Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าจะมีการทบทวนการใช้าตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรหรือซีแอลในยามะเร็ง 4 รายการ คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือด ที่ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข ลงนามในคำสั่งประกาศให้ดำเนินการ โดยต้องมาดูสถิติผู้ป่วยกันใหม่ว่า มีอยู่มากในระดับไหน เพราะคำว่าสิทธิบัตรเป็นเรื่องล่อแหลม หากยังดันทุรังทำ โดยไม่คิดว่าบริษัทยาต้องหมดเงินเป็นหลายหมื่นล้านในการคิดค้นขึ้นมา ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องให้เอกสิทธิเรื่องสิทธิบัตรกับบริษัทเหล่านี้ เพราะหากยอมให้ประเทศไทยทำ อีกหน่อยต่างชาติ ก็จะเอาเป็นข้ออ้างไปทำเหมือนกัน ซึ่งถึงวันนี้ได้รับรายงานว่า ผู้ป่วนมะเร็งยังมีไม่มากนัก แล้วทำไมจะต้องมาทำซีแอล



 


"เมื่อวันที่ 4 มกราคม มีหนังสือจากกระทรวงพาณิชย์ว่า บริษัทผู้ผลิตยาทำหนังสือแจ้งว่าจะประกาศขึ้นบัญชีให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามอง (PWL) แสดงว่า การประกาศไปนั้น ได้อย่างเสียอย่าง ถูกใจไม่ถูกต้อง ถูกต้องไม่ถูกใจ ซึ่งไทยอยู่ภายใต้กฎหมายขององค์การการค้าโลก (WTO) ต้องมีเหตุผลในการประกาศทำซีแอล และเคารพสิทธิ และให้เกียรติกัน"



 


เมื่อถามว่า ได้เห็นข้อมูลหรือไม่ว่าการทำซีแอลของไทยมีขั้นตอนอย่างไร นายไชยา ตอบว่า เห็นแต่ตัวประกาศว่าต้องการให้คนไทยเข้าถึงยา ซึ่งการประกาศแบบนี้ เป็นเรื่องถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง เพราะผลที่สะท้อนออกมา แรงกว่าที่เราได้ ซึ่งอาจได้ไม่คุ้มเสีย จึงต้องทบทวน ที่สำคัญเป็นการประกาศโดยไม่ผ่านให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเสียก่อน



 


เมื่อถามว่า การยกเลิกจะไม่เป็นการทำให้ประชาชนต้องแบกรับปัญหายาราคาแพงหรือ นายไชยา ตอบว่า ประเทศเราประเทศที่ยังด้อยพัฒนาต้องการความช่วยเหลือ เชื่อว่าบริษัทผู้ผลิตพร้อมที่จะช่วยเหลือเรา นอกจากนี้จากการที่ได้อ่านจากหนังสือของบริษัทยาส่งถึงกระทรวงพาณิชย์ก็ทราบว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการเรียกบริษัทยามาคุยกันก่อน เพื่อขอให้ลดราคาเลย ดังนั้นจึงต้องเรียกทุกฝ่ายเข้ามาหารือกัน และระหว่างนี้หากตัวแทนจากบริษัทยาอยากจะเข้าพบก็ยินดี



 


อย่างไรก็ตาม นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ อดีตประธานคณะกรรมการพิจารณาเรื่องการใช้ซีแอล ได้ออกมาตอบโต้ในวันเดียวกันนี้ว่า ขอยืนยันในความถูกต้องเรื่องการทำซีแอลของประเทศไทย เพราะเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 51 ของพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ซึ่งให้อำนาจรัฐไทยรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในที่นี้ คือ กระทรวงสาธารณสุข สามารถดำเนินการได้ นอกจากนี้ยังมีการหารือกับนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญอย่างรอบคอบ รวมทั้งขอเจรจากับบริษัทยาที่ถูกประกาศซีแอลแล้ว จึงยืนยันได้ว่า การทำซีแอลของไทยมีความถูกต้อง



 


"ผมขอยืนยันว่าถูกต้องตามกฎหมาย ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขก็ได้ทำหนังสือขอให้ตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก องค์การการค้าระหว่างประเทศ เข้ามาตรวจสอบขั้นตอนการประกาศซีแอลของประเทศไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่า ขั้นตอนการประกาศซีแอลของไทยดำเนินไปด้วยความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้"



 


นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า สำหรับยามะเร็ง 4 ตัวหลังนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เสนอเรื่องขึ้นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา โดยพิจารณาเหตุผลความจำเป็น รวมทั้งข้อมูลจำนวนผู้ป่วยมะเร็งและการใช้ยามะเร็งในผู้ป่วย แต่ละปี "เราไม่มีทางทราบว่า ใครจะเป็นมะเร็ง เราไม่มีทางทราบ แต่ประชาชนที่อยู่ในขอบข่ายนี้ประมาณ 48 ล้านคนจะได้ประโยชน์"



 


นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า นายไชยา ควรต้องรับฟังทุกฝ่ายให้มาก เพราะเพิ่งเข้ามาทำงานได้เพียง 1 วัน ก็ได้รับการร้องเรียนจากฝ่ายผู้เสียผลประโยชน์ ซึ่งสุดท้ายจะตัดสินใจจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตา



 


ด้าน ดร.จิราพร ลิมปนานนท์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่รัฐมนตรีออกมาพูดว่า การประกาศซีแอลของไทยจะทำให้ประเทศอื่นทำตาม หรือ ที่บอกว่า บริษัทยาต้องใช้งบวิจัยหลายหมื่นล้านบาท จึงจำเป็นต้องให้เอกสิทธิ์ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐมนตรีคนใหม่ยังไม่เข้าใจเรื่องซีแอลดีพอ และการออกมาพูดมาจะมีการทบทวนถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดี และทำให้เห็นว่า รัฐมนตรีคนใหม่เห็นผลประโยชน์ของบริษัทยามากกว่า ผลประโยชน์ของประชาชนในการเข้าถึงยา แทนที่จะมุ่งไปพูดคุยกับผู้ป่วยก่อน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่กลับไปคุยกับบริษัทยาและกระทรวงพาณิชย์ก่อน ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง



 


"คนที่จะมาคุมกระทรวงสาธารณสุข จะต้องเห็นประโยชน์ของการเข้าถึงยาของคน ไทย หากมีการทบทวน จนถึงขั้นยกเลิกจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยคือ 1.จะทำให้การเข้าถึงยาของคนไทยมีปัญหา 2.จะทำให้การต่อรองกับบริษัทยามีปัญหา เพราะไม่มีเครื่องมือในการต่อรอง เนื่องจากบริษัทยารู้ว่ายังไงไทยก็ไม่ทำซีแอล ฉะนั้นจะไม่ยอมลดราคายาแน่นอน 3.หากไม่มีซีแอล จะทำให้งบประมาณในการใช้จ่ายในเรื่องยาของประชาชนสูงขึ้น ซึ่งอยากฝากไปถึงรัฐมนตรีว่าก่อนที่จะตัดสินอะไรต้องฟังความรอบด้านก่อน ถ้าหากมีการยกเลืกซีแอล ภาคประชาชนจะเคลื่อนไหวอย่างแน่นอน ส่วนข้อมูลที่อ้างว่าได้รับจากทั้งบริษัทยาและกระทรวงพาณิชย์ที่ระบุว่า ไม่เคยมีการเชิญบริษัทยามาเจรจาต่อรองก่อนนั้น เรื่องนี้ใครก็รู้ว่า โกหก นักข่าวทุกคนก็รู้ เพราะมีการเจรจากันมาตลอด คนเป็นรัฐมนตรีไม่ควรตื้นเขินขนาดนี้" ดร.จิราพร กล่าว



 


ขณะที่ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการทบทวนซีแอลยามะเร็ง 4 รายการที่มีการลงนามไปแล้ว ตรงข้ามควรเดินหน้าต่อไป เพราะกระบวนการทำซีแอลที่ผ่านมาได้ทำอย่างถูกต้องและรอบครอบ มาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งภายหลังการประกาศซีแอลในยาก่อนหน้านี้ได้ทำให้คนเข้าถึงยาได้จากราคายาที่ถูกลง ทั้งยังช่วยรัฐบาลในการประหยัดงบประมาณในการช่วยชีวิตคน



 


 


 


ที่มา : แนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net