฝ่าย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการซ้อมทรมาน นักศึกษา 7 คนและพลเรือน 2 คน ในจังหวัดยะลา อย่างเป็นธรรม โปร่งใส และปราศจากอคติ เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดในประเทศ

 

2.         หากมีการตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกระทำเช่นนั้นจริง ภาครัฐต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ถูกซ้อมทรมานทั้งหมด และดำเนินคดีทางอาญาแก่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมาน รวมถึงผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นด้วย แล้วรายงานผลต่อสาธารณะ

 

3.         ให้ความเป็นธรรมและตรวจสอบการดำเนินคดีกับผู้ถูกคุมขังอีก 4 คน ได้แก่ นายซอบรี กาซอ นายอับดุลอาซิส อารง นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา นายอัสมาดี ประดู่ และนายอัสมัน เจ๊ะยอ ซึ่งเป็นพลเรือน เนื่องจากได้รับแจ้งจากญาติว่าบุคคลทั้ง 4 ถูกซ้อมทรมานอย่างหนักเพื่อให้รับสารภาพ

 

4.         ให้ภาครัฐยกเลิกการประกาศใช้กฏหมายพิเศษฉบับต่างๆ เช่น กฏอัยการศึก พระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2250 ที่ผ่านโดยสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นกฏหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นอกจากนี้ให้มีการทบทวนนโยบายและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเร่งด่วน

 

5.         ขอให้ภาคประชาชนตระหนักถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่วมกันตรวจสอบ แก้ไข เพื่อให้อย่างน้อยเป็นแสงสว่างนำทางไปสู่สันติภาพ

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) และองค์กรภาคี หวังว่ากรณีของนักศึกษาจังหวัดยะลาในครั้งนี้จะเป็นบทเรียนให้แก่สังคมไทยหันมาสนใจและมองเห็นปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง พร้อมทั้งร่วมกันแก้ไขปัญหาในทางที่ถูกต้อง จริงใจ อันจะนำมาซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืน

 

ด้วยจิตสมานฉันท์

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและองค์การภาคี

6 กุมภาพันธ์ 2551

 

องค์กรร่วมภาคีร่วมแถลงการณ์

1.         สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.)

2.         เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน(คพช.)

3.         กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสังคมมหาวิทยาลัยรามคำแหง

4.         เครือข่ายนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม(คนท.)

5.         เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสันติภาพ

6.         สมาพันธ์นิสิตนักศึกษา จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา และจ.สงขลา

7.         ศูนย์ประสานงานนักศึกษาและประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

8.         สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทย

9.         สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณท์หนัง แห่งประเทศไทย

10.        กลุ่มสหภาพแรงงานย่างรังสิตและใกล้เคียง

11.        พรรคแนวร่วมภาคประชาชน

12.        สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย(สนมท.)

13.        สภาองค์กรมุสลิมแห่งประเทศไทย

 

หมายเหตุ : หากองค์กรภาคประชาชนใดเห็นด้วยกับแถลงการณ์ดังกล่าวสามารถร่วมลงชื่อได้ภายหลัง โปรดติดต่อผู้ประสานงาน หรือสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

 

ผู้ประสานงาน: นายตูแวดานียา ตูแวแมแง โทร.08-3258-1303, นายอภิศักดิ์ สุขเกษม โทร.08-9229-3066

 

 

 

 

แถลงการณ์

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน(สนนอ.)

เรื่องการจับกุมนักศึกษาจังหวัดยะลา

 

เนื่องจากวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมาได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเฉพาะกิจ11( ฉก.11)จังหวัดยะลา ซึ่งตั้งค่ายอยู่ใกล้โรงเรียนพาณิชยการยะลา ได้ร่วมกันตรวจค้น จับกุม นายกุยิ อีแต คณะกรรมการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา(สนย.) และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาและสถาบันพลศึกษา วิทยาเขตยะลา ซึ่งประกอบด้วยนายอามีซี มานาก อายุ 22 ปี นายอับดุลเลาะ ดอเลาะ อายุ 23 ปี นายฮัสมาดี ประดู่ อายุ 23 ปี นายฮัซมัน เจ๊ะยอ นายอิสมาแอล เตะ อายุ 22 ปี และนายอาหามะ บาดง อายุ 22 ปี รวมทั้งหมด 7 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นเพื่อนกัน พักอยู่บริเวณหอพักนักศึกษาย่านถนนฝั่งธนวิถีขณะกำลัง เตรียมตัวไปเล่นฟุตบอลต้านยาเสพติด พงยาวีคัพ โดยกล่าวหาว่านักศึกษาทั้งหมดมียาบ้าและอาวุธปืนในครอบครอง แต่หลังจากการตรวจค้นก็ไม่พบสิ่งผิดกฏหมายใดๆทั้งสิ้นตามข้อกล่าวหา นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ชุดที่ทำการตรวจค้นได้ทำการยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 2 เครื่อง (เครื่องPCและโน๊ตบุ๊ค)โทรศัพท์มือถือจำนวน 7 เครื่องและกล้องถ่ายรูปดิจิตอล 1 ตัว โดยอ้างซ้ำว่าพบวงจรระเบิดในเครื่องคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าจับกุมนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเพิ่มอีก 2 คน(ยังไม่ทราบชื่อจริงและเวลาที่จับกุมเนื่องจากยังไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ ทราบเพียงว่าในช่วงตอนกลางคืน)

 

ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อวันที่ 18-21ที่ผ่านมาทางสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา (สนย.) ซึ่งมีนายกุยิ อีแตเป็นคณะกรรมการ ได้มีการจัดโครงการอบรมความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดยะลาขึ้น ซึ่งทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้เป็นผู้ร่วมจัดโครงการด้วย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาในสถาบันการศึกษาในจังหวัดยะลาในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงทัศนะคติของรัฐที่ไม่ไว้วางใจ หวาดระแวงต่อนักศึกษาอยู่ตลอดเวลาเพราะการจับกุมในครั้งนี้ขาดซึ่งพยานหลักฐานที่บ่งชี้ชัดว่านักศึกษาทั้ง 7 คน ได้กระทำความผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด และข้อกล่าวหาในการจับกุมก็ขาดน้ำหนักที่จะทำให้เชื่อได้ว่านักศึกษาทั้ง 7 คน มีส่วนพัวพันกับขบวนการก่อความไม่สงบจริง อย่างที่ทางภาครัฐกล่าวอ้าง

 

สหพันธ์นิสิตนักศึกษา ภาคอีสานจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต่อการกำหนดนโยบายการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังนี้

 

1.การกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ระบุไว้ในมาตรา 32 วรรค 2 ว่า "การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการอันโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้...." มาตรา 39 วรรค 2 ระบุว่า "ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด" และในมาตรา 40 (4)ว่า "ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสียหรือพยานในคดี มีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และการไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง"

 

2.ให้ประกาศยกเลิก กฎ อัยการศึก

 

3.ให้ประกาศยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพุทธศักราช 2548

 

4. ให้มีการสอบสวนผู้ถูกจับกุมที่เป็นนักศึกษาให้เสร็จสิ้นโดยเร็วและหากว่ากระบวนการสอบสวนแล้วนักศึกษากลุ่มดังกล่าวไม่มีความผิดให้มีการเร่งปล่อยตัวโดยเร็ว อีกทั้งห้ามมิให้มีการบังคับ ข่มขู่ หรือ ซ้อมทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพตามข้อกล่าวหาเด็ดขาด หากพบว่ามีการซ้อมเพื่อให้รับสารภาพทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจะจัดชุมนุมเคลื่อนไหวในพื้นที่ทันที เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับกลุ่มเพื่อนนักศึกษาที่เสียสละทำงานโดยมุ่งหวังให้เกิดสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

5. หากมีการพิสูจน์แล้วว่านักศึกษากลุ่มดังกล่าวไม่มีความผิด รัฐต้องชี้แจงต่อสาธารณะชนและสังคมว่านักศึกษาที่ทำงานด้านสันติวิธีกลุ่มดังกล่าวไม่มีความผิด และการเข้าจับกุมเป็นความผิดของรัฐที่เข้าใจผิดต่อการทำงานของนักศึกษา

 

6. รัฐจะต้องใช้ความระมัดระวังต่อการปฏิบัติงานในการเข้าจับกุมต้องเคารพในประเพณี วัฒนธรรม และศาสนา โดยเฉพาะการตรวจค้น ศาสนสถาน และต้องมีหลักฐานที่ชี้ชัดได้จริงๆ มิใช่ใช้ความรู้สึก สงสัย หวาดระแวง ในการเข้าจับกุม

 

7. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสานจึง ขอเรียกร้องให้องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศจับตา และเฝ้าติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานของรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีอย่างต่อ เนื่องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

 ด้วยจิตสมานฉันท์

 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท