Skip to main content
sharethis

ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพออกแถลงข่าวโต้ กอ.รมน. ให้ข่าวบิดเบือนลง "ข่าวสด" ฉบับ 7 ก.พ. ระบุ อ่านแล้วเห็นว่า เป็นอคติทางด้านเชื้อชาติวัฒนธรรมอย่างรุนแรง

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า พ.อ.จักราวุธ สินพูนผล หัวหน้าส่วนติดตามสถานการณ์ความมั่นคง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จังหวัดสมุทรสาคร ชี้แจงข้อมูลไปกองบรรณาธิการข่าวสด และตีพิมพ์ลงวันอังคารที่ 7 ก.พ. 2551 ซึ่งทางชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพอ่านแล้วเห็นว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นอคติทางด้านเชื้อชาติวัฒนธรรมอย่างรุนแรง

 

ทั้งนี้ ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯได้ทำหนังสือชี้แจงไปที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด โดยระบุว่า การจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ 61 ประจำปี 2551 ณ วัดบ้านไร่เจริญผล วันที่ 2-3 ก.พ.ที่ผ่านมา ปรากฎเหตุการณ์ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานด้านความมั่นคงออกมาตรการคุมเข้ม กดดันให้ยกเลิกการจัดงาน สกัดกั้นการเดินทางมาร่วมงานของชาวไทยเชื้อสายมอญและชาวมอญที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่มีบัตรแรงงานอย่างถูกต้อง  จนเป็นเหตุให้งานเสียหาย มีการรีดไถ คุกคาม โดยเฉพาะเรื่องของสภาพจิตใจของชาวไทยเชื้อสายมอญ ดังเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวสดในวันที่ 5 และ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา

 

โดยในส่วนที่เห็นว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงนั้น ทางชมรมได้ ชี้แจงว่า การใช่ชื่องานว่า "วันรำลึกชนชาติมอญ" เป็นเรื่องของการใช้ภาษา คำว่าชนชาติ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ล้วนเป็นศัพท์ทางวิชาการ หมายถึงกลุ่มคนที่มีรูปแบบของวัฒนธรรม ภาษาและประวัติศาสตร์ร่วมกัน ไม่เกี่ยวกับรัฐชาติ หรืออาณาเขต ประเทศชาติ

 

การจัดงานก็เพื่อรำลึกถึงบรรพชน ชนชาติ (ชาตะ = การเกิด) การเกิดขึ้น การมีอยู่ของวัฒนธรรม มิได้ปลุกระดม ชักจูงให้มีการเรียกร้องดินแดน เรียกร้องทวงคืนรัฐชาติจากมิตรประเทศของไทยอย่างประเทศพม่าแต่อย่างใด มุ่งหวังเพียงเพื่อการรักษาภาษา และวัฒนธรรมประเพณีเท่านั้น

 

ประการที่สอง การห้ามหน่วยงานในการจัดงาน ไม่ให้จัดในนาม "ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ" ต้องจัดงานในนามสมาคมไทยรามัญนั้น นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง ไม่เคยพบว่ามีกฎหมายฉบับใดบัญญัติไว้ แม้ชมรมฯไม่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมตามกฎหมาย แต่ก็มิใช่หน่วยงานที่ "ไม่ถูกกฎหมาย" เนื่องจากมีสมาคม และ ชมรมที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนต่างๆ มากมายโดยไม่ต้องจดทะเบียน และทำกิจกรรมเป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างมาก เช่น ชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพ ชมรมคนรักวัง ซึ่งมีการจัดงานระดับชาติมากมายและไม่เคยมีปัญหาแต่อย่างใด

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ เคยเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมพระศพในพระบรมมหาราชวังมาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ งานพระศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และงานพระศพสมเด็จพระศรีนครินทรา พระบรมราชชนนี เป็นการทำพิธีสงฆ์แบบมอญ สวดพระอภิธรรมมอญ ประโคมปี่พาทย์มอญ รำมอญถวาย และการจัดงาน 5 ธันวามหาราช งาน 12 สิงหามหาราชินี ณ ท้องสนามหลวง ออกโรงทานอาหารมอญ การแสดงมอญรำ พร้อมทั้งขบวนแห่พานพุ่มสักการะในชุดแต่งกายแบบมอญและขึ้นถวายพานพุ่มสักการะบนเวทีกลางท้องสนามหลวง

 

ประการที่ 3 ประเด็นที่กล่าวอ้างว่าไม่ควรจัดงาน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาการไว้อาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์นั้น นับว่าเป็นการไม่สมควร หน่วยงานรัฐไม่ควรใช้ข้ออ้างลักษณะนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยอาจเป็นการกระทบกระเทือนและระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เพราะถือเป็นการเพ็ดทูลเรื่องไม่บังควร กระทำเกินหน้าที่ เนื่องจากสำนักพระราชวังและสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้หน่วยงานรัฐไว้อาลัยเป็นระยะเวลา 15 วัน แต่สำหรับเอกชนนั้นให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ซึ่งระยะเวลาการจัดงานก็เลยระยะเวลา 15 วันมาแล้ว

 

ที่สำคัญประชาชนคนไทยทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระราชวงศ์ทุกพระองค์ ความเศร้าโศกเสียใจนั้นมีทั่วทุกตัวคน ซึ่งก็ได้ระมัดระวังรูปแบบการจัดงานเป็นอย่างดี ไม่มีมหรพสมโภชน์ครึกโครม มีแต่การแสดงทางวัฒนธรรม และภายในงานยังจัดตั้งพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระพี่นางฯและทำบุญอุทิศกุศถวายแด่พระองค์อีกด้วย

 

ประการที่สี่ ข้อมูลด้านความมั่นคงเกี่ยวกับหน่วยงานและการจัดงานของชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ ที่ทาง พ.อ.จักราวุธ เปิดเผย ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพเป็นผู้พิมพ์เผยแพร่ และบางส่วนอยู่ในบอร์ดนิทรรศการที่จัดแสดงไว้ภายในงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.มาคัดลอกเอาไปภายหลัง มิได้สืบทราบมาจากที่ใดก่อนหน้านี้ เพราะสิ่งเหล่านี้มิใช่ความลับ แต่มีการลอกข้อมูลไปอย่างไม่ถูกต้อง

 

การจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญในเมืองไทยจัดต่อเนื่องมาเกือบ 30 ครั้ง แต่ไม่เคยอวดอ้างว่าจัดมาแล้ว 60 ครั้งแต่อย่างใด ที่นับรวมว่า 60 ครั้งในการประชาสัมพันธ์เพื่อต้องการสื่อสารออกไปในพื้นที่สาธารณะด้วยความเข้าใจชุดเดียวกันทั้งหมด ได้แก่ การจัดงานของชาวมอญในพม่า ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส แคนาดา เป็นต้น

 

ประการที่ห้า กอ.รมน. อ้างว่าการจัดงานที่ผ่านมาไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดมาร่วมงาน ข้อนี้นับว่าการข่าวของ กอ.รมน. ไร้ประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทุกจังหวัดที่ไป ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีชุมชนชาวมอญอาศัยอยู่ ราว 35 จังหวัด มีการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดทุกครั้ง หากไม่ว่างในแต่ละจังหวัดจะมอบหมายให้นายอำเภอมาร่วมงานเป็นอย่างน้อย เช่น ลพบุรี (2550) สมุทรสงคราม (2549) นครปฐม (2548) และ พระนครศรีอยุธยา (2547) เป็นต้น

 

ประการที่หก การตั้งด่านที่อ้างว่าเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงและดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่สามารถรับฟังได้ เนื่องจากพบว่ามีการตั้งด่านตรวจตราหนาแน่นทุกเส้นทางโดยรอบวัด รัศมีไกลหลายสิบกิโลเมตร มีตำรวจประจำด่านๆ ละ 40-50 นาย มีการวางป้ายหยุดตรวจและกรวยแดงกลางถนน และมีรถกระบะสายตรวจวิ่งตามเส้นทางตลอดเวลา ก่อให้เกิดการจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก บางด่านมีการรีดไถดังรายละเอียดทราบแล้วนั้น บางด่านโดยเฉพาะปากซอยเข้าวัดบ้านไร่เจริญผล มีการกวดขันอย่างหนัก แม้แต่ชาวไทยเชื้อสายมอญที่มีฐานะทางสังคมค่อนข้างดี ขับรถยนต์ส่วนตัวไป ก็ยังถูกกดดันจนต้องตัดสินใจไม่ไปร่วมงาน

 

แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าหน่วยงานรัฐไม่ทำการศึกษาและเข้าใจข้อมูลพื้นฐานของชุมชน มีอคติทางชาติพันธ์ และเลือกปฏิบัติ หวาดระแวงและกลัวลนลานเกินเหตุ แม้แต่คำว่า "มอญ" ก็ไม่ต้องการให้ใช้ ไม่ต้องการให้กล่าวถึง ให้ใช้คำว่า "รามัญ" ทั้งๆ ที่ มอญ เป็นชื่อเรียกชนชาติ เป็นภาษาวิชาการโดยทั่วไป รามัญ เป็นชื่อเรียกดินแดน ซึ่งใน "รามัญประเทศ" ก็ประกอบไปด้วยหลากหลายชนชาติ เช่นเดียวกับ "สยามประเทศ" ก็ประกอบไปด้วยหลากหลายชนชาติ มิได้มีแต่ชนชาติ "ไทย" เท่านั้น

 

แถลงการณ์

ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ

 

สืบเนื่องจากการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ 61 ประจำปี 2551 ณ วัดบ้านไร่เจริญผล วันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และได้ปรากฎเหตุการณ์ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานด้านความมั่นคงออกมาตรการคุมเข้ม กดดันให้ยกเลิกการจัดงาน สกัดกั้นการเดินทางมาร่วมงานของชาวไทยเชื้อสายมอญและชาวมอญที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่มีบัตรแรงงานอย่างถูกต้อง  จนเป็นเหตุให้งานเสียหาย มีการรีดไถ คุกคาม โดยเฉพาะเรื่องของสภาพจิตใจของชาวไทยเชื้อสายมอญ ดังเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวสดทั้ง 2 วันที่ผ่านมา แต่หลังจากที่ได้มีข่าวสารเผยแพร่ออกไป ทาง กอ.รมน. โดย พ.อ.จักราวุธ สินพูนผล หัวหน้าส่วนติดตามสถานการณ์ความมั่นคง ได้ชี้แจงข้อมูลมายังกองบรรณาธิการข่าวสด ลงวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งทางชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพได้อ่านแล้วพบว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นอคติทางด้านเชื้อชาติวัฒนธรรมอย่างรุนแรง จึงขอทำหนังสือชี้แจงมายังกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสดดังนี้

 

1.เรื่องการใช่ชื่องานว่า "วันรำลึกชนชาติมอญ" นั้นก็เป็นแต่เรื่องของการใช้ภาษา คำว่าชนชาติ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ก็ล้วนเป็นศัพท์ทางวิชาการ หมายถึงกลุ่มคนที่มีรูปแบบของวัฒนธรรม ภาษาและประวัติศาสตร์ร่วมกัน ไม่เกี่ยวกับรัฐชาติ หรืออาณาเขต ประเทศชาติแต่อย่างใด การจัดงานก็เพื่อรำลึกถึงบรรพชน ชนชาติ (ชาตะ = การเกิด) การเกิดขึ้น การมีอยู่ของวัฒนธรรม มิได้ปลุกระดม ชักจูงให้มีการเรียกร้องดินแดน เรียกร้องทวงคืนรัฐชาติจากมิตรประเทศของไทยอย่างประเทศพม่าแต่อย่างใด เรามุ่งหวังเพียงเพื่อการรักษาภาษา และวัฒนธรรมประเพณีเท่านั้น สิ่งที่ทางจังหวัดกลัวและหวาดระแวงนั้น เป็นความคิดที่ทางจังหวัดใส่หัวให้เราใหม่ทั้งหมด หากเราจะมีความคิดเรื่องการกู้ชาติก็ต้องแจ้งให้ทราบว่าเกิดจากความคิดคำแนะนำของผู้ว่าฯทั้งหมดทั้งมวล

 

2. กรณีการห้ามหน่วยงานในการจัดงาน ไม่ให้จัดในนาม "ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ" ต้องจัดงานในนามสมาคมไทยรามัญนั้น นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง ไม่เคยพบว่ามีกฎหมายฉบับใดบัญญัติไว้ แม้ชมรมฯไม่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมตามกฎหมาย แต่ก็มิใช่หน่วยงานที่ "ไม่ถูกกฎหมาย" เนื่องจากมีสมาคม และ ชมรมที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนต่างๆ มากมายโดยไม่ต้องจดทะเบียน และทำกิจกรรมเป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างมาก เช่น ชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพ ชมรมคนรักวัง ซึ่งมีการจัดงานระดับชาติมากมายและไม่เคยมีปัญหาแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ เคยเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมพระศพในพระบรมมหาราชวังมาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ งานพระศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และงานพระศพสมเด็จพระศรีนครินทรา พระบรมราชชนนี เป็นการทำพิธีสงฆ์แบบมอญ สวดพระอภิธรรมมอญ ประโคมปี่พาทย์มอญ รำมอญถวาย และการจัดงาน 5 ธันวามหาราช งาน 12 สิงหามหาราชินี ณ ท้องสนามหลวง ออกโรงทานอาหารมอญ การแสดงมอญรำ พร้อมทั้งขบวนแห่พานพุ่มสักการะในชุดแต่งกายแบบมอญและขึ้นถวายพานพุ่มสักการะบนเวทีกลางท้องสนามหลวง

 

3. ประเด็นที่กล่าวอ้างว่าไม่ควรจัดงาน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาการไว้อาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์นั้น นับว่าเป็นการไม่สมควร หน่วยงานรัฐไม่ควรใช้ข้ออ้างลักษณะนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยอาจเป็นการกระทบกระเทือนและระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เพราะถือเป็นการเพ็ดทูลเรื่องไม่บังควร กระทำเกินหน้าที่ เนื่องจากสำนักพระราชวังและสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้หน่วยงานรัฐไว้อาลัยเป็นระยะเวลา 15 วัน แต่สำหรับเอกชนนั้นให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ซึ่งระยะเวลาการจัดงานก็เลยระยะเวลา 15 วันมาแล้ว ที่สำคัญประชาชนคนไทยทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระราชวงศ์ทุกพระองค์ ความเศร้าโศกเสียใจนั้นมีทั่วทุกตัวคน ซึ่งเราก็ได้ระมัดระวังรูปแบบการจัดงานเป็นอย่างดี ไม่มีมหรพสมโภชน์ครึกโครม มีแต่การแสดงทางวัฒนธรรมเท่านั้น และภายในงานยังจัดตั้งพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระพี่นางฯและทำบุญอุทิศกุศลแด่พระองค์ท่านอีกด้วย

 

4. ข้อมูลด้านความมั่นคงเกี่ยวกับหน่วยงานและการจัดงานของชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ ที่ทาง พ.อ.จักราวุธ เปิดเผยนั้น ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพเป็นผู้พิมพ์เผยแพร่ บางส่วนอยู่ในบอร์ดนิทรรศการที่จัดแสดงไว้ภายในงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.มาคัดลอกเอาไปภายหลัง มิได้สืบทราบมาจากที่ใดก่อนหน้านี้ เพราะสิ่งเหล่านี้มิใช่ความลับ แต่ก็ยังมีการลอกข้อมูลไปอย่างไม่ถูกต้อง การจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญในเมืองไทยเราจัดกันมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 30 ครั้ง ไม่เคยอวดอ้างว่าจัดมาแล้ว 60 ครั้งแต่อย่างใด ที่นับรวมว่า 60 ครั้งในการประชาสัมพันธ์ ก็เพื่อต้องการสื่อสารออกไปในพื้นที่สาธารณะด้วยความเข้าใจชุดเดียวกันทั้งหมด ได้แก่ การจัดงานของชาวมอญในพม่า ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส แคนาดา เป็นต้น

 

5. กอ.รมน. อ้างว่าการจัดงานที่ผ่านๆ มานั้นไม่ได้มีผู้ว่าฯแต่ละจังหวัดมาร่วมงาน ข้อนี้นับว่าการข่าวของ กอ.รมน.นั้นไร้ประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทุกจังหวัดที่เราไป (จังหวัดที่มีชุมชนชาวมอญอาศัยอยู่ ราว 35 จังหวัด) เมีการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดทุกครั้ง หากไม่ว่างท่านก็จะมอบหมายให้นายอำเภอมาร่วมงานเป็นอย่างน้อย เช่น ลพบุรี (2550) สมุทรสงคราม (2549) นครปฐม (2548) และ พระนครศรีอยุธยา (2547) เป็นต้น ส่วนข้อมูลเรื่องวัดศิริมงคลนั้นไม่ถูกต้อง ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพไม่มีส่วนรู้เห็นแต่อย่างใด

 

6. การตั้งด่าน ที่อ้างว่าเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงและดูแลความสงบเรียบร้อยนั้น ไม่สามารถรับฟังได้ เนื่องจากพบว่ามีการตั้งด่านตรวจตราหนาแน่นทุกเส้นทางโดยรอบวัด รัศมีไกลหลายสิบกิโลเมตร มีตำรวจประจำด่านๆ ละ 40-50 นาย มีการวางป้ายหยุดตรวจและกรวยแดงกลางถนน และมีรถกระบะสายตรวจวิ่งตามเส้นทางตลอดเวลา (มีภาพถ่ายประกอบ) ก่อให้เกิดการจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก บางด่านมีการรีดไถดังรายละเอียดทราบแล้วนั้น บางด่านโดยเฉพาะปากซอยเข้าวัดบ้านไร่เจริญผล มีการกวดขันอย่างหนัก แม้แต่ชาวไทยเชื้อสายมอญที่มีฐานะทางสังคมค่อนข้างดี ขับรถยนต์ส่วนตัวไป ก็ยังถูกกดดันจนต้องตัดสินใจไม่ไปร่วมงาน

 

สิ่งเหล่านี่เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าหน่วยงานรัฐไม่ทำการศึกษาและเข้าใจข้อมูลพื้นฐานของชุมชน มีอคติทางชาติพันธ์ และเลือกปฏิบัติ หวาดระแวงและกลัวลนลานเกินเหตุ แม้แต่คำว่า "มอญ" ก็ไม่ต้องการให้ใช้ ไม่ต้องการให้กล่าวถึง ให้ใช้คำว่า "รามัญ" ทั้งๆ ที่ มอญ เป็นชื่อเรียกชนชาติ เป็นภาษาวิชาการโดยทั่วไป รามัญ เป็นชื่อเรียกดินแดน ซึ่งใน "รามัญประเทศ" ก็ประกอบไปด้วยหลากหลายชนชาติ เช่นเดียวกับ "สยามประเทศ" ก็ประกอบไปด้วยหลากหลายชนชาติ มิได้มีแต่ชนชาติ "ไทย" เท่านั้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net