สัมภาษณ์ : รับตรุษจีน-รับรัฐบาลใหม่ ด้วยความหมายของ "เกี้ยเซียะ-ฮั้ว-ซูเอี๋ย"

สัมภาษณ์โดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล


รายการเช้าทันโลก สถานีวิทยุ 96.5 MHz คลื่นความคิด 

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550

 

 

 

 

ต้อนรับวันตรุษจีนด้วยความรู้เรื่องคำจีนสยามในสังคมการเมืองไทย และเพื่อให้เข้าสถานการณ์ใหม่หมาด "กรรณิการ์" ดีเจสาวรายการคลื่นความคิด ขอนำเสนอคำประเภทที่รู้จักกันดี และพบเห็นได้บ่อยในข่าวการเมืองหน้าบนหนังสือพิมพ์  เช่น "ฮั้ว" "ซูเอี๋ย" "เกี้ยเซียะ"  โดยสัมภาษณ์อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

0000

 

 

กรรณิการ์ - คำว่า เกี้ยเซียะ ซูเอี๋ย ฮั้ว ที่ตอนนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา มีที่มาที่ไปอย่างไร

วรศักดิ์ - คำว่า เกี๊ยะเซี้ย โดยความหมายดั้งเดิมของคำๆ นี้ หมายถึง การเจรจาประนอมหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ แต่พอหลังจากมาใช้ในสังคมไทย ก็กลายความหมายเป็นการเจรจาต่อรองกันแล้วได้ข้อสรุป หรืออาจจะไม่ได้ข้อสรุปก็อีกเรื่องหนึ่ง

 

แต่โดยมากแล้วใช้กับความหมายที่ว่ามีการเจรจาต่อรองกัน และผลโดยทั่วไป ก็มีทั้งสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ที่สำเร็จก็จะบอกว่า เขามีการเกี้ยเซียะกันเรียบร้อยแล้ว ถ้าไม่สำเร็จก็จะบอกว่าการเกี้ยเซียะนั้นล้มเหลว โดยทั่วไปที่สังเกตดู มักพูดคำนี้ในกรณีที่สำเร็จมากกว่า

 

ส่วนคำที่สอง คือ ซูเอี๋ย คำๆ นี้ถ้าแปลตรงๆ ก็คือ แพ้-ชนะ หมายความว่า ในการแข่งขันกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าเรื่องกีฬา หรืออะไรก็แล้วแต่จะมีแพ้ มีชนะ ในความหมายจีนแต่ดั้งเดิม ทั้งฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะก็จะหันมาพูดคุยกัน เพื่ออยู่ร่วมกันต่อไป

 

แต่ประเด็นคือพอมีการรู้แพ้รู้ชนะไปแล้ว เกิดความหมายหนึ่งคือว่า ก่อนมีการแข่งนั้น บางครั้ง ฝ่ายหนึ่งรู้ว่าตัวเองจะแพ้ ฝ่ายหนึ่งรู้ว่าตัวเองจะชนะ แต่ทั้งสองฝ่ายก็หันมาสมคบคิดกัน เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ใครได้น้อยได้มากก็เจรจาตกลงกันได้ กลายเป็นความหมายว่ามีการสมคบคิดกันเพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายร่วมกัน คือคำว่า ซูเอี๋ย ในบริบทของสังคมไทย

 

แต่ถ้าเราซูเอี๋ยในเรื่องที่ดีๆ ก็มี เช่น ผมวางแผนกลอุบายเจ้าเล่ห์ แต่เป้าหมายเป็นเรื่องที่ดี บางครั้งจะให้คู่กรณีรู้ไม่ได้ เพราะเขาอาจจะโมโหโกรธาขึ้นมา เช่น คู่รักคู่หนึ่งทะเลาะกัน งอนกัน เพื่อนฝูงก็ซูเอี๋ยกัน ที่จะให้สองคนนี้คืนดีกัน ก็วางแผนกัน นี่คือมีเป้าหมายที่ดี ขึ้นอยู่กับการใช้คำนี้ใช้ในความหมายไหน แต่เท่าที่สังเกตดู เมื่อมาใช้ในความหมายทางการเมืองแล้ว มักเป็นการสมคบคิดกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า

 

ส่วนคำที่สาม คือ คำว่า ฮั้ว แต่แรกเริ่มในคำศัพท์ของจีน คำนี้เป็นคำที่ดีมาก สัมพันธ์กับคุณธรรมข้อหนึ่งของสังคมจีนเลยก็ว่าได้ หมายถึง การที่คนทั้งสองฝ่ายหรือมากกว่านั้น หันมาสมัครสมานปรองดองสามัคคีกัน ซึ่งจะทำให้บรรลุความสำเร็จในการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้โดยง่าย

 

คำๆ นี้หากขยายบริบทร่วมกับคำอื่นๆ ในภาษาจีน บางทีอาจจะหมายถึงสันติภาพด้วย เป็นคำที่เป็นมงคล เป็นคำที่ดี แต่พอถูกใช้ไป ฝ่ายที่ใช้ถ้าเกิดไปทำในเรื่องไม่ดี คือทั้งสองฝ่ายหรือมากกว่านั้น มาสมคบคิดกัน ตกลงกัน สมัครสมานกันเพื่อจะทำสิ่งที่ไม่ดี พวกนี้ก็จะใช้คำว่า ฮั้ว ฉะนั้น ปรากฏการณ์อย่างนี้เกิดแทบทุกสังคม แต่พอมาถึงสังคมไทย คำว่า ฮั้วกัน ก็เหมือนการสามัคคีกันในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว อย่างเช่นเรามักจะพบเสมอ เช่น ในการประมูลโครงการของรัฐ ฝ่ายที่มาประมูลแข่งขันกันต่างก็รู้ว่าอีกฝ่ายมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร ก็เลยอย่ากระนั้นเลย เรามาฮั้วกัน เรามาสามัคคีกันเพื่อคว้าชิ้นปลามันไปด้วยกัน แล้วก็แบ่งผลประโยชน์กัน  

 

ตรงนี้เกิดจุดอ่อนเรื่องหนึ่งก็คือ พอฮั้วกัน ตามความหมายเดิมของสังคมจีนคือพอฮั้วแล้วไม่เฉพาะตัวเองได้ผลประโยชน์ ต้องมีส่วนรวมได้ผลประโยชน์อยู่ด้วย แต่ในสังคมไทยที่เกิดขึ้น ทำให้คำว่า ฮั้ว มีความหมายในแง่ลบ เพราะหลายต่อหลายครั้ง เพราะเป็นการฮั้วซึ่งมันไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนใหญ่ หรือสังคมส่วนรวม

 

 

เป็นเพราะอะไรคำจีน ที่ถูกใช้ในสังคมไทย จึงถูกเปลี่ยนความหมายไปในเชิงประนีประนอมในทางลบ หรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

ในเบื้องต้นสุด เราต้องเข้าใจบทบาทของคนจีนในสังคมไทยก่อนว่าแต่ไหนแต่ไร คนจีนในสังคมไทยก็มา ทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่ได้เข้าไปข้องแวะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเท่าไหร่ จนเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา พอสังคมไทยมีการเมืองที่เป็นเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น กลุ่มคนจีนเหล่านี้ก็เริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ก่อนหน้านั้นคนจีนเหล่านี้ก็มีชีวิตที่ผสมกลมกลืนอยู่กับวัฒนธรรมไทย สังคมไทยและคนไทย ฉะนั้น พอเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องสัมพันธ์กับคนไทยไปด้วย ฉะนั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีบางคน ผมไม่ได้หมายถึงทุกคน ที่เอาประสบการณ์ในชีวิตทางเศรษฐกิจแต่เดิมของตัวเอง มาใช้ในทางการเมือง พอเห็นอะไรที่ไม่ลงรอยกัน แตกแยก ขัดแย้งกัน หรือต้องวางแผนร่วมกันสมคบคิดกันเพื่อให้ได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นเป้าหมายทางการเมือง วิธีคิดเหล่านี้ที่อาศัยพื้นฐานของคำจีนสองสามคำที่ได้อธิบายไปมันก็เกิดขึ้น

 

ประเด็นปัญหามันมีอยู่ว่า ไม่ว่าจะเป็นการเกี้ยเซียะ ซูเอี๋ย หรือฮั้ว ถ้าสมมติว่ามันดำเนินไปบนพื้นฐานที่มุ่งสู่ประโยชน์ของส่วนรวม ผมคิดว่าสังคมไทยก็คงไม่ได้คิดต่อคำเหล่านี้ในแง่ลบ แต่ประสบการณ์ของสังคมไทย พบว่า ทุกครั้ง ไม่รู้ทำไม เวลาที่มีการใช้คำทั้งสาม มักแสดงผลออกมาในแง่ลบทุกครั้งไป เช่น เกี้ยเซียะ ก็เหมือนกับการที่ดุลอำนาจของสองฝ่ายในทางการเมือง มีไม่เสมอกัน ไม่เท่ากัน หรือมีการต่อรองกัน แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย ทั้งสองฝ่ายก็เลยมาเกี้ยเซียะกัน หรือในขณะที่ยังไม่รู้ผล ไม่รู้ดำรู้แดงในผลทางการเมือง สองฝ่ายต่างก็มุ่งไปสู่เป้าหมายทางการเมืองร่วมกัน แต่อย่ากระนั้นเลย เรามาซูเอี๋ยกัน คือ สมคบคิดกันที่จะทำอย่างไร เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายที่ว่านั้น

 

ในทำนองเดียวกันที่แย่ยิ่งไปกว่านั้น ที่เราเห็นกันมาก คือคำว่า ฮั้ว เช่น การฮั้วกันในเรื่องการประมูลโครงการของรัฐ ผมคิดว่าสิ่งที่เราเห็นชัดก็คือ ถ้าหากมันจบเพียงเท่านี้ ไม่เกี่ยวกับการเมืองก็แล้วไป แต่บ่อยครั้งเราจะพบว่า ผู้ที่ประมูลนั้นมักจะมีเส้นสายสัมพันธ์ในทางการเมือง ก็คือมีการฮั้วกันในทางการเมืองเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ โดยสรุปก็คือ ส่วนรวมแทบจะไม่ได้อะไร ฉะนั้น การกลายความหมายเหล่านี้จากที่อธิบายมาจะเห็นได้ว่า ถ้าดูจากรูปศัพท์คำเดิมของจีนแล้ว จะมีแนวโน้มไปในความหมายเชิงบวกมากกว่า แต่พอมาถูกใช้กับคนที่มีประสบการณ์ชีวิตที่ไม่ได้ข้องแวะกับคุณธรรมหรือจริยธรรมมากนัก คำเหล่านี้ก็ถูกเอามาใช้ในความหมายเชิงลบ ฉะนั้นเราจะสังเกตได้ว่า ในสังคมไทย คำทั้งสามถูกมองในแง่ลบเสมอ โดยเฉพาะคำว่า ฮั้ว  

 

 

นอกเหนือจากการทำมาหากินเก่งแล้ว ก็ยังมีด้านดีๆ ทำไมภาษาจีนที่ใช้ในด้านดีๆ จึงไม่ถูกใช้แพร่หลายในสังคมไทย

ผมว่ามันเป็นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมือง กล่าวคือ อย่างที่พูดไปแล้วว่า ตอนที่คนจีนเข้ามาในสังคมไทย เสื่อผืนหมอนใบ ยากจน แล้วก็วางกรอบตัวเองในชีวิตของการทำมาหาเลี้ยงชีพ ประเด็นก็คือว่าส่วนใหญ่ของคนจีนเหล่านี้ อาจจะเรียกว่ามากกว่า 90% ในช่วง 100-200 ปีที่ผ่านมา เป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีการศึกษาสูง ถามว่า เขารู้จักคำสามคำนี้ไหม ก็รู้จัก แต่รู้จักบนพื้นฐานที่ว่า ฉะนั้น การที่จะเข้าใจความหมายทั้งสามคำที่ว่าอย่างลึกซึ้ง มันก็คงจะสู้คนที่มีการศึกษาสูงไม่ได้ เพราะคนที่มีการศึกษาสูงของสังคมจีนในอดีต จะเข้าใจความหมายถึงก้นบึ้ง และสามารถอธิบายและปฏิบัติเชื่อมโยงกับหลักจริยธรรมคุณธรรม

 

ทีนี้ กลับมาสู่คนกลุ่มใหญ่เหล่านี้ ถ้าหากว่ามีชีวิตตามสังคมปกติ มันก็แล้วกันไป แต่ว่าไม่มีสังคมไหนที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง สังคมไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเมือง ฉะนั้นพอกลุ่มคนที่มีการศึกษาน้อย แต่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่งร่ำรวยแล้ว พอต้องนำตัวเองเข้ามาอยู่ในวงจรทางการเมือง ความไม่ได้หยั่งลึกคำสามคำนี้ในเชิงปรัชญาหรือเชิงจริยธรรมย่อมเกิดขึ้นได้

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมมีข้อละเว้นอยู่สองประการ ประการหนึ่ง คือ ผมไม่ได้หมายความทุกคนที่เข้ามาข้องแวะในทางการเมืองจะต้องเป็นแบบนี้หมดทุกคน ข้อที่สองก็คือว่า เราต้องสังเกตด้วยว่า ชาวจีน หรือปัจจุบันคือ คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ อาจจะ 80-90% เขาไม่ได้ยุ่งกับการเมือง ถ้าคนเหล่านี้จะใช้คำสามคำนี้ ก็เป็นไปได้ที่เขาก็ใช้ในความหมายบวก มิใช่เขาไม่มีความรู้เลย เพราะปัจจุบันการศึกษาของลูกหลานชาวจีนมีการศึกษาที่สูง ก็จะเข้าใจอะไรมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันถ้าไปบิดเบือนความหมาย ใช้อย่างผิดๆ หรือใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว อย่างนี้ผมคิดว่า เราสามารถดูเป็นกรณีตัวอย่างเป็นรายๆ ไป เช่น ทัศนะของประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ว่า โกงไม่เป็นไร ขอให้มีผลงาน เราก็ต้องรู้เลยว่าคนที่มันจะโกงได้ ถ้ามันไม่เกี้ยเซียะ ก็ต้องซูเอี๋ย หรือต้องฮั้ว ถ้าเกิดเขาคิดถึงคำสามคำบนพื้นฐานของประโยคที่ว่า ผมคิดว่า คนรุ่นใหม่ก็ต้องมีปัญหาแล้ว แสดงว่า การศึกษาไม่มีส่วนแม้แต้น้อยนิดในการกล่อมเกลาทางจริยธรรม

 

 

ตอนที่อาจารย์เห็นสื่อมวลชนใช้คำเหล่านี้ ในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ล่าสุดที่ ประธาน คมช. คุยโทรศัพท์กับอดีตนายกฯ  สื่อมวลชนก็จะใช้คำสามคำนี้ คือ เกี้ยเซียะ หรือไม่ก็ซูเอี๋ย หรือไม่ก็ฮั้ว อาจารย์คิดว่าใช้เหมาะเจาะแค่ไหน

ก่อนที่จะตอบว่ามันเหมาะเจาะหรือไม่ หรือพฤติกรรมอย่างนั้นเข้าข่ายคำสามคำที่ว่าหรือไม่ ผมมีคำถามหนึ่งที่อยากตั้งด้วยว่า ก่อนหน้านี้เราก็รู้ว่า พรรคพลังประชาชนหรือกลุ่มไทยรักไทยเดิมนั้น เขาค่อนข้างไม่พอใจผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ หรือที่เขาเรียกว่า มือที่มองไม่เห็น แล้วในที่สุด การเคลื่อนไหวครั้งหนึ่งของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ก็บุกไปถึงบ้านพลเอกเปรม ผมจำได้ว่า พลเอกเปรม ท่านออกมาพูดอยู่ตอนหนึ่งว่า ท่านไม่มีส่วนรู้เห็นตามที่เขากล่าวหาเลย คือไม่ได้ใช้บารมีไปในทางที่มีการเข้าใจกัน ผมเองก็ไม่รู้ว่า ฝ่ายไหนพูดจริงพูดเท็จ แต่อยากตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่มีรัฐประหารมา และมีรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ เราก็จะพบว่า พลเอกสุรยุทธ์ก็ไม่ได้ทำอะไรที่ตรงกับความต้องการของคณะรัฐประหาร ในทางตรงข้ามท่านไม่ได้ช่วย คตส. ในการตรวจสอบนักการเมืองด้วยซ้ำไป ถ้าเป็นอย่างนี้ ผลประโยชน์ย่อมตกอยู่แก่ฝ่ายของไทยรักไทยเดิมหรือผู้ที่ถูกกล่าวหา

 

ฉะนั้น ที่ผมไม่เข้าใจก็คือว่า จะมองได้ไหมว่า พลเอกสุรยุทธ์ก็มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับพลเอกเปรม เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ถ้าหากฝ่ายที่ต่อต้านพลเอกเปรม เชื่อว่าพลเอกเปรมอยู่เบื้องหลัง แต่ว่าสิ่งที่พลเอกสุรยุทธ์ทำก็เกิดประโยชน์กับกลุ่มตื่อต้านมิใช่เหรอ ฉะนั้น ผมจึงคิดว่า เมื่อผลออกมาอย่างนี้ มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าพลเอกสุรยุทธ์เป็นตัวแทนพลเอกเปรมได้ นั่นคือ พลเอกสุรยุทธ์ที่เคยถูกมองว่า เกี้ยเซียะ ซูเอี๋ย หรือฮั้วกับกลุ่มอำนาจเก่า

 

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ผมก็สงสัยว่า กลุ่มอำนาจเก่าออกมาต่อต้านพลเอกเปรมทำไม

 

เพราะฉะนั้น ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่สื่อมวลชนมองนั้นต่างกับที่ผมเห็น นั่นคือ ผมมองพฤติกรรมแล้ว ผมไม่เห็นผลอะไรจากการรัฐประหารวันที่ 19 กันยา 49 เลย พูดอีกอย่างก็คือ ผมไม่รู้ว่า รัฐประหารมาทำไม สอง ผลจากการนี้ทั้งหลายทั้งปวงสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยเป็นสังคมของการเกี้ยเซียะ ซูเอี๋ย และฮั้ว

 

ฉะนั้น ถ้าวกกลับมาที่คำถามว่า ถ้าเช่นนั้น การที่พลเอกสนธิคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ นี่คือการเกี้ยเซีนะ ซูเอี๋ย หรือฮั้ว กันรึเปล่า ถ้าผมจะมองเหมือนกับสื่อมวลชนก็คือ ผมก็มองเหมือนกันว่า มันคือการเกี้ยเซียะ ซูเอี๋ยและฮั้ว แต่บนตรรกะที่ต่างกัน คือ ที่สุดแล้ว ผมยังไม่เข้าใจว่า หนึ่ง รัฐประหารมาทำไม สอง ต่อต้านพลเอกเปรมทำไม และสาม ถ้าเช่นนั้นแล้ว สมมติว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการเกี้ยเซียะ ซูเอี๋ยหรือฮั้ว เราก็ควรยอมรับความจริงไม่ใช่หรือว่านี่คือสัจธรรมของสังคมไทย

 

คำถามที่ผมคิดว่าน่าจะสำคัญมากกว่าว่า เขาเกี้ยเซียะ ซูเอี๋ย หรือฮั้ว กันหรือเปล่า ก็คือเราควรจะข้ามพ้นคำสามคำนี้ได้แล้ว โดยหันมาย้อนถามว่า เราต้องการสังคมที่เต็มไปด้วยการเกี้ยเซียะ ซูเอี๋ยหรือฮั้วกันหรือไม่ ซึ่งก็คงฝากความหวังไปให้กับใครไม่ได้ นอกจากประชาชนคนไทยด้วยกันเอง ถ้าหากสังคมไทยคิดว่านี่คือสิ่งที่ดีแล้ว ก็เป็นชะตากรรมของคนไทยที่ต้องตกอยู่ในมือของคนไทยด้วยกันเอง ยกเว้นสังคมไทยเห็นว่า สามคำนี้เป็นคำที่แย่มาก แล้วต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ผมยังมองไม่เห็น   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท